เนื่องจากเจ้าของเรื่องยังมีอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ทางบทความต้นทางจึงสงวนสิทธิ์ไม่ลงรูปของเกมเมอร์คนนี้ไว้นะครับ
ระยะหลังมานี้ กระแสดราม่าที่เกิดขึ้นกับระบบ Microtransaction หรือการใช้เงินจริงซื้อไอเทมต่างๆ ภายในเกมกลายเป็นข้อถกเถียงกันใหญ่โต ถึงเรื่องความเหมาะสมในแง่มุมต่างๆ รวมถึงการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้เล่นเกินไปหรือไม่ ท่ามกลางกระแสที่ยังคุกรุ่นกันอยู่ ก็ได้มีเกมเมอร์หนุ่มคนหนึ่ง ผู้ใช้ยูสเซอร์ในเว็บบอร์ด Reddit ว่า Kensgold ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Kotaku พร้อมกับโชว์หลักฐานทางการเงินและใบเสร็จรับเงินที่ยืนยันว่าตัวเขาใช้จ่ายเงินในรอบ 3 ปีหลังไปถึง 13,500.25 เหรียญ (หรือประมาณ 445,000 บาท) กับบรรดาเกมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น CS: GO, Smite และ The Hobbit: Kingdoms of Middle-earth
ผู้อ่านสามารถชมจดหมายเปิดผนึกของ Kensgold แบบเต็มๆ ได้ที่ (คลิกที่นี่)
เรื่องของเรื่องก็คือ พ่อหนุ่ม Kensgold คนนี้ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกไปยังค่ายเกมต่างๆ โดยบรรยายว่าการล่อลวงผู้เล่นให้ใช้จ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งไอเทมในเกมที่เขาชื่นชอบนั้นเริ่มขึ้นตอนเขาอายุประมาณ 13 และเขาจ่ายเงินกับไอเทมในเกมหนึ่งไป 30 เหรียญ ทั้งๆ ที่ตัวเองยังไม่มีรายได้และยังเด็กมากในขณะนั้น กระทั่ง 1 ปีต่อมา เขาก็ได้ย้ายไปเล่นเกม The Hobbit: Kingdoms of Middle-earth เกมบนสมาร์ทโฟนที่บีบให้ผู้เล่นต้องฟาร์มของไม่มีที่สิ้นสุด และแกมบังคับให้เข้าสู่ระบบ Pay-to-Win อย่างน่าเกลียด (ปัจจุบันเกมนี้ปิดตัวไปแล้วด้วยภาวะล้มละลายของบริษัทเกม) ในเกมดังกล่าว ผู้เล่นต้องสร้างเมืองโดยใช้ทรัพยากรที่ขุดหามาได้ จากนั้นก็จ่ายเงินสร้างกองทัพและอัพเกรดสิ่งปลูกสร้างกับยูนิตต่างๆ ให้เก่งขึ้น ทว่าผู้เล่นจะสามารถลดกระบวนการเหล่านั้นให้รวดเร็วขึ้นได้ด้วยการ "เปย์" ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ที่ทางค่ายเกมวางไว้แต่แรกแล้วนั่นเอง ทั้งนี้ Kensgold เชื่อว่าผู้เล่นที่อยู่ระดับท็อปของเกม Kingdoms of Middle-earth น่าจะต้องเปย์เงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1 แสนเหรียญ (ราวๆ 3.3 ล้านบาท) มิหนำซ้ำพวกเขาก็อาจมีการแจกจ่ายการ์ด Google Play ให้กับผู้เล่นอื่นที่อยู่ในกิลด์เดียวกัน เพื่อให้ไปเพิ่มสมรรถนะของทีมให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย
Kensgold กล่าวเสริมว่า ตัวเขาไม่เคยรู้สึกว่าตนเองตัดสินใจถูกเลยเมื่อต้องใช้จ่ายเงินไปกว่า 100 เหรียญในแต่ละครั้ง แต่ ณ เวลานั้นความรู้สึกของเขามันแบบ "แล้วฉันจะเอาเงินไปเสียกับอะไรได้อีกล่ะ?" โดยที่จิตใต้สำนึกอีกด้านหนึ่งไม่มีเตือนว่า "เฮ้ย หยุดเปย์ได้แล้ว!" กันเลย ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของ Kensgold เกิดขึ้นตอนเขาอยู่ปีที่ 2 ของระดับไฮสคูล (อารมณ์เหมือน ม.5 บ้านเรา) เขายังไม่มีรถขับ และทำงานพาร์ทไทม์ได้เงินราวๆ 600-800 เหรียญต่อเดือน ซึ่งเขาใช้เงินกว่า 90% ของเงินเดือนหมดไปกับไอเทมในเกมมือถือเลยทีเดียว จนปู่กับย่าของ Kensgold เริ่มเป็นกังวล และแม่ของเขาก็พยายามจะปิดการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อให้เขาหยุดเล่น แต่ด้วยความที่มือถือยุคนั้นมีการเชื่อมต่อสัญญาณ 3G การเปย์แบบหน้ามืดตามัวจึงไม่มีอุปสรรคใดๆ มาขวางกั้น พอเงินเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง เขาก็ต้องหางานเสริมอีกจ๊อบเพื่อมาเปย์เงินในเกมเพิ่มอีก
สรุปรวมแล้ว ยอดบิลชำระเงินของ Kensgold ก็ทะลุหลัก 1 หมื่นเหรียญไปอย่างรวดเร็วในรอบ 3 ปีให้หลัง ซึ่งในจำนวนนั้นรวมถึงการใช้จ่ายเงินให้กับ Steam, Google Play และ Blizzard ครับ และในปัจจุบัน Kensgold ก็มีสกินของตัวละครในเกม Smite มากกว่า 300 แบบ รวมถึงสกินอีกนับไม่ถ้วนของเกม CS: GO ด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จุดประสงค์ของ Kensgold ไม่ได้ต้องการที่จะกระทืบค่ายเกมบางค่ายที่หิวเงินให้จมดินครับ หากแต่เป็นการแชร์ประสบการณ์ของตัวเขาเอง และชี้ให้เห็นว่าระบบ Microtransaction นั้นเป็นดาบสองคม ที่พร้อมจะเขมือบเงินและกล่อมเกลากิเลสของเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้มัวเมาได้อย่างง่ายดายนั่นเอง
เพื่อนๆ คนไหนรู้เช่นนี้แล้วก็พยายามยั้งมือไว้บ้างนะครับ เวลาที่คิดจะเปย์ให้กับเกมอะไร อย่าปล่อยให้กิเลสของเรากลายเป็นเครื่องมือปั่นเงินของค่ายเกมที่แสวงหากำไรเกินควรเชียวล่ะ!
เครดิต: Kotaku
เครดิตรูปภาพ: Hiveworkshop