แต่ไหนแต่ไรมา เกมไฟท์ติ้งนั้นถือเป็นอีกแนวเกมหนึ่งที่ได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย ซึ่งหากย้อนไปสักประมาณเกือบ 30 ปีก่อน เกมไฟท์ติ้งเกมแรกๆ ที่สามารถครองใจมหาชนได้ก็คือ Street Fighter II ซึ่งนอกจากจะประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายแล้ว ยังทำให้เกมไฟท์ติ้งเป็นแนวที่ถูกจับตามองมาตลอด และนับแต่นั้นมา เกมไฟท์ติ้งชั้นนำหลายๆ เกมก็ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในกีฬาอีสปอร์ต ที่มีการแข่งขันชิงเงินรางวัลกันทั่วโลกเลยทีเดียว ทว่าท่ามกลางเกมไฟท์ติ้งที่มีให้เห็นตามท้องตลาดนั้น ก็ได้มีเกมไฟท์ติ้งบางประเภทที่พัฒนาด้วยคอนเซ็ปต์ที่ไม่เหมือนใคร พร้อมทั้งชูจุดขายที่เน้นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่สะดุดตาแก่เหล่าเกมเมอร์ โดยที่ส่วนใหญ่ก็มักจะมีให้เล่นกันในยุคที่ PS1 กำลังรุ่งเรืองนั่นเอง และบทความนี้ทีมงาน OS ก็ขอนำเสนอเกมไฟท์ติ้งที่ขายความแปลก ไม่ซ้ำจำเจกับเกมไฟท์ติ้งสายแมสโปรดักท์ให้เพื่อนๆ ทำความรู้จักกันสักหน่อยครับ
Bloody Roar
สำหรับเกม Bloody Roar นั้นเป็นเกมแนวไฟท์ติ้งที่มีความแตกต่างจากเกมไฟท์ติ้งซีรีส์อื่นๆ ก็ตรงที่ตัวละครทุกตัวจะสามารถแปลงร่างเป็นสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ได้ ซึ่งเมื่ออยู่ในร่างสัตว์ป่า (เรียกว่า Beast Mode) ก็จะมีพละกำลังและความเร็วที่สูงขึ้น มีท่าไม้ตายใหม่ๆ ให้ใช้ ตลอดจนสามารถฟื้นพลังชีวิตได้บางส่วน โดยเกม Bloody Roar ในช่วงแรกนั้นได้มีการพัฒนาลงให้กับ 2 แพลตฟอร์มด้วยกัน ได้แก่ ตู้เกมอาเขตและเครื่อง PS1 ซึ่งเวอร์ชั่น PS1 จะเป็นการพัฒนาโดยบริษัท Hudson Soft (ที่เคยมีผลงานพัฒนาเกมดังๆ มาแล้วอย่าง Bomberman เป็นต้น)
ทั้งนี้ เกม Bloody Roar ในเวอร์ชั่นตู้อาเขตที่เปิดให้บริการในทวีปอเมริกาเหนือจะใช้ชื่อเกมว่า Beastorizer ซึ่งก็มีเพียงภาคแรกบนแพลตฟอร์มดังกล่าวเท่านั้นที่ใช้ชื่อนี้ ต่อมาทางผู้พัฒนาเกม Bloody Roar จึงหารือกันและได้ข้อสรุปว่าจะใช้ชื่อ Bloody Roar ในการวางจำหน่ายทั้งแพลตฟอร์มตู้อาเขตและ PS1 ให้เหมือนกันไปเลย เพราะชื่อ Bloody Roar นั้นจดจำง่ายกว่านั่นเอง ทว่าภาคสุดท้ายของซีรีส์นี้ไปจอดอยู่ที่ Bloody Roar 4 ที่วางจำหน่ายบนเครื่อง PS2 เมื่อปลายปี 2003 และก็ไม่มีการทำภาคต่อออกมาอีกเลย เนื่องด้วยยอดขายที่ทางค่ายเกมไม่ค่อยปลื้มนัก กระทั่งความหวังของแฟนๆ ซีรีส์นี้ก็ดับสนิทลงทันที เมื่อ Hudson Soft ถูกเทคโอเวอร์ไปโดยบริษัท Konami ตั้งแต่ปี 2012 ดังนั้นถ้าเราจะหวังให้มีความเคลื่อนไหวอะไรสักอย่างของเกม Bloody Roar ในอนาคต ก็น่าจะเป็นการลุ้นให้ Konami ทำตู้ปาจิสล็อตที่เป็นธีมเกม Bloody Roar นั่นแหละครับ
(ล่าง) ตัวอย่างเกม Bloody Roar
Bushido Blade
ในขณะที่เกมไฟท์ติ้งทั่วไปตามท้องตลาดในยุค PS1 ณ เวลานั้นจะเน้นเกมเพลย์ที่ตัวละครมีเกจพลังชีวิต มีเกจท่าไม้ตาย และเอฟเฟ็กต์การใช้ท่าที่เวอร์วังอลังการ แต่ใน Bushido Blade จะมีเกมเพลย์ที่แหวกแนวไปอย่างสิ้นเชิงครับ โดยเกมนี้จะมาในลักษณะเน้นความสมจริงของวิถีซามูไรเลย เกจพลังไม่ต้องมี ท่าไม้ตายไม่ต้องใช้ให้ดูหวือหวา อาศัยแค่ท่าโจมตีเหมือนซามูไรปกติ ทุกอย่างสามารถชี้ชะตาได้ในดาบเดียว เท่านั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับซีรีส์นี้ ด้วยความแปลกใหม่ไม่มีใครเหมือนของเกมดังกล่าว จึงทำให้ Bushido Blade กลายเป็นกระแสที่นิยมในหมู่เกมเมอร์ชาวไทยในตอนนั้นด้วย
Bushido Blade เป็นผลงานการพัฒนาของสตูดิโอ Light Weight และผ่านการจัดจำหน่ายโดย Squaresoft (หรือ Square Enix ในปัจจุบัน) ซึ่งมีการทำออกมาทั้งหมด 2 ภาคด้วยกัน โดยที่โหมดเนื้อเรื่องของภาคแรกจะบังคับให้ผู้เล่นสู้รวดเดียวจนจบเกม กระทั่งพอมาเป็นภาค 2 รูปแบบเกมเพลย์ก็ได้เปลี่ยนเป็นการสู้กับศัตรู 2-3 คนต่อ 1 ฉาก จากนั้นค่อยย้ายไปสู้กันที่อื่น และตัวละครแต่ละตัวก็จะมีอาวุธที่ถนัดแตกต่างกันไป นอกจากนี้ เกม Bushido Blade ก็จะมีตัวละครที่โคตรโกงอยู่ 2 ตัวครับ ได้แก่ ซึบาเมะ (Tsubame) และ กัตเช่ (Katze) ซึ่งซึบาเมะจะมีอาวุธประจำตัวเป็นปืนกล ส่วนกัตเช่จะเป็นปืนพก ที่หากได้ยิงโดนจุดสำคัญจังๆ ก็นัดเดียวตายได้เลย แถมยิงได้ระยะสุดจออีกต่างหาก
(ล่าง) ตัวอย่างเกม Bushido Blade
Ehrgeiz: God Bless the Ring
Ehrgeiz เป็นเกมแนวไฟท์ติ้งแบบ 3D ที่พัฒนาโดยทีม DreamFactory และจัดจำหน่ายโดย Squaresoft (หรือ Square Enix ในปัจจุบัน) โดย Ehrgeiz จะแตกต่างจากเกมไฟท์ติ้งแบบ 3D ทั่วไป ตรงที่ตัวเกมได้ใช้คอนเซ็ปต์ของเกมแนวมวยปล้ำเป็นหลัก และทาง DreamFactory เองก็ได้นำแนวทางการพัฒนาของซีรีส์ Tobal ซึ่งเป็นเกมไฟท์ติ้งของ Squaresoft บน PS1 เช่นกัน มาปรับใช้ในเกม Ehrgeiz ด้วย นั่นก็คือการบังคับแบบที่ตัวละครสามารถวิ่งไปมาโดยรอบได้แบบ 360 องศา ดังนั้นตัวละครทั้งสองฝ่ายจึงไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในสถานะที่หันหน้าเข้าหากันอีกต่อไป พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เลือกใช้พื้นที่ต่างระดับ รวมถึงไอเทมและอาวุธที่วางอยู่ในฉากให้เป็นประโยชน์ในการต่อสู้ได้อีกเช่นกัน
สำหรับตัวเกมเวอร์ชั่นที่ลงให้กับเครื่อง PS1 ก็ได้มีการเพิ่ม Quest Mode เข้ามา โดยโหมดดังกล่าว ผู้เล่นจะต้องเข้าไปลุยตามดันเจี้ยนต่างๆ คล้ายเกม RPG รวมถึงมีตัวละครจากเกม Final Fantasy VII มาให้เลือกใช้กันด้วย ซึ่ง ณ ตอนนั้นถือเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่มาก เพราะไม่บ่อยนักที่จะเห็นตัวละครจากเกมแนว RPG จะกระโดดข้ามมายังอีกแนวเกมในลักษณะนี้ ซึ่งตัวละครจากฝั่งเกม Final Fantasy VII ที่ปรากฏในเกม Ehrgeiz จะมีอยู่ทั้งหมด 6 ตัวด้วยกัน ได้แก่ Cloud, Tifa, Sephiroth, Vincent, Yuffie และ Zack โดยที่ Cloud, Tifa และ Sephiroth จะเป็นตัวละครที่ใช้ได้ตั้งแต่เริ่ม ส่วน Vincent, Yuffie และ Zack นั้นเราจะต้องเล่นผ่านเงื่อนไขที่เกมกำหนดเพื่อปลดล็อคออกมาใช้เสียก่อน
ปล. Ehrgeiz เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า จุดมุ่งหมาย หรือ ความทะเยอทะยาน จ้า
(ล่าง) ตัวอย่างเกม Ehrgeiz: God Bless the Ring
Tobal No.1
ช่วงที่ PS1 กำลังครองตลาดอยู่นั้น ภาพลักษณ์ของบริษัท Squaresoft (หรือ Square Enix ในปัจจุบัน) ต่อสายตาเกมเมอร์คือค่ายที่เน้นทำแต่เกมแนว RPG เป็นหลักครับ ซึ่งแทบจะไม่มีใครคาดคิดเลยว่าจู่ๆ Squaresoft จะลองอะไรใหม่ๆ ด้วยการทำเกมแนวไฟท์ติ้งดูบ้าง และในที่สุด Tobal No.1 ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยได้นักพัฒนามือดีอย่างคุณเซย์อิจิ อิชิอิ (Seiichi Ishii) ที่เคยมีผลงานออกแบบเกม Tekken ภาคแรก และ Virtua Fighter ภาคแรกมาก่อน รับหน้าที่มาออกแบบเกมเพลย์ให้กับ Tobal No.1 แถมยังได้อาจารย์อากิระ โทริยาม่า นักวาดการ์ตูนระดับปรมาจารย์จากเรื่อง Dragon Ball มาช่วยดีไซน์ตัวละครให้กับเกมดังกล่าวด้วย
ทว่าสิ่งที่ทำให้ Tobal No.1 ดูแปลกใหม่กว่าใครอื่น อย่างแรกคือ Quest Mode ครับ ที่ผู้เล่นจะได้นำตัวละครลงดันเจี้ยน สู้กับศัตรูในนั้นเพื่อเก็บไอเทมทั่วไป พร้อมกับคอยหลบกับดักต่างๆ อารมณ์เหมือนเกมแนว RPG ยังไงยังงั้น รวมถึงระบบการต่อสู้ที่ลื่นไหลมาก โดยสามารถรันได้ถึง 60fps ได้สบายๆ เนื่องจากทีมพัฒนาได้ลดรายละเอียดในส่วนของโพลีกอนลงนั่นเอง แถมในระหว่างสู้ ผู้เล่นยังมีอิสระที่สามารถวิ่งได้ทั่วเวทีประลองอีกด้วย
สำหรับซีรีส์ Tobal ได้มีการสร้างออกมาจำนวน 2 ภาคด้วยกัน แต่ภาค 2 มีการทำออกมาเฉพาะเวอร์ชั่นญี่ปุ่นเท่านั้นครับ
(ล่าง) ตัวอย่างเกม Tobal No.1
WarTech: Senko no Ronde
เกมนี้ถือว่าเป็นเกมที่แหกทุกกฎของเกมไฟท์ติ้งเลยก็ว่าได้ครับ โดยภาพที่เรามักเห็นจนชินตาสำหรับเกมไฟท์ติ้งก็คือตัวละครสองตัวต่อสู้กันด้วยศิลปะการต่อสู้ หรืองัดอาวุธมาดวลกันซึ่งหน้า แต่ในกรณี WarTech: Senko no Ronde จะมาเหนือกว่านั้น ด้วยการประกาศตนเองว่าเป็นแนวยานรบแบบไฟท์ติ้ง ที่มุมกล้องจะนำพายานของผู้เล่นทั้งสองฝ่ายดำดิ่งเข้าไปด้านในฉากอัตโนมัติ ผู้เล่นจึงมีหน้าที่เพียงเคลื่อนที่ไปมาภายในฉาก พร้อมกับยิงโจมตีใส่ยานของผู้เล่นฝั่งตรงข้ามให้โดนจนกว่าพลังชีวิตจะหมดลง ซึ่งในเมืองนอกเคยขนานนามให้กับเกมนี้ว่าเป็น Virtual On สไตล์ 2D ด้วยซ้ำไป
ทางด้านยานรบต่างๆ ในเกมจะมีสกิลและท่าโจมตีที่แตกต่างกันไป ตลอดจนพลังในการหลบหลีกและเคลื่อนที่ที่ไม่เหมือนกัน ผู้เล่นมีหน้าที่ที่ต้องเลือกยานให้เหมาะกับสไตล์การบู๊ของตัวเอง ทว่าเกมนี้บนเครื่องคอนโซลได้เลือกลงเพียงแค่แพลตฟอร์ม Xbox 360 เท่านั้น แต่ก็ยังคงมีการทำภาคต่อเพิ่มมาอีกนิดหน่อย ระดับความมันส์ถือว่าเล่นเอาเพลินๆ ได้ดีไม่น้อยเลยครับ
(ล่าง) ตัวอย่างเกม WarTech: Senko no Ronde
Dead or Alive
Dead or Alive ในยุคแรกเป็นเกมไฟท์ติ้งที่มีเอกลักษณ์เด่นคือกับดักที่ติดตั้งอยู่ตรงขอบฉากหรือขอบเวทีครับ ซึ่งกับดักระเบิดจะทำงานทันทีเมื่อเราอัดคู่ต่อสู้กระเด็นไปชน หรือมีใครวิ่งไปชนกับดักเหล่านั้นเอง ทำให้ผู้เล่นต้องต่อสู้ด้วยความระมัดระวังตลอดเวลา เพราะนอกจากจะต้องระวังการโจมตีของคู่ต่อสู้แล้ว ก็ต้องระวังไม่ทะเล่อทะล่าไปโดนกับดักด้วยนั่นเอง โดยเกมนี้เป็น 1 ในผลงานสร้างชื่อของคุณโทโมโนบุ อิตางาคิ หรือที่ในวงการเกมรู้จักแกในฉายาว่า "แว่นดำ" นักพัฒนาเกมสุดติสท์แตก ฝีปากกล้า และมักสวมแว่นกันแดดตลอดเวลา
นอกจากนี้ บุคลากรใน Tecmo น่าจะได้จดจำเกมนี้ในฐานะเกมกอบกู้สถานการณ์บริษัทให้กลับมาอยู่รอดจนถึงปัจจุบันด้วยครับ เพราะก่อนที่เกม Dead or Alive ภาคแรกจะวางขาย Tecmo นั้นอยู่ในสถานการณ์ที่ขาดทุนหนักและเสี่ยงต่อการถูกฟ้องล้มละลายมาก กระทั่งตาแว่นดำได้เข้ามารับหน้าที่พัฒนาเกมนี้ด้วยไอเดียสุดแหวกแนว จนประสบความสำเร็จอย่างสูง และได้ทำให้ซีรีส์นี้มีภาคต่อออกมามากมาย มิหนำซ้ำ ยิ่งพอเข้าสู่ภาคหลังๆ ตัวเกมก็ได้เพิ่มความเซอร์วิสลงไปในตัวละครสาวๆ ให้มีหน้าอกหน้าใจไซส์เบ้อเริ่ม แถมยังแตกไลน์ออกเป็นภาคย่อยที่เน้นมินิเกม และเน้นโชว์เนื้อหนังของสาวๆ ไว้เพียบ
(ล่าง) ตัวอย่างเกม Dead or Alive