ตลอดระยะเวลาประมาณ 40 ปี วงการเกมคอนโซลได้ดำเนินมาถึง 8 ยุคด้วยกัน ซึ่งในแต่ละยุคก็จะมีการแข่งขันของค่ายผู้ผลิตเครื่องเกมคอนโซลแต่ละบริษัทที่หนักเบาแตกต่างกันไป และก็แน่นอนว่าทุกยุคก็ย่อมมีผู้ที่พ่ายแพ้ ที่เพลี่ยงพล้ำทั้งด้านยอดขายและการโปรโมทที่เหมาะสม โดยบทความที่ทีมงาน OS รวบรวมมาในรอบนี้จะพูดถึงเครื่องเกมคอนโซลชื่อดังที่ดันทำออกมาแป้ก หรือไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้ จะมีอะไรบ้างนั้น มาชมกันเลยครับ
3DO
เจ้าเครื่องนี้ถือกำเนิดในยุคเดียวกับ PS1 ครับ โดยถูกวางคอนเซ็ปต์ในตอนแรกว่าจะเป็นเครื่องมัลติมีเดียที่พร้อมมอบความบันเทิงในครัวเรือน และไม่เจาะจงว่าให้เป็นเพียงเครื่องเกมคอนโซลเท่านั้น ซึ่ง 3DO ได้วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1993 แถมประกาศด้วยว่าตัวเครื่องจะมีค่ายเกม 3rd Party มาทำเกมลงให้เพียบ แต่กลายเป็นว่า 3DO กลับแป้กสนิท ด้วยความที่ตั้งราคาไว้สูงเว่อร์ ณ ตอนนั้น คือ 699 เหรียญสหรัฐฯ (หรือราวๆ 18,000 กว่าบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนของปี 1993) แถมการเหยียบเรือสองแคม ไม่เน้นไปที่ด้านใดด้านหนึ่งไปเลยทำให้ผู้บริโภคและบรรดาผู้พัฒนาเกมมองแล้วไม่น่าสนใจ เลยทำให้พ่ายแพ้ต่อ PS1 ขาดลอย จากความล้มเหลวที่เกิดขึ้นทำให้บริษัท 3DO Company ต้องปิดตัวลงและเหล่าบริษัทที่ร่วมหุ้นกันทำเครื่องนี้ต่างก็ถอนตัวไปจากตลาดเกมคอนโซลอย่างถาวรไปโดยปริยาย
Neo Geo CD
เปิดตัวครั้งแรกในงาน Tokyo Toy Show 1994 (อย่าจำสับสนกับ Tokyo Game Show นะครับ) ซึ่งเครื่องนี้เป็นการบุกเบิกนวัตกรรมเปลี่ยนผ่านจากการใช้สื่อซอฟต์แวร์ประเภทตลับเกมมาเป็นซีดีรอม โดยมีทั้งรุ่นที่ใส่แผ่นด้านหน้าและด้านบน ในตอนแรกนั้นทาง SNK ที่เป็นผู้พัฒนาเครื่องนี้ตั้งใจจะให้ Neo Geo CD ออกมาแก้ปัญหาตัวเครื่อง Neo Geo เวอร์ชั่นแรกสุดที่เล่นแบบตลับ เนื่องจากตลับเกมมีราคาที่สูงมาก (ในไทย ณ เวลานั้นจำหน่ายกันตลับละ 5,000-9,000 บาทเลยทีเดียว) พอมาเป็นซีดี ราคาเลยหล่นลงมาในระดับสบายกระเป๋าหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อาจช่วยประคองให้ Neo Geo CD พลิกสถานการณ์ให้คู่คี่กับเครื่อง Super Famicom จาก Nintendo ที่เป็นผู้นำตลาดเกมคอนโซลของเจเนอเรชั่นที่ 4 ได้ สาเหตุหลักก็คือปัญหาเรื่องการโหลดเกมที่ถี่และนานยันลูกบวช ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เช่นเกม The King of Fighters ครับ กว่าจะสู้กันได้สักคู่ก็โหลดแล้วโหลดอีก จบคู่นึงก็โหลดต่ออีกหลายนาทีกว่าจะกลับเข้ามาหน้าจอเลือกตัวละครใหม่
ตัวเครื่องรุ่นใส่แผ่นด้านบน
ตัวเครื่องรุ่นใส่แผ่นด้านหน้า
64DD
ระหว่างที่เครื่อง Nintendo 64 ออกวางจำหน่าย ตัวเครื่องค่อนข้างมีข้อจำกัดในเรื่องของสื่อตลับเกมที่มีความจุสูงสุดเพียงแค่ 64 MB เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในเจเนอเรชั่นเดียวกันอย่าง PS1 ที่ใช้ซีดีรอมที่มีความจุราว 650 MB ทาง Nintendo เลยพยายามเพิ่มทางเลือกให้ผู้เล่นด้วยการผลิตเครื่อง 64DD ออกมา โดยใช้สื่อชนิดใหม่ที่เรียกว่าดิสค์แม่เหล็ก แต่ดันมีความจุ 64 MB เท่าตลับ มิหนำซ้ำ Nintendo ก็เหมือนจะกั๊กๆ เจ้าอุปกรณ์เสริมนี้มากพอดู เพราะดันผลิตออกมาแค่ 1 แสนเครื่อง แถมดันจำหน่ายผ่านช่องทางการลงทะเบียนผ่านบริการ Randnet แทนที่จะส่งไปยังร้านค้าปลีกโดยตรง สรุปแล้ว 64DD เลยต้องจอดไปก่อนเวลาอันควรโดยมีเกมที่พัฒนาลงดิสค์แม่เหล็กเพียงแค่ 9 เกมเท่านั้น ส่วนเกมที่เหลือที่ยังพัฒนาไม่เสร็จ บ้างก็โดนยกเลิก บ้างก็โดนโยกไปพัฒนาลง Gamecube ที่เป็นเครื่องเกมเจเนอเรชั่นถัดไปของ Nintendo เอง ในขณะที่ตัวเครื่อง 64DD ก็ขายไปได้เพียง 15,000 เครื่อง เท่ากับว่าอีก 85,000 เครื่องที่คาในสต็อกก็มีสถานะไม่ต่างอะไรกับเศษเหล็กดีๆ นี่เอง
(บน) Nintendo 64 (ล่าง) 64DD ……. รวมร่าง!
Sega Saturn
ในช่วงเจเนอเรชั่นที่ 3 และ 4 ของเกมคอนโซลนั้น การขับเคี่ยวเพื่อเป็นผู้นำตลาดคือคู่ระหว่าง Nintendo กับ Sega กระทั่งพอเข้าสู่เจเนอเรชั่นที่ 5 ทาง Sony ก็ได้กระโดดเข้ามาร่วมวงและกลายเป็นผู้นำตลาดแทนซะงั้น ซึ่งมีหรือที่ทั้ง Nintendo และ Sega จะอยู่เฉยได้ โดยฝั่ง Nintendo นั้นได้ออก Nintendo 64 มาประชัน ส่วนฝั่ง Sega ก็ปล่อย Sega Saturn ออกมาบ้าง แถม Sega Saturn ยังใช้สื่อเป็นซีดีรอมเหมือน PS1 ด้วย แต่เหมือนกลยุทธ์ทางการตลาดของ Sega จะพลาดท่าให้กับ Sony ครับ เมื่อตัว PS1 ดันประกาศราคาเปิดตัวถูกกว่า Sega Saturn ถึง 100 เหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว แถมตัวเครื่องก็ดันมีประสิทธิภาพการรันกราฟิกได้ไม่ดีเท่า PS1 อีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้ยอดขายของ Sega Saturn เลยดูไม่จืด และต้องยุติสายการผลิตไปหลังวางจำหน่ายได้เพียงแค่ 4 ปี ด้วยยอดขายรวมทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 9.5 ล้านเครื่อง (ในขณะที่ PS1 ขายได้ทั่วโลกจำนวน 102 ล้านเครื่อง) ยิ่งไปกว่านั้น ความล้มเหลวของ Sega Saturn ยังถูกส่งต่อไปถึง Dreamcast ที่เป็นเครื่องคอนโซลเจเนอเรชั่นถัดมาของ Sega ด้วยเช่นกัน
Dreamcast
เดิมพันครั้งสุดท้ายของ Sega เกิดขึ้นในปี 1999 เมื่อ Sega อยากจะแก้ตัวอีกครั้งหลังจาก Sega Saturn พังพาบแบบไร้ทางสู้ โดยปล่อยเครื่อง Dreamcast ออกมาท้าชิงกับแชมป์หน้าใหม่อย่าง Sony ที่ชูเครื่อง PS2 ออกมาสานความสำเร็จเดิม แถม Dreamcast เองก็วางจำหน่ายก่อน PS2 หลายเดือนด้วย แต่ไปๆ มาๆ เจ้าเครื่องนี้กลับเจ๊งหนักยิ่งกว่าเก่า หลักๆ เลยคือ Sega ดันไปทำสื่อเฉพาะที่ใช้เล่นเกมบนเครื่องนี้ที่มีชื่อว่า GD-Rom ในขณะที่กระแสโลกได้เปลี่ยนการใช้สื่อจากซีดีรอมไปเป็นดีวีดีแทนแล้ว ซึ่ง PS2 ก็เป็นเครื่องที่เล่นแผ่นดีวีดีซะด้วย สุดท้าย Dreamcast ก็ทำยอดขายไปได้แค่ 9.1 ล้านเครื่อง ส่วน PS2 กลับมียอดขายพุ่งทะลุ 155 ล้านเครื่องและกลายเป็นเครื่องเกมคอนโซลที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาล ชนิดที่ว่าจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีเครื่องเกมคอนโซลไหนโค่นแชมป์นี้ได้เลย จากความล้มเหลวซ้ำสองของ Sega เลยทำให้สภาพคล่องภายในบริษัทปั่นป่วนถึงขั้นวิกฤต ในที่สุด Sega จึงจำต้องยุติการผลิตเครื่องคอนโซลต่อไปทันที แล้วลดบทบาทมาเหลือเพียงพัฒนาซอฟต์แวร์เกมอย่างเดียวแทน เพื่อลดต้นทุนและรักษาชีวิตของบริษัทเอาไว้
Wii U
Wii U ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสานต่อความสำเร็จที่ Wii เคยทำสำเร็จในเจเนอเรชั่นที่ 7 ได้ ด้วยไอเดียที่แหวกแนว โชว์นวัตกรรมการเล่นเกมผ่านโมชั่นเซนเซอร์ ให้ผู้เล่นที่ไม่ใช่ฮาร์ดคอร์เกมเมอร์หันมาสนใจตัวเครื่อง Wii กันได้อย่างล้นหลาม ซึ่ง Wii U ก็พยายามจะเดินตามรอยนั้นอีกครั้ง โดยมุ่งไปที่รูปแบบการเล่นที่เน้นเข้าถึงง่าย ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Gamepad ที่เป็นทั้งจอยและมอนิเตอร์ในตัวเดียวกัน ให้สามารถแสดงภาพทั้งบนจอทีวีและบน Gamepad พร้อมกัน แม้ว่า Wii U จะได้รับคำวิจารณ์จากหลายสำนักไปในทางที่ดี แต่ดูเหมือนผู้บริโภคกลับไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่ และมองว่ามันเล่นยากกว่าที่คิด กลายเป็นว่า Wii U ทำยอดขายไปได้แค่ 14 ล้านเครื่อง ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ Wii ที่เคยขายได้ 101 ล้านเครื่อง
ทั้งนี้ มีนักวิเคราะห์หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า Nintendo น่าจะประชาสัมพันธ์คุณสมบัติของตัวเครื่องได้ไม่กระจ่างนัก จึงชวนให้ผู้คนทั่วไปมองว่ามันคือเครื่องแท็บเล็ตมากกว่าจะเป็นเครื่องเกมคอนโซล มิหนำซ้ำ ด้วยความที่ตัวเครื่องมีดีไซน์ลักษณะที่แตกต่างไปจากคอนโซลเจ้าอื่นๆ ในเจเนอเรชั่นเดียวกันอย่าง PS4 และ Xbox One ทำให้นักพัฒนาเกมจากหลายค่ายมองว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะพัฒนาเกมมาลงให้ เพราะรูปแบบการเล่น สเปคเครื่อง และการแสดงผลของภาพดันไม่เหมือนเครื่องเกมในกระแสหลัก ณ เวลานั้น ทำให้แต่ละเกมที่ออกมาซัพพอร์ต Wii U จริงๆ เลยมีแต่เกมที่พัฒนาโดยทาง Nintendo เองซะเป็นส่วนใหญ่ โดย Nintendo เคยคาดหวังในตอนแรกว่า Wii U น่าจะขายได้สักประมาณ 100 ล้านเครื่อง พอแป้กหนักขนาดนี้ Nintendo เลยตัดสินใจประกาศยุติสายการผลิต Wii U ทันที ก่อนที่จะเดินหน้าเต็มตัวกับ Nintendo Switch ที่เป็นเครื่องเกมสไตล์ไฮบริดแทน