บทความนี้มีการดัดแปลงและเรียบเรียงใหม่จากบทความในเว็บไซต์ Whatculture
ทุกวันนี้เรามักจะเห็นมีดราม่าในวงการเกมเกิดขึ้นประปรายครับ โดย 1 ในนั้นที่ค่อนข้างน่าสนใจก็คือประเด็นที่เกมเมอร์ยุคก่อนบ่นกันว่าวิดีโอเกมยุคนี้ไม่ได้ดีเท่าวิดีโอเกมในยุคที่พวกตนเติบโตมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เกมแต่ละยุคสมัยก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป และในบทความนี้จะนำเสนอถึง 5 ประเด็นที่เกมเมอร์มักคิดผิดว่าวิดีโอเกมยุคอดีตดีกว่าวิดีโอเกมยุคปัจจุบันกันครับ
1. ระบบพาสเวิร์ดและเมโมรี่การ์ด
ในยุคที่เกมคอนโซลยังเป็นเครื่อง Famicom ครองตลาดอยู่นั้น ระบบเซฟเกมมักจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบครับ อย่างแรกคือการติดตั้งตัวบันทึกไฟล์การเล่นไว้ในตลับเกม ซึ่งวิธีนี้จะอาศัยถ่านชนิดก้อนแบน (คล้ายกับถ่ายที่ใส่นาฬิกาข้อมือ) เป็นพลังงานหล่อเลี้ยง ที่เมื่อเวลาถ่ายหมดก็ต้องไปแงะตลับออกเพื่อเปลี่ยนถ่านกันตามมีตามเกิด ส่วนอีกประเภทคือใช้ระบบพาสเวิร์ดที่ผู้เล่นต้องไปหากระดาษมาจดเอาเอง โดยที่สมัยนั้นเกมที่ผู้เล่นมักประสบปัญหาในการจดพาสเวิร์ดก็ได้แก่ Dragon Quest 1-2 หรือ Captain Tsubasa ที่รหัสจะเป็นตัวอักษรฮิรางานะของญี่ปุ่น แล้วด้วยภูมิปัญญาของคนไทยที่ไม่เชี่ยวชาญว่าตัวอักษรเหล่านี้มันเขียนกันจริงๆ ยังไง ก็ได้แต่ลอกเลียนหรือเขียนให้มันดูคล้ายๆ กันไว้ก่อน ผลสุดท้ายก็คือผู้เล่นบางคนจดมาแล้วแต่พอจะกลับมาเล่นอีกครั้งดันไม่รู้ว่าตัวอักษรที่ตัวเองจดมันคือตัวอะไร กลายเป็นว่ากรอกพาสเวิร์ดเท่าไหร่ก็ไม่ผ่าน ในที่สุดก็ต้องเล่นใหม่หมด เจ็บปวดน้ำตาแทบร่วง
กระทั่งเข้าสู่ยุค PS1 และ PS2 เรืองอำนาจ เมโมรี่การ์ดหรืออุปกรณ์ที่ใช้เซฟเกมก็เข้ามามีบทบาทแทน ข้อดีของมันนอกจากจะไม่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี่แล้ว หากเพื่อนของเราเล่นเกมเดียวกับที่เราเล่นอยู่ ก็ยังสามารถพกพาเพื่อเอาเซฟของเราไปเสียบเล่นที่บ้านเพื่อนได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในเมโมรี่การ์ดก็หาใช่สิ่งที่จีรังยั่งยืนครับ หลังจากที่เกมคอนโซลได้ผันเข้าสู่ยุค PS3 หรือ PS4 การเซฟเกมก็เป็นหน้าที่ของ HDD ในเครื่องล้วนๆ แถมจะถ่ายโอนไปลงใน Cloud เพื่อกันเหนียวก็ทำได้ มิหนำซ้ำเกมในยุคนี้ก็มี Checkpoint และ Auto-save ให้แบบรัวๆ ในขณะที่เมโมรี่การ์ดนั้นไม่สามารถสำรองข้อมูลได้ นอกจากเพียงก๊อปปี้ข้อมูลไปยังเมโมรี่การ์ดอีกอันเท่านั้น นี่จึงเป็นอีก 1 สาเหตุที่บ่งชี้ว่าวิดีโอเกมปัจจุบันมีความสะดวกสบาย และปลอดภัยกว่ายุคก่อนมากครับ
2. รูปแบบการบังคับด้วยจอย
ย้อนไปเกือบ 30 ปีก่อน Super Famicom ได้บุกเบิกนวัตกรรมของจอยด้วยการเพิ่มปุ่ม X, Y ไว้ใกล้ปุ่ม A, B และปุ่ม L, R ตรงบริเวณขอบด้านบนของจอย ซึ่งทำให้การบังคับในแต่ละเกมดูมีลูกเล่นมากขึ้น ทำอะไรได้เยอะขึ้น แต่พอในยุคปัจจุบัน ตัวเกมมีระบบที่ลึกขึ้น โครงสร้างเกมเพลย์ที่หลากหลายขึ้น ปุ่มบนจอยเลยมีเพิ่มตาม รวมถึงการบังคับที่เปลี่ยนไปด้วย โดยจะเห็นได้ชัดที่สุดก็คือเกมแนวชู้ตติ้ง ที่โยกปุ่มเล็ง+ยิงมาเป็นปุ่ม L2+R2 หรือ LT+RT แทน และการเปลี่ยนการบังคับมาเป็นแบบนี้ จึงทำให้ผู้เล่นสามารถสู้กับศัตรูพร้อมกับเคลื่อนที่ไปพร้อมๆ กันได้ ขณะที่เกมในยุคก่อนจะไม่ค่อยมีปุ่มเล็งกัน เพราะกันเพลย์จะไม่มีความสมจริงอยู่แล้ว กระสุนไม่มีส่าย ปืนไม่มีแรงดีด นั่นเอง
ส่วนนึงเราอาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่าการบังคับของเกมในแต่ละยุคจะผันแปรตามความซับซ้อนของตัวเกม ทว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป และโลกเรายังหมุนรอบตัวเองอยู่ทุกวัน การที่เราทำอะไรกับตัวละครได้มากกว่าแต่ก่อน หรือการที่ตัวละครมีอิสระที่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้มากขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ดีที่ควรยกผลประโยชน์ให้แก่คนเล่น มากกว่าตีอกชกลมว่าเกมยุคเก่าดีกว่าเป็นไหนๆ นะครับ
3. สารพัดปัญหาบั๊กต่างๆ ที่กวนใจ
สมัยนี้โลกเราดำเนินไปด้วยพลังแห่งอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียครับ ที่ทางผู้พัฒนาเกมสามารถรับรู้จากผู้บริโภคได้ตลอดเวลาว่าเกมที่ตนจำหน่ายไปมีปัญหาบั๊กหรือข้อบกพร่องอะไรในเกมหรือไม่ และเมื่อพบปัญหาปุ๊บ ก็เพียงแค่ไปออกแพตช์แก้บั๊ก ทุกอย่างก็จบ แต่ในยุคก่อนน่ะเหรอ...ถ้าผู้เล่นคนไหนเจอบั๊กขึ้นมาและร้องเรียนไปยังค่ายเกม ทางค่ายเกมก็ทำได้แต่เพียงกลับไปแก้โค้ดที่เกิดบั๊ก แล้ววางจำหน่ายตลับหรือแผ่นเกมใหม่อีกล็อตที่ผ่านการแก้โค้ดแล้ว หรือไม่ก็ต้องปล่อยเลยตามเลย ความซวยตกอยู่ที่ผู้บริโภคเต็มๆ
4. เครื่องเกมพกพานำไปเล่นในที่มืดไม่ได้
เราต่างทราบกันดีว่า Game Boy นั้นเป็น 1 ในเครื่องเกมพกพาที่สามารถสร้างความนิยมได้อย่างถล่มทลาย แต่ถ้าใครเกิดทันยุค Game Boy ตัวดั้งเดิมจะเข้าใจได้ดีครับว่าเจ้าเครื่องนี้จำเป็นต้องเล่นในที่ๆ มีแสงสว่างเพียงพอครับ เนื่องด้วยตัวเครื่องแสดงผลเป็นภาพขาวดำ แถมไฟที่เลี้ยงหน้าจอก็สว่างดีเหลือเกิน (ประชด) หากใครจะเอาไปเล่นในที่มืดก็ต้องติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่เป็นจอขยายและมีไฟเพิ่มแสงสว่างเข้าไป จนพอเป็นเครื่องพกพาในยุคนี้ ปัญหาเหล่านั้นก็เบาบางไป ด้วยเทคโนโลยีจอภาพแบบ LED ที่ส่องสว่างสดใสแม้จะหลบไปเล่นในหลืบก็ตาม ถนอมสายตาเกมเมอร์ให้หวนเข้าสู่สายโต้รุ่งเกมมิ่งได้มากมาย
5. ภาพลักษณ์วงการเกมที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น
ช่วงทศวรรษ 1980-1990 ถือเป็นยุคมืดของวงการเกมทั่วโลกครับ ซึ่งมันไม่ใช่แค่เพียงปัญหาที่ผู้คนจากทุกมุมโลกมองเกมเป็นสิ่งมอมเมาเหมือนอย่างที่สื่อมวลชนในไทยชอบเขียนข่าวทุกวันนี้ หากแต่แผนการโปรโมทหรือโฆษณาเกมต่างๆ ยังงัดกลยุทธ์ใต้ดินทุกรูปแบบมาประจันหน้ากัน ชนิดที่ไม่แคร์ศีลธรรมหรือการเหยียดเพื่อนมนุษย์เลยด้วยซ้ำไป ดังเช่นรูปด้านบน ที่เป็นโฆษณาบนสื่อสิ่งพิมพ์โดยบริษัท Sega ที่ต้องการจะโปรโมทเครื่อง Game Gear มาแข่งกับ Game Boy ที่อุตส่าห์ใช้มุกใต้สะดือหวังสร้างเสียงหัวเราะแก่ผู้บริโภค ซึ่งการกระทำเช่นนี้นอกจากจะไม่ช่วยให้ผู้คนที่อคติกับวงการเกมอยู่แล้วหันมาเปลี่ยนความคิดได้ ยังแสดงให้เห็นถึงความไร้รสนิยมของทีมมาร์เก็ตติ้งของค่ายเกมนั้นๆ อีกด้วย เคราะห์ดีที่ยุคปัจจุบันการตลาดจากแต่ละค่ายเกมมีการระดมสมองและวางแผนล่วงหน้ากันแบบรอบคอบ ปัญหานี้เลยหมดไป