เป็นดราม่ากันมาอย่างยาวนานจริงๆ สำหรับวงการ Esports ในประเทศไทย ที่มีการถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นว่าแท้จริง Esports สามารถนับเป็นกีฬาได้หรือไม่ ซึ่งต่างก็มีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และต่างฝ่ายก็มีแนวคิดที่มาสนับสนุนฝ่ายตนเองเช่นกัน เรามาดูสรุปสั้นๆ ของความเห็นในแต่ละฝ่ายดีกว่าว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ฝ่ายภาครัฐที่เห็นด้วย
ในส่วนที่ฝ่ายที่เห็นด้วยก็ได้มีการประชุมนโยบายการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ โดยมี นายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม
ในส่วนของนายสมคิด ผู้เป็นประธานการประชุมในครั้งนี้ ได้เห็นชอบให้โรงเรียนสนับสนุนด้านกีฬามากขึ้น ซึ่งจะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่ม และได้พูดถึง Esports ว่ามีบทบาทสำคัญในยุคดิจิตอล จึงขอให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการแข่งขัน Esports ให้มากขึ้น
นายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้ความเห็นว่า ไม่ควรต่อต้าน Esports เพราะเป็นการเตรียมคนเข้าสู่ยุคดิจิตอล และให้อะไรมากกว่าแค่การเล่นเกม ดังนั้นควรใช้ Esports มาพัฒนาเป็นเครื่องมือการสอนในสถานศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้านดิจิตอลผ่านเกม
โดยรวมทางฝั่งการกีฬาแห่งชาติแม้จะยังไม่ได้สนับสนุนเต็มตัว แต่ก็เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของ Esports และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาและสนับสนุนในส่วนนี้
ฝ่ายภาครัฐที่ไม่เห็นด้วย
ในส่วนของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นั้น ไม่เห็นด้วยกับการให้ Esports เป็นกีฬาและมองว่า Esports เป็นเพียงแค่ "การแข่งขันวิดิโอเกมออนไลน์เพื่อชิงรางวัล" เสียมากกว่า โดยให้ความเห็นว่ากีฬาต้องใช้ทักษะทางร่างกายเป็นส่วนสำคัญในการเล่น มีกฏกติกาควบคุม และไม่ทำอันตรายต่อสุขภาพ หรือก็คือเล่นแล้วมีสุขภาพดีขึ้น และไม่ส่งผลต่อจิตใจเด็ก
ในส่วนของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้น โดยมากเป็นแสดงความห่วงใยต่อเด็กที่อาจจะถูกคำว่า Esports ควบคุมทำให้สูญเสียการเรียน ซึ่งได้เปรียบเทียบไว้ว่า การจะมาเป็นเบอร์หนึ่งในวงการ Esports นั้นไม่ต่างการถูกรางวัลที่ 1 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าหากทำไม่ได้ก็จะกลายเป็นเพียงเด็กติดเกมคนหนึ่งเท่านั้น ยิ่งไม่ได้เรียนรู้สิ่งอื่น ก็จะทำให้ชีวิตลำบากยิ่งขึ้น
ทาง ดร.ธีรารัตน์ ยังได้เสนออีกว่า เราควรจะคิดถึงแง่ของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กอย่างจริงจัง และควรจะมีมาตราการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และควรสร้างกฏกติการเพื่อป้องกันเด็กให้ปลอดภัย ไม่ก่อปัญหาในอนาคต
ทั้งนี้นอกจากความเห็นจากฝ่ายภาครัฐแล้ว ความเห็นของคนทั่วไปก็มีทั้งแง่ที่เห็นด้วยว่าควรทำให้ Esports เป็นกีฬาจริงจังเสียที หรือบางคนก็อาจจะบอกว่า ไม่เป็นกีฬาก็ไม่เป็นไร เพราะยังไง Esports ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว รวมไปถึงบางฝ่ายก็อาจจะไม่เห็นด้วยเพราะเล็งเห็นว่าอาจจะก่อให้เด็กเล่นเกมแบบผิดๆ และอ้างในความเป็น Esports แทนได้ งานนี้ก็ต้องรอดูว่าการเจรจาของทางภาครัฐนั้นจะเป็นอย่างไรนะครับ ว่า Esports ในประเทศไทยจะได้เป็นกีฬารึเปล่า คงต้องติดตามดูกัน
Source : moe.go.th
Source : thebangkokinsight.com