สัมภาษณ์ผู้พัฒนา Sekiro: Shadows Die Twice จากงาน Tokyo Game Show 2018

แชร์เรื่องนี้:
สัมภาษณ์ผู้พัฒนา Sekiro: Shadows Die Twice จากงาน Tokyo Game Show 2018

ระหว่างช่วงที่เป็น Business Day ของงาน Tokyo Game Show 2018 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทางทีมงาน OS ได้มีโอกาสทดลองเดโมของเกม Sekiro: Shadows Die Twice มาเล็กน้อย ซึ่งเกมดังกล่าวเป็นผลงานการกำกับโดยคุณฮิเดทากะ มิยาซากิ (Hidetaka Miyazaki) อดีตผู้กำกับเกม Dark Souls และ Bloodborne ซึ่งเป็นเกมแนว Action-RPG ที่มีความยากในระดับที่เกมเมอร์ทั่วโลกต่างยำเกรงกันมานักต่อนักแล้ว และโอกาสเดียวกัน ทีมงานก็ได้เข้าร่วมสัมภาษณ์คุณมิยาซากิเพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับตัวเกมด้วย โดยด้านล่างนี้จะเป็นการสรุปรวมสิ่งที่ทีมงานได้ทดลองเล่นมา รวมถึงรายละเอียดที่คุณมิยาซากิได้ให้สัมภาษณ์กับกลุ่มผู้สื่อข่าวจากเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครับ


- Sekiro ยังคงเป็นเกมแนวแอ็กชั่นกึ่งผจญภัยที่ใช้มุมกล้องแบบมุมมองบุคคลที่ 3 เช่นเคย แต่มีการตัดเอาองค์ประกอบของความเป็นเกมแนว RPG จากที่เคยนำมาใช้ในเกมตระกูล Souls ออกไป เช่น การสร้างตัวละคร (กำหนดใบหน้า สีผิว เพศ ฯลฯ), การอัพเกรดอาวุธ, คลาสของตัวละครและค่าพลังตอนเริ่มต้น อีกทั้งยังนำเอาระบบมัลติเพลเยอร์ออกไปด้วยเช่นกัน

- ระบบการต่อสู้ของเกมนี้จะไม่มีเกจ Stamina เหมือนซีรีส์ Souls หรือ Bloodborne โดยจะโฟกัสไปที่การใช้ดาบญี่ปุ่น (คาตานะ) ในการจู่โจมและตั้งรับที่สมดุลกัน หากผู้เล่นสบช่องหรือโอกาสที่ศัตรูพลาดท่าก็สามารถสังหารมันได้ในดาบเดียว

- ตัวเกมมีการใส่องค์ประกอบของเกมแนวลอบเร้นเข้ามาบ้าง ถ้าผู้เล่นสามารถแอบเข้าไปด้านหลังของศัตรูในระยะที่กำหนดก็สามารถลอบสังหารมันได้ทันที นอกจากนี้ ผู้เล่นยังมีอุปกรณ์ที่ใช้อำนวยความสะดวกในช่วงต่อสู้หรือผจญภัยได้ เช่นในเดโมก็จะเป็นตะขอที่ใช้ยิงไปยึดเกาะพื้นที่สูงๆ เพื่อเดินทางไปมาได้อย่างรวดเร็วราวกับนินจา

- ปกติแล้วในซีรีส์ Souls หรือ Bloodborne เมื่อผู้เล่นตายก็จะสูญเสียจำนวน Soul หรือ Blood Echo ที่เก็บมาทั้งหมด พร้อมกับไปเกิดใหม่ยังจุดที่เกมกำหนดให้ แต่ใน Sekiro นั้น หากผู้เล่นตาย ตัวเกมจะมีช้อยส์ให้เลือกได้ว่าจะฟื้นคืนชีพทันที ณ จุดที่ตาย หรือยอมไปเกิดใหม่ที่ Checkpoint ล่าสุดแทน ซึ่งการคืนชีพทันทีนี่ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถทำได้พร่ำเพรื่อนะครับ หลังจากที่เราคืนชีพปุ๊บ ก็จะต้องสะสมเกจคืนชีพด้วยการสังหารศัตรูไปเรื่อยๆ จนกว่าเกจจะเต็ม ถ้าหากเราเผลอตายซ้ำก่อนที่เกจคืนชีพเต็ม ก็จะโดนบังคับให้ไปเกิดใหม่ที่ Checkpoint ล่าสุดอยู่ดี

- คุณมิยาซากิอธิบายว่า เมื่อเปรียบเทียบซีรีส์ Souls กับ Sekiro ก็จะมีทั้งจุดที่เหมือนและแตกต่าง จุดที่แตกต่างอย่างแรกเลยก็คือ ใน Sekiro นั้นจะเน้นไปที่เรื่องราวของตัวละครหลัก และบรรดาตัวละครที่รายล้อมตัวละครหลัก ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นได้ซึบซับเรื่องราวต่างๆ ภายในเกมได้เหมือนกับดูภาพยนตร์ ในขณะที่จุดที่เหมือนกันจะเป็นเรื่องของเนื้อหาปลีกย่อยในแต่ละส่วนของเนื้อเรื่องที่ผู้เล่นสามารถไปพบเจอเพิ่มเติมได้

- คุณมิยาซากิเผยว่ากระบวนการพัฒนาเกม Sekiro: Shadows Die Twice นั้นเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2015 หรือหลังจากที่ทำ DLC ของเกม Bloodborne ที่มีชื่อว่า The Old Hunter เสร็จสิ้น และช่วงเวลาดังกล่าวเขาได้เกิดความคิดที่จะทำเกมที่มีกลิ่นอายของญี่ปุ่นขึ้นมา อีกทั้งตัวเขาเองก็เคยมีส่วนร่วมในการพัฒนาเกม Tenchu มาก่อน ซึ่งสิ่งที่ Sekiro จะดูคล้าย Tenchu ก็คือการที่ตัวเอกเป็นนินจา มีการใช้อุปกรณ์ลักษณะเหมือนเชือกตะขอในการดึงตัวเองไปยังจุดต่างๆ ในฉาก ตลอดจนการลอบสังหารตามวิถีของนินจา โดยเขามองว่าองค์ประกอบเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์เป็นเกมใหม่ได้ แต่สาเหตุที่คุณมิยาซากิตัดสินใจเลือกที่จะไม่ให้ Sekiro เป็นภาคต่อของซีรีส์ Tenchu ก็เพราะว่าตัวเขาต้องการให้ความเคารพกับเกม Tenchu หรือถ้าว่ากันตามตรงเลยก็คือเขาไม่ใช่คนที่สร้างเกม Tenchu นั่นเอง ดังนั้นหากทำเกมนี้เป็น Tenchu ภาคต่อ มันจะดูไม่ดีนัก จึงเลือกที่จะใช้เกม Tenchu เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาแยกออกมาเป็นเกมใหม่อย่าง Sekiro เลยดีกว่า

- เมื่อพูดถึงระบบการฟื้นคืนชีพในเกม Sekiro คุณมิยาซากิเล่าว่าสาเหตุที่ใส่ระบบนี้เข้ามา เนื่องจาก Sekiro เป็นการต่อสู้ในรูปแบบนินจา และเป็นการต่อสู้ที่รุนแรง ผู้เล่นต้องมีตายบ่อยๆ แน่นอน ซึ่งการที่ตายบ่อยๆ จังหวะของเกมก็ย่อมที่จะสะดุด ดังนั้นเขาจึงต้องคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรที่จะรักษาความตื่นเต้นในการต่อสู้ และรักษาความลื่นไหลของจังหวะเกมไปพร้อมๆ กันได้ เลยเป็นที่มาของการใส่ระบบคืนชีพเข้ามานั่นเอง ซึ่งความสามารถในการคืนชีพนี้มันก็มีผลกระทบเกี่ยวกับมุมมองต่อโลกของตัวเอกในเรื่องด้วย ส่วนคำว่า Shadows Die Twice ก็สื่อถึงโดยตรงเกี่ยวกับการคืนชีพในเกมเช่นกัน และยังมีอีกความหมายคือต้องการสื่อถึงแฟนๆ ที่ติดตามผลงานของเขาด้วยว่า เกมนี้เล่นแล้วผู้เล่นจะได้ตายกันเยอะนะ (ฮา) นอกจากนี้ คำว่า Shadows Die Twice ก็มีความเกี่ยวพันกับเนื้อเรื่องเกมนี้เหมือนกัน ทว่าตัวเขาไม่สามารถเผยข้อมูลในส่วนนี้ได้

- ส่วนประเด็นของการที่เกมนี้มีแต่โหมดซิงเกิลเพลเยอร์ และตัดเอามัลติเพลเยอร์ออกไปนั้น คุณมิยาซากิชี้แจงว่าเป็นเหตุผลทั้งทางด้านการดีไซน์เกม และการจัดสรรทรัพยากร อย่างแรกเลยคือเกมนี้มีการเน้นหนักไปที่ความตื่นเต้นของการต่อสู้ อีกอย่างคือไดนามิกในการเคลื่อนที่ ซึ่งสองอย่างนี้เป็นจุดเด่นหลักของ Sekiro และการที่จะทำให้ผู้เล่นสามารถดื่มด่ำไปกับทั้งสองสิ่งนี้ด้วยกันก็จำเป็นต้องไปเล่นในโหมดซิงเกิลเพลเยอร์เท่านั้นครับ

- เหตุการณ์ในตัวเกมจะอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 16 หรือยุคเซ็นโกคุในญี่ปุ่น โดยหัวหน้ากลุ่มนินจาที่ตัวเอกสังกัดอยู่ได้ถูกลักพาตัวไป และตัวเอกก็ได้สูญเสียแขนซ้ายไปด้วยน้ำมือของซามูไรคนหนึ่ง กระทั่งพอฟื้นขึ้นมาเขาก็พบว่าแขนตัวเองถูกแทนที่ด้วยแขนกลที่สามารถปรับแต่งเป็นอุปกรณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งนอกจากแขนกลแล้ว เกมพยายามโฟกัสไปที่เทคนิคในการใช้ดาบต่างๆ รวมถึงวิชานินจา และการปรับแต่งตัวดาบเพื่อประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์ต่างๆ ได้

- พอถึงคำถามที่ว่า แล้วเกมนี้เมื่อนำไปเทียบกับ Bloodborne แล้ว เกม Sekiro ถือว่าง่ายหรือว่ายากกว่ากัน คุณมิยาซากิกล่าวว่าไม่สามารถระบุได้ว่ามันยากหรือว่าง่ายขึ้น แต่ถ้าพูดถึงแง่การดีไซน์เกม เกม Sekiro จะมีช้อยส์ในการเล่นที่พลิกแพลงได้มากมายหลายอย่างกว่า ไม่ว่าจะลอบเร้น หรือใช้วิธีอย่างอื่นนอกเหนือจากการปะทะกันซึ่งหน้า ส่วนในเรื่องของความเป็นแอ็กชั่น คุณมิยาซากิยืนยันว่าแม้ว่าผู้เล่นจะเป็นคนที่ไม่ถนัดเกมแอ็กชั่นก็ยังสามารถเอาตัวรอดในเกมนี้ได้ด้วยการเปลี่ยนไปใช้การลุยด้วยวิธีอื่นแทน เช่น ย่องไปแบบเงียบๆ เพื่อเลี่ยงการต่อสู้ แต่ถ้าเป็นคนที่ชื่นชอบการต่อสู้กันตรงๆ อันนี้แน่นอนว่า Sekiro มีความยากขึ้นครับ

- คุณมิยาซากิเผยถึงส่วนที่สนุกที่สุดในการดีไซน์เกม Sekiro นี้ขึ้นมา ก็คือการที่เขาต้องออกแบบให้เกมนี้มีการเข้าถึงตัวศัตรูที่หลากหลาย หาวิธีจัดการศัตรูได้เยอะสิ่ง ส่วนตัวเขามองว่าจุดพีคก็คือการต่อสู้ด้วยดาบ โอเคว่าเราอาจจะลอบเร้นเพื่อหาทางแอบเข้าไปโจมตีศัตรูได้ แต่ความสนุกมันก็จะอยู่ตรงที่ว่าตัวเกมจะมีช้อยส์ให้เราคิดอีกทีว่าจะใช้ดาบเข้าไปจัดการศัตรูยังไง

- ประเด็นของการร่วมมือกันระหว่าง FromSoftware ที่เป็นผู้พัฒนาเกม Sekiro กับทาง Activision ในฐานะผู้จัดจำหน่าย ซึ่งในวงการเกมได้รู้จัก FromSoftware จากผลงานเกมแนวยากมหาโหดกับซีรีส์ Souls ขณะที่ Activision จะมีชื่อเสียงจากเกมชู้ตติ้งเจาะตลาดกลุ่มใหญ่และเข้าถึงผู้เล่นหมู่มากอย่าง Call of Duty จึงเป็นข้อสงสัยว่าทำไมถึงมาร่วมงานกันได้ และแต่ละฝ่ายมีการร่วมทำหน้าที่ในลักษณะไหน คุณมิยาซากิก็อธิบายว่า เนื่องจาก FromSoftware ไม่มีฐานจัดจำหน่ายในต่างประเทศ ดังนั้นทางทีมพัฒนาเลยต้องเข้าหาบริษัทอื่นเพื่อให้มาเป็นผู้จัดจำหน่าย และในที่สุดก็เป็นทาง Activision ที่ตอบรับกับโปรเจ็กต์นี้และได้ทำงานร่วมกัน ทว่าตัวคุณมิยาซากิเองไม่ทราบว่าเหตุใดทำไม Activision ถึงโอเคกับเกม Sekiro เหมือนกัน โดย Activision ได้เข้ามาช่วยตั้งแต่ขั้นตอนการดีไซน์เกม ตรวจดูความบาลานซ์ของตัวเกม รวมถึงให้คำแนะนำต่างๆ และยังให้ความเคารพกับทีม FromSoftware ในเรื่องแนวทางการทำเกมด้วย ซึ่งคุณมิยาซากิมองว่าความช่วยเหลือจากทาง Activision นั้นเป็นประโยชน์กับเขามาก โดยเฉพาะเรื่องของการดีไซน์ให้เกมยากๆ ตามสไตล์ของเขาให้ผู้เล่นทั่วไปสามารถเข้าใจในตัวเกม และดำเนินเรื่องต่อไปได้

- มีช่วงน่าสนใจตอนท้ายครับ ตรงที่มียูทูบเบอร์ท่านหนึ่งตั้งคำถามว่าตัวเขาเป็นผู้เล่นตาสีตาสาทั่วไป (Casual Gamer) ที่ไม่ใช่เกมเมอร์ชั้นเซียน และพอได้เล่นเกมนี้ก็ตายบ่อยจนท้อ ไม่ทราบว่าจะมีวิธีอย่างไรให้เขาสามารถเล่นเกมนี้ได้โดยไม่รู้สึกเครียดหรือกดดัน คุณมิยาซากิตอบว่าตัวเขาเองเคยได้ยินผู้คนพูดกันหลังเล่นเดโมว่าผู้พัฒนาตั้งใจจะทำให้เกมมันยากเว่อร์ๆ รึเปล่า ทว่าในความเป็นจริงแล้วเนี่ย เขามองว่าที่มันยากก็เพราะว่าตัวเดโมที่ได้เล่นมันมีความยาวแค่ 30 นาที เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นเวลาน้อยเกินไปที่ผู้เล่นจะสามารถเข้าใจรูปแบบการเล่นของเกม การควบคุมต่างๆ และยิ่งพอตายแล้วต้องไปเริ่มใหม่ก็เลยยิ่งไม่เข้าใจ แต่ถ้าลองได้เล่นจนเข้าใจระบบแล้วก็จะเล่นจนจบได้เอง โดยส่วนตัวคุณมิยาซากิเองก็เป็นคนเล่นเกมไม่เก่ง แต่ก่อนที่เกมนี้จะพัฒนาจนแล้วเสร็จ เขาตั้งใจว่าจะทำให้เกมนี้เป็นเกมที่แม้แต่ตัวเขาก็สามารถเล่นจบได้

- คุณมิยาซากิไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเกมจะมีความยาวประมาณเท่าไหร่ เพราะเขาเองก็ไม่ได้นับ แต่ว่าน่าจะพอๆ กับซีรีส์ Souls และตั้งแต่เขาเคยเห็นคลิปที่มีคนเล่นเกม Demon's Souls จบได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง เขาก็เลยคิดว่าคงไม่ต้องกังวลเรื่องความยาวของเกมแล้วละมั้ง ต่อมาคือเรื่องของ Skill Tree ที่ให้ผู้เล่นสามารถอัพสกิลตัวละคร คุณมิยาซากิเผยว่าจะมีระบบนี้ใน Sekiro ด้วย แต่จะมีความแตกต่างไปจากการอัพ Stat ในซีรีส์ Souls แน่นอน และประเด็นของ DLC ในอนาคต คุณมิยาซากิก็บอกว่าทางตัวเขาและทีมพัฒนายังไม่คิดถึงเรื่องนี้ ตนมองว่าอยากทำเกม Sekiro นี้ให้เป็นเกมซิงเกิลเพลเยอร์ที่สมบูรณ์ในตัวมันเองก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อที่เตรียมจะวางจำหน่ายในต้นปีหน้านั่นเอง

แชร์เรื่องนี้:
Vesper
About the Author

Vesper

เหนื่อยจากเกมก็ลองหยุดพัก แต่ถ้าเหนื่อยจากรักก็จงหยุดเถอะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ