เป็นประเด็น! ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตร่างจดหมายให้ทบทวนการรับรอง E-Sports เป็นกีฬา

แชร์เรื่องนี้:
เป็นประเด็น! ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตร่างจดหมายให้ทบทวนการรับรอง E-Sports เป็นกีฬา



    ถือว่าเป็นประเด็นร้อนสุดดราม่าสำหรับวงการ E-Sports ในประเทศไทยกันอีกครั้ง เมื่อทางนพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องทบทวนเรื่องการรับรอง E-Sports เป็นกีฬา ทั้งนี้ทางนพ.ยงยุทธ ได้ออกมากล่าวว่า ในทางวิชาการนี่ยังไม่ถือว่าเป็นกีฬานะ E-Sports มันเป็นวาทกรรมของทางบริษัทผู้วางจำหน่าย ที่จริงคือการแข่งขัน VDO game โดยรายละเอียดของจดหมายเปิดผนึก เรื่อง E-Sports มีรายละเอียดดังนี้



    เรียน ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง 
    สืบเนื่องจากการที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ให้การรับรองสมาคม E-Sport ซึ่งเท่ากับรับรองว่าเป็นกีฬาด้วย ได้ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยต่อเด็กและเยาวชนและครอบครัวเป็นวงกว้าง เพราะได้มีการโฆษณาและส่งเสริมให้เกิดการเล่นวิดีโอเกมที่เดิมก็ขยายตัวมากอยู่แล้ว เมื่อใช้การอ้างเป็นกีฬาและองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชัดเจนว่าการเล่นมากเกินไป จะนำไปสู่โรคการติดเกมได้ ซึ่งทาง WHO จัดว่า เป็นการวินิจฉัยโรคกลุ่มใหม่ และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทางสุขภาพจิตในปัจจุบัน จึงขอเรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ขอชี้แจงเหตุผลโดยสังเขปดังนี้

    1. E-Sports เป็นวาทกรรมของบริษัทที่จริงคือ การแข่งขันวิดีโอเกม คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ไม่รับรองว่าเป็นกีฬา (3 เหตุผล เนื้อหารุนแรง/ไม่มี Sanction Body คอยควบคุม/ไม่เป็นสาธารณะ แต่เป็นลิขสิทธิ์เอกชน) และแม้แต่องค์การนานาชาติอย่าง Sport Accord ที่เป็นองค์กรรับรองกีฬารวมทั้ง Mental Sport ก็ไม่รับรองวิดีโอเกม ว่าเป็น Mental Sport

    2. ในการดูผลทางเศรษฐกิจ เช่น รายได้ของนักแข่งหรือรายได้จากการโฆษณานั้น เทียบไม่ได้กับผลเลวร้ายที่เกิดขึ้น ในสหรัฐฯ มีคนเล่นเกม ROV 60 ล้านคน มีผู้เล่นอาชีพที่มีรายได้ประจำแค่ 57 คน (ทุกผู้เล่น 1 ล้านคน จะมีคนที่เล่นเป็นอาชีพ 1 คน แต่มีผู้ติดเกม 2-8 หมื่นคน ขึ้นกับคำจำกัดความของคำว่า ติดเกม) ซึ่งส่งผลเสียต่อครอบครัว สมรรถนะการประกอบอาชีพมากมายมหาศาล



    3. กว่าจะเป็น 1 ในล้านที่มีรายได้ และคน 8 หมื่นคนที่ติดเกม คนเหล่านี้จะมีปัญหาสุขภาพ สมาธิสั้น เสียพัฒนาการ (ในเด็กจะเสียสังคม, ภาษาล่าช้า) WHO จึงประกาศให้ Game Disorder เป็นโรคทางจิตเวช โดยที่มีบริษัทได้คัดค้านหลายครั้ง ทำให้ต้องเลื่อนการประกาศมาหลายปี แต่หลักฐานทางวิชาการก็ชี้ชัดว่า เป็นความผิดปกติเช่นเดียวกับการเสพติดทางพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ติดการพนัน อย่าลืมว่า ไม่มีกีฬาใดในโลกที่ทำให้เกิดการเสพติดได้
 
    4. การรับรองให้เป็นสมาคมไปแข่งขันระหว่างประเทศ ในประเทศต่างๆ เป็นการรับรองว่า เป็นสมาคมตัวแทน ไม่ใช่รับรองว่าเป็นกีฬา แต่กรณี กกท.รับรองว่าเป็นกีฬา เท่ากับรับรอง 2 ต่อ ทำให้บริษัทและสมาคมใช้เป็นโอกาสขยายการโฆษณาว่าเป็นกีฬาอย่างรุนแรง ทั้งที่ปกติก็ทำการตลาดอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ในฐานะวิดีโอเกม

    ที่มา: facebook, youtube

แชร์เรื่องนี้:
Jack Vai
About the Author

Jack Vai

กองบรรณาธิการ Online Station ที่ชื่นชอบเกมแนว Action RPG

เรื่องที่คุณอาจสนใจ