หลังจากการประกาศเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ทาง Google ผู้พัฒนาโปรเจ็กต์ Stadia นั้นชูจุดเด่นว่ามันจะเป็นแพลตฟอร์มที่เล่นผ่านการสตรีมมิ่ง ไม่ต้องมีเครื่องที่มีรูปลักษณ์เหมือน “กล่อง” อย่างเกมคอนโซล ไม่มีรูปทรงของเครื่องให้ “จับต้อง” อย่างเกมแฮนด์เฮลด์ และผู้เล่นไม่ต้องมากังวลว่า PC ของตัวเองจะมีสเปคสูงพอที่จะเล่นเกมได้หรือไม่ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับความแรงของอินเตอร์เน็ตล้วนๆ ดังนั้นเกมเมอร์สายพีซีจึงไม่ต้องขวนขวายหาการ์ดจอระดับเทพอีกต่อไป ขอเพียงแค่มีอุปกรณ์ที่เข้า Chrome ได้ เข้า YouTube ได้ ก็สามารถเล่นเกมผ่าน Stadia ได้ทันที
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ว่า Stadia จะนำเสนอความเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการเกม แน่นอนว่าเกมเมอร์อย่างเราๆ ย่อมต้องมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับ Stadia นี้ ด้วยเรื่องคุณสมบัติของมัน รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่เราไม่ควรมองข้าม ว่าแล้วเรามาชมกันเลยดีกว่าครับว่าน่าจะมีประเด็นอะไรบ้างที่ควรพูดถึง
1. อัตราค่าบริการ
เมื่อ Stadia เปิดให้บริการในลักษณะของเกมสตรีมมิ่ง จึงมีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า Google “อาจจะ” มีวิธีเก็บค่าบริการคล้ายๆ กับ Netflix คือจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปีเพื่อได้สิทธิ์เข้าไปเล่นเกมต่างๆ ที่มีอยู่ในคลัง ซึ่งเราก็ต้องมาพิจารณากันอีกว่าค่าบริการที่ทาง Google ต้องการเก็บนั้นแพงแค่ไหน และจะมีคอนเทนต์ในคลังเยอะเท่าไหร่ ตลอดจนคุ้มค่ากับเงินที่เราต้องเสียเป็นรายเดือน / รายปีหรือไม่
ทุกวันนี้ ยกตัวอย่างบนแพลตฟอร์ม PS4 ทาง Sony จะมีการเก็บค่าสมาชิก PlayStation Plus อยู่ปีละ 1,130 บาท หรือเฉลี่ยแล้วตกเดือนละไม่ถึง 100 บาท เช่นเดียวกับ Xbox Live ที่มีการเก็บค่าบริการในเรตที่แพงกว่าในระดับนึง ดังนั้นถ้า Stadia ต้องการจะดึงความสนใจเกมเมอร์จริงๆ ก็อาจจะต้องมีค่าบริการที่ถูกกว่า หรืออาจจะใกล้เคียงกัน แล้วไปวัดกันที่ปริมาณและคุณภาพของคอนเทนต์ที่มีให้เลือกเล่นในคลังของ Stadia เอาอีกที
2. บรรดาเกมที่มีให้เล่นในคลังของ Stadia
มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ถ้า Stadia เลือกที่จะใช้โมเดลในการนำเสนอคอนเทนต์คล้ายกับ Netflix ด้วย เช่นนั้นแล้ว จำนวนและชนิดของเกมต่างๆ ในคลังของ Stadia ก็อาจจะเป็นแบบที่ทาง Google ควบคุมเอง
หากอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ จะประมาณว่า Netflix มีหนังในคลังอยู่เท่านี้นะ คุณมีสิทธิ์ดูหนังกี่เรื่องก็ได้เท่าที่เรามีในคลัง ถ้าคุณพอใจที่จะดูหนังที่มีอยู่ในคลังของเรา ก็ชำระเงินมา ผู้เล่นก็ต้องมาดูอีกทีว่าเกมที่เราอยากเล่นนั้นลงบนแพลตฟอร์ม Stadia ด้วยหรือไม่ ต่างจากบน PlayStation Store ที่ถ้าผู้พัฒนาเกมประกาศแล้วว่าเกมของเขาจะมีจำหน่ายบน PS4 ผู้เล่นก็จะสามารถหาซื้อบน PlayStation Store ได้แน่นอน ผู้เล่นจะมีอิสระ สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อเกมไหน ในขณะที่โมเดลของ Netflix คือ ถ้าคุณไม่จ่าย ก็ไม่สามารถดูหนังหรือซีรีส์ในคลังของ Netflix ได้เลยแม้แต่เรื่องเดียว
นอกจากนั้นแล้ว เกม 1st Party หรือเกม Exclusive ของทาง Stadia ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะชี้วัดว่าเกมบนแพลตฟอร์มนี้จะสามารถดึงเกมเมอร์ให้หันมาสนใจได้หรือไม่ เนื่องจากค่ายยักษ์ใหญ่ของคอนโซลอย่าง Sony หรือ Nintendo ก็มีเกม Exclusive ที่ค่อนข้างแข็งแกร่งมากเช่นกัน
3. Input Lag
แม้ผู้คนทั่วโลกจะรู้ถึงศักยภาพของ Google เป็นอย่างดี แต่การเล่นแบบสตรีมมิ่งย่อมต้องเผชิญอุปสรรคร้ายแรงอยู่อย่างนึง ซึ่งก็คือ Input Lag นั่นเอง และมันจะส่งผลกระทบอย่างแรงแน่ๆ หากต้องเล่นเกมสไตล์มัลติเพลเยอร์ที่ต้องมีการตัดสินแพ้ชนะกันในเวลาอันรวดเร็ว ความไวในการตอบสนองต่อปุ่มที่เรากดจึงมีผลมาก ตรงนี้ก็ต้องมาดูอีกทีว่า Google จะมีการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร เพราะเกมเมอร์ร้อยทั้งร้อยย่อมไม่ชอบแน่นอนกับปัญหา Input Lag จะกดปุ่มเพื่อออกแอ็กชั่นแต่ละครั้งก็ต้องติดดีเลย์เป็นหลักวินาที ยิ่งเมื่อมีการประกาศจากตัวแทนของ Google ว่า Stadia จะเล่นเกมข้ามแพลตฟอร์มได้ จึงต้องรอดูเหมือนกันว่าประเด็น Input Lag จะทำให้ผู้เล่นบน Stadia เกิดความเสียเปรียบเวลาไปเล่นร่วมกับผู้เล่นบนแพลตฟอร์มอื่นมากน้อยเพียงใด
อย่างคลิปด้านล่างนี้ ช่วงนาทีที่ 34:45 เป็นต้นไป จะเห็นว่าผู้ที่ทำการเล่นโชว์ให้ดู เขาต้องกดปุ่มกระโดดถึง 3 ครั้ง กว่าที่ตัวละครจะกระโดดไต่ขึ้นไป
4. Bandwidth
การเล่นเกมที่ต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว นั่นเท่ากับว่าเป็นการผลักภาระไปที่เซิร์ฟเวอร์อย่างมาก จึงเป็นประเด็นที่น่าสงสัยว่า หากมีผู้เล่นเข้าไปเล่นเกมใดเกมหนึ่งในเวลาเดียวกัน พร้อมกันเป็นจำนวนมากๆ เซิร์ฟเวอร์จะแบกรับไหวแค่ไหน จะเกิดปัญหากระตุกหรือแล็กหรือไม่กันแน่
5. การแสดงผล
ประเด็นนี้ยังน่ากังวลอยู่ว่า การเปิดเกมสตรีมมิ่งที่ความละเอียด 1080p หรือ 4K คุณภาพของกราฟิกที่ออกมา “อาจจะ” ได้ไม่เท่าการเปิดเกมผ่าน Steam หรือบนเครื่องคอนโซลโดยตรงที่รัน 1080p เพราะจะมีปัจจัยเรื่องความเสถียรของอินเตอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเราต้องมาลุ้นกันอีกทีว่า Google จะมีไม้เด็ดอะไรที่ทำให้ปัญหานี้หมดไปได้บ้าง