รีวิว The Crew 2 นี่มันเกมรถแข่งหรือทรานส์ฟอร์มเมอร์ส!?

รีวิว The Crew 2 นี่มันเกมรถแข่งหรือทรานส์ฟอร์มเมอร์ส!?

แนวเกม: Racing ผู้พัฒนา: Ivory Tower ผู้จัดจำหน่าย: Steam, UPlay แพลตฟอร์ม: PS4, Xbox One, PC

    เมื่อได้เห็น The Crew 2 เปิดตัวที่งาน E3 2017 พร้อมกับเน้นโชว์ระบบเปลี่ยนรูปแบบยานพาหนะได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องบิน หรือสปีดโบท ครอบคลุมทั้งภาคพื้นดิน น่านฟ้า และผืนน้ำ เราก็จะรู้ได้ทันทีเลยว่าภาคนี้ต้องเน้นเสริมพลังให้กับด้านเกมเพลย์มากกว่าภาคก่อนแน่ๆ แต่มันจะส่งผลดีให้กับตัวเกมหรือทำลายความสมดุลในการเล่น ในบทความชิ้นนี้มีคำตอบครับ

    ที่จริงระบบเปลี่ยนรูปแบบยานพาหนะระหว่างการแข่งอาจไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเพราะเราเห็นมาแล้วทั้งใน Sonic & All-Stars Racing Transformed และ Mario Kart 8 แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า The Crew 2 เป็นเกมแรกที่นำระบบนี้มาใช้ได้อย่างอิสระมากกว่าเกมอื่นๆ ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับความเป็น Open World ที่มีฉากหลังเป็นสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศเช่นเดียวกับภาคแรก ตลอดจนอีเวนท์การแข่งต่างๆ ที่มีรองรับทั้งรถยนต์ เครื่องบิน และสปีดโบทแบบเฉพาะเจาะจง หรืออีเวนท์ที่ออกแบบมาเพื่อระบบเปลี่ยนรูปแบบยานพาหนะโดยเฉพาะ ที่จะมีโอกาสให้เราขับรถยนต์บนถนนอยู่ดีๆ ก็กดเปลี่ยนเป็นเครื่องบินเพื่อบินไปตามเช็คพอยต์บนตึกสูงๆ ก่อนจะบินไปเหนือทะเลแล้วแข่งกันต่อแบบไร้รอยต่อ แต่น่าเสียดายเล็กน้อยที่ระบบที่ถูกชูเป็นจุดเด่นของเกมในภาคนี้กลับมีอีเวนท์รองรับที่น้อยไปสักหน่อย

The Crew 2

The Crew 2

    นอกจากระบบเปลี่ยนรูปแบบยานพาหนะที่ได้กล่าวไปแล้ว สิ่งที่ทีมพัฒนาเลือกมาใช้ในการดึงดูดผู้เล่นให้เล่น The Crew 2 ไปเรื่อยๆ นอกจากการสะสมยานพาหนะรุ่นต่างๆ แล้วก็คือระบบการอัพเกรดยานพาหนะในรูปแบบของการเก็บ Loot ที่จะสุ่มมาเป็นรางวัลให้เราหลังจบแต่ละอีเวนท์ จริงอยู่ที่เราอาจไม่ต้องไปถามหาเอาความสมจริงตั้งแต่เห็นระบบเปลี่ยนรูปแบบยานพาหนะจากรถเป็นเรือหรือเครื่องบินกันได้กลางถนนแล้ว

The Crew 2

    แต่การสะสม Loot ชิ้นส่วนของยานพาหนะแบบสุ่มของ The Crew 2 ดูเหมือนจะเป็นระบบที่มีมาเพื่อดึงให้เราต้องเล่นอีเวนท์ต่างๆ ไปเรื่อยๆ อยู่อย่างนั้นเสียมากกว่า เพราะชิ้นส่วนที่เป็นรางวัลเหล่านี้กลับขาดความลึกในการปรับแต่งสมรรถนะของยานพาหนะให้ตรงกับความถนัดของผู้เล่นแต่ละคน เพราะแต่ละชิ้นส่วนจะถูกตีตราด้วยตัวเลขคะแนนที่ค่าสูงกว่าก็หมายถึงสมรรถนะที่ดีขึ้น แค่นั้น บางทีเราก็ไม่เข้าใจว่าถ้ามันจะมีความหมายแค่นี้ พอได้ของมาก็ช่วยเปลี่ยนชิ้นส่วนที่มีคะแนนสูงสุดให้เราแบบอัตโนมัติไปเลยได้มั้ย จะได้ไม่ต้องเสียเวลากดเข้าเมนูไปปรับแต่งเอง

The Crew 2

    แม้ว่าการเพิ่มเข้ามาของทั้งเครื่องบินและสปีดโบทจะต้องส่งผลในด้านของการประมวลผลเพื่อแสดงภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องชื่นชมทีมงาน Ivory Tower ผู้พัฒนาเกมนี้ก็คือ พวกเขาสามารถดัดแปลงเอนจิ้นให้เราเห็นสภาพแวดล้อมได้ไกลขึ้นเมื่ออยู่บนเครื่องบิน ตลอดจนเวลาขับสปีดโบทก็มีคลื่นที่ส่งผลต่อฟิสิกส์ของตัวเรือได้อย่างสมจริง และสร้างอรรถรสให้กับการแข่งได้มากกว่าที่ตาเห็น

The Crew 2

The Crew 2

     แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ส่งผลให้ตัวเกมเวอร์ชั่นคอนโซลถูกล็อกเฟรมเรตอยู่ที่ 30 FPS ยกเว้นบน PC และ Xbox One X ที่สามารถแสดงผลที่ความละเอียด 4K พร้อมกับ 60 FPS ได้ แต่ถึงกระนั้น กราฟิกของเกมก็อยู่ในระดับที่สวยงามและขับรถชมวิวได้อย่างเพลิดเพลินมาก โดยเฉพาะเวลาที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างการที่มีฝนหรือหิมะตก ตลอดจนเงาสะท้อนบนตัวรถก็ยิ่งทำให้การเดินดูรถในคลังเก็บรถของเราด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่งก็เพลินตาไปอีกแบบ รวมถึงการตกแต่งลวดลายบนรถที่เราสามารถออกแบบเองได้ก็เช่นกัน

The Crew 2

    อาจเพราะด้วยการเน้นพัฒนาด้านเกมเพลย์เป็นหลัก จึงส่งผลให้เนื้อเรื่องที่เข้มข้นแบบภาคแรกโดนตัดออกไปแล้วถูกแทนที่ด้วยการนำเสนอในรูปแบบของอีเวนท์การแข่งที่ถูกถ่ายทอดออกไปตามสื่อต่างๆ ที่คะแนนความนิยมในตัวเราจะขึ้นอยู่กับจำนวน Follower ที่จะเพิ่มขึ้นตามสมรรถภาพในการแข่งของเรา ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นข้อเสียอะไรหากทีมงานสามารถนำเสนอมันออกมาได้อย่างน่าติดตาม
 
    แต่บรรดาคัตซีนต่างๆ ใน The Crew 2 นั้นเต็มไปด้วยเสียงพากย์และบทพูดที่บางทีเราก็รู้สึกว่าดูการ์ตูนตลกบางทีก็ยังได้อรรถรสมากกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่ยังดีที่คัตซีนเหล่านี้ไม่ได้กินเวลามากนักเมื่อเทียบกับเวลาที่เราจะได้เล่นเกมจริงๆ

The Crew 2

The Crew 2

    โดยรวมแล้ว The Crew 2 ถือว่าเป็นภาคต่อที่พลิกโฉมรูปแบบการนำเสนอและการเล่นจนแทบจะเรียกว่าเป็นเกม IP ใหม่เลยก็ว่าได้ ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่ได้กล่าวมาในข้างต้นก็ทำให้เราเล่นเกมได้อย่างเพลิดเพลินมากขึ้น แม้จะไม่ชวนให้ติดหนึบได้เท่าที่ควรก็ตาม

ข้อดี
–    ระบบเปลี่ยนรูปแบบยานพาหนะช่วยเพิ่มความสนุกให้กับตัวเกมได้มาก
–    การควบคุมเข้าใจง่าย ใช้เวลาเรียนรู้น้อย
–    กราฟิกของยานพาหนะและสภาพแวดล้อมสวยงาม

ข้อเสีย
–    อีเวนท์ที่เอื้อต่อระบบเปลี่ยนรูปแบบยานพาหนะมีน้อยไป
–    ระบบของรางวัลแบบสุ่มทำให้การปรับแต่งสมรรถนะขาดรายละเอียด
–    ไม่สามารถแข่งกับเพื่อนได้ทั้งที่ตัวเกมบังคับให้ออนไลน์ตลอดเวล

คะแนน: 7.5/10

สั่งซื้อตัวเกมได้ที่:  Steam, UPlay

The Crew 2

The Crew 2

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้