คุยกับ 'ดร. อาษา' คนทำเกมตัวจริงกับประเด็น 'อนาคต E-Sports ไทย ภายใต้ความคิด เกมเป็นสิ่งไม่ดี'

แชร์เรื่องนี้:
คุยกับ 'ดร. อาษา' คนทำเกมตัวจริงกับประเด็น 'อนาคต E-Sports ไทย ภายใต้ความคิด เกมเป็นสิ่งไม่ดี'

ในระยะหลังมานี้ E-Sports (Electronic Sports) ก็ได้เข้ามามีบทบาทกับเรามากขึ้น ยิ่งล่าสุดหลังจากที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย ประกาศให้ “เกม” จัดเป็นกีฬาประเภท E-Sports อย่างเป็นทางการแล้ว ยิ่งทำให้เห็นว่า E-Sports เริ่มมีบทบาทกับสังคมเรามากแค่ไหน!

และวันนี้เราจะมาพาทุกคนมารู้จักกับอีกมุมมองหนึ่งของ E-Sports ไทย กับ ดร. อาษา ตั้งจิตสมคิด หนึ่งในนักพัฒนาเกมของเมืองไทยที่ได้สร้าง “อาษาเฟรมเวิร์ค” ซึ่งเป็นฐานเทคโนโลยีในการพัฒนาเกม 2D และ 3D และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างเกม Saros World เกมต่อสู้แนว 3D RPG (Role – Playing Game) ฝีมือคนไทยอีกด้วย

Q : คิดอย่างไรกับการที่เกมกลายเป็นกีฬา E-Sports

A : ผมว่ามันเป็นเรื่องมหัศจรรย์เลยนะ เป็นเรื่องที่ผมคิดในใจว่า โอ้โห! มันเป็นไปได้อย่างไรที่เกมได้รับการยอมรับถึงขนาดถูกบรรจุลงในกีฬาเอเชียนเกมส์ ต่อไปอาจจะก้าวไปถึงกีฬาโอลิมปิกได้ด้วย และผมมองว่าการที่เกมได้รับการยอมรับมากขึ้น จะช่วยเปิดโอกาสให้น้องๆ ที่มีความมุ่งมั่นในการเล่นเกมมีโอกาสทำในสิ่งที่รักมากขึ้นด้วย ถ้าถามว่าเกมควรถูกจัดเป็นกีฬาไหม เพราะมันไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเหมือนกีฬาอื่นๆ อย่างพวกฟุตบอล ชกมวย ผมว่ามันเทียบกันไม่ได้ ถ้าจะใกล้เคียงคงเป็นพวกหมากรุก คือถือเป็นกีฬาอย่างหนึ่งที่เน้นการใช้กลยุทธ์ ใช้สมองในการเล่น

Q : ทัศคติในสังคมไทยยังคงมองว่าการเล่นเกมเป็นสิ่งไม่ดี

A : ก่อนอื่นต้องแยกให้ออกก่อนว่า นักกีฬา E-Sports กับเด็กติดเกม สองอย่างนี้ไม่เหมือนกันนะครับ สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างเด็กติดเกมกับนักกีฬา E-Sports คือ เรื่องระเบียบวินัย เด็กติดเกมคือคนที่เล่นเกมไปเรื่อยๆ เพื่อความสนุกสนานแค่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้สนใจอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันหรือการพัฒนาการเล่นเกมให้ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นนักกีฬา E-Sports เขาต้องรับผิดชอบหน้าที่หลายอย่าง ต้องรู้จักแบ่งเวลาให้เป็น ทั้งเรียนทั้งเล่น และต้องเล่นเกมด้วยความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฝึกซ้อมในการเล่น ใครมีหน้าที่ไหนในเกม เช่น เป็นฝ่ายบุก ฝ่ายป้องกัน หรือฝ่าย

วางแผน ก็ต้องฝึกทักษะให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเด็กติดเกมกับนักกีฬา E-Sports จึงมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ ซึ่งผมมองว่าการให้โอกาสเป็นสิ่งสำคัญ อย่าเพิ่งไปด่วนตัดสินว่าการเล่นเกมเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เป็นขาวหรือเป็นดำในสังคม ให้โอกาสน้องๆ ที่เล่นเกมได้พิสูจน์ว่า E-Sports ก็เป็นสิ่งที่สามารถสร้างรายได้ รวมทั้งสร้างอาชีพได้เช่นกัน

Q : เด็กที่เล่นเกมไม่ได้ต้องการจะเป็นนักกีฬา E-Sports หรือพัฒนาตัวเองจากการเล่นเกมทุกคน

A : ถูกครับ บางคนเขาก็แค่อยากเล่นเกมเพื่อความบันเทิงเฉยๆ ไม่ได้ต้องการเป็นนักกีฬา E-Sports แต่ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรกับกลุ่มคนที่ติดเกม ผมว่าเราไม่สามารถจัดการอะไรได้มาก การที่เราไปห้ามไม่ให้คนเล่นเกม ก็เท่ากับปิดช่องทางในอุตสาหกรรมเกมด้วย นักกีฬา E-Sports หนึ่งคนกว่าที่จะฉายแววก็ต้องผ่านการเล่นเกมมามากพอสมควร ไม่ใช่ว่าเล่น 4 – 5 เดือนแล้วกลายเป็นเซียนได้เลย ดังนั้นถ้าเราไปปิดกั้นไม่ให้คนเล่นเกม ก็กลายเป็นว่าเราจะมีโอกาสหานักกีฬา E-Sports ได้ยากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเกมไม่เจริญเติบโต ไม่มีใครมาลงทุนกับการพัฒนาเกม ท้ายที่สุดประเทศไทยก็จะหยุดอยู่ที่เดิม คือ เป็นได้แค่ผู้เสพเกม ไม่ก้าวขึ้นไปเป็นผู้ผลิตเกมเหมือนประเทศอื่นๆ อย่างจีน หรือญี่ปุ่นสักที เพราะเรายังต้องมานั่งเถียงกันเรื่องเด็กติดเกมกับนักกีฬา E-Sports อยู่เช่นเดิม

Q : ถ้าอย่างนั้นในบทบาทของผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจว่าลูกกำลังติดเกม หรืออยากจะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต ควรทำอย่างไร

A :  ผมว่ายิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ การที่ไปสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด ผมไม่แนะนำ ผมมองว่าแทนที่เราจะไปห้าม เราใช้การสร้างเงื่อนไขบางอย่างเข้ามาแทน เช่น ถ้าคุณทำการบ้านเสร็จ คุณจะได้เล่นเกมที่คุณชอบ ถ้าคุณอ่านหนังสือเสร็จ คุณจะได้ในสิ่งที่ขอ ถ้าเด็กเข้าใจเรื่องตรงนี้ เขาก็จะสามารถเล่นเกมตามที่ต้องการ แต่ก็อาจจะไม่ใช่ทุกครอบครัวที่สามารถใช้การสร้างเงื่อนไขนี้ได้ เพราะทุกบ้านมีสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน วิธีที่ผมพูดจึงเป็นแค่แนวทางแนะนำให้ลองทำดูเท่านั้น 

Q : ตอนนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยเป็นอย่างไร

A : ตอนนี้อุตสาหกรรมต้นทางของเกมในเมืองไทย เช่น อนิเมชัน หรือการพัฒนาเกม ยังไม่เติบโตพอที่จะทำให้เรากลายเป็นผู้ผลิตเกมออกสู่สังคมได้ ภาพตอนนี้มันเลยกลายเป็นว่าไทยเป็นประเทศโลกที่สามหรือประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ ยังเป็นเพียงแค่ผู้เสพเกมของต่างประเทศ เทคโนโลยีก็เอามาจากต่างประเทศ ดังนั้นมันจึงอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ต้องลุ้นว่าไทยจะก้าวจากการเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ไหม

Q : วงการ E-Sports ในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นอย่างไร

A : ในต่างประเทศ ธุรกิจกับ E-Sports เป็นสิ่งคู่กัน ขณะที่ประเทศไทยยังมีการถกเถียงประเด็นวาทกรรมที่ว่า “เกมคือกีฬา” เป็นแค่คำพูดสวยหรูที่ใช้เป็นเครื่องมือหาเงินของนายทุนผู้สร้างเกมหรือเปล่า ซึ่งผมว่ามันก็ใช่ เพราะวงการ E-Sports จะก้าวต่อไปได้ก็ต้องมีเงินมาลงทุน บริษัทผู้ผลิตเกมทำหน้าที่สร้างเกมขึ้นมา ดึงดูดให้คนมาเล่นโดยสนับสนุนเรื่อง E-Sports ทำให้การเล่นเกมเป็นสิ่งที่มีมูลค่า คนก็อยากมาเล่นมากขึ้น อุตสาหกรรมเกมก็โตขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่นประเทศจีน ญี่ปุ่น เขามีการวางระบบ E-Sports ที่เป็นรูปธรรม มีการฝึกซ้อมพื้นฐาน มีโค้ชเหมือนกีฬาชนิดอื่นๆ เขาก้าวจากการเล่นเกมเพื่อความสนุกเฉยๆ มาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ ซึ่งมันก็คือธุรกิจทั้งหมด

Q : ประเทศที่เกมได้รับการยอมรับอย่าง จีน ญี่ปุ่น มีทัศนคติเชิงลบต่อการเล่นเกมบ้างไหม

A : มีครับ เขาก็มีมุมมองคล้ายๆ กับประเทศไทย แต่สิ่งที่แตกต่างคือ มูลค่าตลาดธุรกิจเกมต่างประเทศมันใหญ่มาก เกมกลายเป็นเรื่องที่ทำเงินได้ เกิดเป็นอาชีพ เกิดเป็นรายได้ ทำให้สังคมเกิดคำถามเรื่องประโยชน์ของการเล่นเกมน้อยลง ทุกอย่างก็เลยลงตัว

Q : ไทยจะมีโอกาสก้าวไปเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมเกมพัฒนาแล้วอย่างต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน

A : ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ผมตอบในฐานะที่ผมเป็นคนไทย (หัวเราะ) ผมคิดว่าเราจะสามารถเป็นเหมือนต่างประเทศได้ อย่างเมื่อก่อนคนที่คิดจะมาทำเกมหรือพัฒนาเกมเป็นอาชีพเนี่ย คนๆ นั้นจะถูกมองในแง่ลบไปเลยนะ เพราะเมื่อก่อนเรายังมองว่าสร้างเกมเหรอ สร้างไปทำไม ไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่ตอนนี้เรามีหลักสูตรที่เปิดสอนเกี่ยวกับการสร้างเกมมากขึ้น ไทยมีการรับรองให้เกมกลายเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ผมว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ ที่เราจะสามารถพัฒนาต่อไปได้

Q : นานเท่าไหร่กว่าสังคมไทยจะสามารถยอมรับ E-Sports ได้

A : ถ้าถามเป็นตัวเลขผมว่าน่าจะไม่เกิน 10 ปี เราน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเกมภายในประเทศไทยเชิงบวกมากขึ้น เมื่อคนในสังคมเริ่มเห็นว่ามันไม่ใช่สิ่งไร้สาระและสามารถสร้างรายได้ได้ เด็กติดเกมก็จะกลายเป็นผู้สร้างรายได้จากสิ่งที่เขารัก ทัศนคติของสังคมไทยที่มองว่าเกมไม่ดีก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปเอง เช่นแต่ก่อน เราจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ไปเต้นกินรำกิน จะเอาอะไรไปยั่งยืน” คนสมัยก่อนก็มองอาชีพที่เกี่ยวกับการแสดงในด้านลบ แต่พอเวลามันผ่านไปเรื่อยๆ วงการการแสดงเขาก็สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่า อาชีพนักร้องนักแสดงมันก็เลี้ยงตัวเองได้ วงการเกมก็เช่นกัน เพียงแต่ตอนนี้มันอยู่ในช่วงเริ่มต้น ก็เลยต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอีกสักระยะหนึ่ง

 

ก็หมดกันไปแล้วกับบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจมากๆ ที่ทำให้เราได้รู้ว่าในฐานผู้พัฒนาเกมและทำงานเกี่ยวกับเกมมีความคิดเห็นยังไงเกี่ยวกับ E-Sports ของไทย แล้วเพื่อนๆ มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับในเรื่องของ E-Sports ของบ้านเรากันบ้างนะ?  คอมเม้นต์กันเข้ามาได้เลย!

ที่มา : หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ