ดีป้า แถลงผลสำเร็จของโครงการ Digital Startup พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในปีถัดไป

แชร์เรื่องนี้:
ดีป้า แถลงผลสำเร็จของโครงการ Digital Startup พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในปีถัดไป


สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (www.depa.or.th) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการ
ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาล สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ได้ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนากำลังคนทางด้านดิจิทัลเพื่อสร้างธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล (Tech Startup)
ภายใต้ชื่อ “Digital Startup” เพื่อสร้างโอกาสให้บุคลากร และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
สายเลือดใหม่ สามารถสร้างสรรค์พัฒนา และนำเสนอผลงานที่มีศักยภาพเข้าสู่ภาคธุรกิจได้

“ดีป้า” ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวนโยบายดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการฯ โดยจัดเวที
นำเสนอผลงานที่มีศักยภาพกว่า ๕๐๐ ทีม ภายใต้กระบวนการคัดสรรที่เข้มข้นในการเฟ้นหาสตาร์ทอัพ
ไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมระดับสากล ๑๐ ทีมสุดท้าย เพื่อไปศึกษาดูงานพร้อมเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ โดยมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนเริ่มจากการจัดกิจกรรมใน ๔ ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง สร้างเวทีและโอกาสให้แก่นักเรียน-นักศึกษา นักพัฒนาอิสระ ผู้ประกอบการ รวมไปถึงบุคคลทั่วไป ได้มีโอกาสนำเอานวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และดิจิทัลคอนเทนต์ ไปพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการจัดกิจกรรมกระบวนการเร่งการพัฒนาศักยภาพสู่ระดับสากล หรือ Accelerate Program เพื่อพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เติบโตแบบก้าวประโดด และกิจกรรมส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาจัดตั้ง Tech Startup Club ร่วมกับ ๔๕ สถาบันทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญและเตรียมความพร้อมในการพัฒนาประเทศที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

ตลอดระยะเวลา ๑๕ เดือนที่ผ่านมา “ดีป้า” ได้เดินหน้าผลักดันโครงการ “Digital Startup” ในปี ๒๕๖๐
จนสัมฤทธิ์ผลสามารถพัฒนาความรู้ ความสามารถและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่กว่า๕,๐๐๐คน
ทั่วประเทศ เกิดไอเดียในการนำดิจิทัลไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จำนวน ๕๐๐ ผลงาน สร้างและผลักดัน
ทีมสตาร์ทอัพที่มีผลงานและนวัตกรรมดิจิทัลที่มีความพร้อมในเชิงพาณิชย์ สามารถต่อยอดเข้าสู่ ภาคธุรกิจและการลงทุนของภาคเอกชนที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม จำนวน ๔๐ ทีม เปิดโลกทัศน์และเตรียมความพร้อมสู่ตลาดสากลให้กับสุดยอดสตาร์ทอัพไทย ๑๐ ทีมสุดท้าย รวมถึงได้สร้างเครือข่ายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน จนเกิดระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ หรือ Startup Ecosystem ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

ในปี ๒๕๖๑ และในอนาคต “ดีป้า” ยังคงจะเดินหน้าในการดำเนินการสร้างรากฐานของสตาร์ทอัพไทยให้
แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงเตรียมมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งในด้านการตลาดและการลงทุนเพื่อให้ครอบคลุมความต้องการและสร้างความแข็งแกร่งให้สตาร์ทอัพไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม เน้นการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรภาคการศึกษา ภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์และส่งเสริมการดำเนินการระหว่างกัน ร่วมกันพัฒนาและสร้างขีดความสามารถของสตาร์ทอัพไทยให้สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคสังคม รวมถึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดให้กับประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยผลการดำเนินงานโครงการ Digital Startup ภายใต้แนวคิดที่ว่า “Digital Startup: Dare to Dream with Extreme Passion” เพื่อประกาศความสำเร็จของโครงการในปีนี้ และสานต่อการส่งเสริม Digital Startup ในปีถัดไป โดยได้รับเกียรติจาก นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กลุ่มงานเศรษฐกิจดิจิทัล และ นายธนพงษ์ ณ ระนอง นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน มาร่วมแบ่งปันมุมมองในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการร่วมทุน และการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวไกลในตลาดโลก พร้อมการเสวนาร่วมกันของตัวแทนสตาร์ทอัพทั้ง ๑๐ ทีม ที่ถ่ายทอดประสบการณ์จากการได้ไปศึกษาดูงานที่ซิลิคอนวัลเลย์ เมืองแห่งขุมทรัพย์ทางด้านไอที และประเทศชั้นนำในเอเชียอย่างประเทศเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นเวลากว่า ๒๐ วัน ในจันทร์ ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น ๗ อาคารเคเอ็กซ์ กรุงเทพมหานคร

“โจทย์ของโครงการนี้คือทำให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ และเร่งปลูกฝังทัศนคติของผู้ประกอบการดิจิทัล  โดยเริ่มตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะเด็กในวัยนี้มีต้นทุน ในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ น้อยกว่าคนที่ทำงานแล้ว และยังสามารถสอดแทรกเข้าไปในการเรียนการสอนได้ แต่ข้อจำกัดที่พบคือ ความหลากหลาย หรือประสบการณ์ในการเผชิญกับปัญหายังน้อย ซึ่ง “Tech Startup Club” นั้นได้นำไปสู่การใช้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหา จากการที่มีวิทยากรมาแชร์ความรู้และประสบการณ์ ให้ฟัง โดยเฉพาะความรู้ที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการผลักดัน ให้เกิดโอกาสในการทำธุรกิจจริง ซึ่ง Accelerate Program ก็เช่นกัน แต่จัดสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น สิ่งที่คาดว่าจะเกิดคือ เราจะพยายามมุ่งมั่นผลักดันต่อไป เพราะไอเดียของธุรกิจดิจิทัลมันไม่มีกำแพงกั้น ธุรกิจในต่างประเทศสามารถเข้ามาในไทยได้รวดเร็ว เราเลยต้องสร้างเองไปด้วย แต่กิจกรรมที่ทางโครงการได้ไปศึกษางานสตาร์ทอัพระดับโลก คือการเอาตัวเองไปฝังไว้ในระบบนิเวศน์จริงๆ ของธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ มีโอกาสได้เข้าเรียนจริงๆ ได้เรียนรู้ Process ได้ทำจริง และเข้าใจที่มาที่ไป “ดีป้า” เป็นกองเสบียง ที่ทำเสบียงเตรียมเอาไว้ สามารถหยิบไปใช้ได้เลยใครพร้อมก็มาหยิบเสบียงของตัวเอง และไปต่อเองได้ มีทั้ง เสบียงเล็ก กลาง ใหญ่ ตามStage ของธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่ามีจำกัด ซึ่งการทำแบบนี้ เราไม่ต้องรอให้ทุกคนพร้อม ใครมาก่อนพร้อมก่อน ได้ก่อน สำหรับดีป้าเองในฐานะหน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เราก็ได้เตรียมการสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ตอัพผ่านมาตรการต่าง ๆ ในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน” นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ กล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารโครงการพัฒนากำลังคนทางด้านดิจิทัลเพื่อสร้างธุรกิจเทคโนโลยี
ดิจิทัล (Tech Startup)
ภายใต้ชื่อ “Digital Startup” และข่าวสารอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่
http://www.digistartup.net/ หรือที่ www.depa.or.th


10 ทีมสุดท้ายผู้ชนะการคัดเลือกจากโครงการ Digital Startup ได้แก่
1.Seekster

ระบบกลางในการหาผู้ให้บริการ แม่บ้าน และ ช่างแอร์ สำหรับ บ้าน ออฟฟิศ คอนโด ทาวน์โฮม
ของผู้ใช้บริการ ทำให้การหาบริการใกล้บ้านนั้นไม่เป็นเรื่องยุ่งยากอีกต่อไป

2.ChomCHOB

แพลตฟอร์มสื่อกลางในการรวมแต้มบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรสะสมคะแนนต่างๆ ให้เป็น ChomCHOB Point ด้วยคอนเซปต์“เปลี่ยนแต้มสะสมเพื่อการช็อปปิ้ง”

3.Rinn

แก้วน้ำอัจฉริยะ สำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพสามารถทราบว่าน้ำที่ดื่มเข้าไปมีสารอาหารประเภทใดบ้าง ผู้ใช้งานสามารถทราบและวางแผนโภชนาการของตัวเองได้ เพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพในระยะยาว

4.Refinn

เว็บไซต์รีไฟแนนซ์ภาระหนี้ออนไลน์ เพื่อให้คนไทยได้มีเงินเหลือจากการลดดอกเบี้ย
และหมดภาระหนี้ได้เร็วที่สุด

5.Fictionlog

แพลตฟอร์มเขียน-อ่านนวนิยายออนไลน์ โดยนักอ่านสามารถเข้ามาซื้อเพื่อสนับสนุนนักเขียนได้โดยตรง
อัพเดทบทต่อบท ทำให้นักเขียนได้ส่วนแบ่งที่มากขึ้น เพิ่มทางเลือกให้นักอ่านสามารถเข้าถึงนวนิยาย
คุณภาพได้มากกว่าเดิม

6.Cyberrex Design

หนังสือ “นาก” Horror Augmented Reality & Virtual Reality Book เป็นหนังสือแนวสยองขวัญที่นำเอาเทคนิค AR และ VR มาใช้เพื่อให้เกิดภาพสามมิติเสมือนจริงออกมาจากหนังสือ และแทรกความเป็น Interactive เข้าไปด้วย

7.Drivemate

หรือเรียกได้ว่า “Airbnb for cars” ที่เป็นแพลตฟอร์มเช่ารถออนไลน์รูปแบบใหม่ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่าง
ผู้ปล่อยเช่ารถกับผู้ที่ต้องการเช่ารถให้มาพบกัน อีกทั้งยังมีบริการเสริมจัดหาประกันภัยคุ้มครองรถเพื่อสร้าง
ความเชื่อมั่น ยืนยันความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง

8.CashGrow


คลาวด์แอพพลิเคชั่นที่ช่วยบริหารจัดการกระแสเงินสด และสภาพคล่องทางการเงิน โดยนำข้อมูลรายรับรายง่ายขององค์กรมาประมวลผลให้เข้าใจได้ง่าย และนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างคำแนะนำแก่บริษัทในการนำเงินไปลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์    

9.Fixzy Auto

ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมเอาบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ทั้งหมดมาไว้บนแพลตฟอร์มเดียวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในทุกแง่มุมของผู้ใช้รถยนต์มือใหม่ เนื่องจากหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของผู้ใช้รถยนต์ก็คือพวกเขาไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับรถยนต์และบริการที่มีอยู่

10.FindYourSpace Pro

แพลตฟอร์มที่จัดเก็บและจัดการรายการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการขายอย่างครบวงจร ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจัดการและค้นหารายการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ได้จากคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน

ข่าวประชาสัมพันธ์

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ