สวัสดีชาวเกมเมอร์… ยิ่งเทคโนโลยีในการสร้างเกมก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ เงินทุนที่ต้องใช้ในการสร้างก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าบริษัทเกมต้องการที่จะหาวิธีในการสร้างรายได้จากผลงานของตนให้ได้มากที่สุด บางวิธีก็สมเหตุสมผล แต่บางวิธีก็ดูจะหน้าเงินแบบไร้ชั้นเชิงกันจนเกินไป และวันนี้เราจะมาจัดอันดับเกมที่หิวเงินจนส่งผลเสียต่อตัวเกมกัน
SimCity
เป็นที่ทราบกันดีว่าการดาวน์โหลดเกมเถื่อนมาเล่นฟรีนั้นทำให้บริษัทผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายเกมต้องสูญเสียรายได้ไปไม่น้อย ถ้าพวกเขาจะหามาตรการมาป้องกันไม่ให้เกมของตนเองนั้นถูกเจาะมาเล่นเถื่อนได้ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่หนึ่งในวิธีที่แย่ที่สุดคงไม่ต้องยกตัวอย่างใครอื่นเลยนอกจาก SimCity ภาครีบูตเมื่อปี 2013 ที่ EA บังคับให้ผู้เล่นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลาแม้จะเล่นคนเดียวก็ตาม แค่บังคับให้ออนไลน์ยังไม่เท่าไหร่ แต่ด้วยเซิร์ฟเวอร์ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตัวเกม ทำให้ผู้เล่นต้องพบกับปัญหามากมายในช่วงแรกของการวางจำหน่าย แม้ EA จะบอกว่าตัวเกมนั้นมีความจำเป็นต้องต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา และไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะแก้ไข แต่เกมเมอร์สายโปรแกรมมิ่งก็ออกมาตอกหน้า EA ว่ามันไม่จริงเลย แค่ลบโค้ดบรรทัดเดียวก็ทำให้สามารถเล่น SimCity แบบออฟไลน์ได้แล้ว สุดท้าย EA ก็ต้องยอมแพ้ให้กับกระแสต่อต้านจนต้องออกแพตช์ให้ SimCity สามารถเล่นในแบบออฟไลน์ได้ในที่สุด
Metal Gear Solid V: The Phantom Pain
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโหมดเนื้อเรื่องของ The Phantom Pain นั้นยอดเยี่ยมจนเป็นหนึ่งในตัวเก็ง Game of the Year เมื่อปี 2015 เป็นสิ่งที่เป็นเหมือนกับเนื้อร้ายของเกมนั้นถูกซ่อนอยู่ในโหมดออนไลน์อย่างการสร้างฐาน Mother Base และทำภารกิจ FOB หรือ Forward Operating Bases ที่เราสามารถบุกฐานผู้เล่นคนอื่นเพื่อขโมยทรัพยากรณ์และ NPC ของพวกเขามาประจำการที่ฐานของเราได้ แต่สิ่งที่จะมาทำลายอรรถรสนี้ก็คือบริการขายประกันของ Konami… ใช่ครับ คุณฟังไม่ผิด Konami ขายประกัน Mother Base ให้เราได้ซื้อเพื่อป้องกันทรัพยากรณ์ทั้งวัตถุดิบและกำลังคนที่ต่อให้โดนขโมยไป ประกันตัวนี้ก็จะเสกทั้ง NPC และวัตถุดิบเหล่านั้นกลับมาให้เราได้เหมือนเดิม ซึ่งประกันที่ว่านี้ก็มีระยะเวลาให้เลือกสมัครตั้งแต่ประกัน 1 วันไปจนถึงประกัน 2 สัปดาห์ นอนกินเงินเกมเมอร์ไปได้เรื่อยๆ สบาย
Deus Ex: Mankind Divided
ถ้ายังจำกันได้ ช่วงกลางปี 2015 Square Enix เคยออกโครงการ “Augment (ออกเมนต์) Your Pre-Order” สำหรับเกม Deus Ex: Mankind Divided เพื่อหวังกระตุ้นให้เกมเมอร์มาพรีออร์เดอร์เกมนี้กันเยอะๆ โดยเอาของในเกมมาล่อให้ปลดล็อกเป็นขั้นๆ ตามจำนวนคนที่พรีออร์เดอร์ ยิ่งพรีกันเยอะ Square Enix ก็จะยิ่งแจกเยอะ แถมอาจปล่อยเกมออกมาให้เล่นกันก่อนกำหนดด้วยถ้ายอดพรีทะลุเป้า จริงอยู่ที่การพรีออร์เดอร์เกมเป็นสิทธิ์เสรีของแต่ละคน แต่วิธีการเอาของมาล่อให้ปลดล็อกเป็นขั้นๆ แบบนี้ย่อมไม่ได้ผลตอบรับที่ดีจากเกมเมอร์ และด้วยกระแสด้านลบที่ล้นหลาม Square Enix จึงต้องยกเลิกโครงการดังกล่าวไปในที่สุด
Dead Space 3
ก่อนหน้านี้ EA เคยเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่พยายามสร้างเกมใหม่ๆ ที่มีการนำเสนอและรูปแบบการเล่นที่น่าสนใจออกมาอย่างต่อเนื่อง และ Dead Space ก็เป็นหนึ่งในเกมที่แจ้งเกิดจากความพยายามเหล่านั้น แต่ก็อย่างที่ Harvey Dent เคยกล่าวเอาไว้ว่า “คุณจะยอมตายอย่างวีรบุรุษหรือจะอยู่ไปจนกว่าจะเห็นตัวเองกลายเป็นวายร้ายในที่สุด” Dead Space เคยเป็นเกมที่กดดันผู้เล่นได้ด้วยความน่ากลัวของบรรยากาศและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีข้อจำกัด แต่กับ Dead Space 3 ความสมดุลเหล่านั้นได้หายไปด้วยนโยบายโกยเงินให้ได้มากที่สุด เกมน่ากลัวเพราะศัตรูเก่งเหรอ ไม่ใช่ปัญหา เปย์สิ แล้วคุณจะได้อาวุธเทพๆ มาใช้ตั้งแต่ต้นเกม เดินลุยได้ชิลล์ๆ จนจบเกมไปเลย แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าคุณจ่ายจนจบแล้วรู้สึกว่าฉากจบมันยังค้างคาก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะฉากจบสมบูรณ์มันอยู่ใน DLC ราคา 300 กว่าบาทที่จะมาดูดเงินคุณเป็นเฮือกสุดท้ายยังไงล่ะ
Star Wars Battlefront II
Battlefront ภาคแรกนับว่าเป็นบทเรียนที่ดีให้กับทั้ง EA และ DICE ในการพัฒนาการนำเสนอเกมภาคต่อที่ควรจะดียิ่งขึ้น เราจึงได้เห็น Battlefront II เปิดตัวมาด้วยแนวโน้มที่น่าจะดีอย่างการที่มีโหมดเนื้อเรื่องมาให้เล่น และมีตัวละครพร้อมกับฉากที่หลากหลายมากกว่าเดิม แต่ก่อนที่เกมจะออกไม่นาน EA เจ้าเก่าก็เริ่มออกลายมาให้เห็นกับการเปิดตัวระบบ Microtransaction ที่ให้เราใช้เงินจริงในการซื้อทั้งตัวละครและอาวุธที่จะเอื้อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในโหมดมัลติเพลเยอร์ กล่าวง่าย ๆ ก็คือมันทำให้ Battlefront II เข้าข่าย Pay-to-win ไปเต็ม ๆ และแน่นอนว่าย่อมไม่ได้ผลตอบรับที่ดีจากเกมเมอร์จน EA ต้องยอมถอดระบบดังกล่าวออกไปหลังจากที่เกมวางจำหน่ายได้ไม่นาน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ทันการอยู่ดีเพราะ Battlefront II นั้นทำยอดขายได้ต่ำกว่าที่ EA คาดไว้ไปไกลพอสมควร
และทั้งหมดนี้ก็คือ 5 อันดับเกมหิวเงินจนหน้ามืดตามัวที่เราเห็นว่ามันไม่แฟร์กับเกมเมอร์สักเท่าไหร่ แต่ถ้าใครมีเกมหรือเหตุการณ์ไหนนอกจากนี้ก็อย่าลืมคอมเมนต์บอกเราได้ ไม่แน่เดี๋ยวอาจจะได้ทำ Part 2 กันต่อ หรือใครอยากให้เราจันอันดับอะไรในวงการเกมอีกก็คอมเมนต์บอกเราไว้ได้เช่นกัน