เชื่อว่าเกมเมอร์อย่างเราๆ หลายคนอาจจะมีกันบ้างที่รู้สึกเบื่อกับการอ่านตำราเรียนที่มีแต่ Text ให้อ่านจนตาลาย แถมหลักสูตรการศึกษาเมืองไทยก็ดูจะให้เด็กเน้นแต่ท่องจำเสียเหลือเกิน ทว่าอีกฟากนึงของโลกอย่างในสหรัฐอเมริกา ด้านนายอังเดร โธมัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของค่ายเกม Triseum ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส โดยเขาได้มีตั้งเป้าหมายให้กับบริษัทของเขาว่าจะนำวิดีโอเกมมาแทนที่ตำราเรียนเดิมๆ ให้หมดไป
ฟังดูน่าสนใจใช่มั้ยละครับ?
เรื่องราวของไอเดียนี้เริ่มมาจากเมื่อครั้งที่โธมัสเคยเป็นพนักงานอยู่ในแผนก Visualization ของ College Station ซึ่ง ณ ตอนนั้นมีศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเข้ามาพูดคุยกับเขา และบอกว่าตนเองอยากทำสื่อการเรียนการสอนที่เป็นวิดีโอเกม แต่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร หรือต้องทำอย่างไรบ้าง โธมัสเลยได้เริ่มได้แรงบันดาลใจจากจุดนี้ จนตั้งงานแล็บมาชิ้นนึงที่มุ่งเน้นงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาและพัฒนาหนทางที่จะเชื่อมโยงการเล่นเกมเข้ากับประสบการณ์ในห้องเรียนดู
โธมัสเผยว่าเขาอยากมีส่วนร่วมกับเหล่านักเรียนด้วยวิธีที่เหมาะกว่าการให้พวกเขานั่งเลคเชอร์ตามปกติ พร้อมทั้งนำประสบการณ์สมัยใหม่เข้ามาใช้ในห้องเรียนมากขึ้น และอยากให้วิดีโอเกมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนด้วย ประเด็นนี้โธมัสมองว่าการเรียนการสอนของหลายๆ วิชาในปัจจุบันไม่ค่อยจะเวิร์คนัก เพราะความรู้ที่ได้มักมาจากการฟังผู้สอนพูดบนหน้าชั้น ไม่ก็ดูวิดีโอหรืออ่านตำราเอา เพราะในความเป็นจริงแล้ว ขนาดเวลาคนที่อยากเป็นนักบินไปที่โรงเรียนสอนการบิน พวกเขายังได้ฝึกบินในโปรแกรมฝึกบินจำลองกันเลย โธมัสจึงมองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมจะนำเกมมาประยุกต์เข้ากับสิ่งอื่นๆ ไม่ได้ ทำไมเราไม่ลองเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับวิชาอื่นๆ เช่น ฟิสิกส์ สถิติ หรือคณิตศาสตร์ ในห้องเรียนดูล่ะ? เด็กๆ เขาควรจะต้องนั่งเรียนไปเงียบๆ ด้วยความเบื่อหน่ายกับการเรียนการสอนอย่างนั้นเหรอ?
หลังจากนั้นโธมัสก็ได้รับอนุญาตให้ลองพัฒนาเกมประมาณ 2-3 เกม รวมถึงเปิดโอกาสให้เด็กในคณะได้เข้ามาพัฒนาเกมดูด้วย เพื่อประยุกต์ดูว่าจะทำให้มันเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนยังไง และผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจเลยทีเดียว ซึ่งโธมัสพูดถึงประเด็นนี้ว่าทุกฝ่ายจะ Win-Win กันหมด เพราะทีมพัฒนาเกมก็ได้เงิน ส่วนบริษัทค่ายเกมระดับหัวเรือก็จะได้มีงานวิจัยมาช่วยหนุนเกม แถมเกมที่ทำออกมายังมีแนวโน้มว่าจะไปได้สวยด้วย เพราะเป็นเกมที่นักศึกษาพัฒนาขึ้นมาเอง ส่วนในด้านการสร้างเกม โธมัสกล่าวว่าเขาจะเน้นสร้างเกมขึ้นมาจากกลุ่มวิชาที่พวกนักเรียนมีปัญหากัน อย่างเช่นพวกวิชาแคลคูลัสหรือประวัติศาสตร์ศิลป์ หรือวิชาอื่นๆ ที่เรียนกันยากๆ เป็นต้น
โดยโธมัสจะเอาปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งเป็นจุดประสงค์ของการเรียนรู้หลักๆ แล้วสร้างระบบของเกม เนื้อเรื่องเกม อะไรต่างๆ ขึ้นมาจากจุดนั้น แล้วประยุกต์ระบบเกมมาจากเกมดังหลายๆ เกม เช่น Super Mario Bros. หรือ Call of Duty ซึ่งผลสำรวจก็ออกมาดีเกินคาด เพราะว่าหลังจากเล่นไปได้ราวๆ 2 ชั่วโมง นักเรียนก็มีความรู้ความเข้าใจในวิชานั้นๆ เพิ่มขึ้นถึง 24.7% (ซึ่งเทียบเท่ากับเกรดเพิ่มขึ้นมา 2.5 ระดับเลย) อีกทั้งปัจจุบันเกมพวกนี้ก็กำลังถูกส่งไปยัง 5 ประเทศในแถบยุโรปเพื่อทดสอบประสิทธิภาพอยู่
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าทางบริษัทจะอยากให้วิดีโอเกมเข้ามาแทนที่ตำราเรียนได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะสามารถแทนที่เหล่าครูอาจารย์ได้นะครับ ในทางกลับกัน ตัวเกมจะมีเครื่องมือที่เอื้อให้แก่การสอนของอาจารย์ และก็จะมีตัววัดระดับพัฒนาการของนักเรียนมาให้ด้วย แถมประโยชน์อีกอย่างของเกมพวกนี้คือราคาที่ถูกกว่าหนังสือมาก ปกติหนังสือเรียนเล่มนึงอาจมีราคาแพงถึง 300 เหรียญ แต่เกมเกมนึงจะมีราคาเพียงแค่ 30 เหรียญเท่านั้น (ถึงอาจจะต้องซื้อทั้งหมด 4 เกมเพื่อให้มันครอบคลุมหนังสือ 1 เล่ม แต่รวมๆ แล้วก็ยังถูกกว่าประมาณ 60 เหรียญอยู่ดี) มิหนำซ้ำโธมัสยังเชื่อว่าเกมของพวกเขาจะทำให้อัตราการเรียนจบของนักศึกษาสูงขึ้นตามไปด้วย
เห็นแบบนี้แล้ว ชักอยากให้มีการประยุกต์เอาวิดีโอเกมมาใช้แทนตำราเรียนในไทยบ้างเลยล่ะ...
เพื่อนๆ สามารถแวะไปเยี่ยมเยียนเว็บไซต์ของบริษัท Triseum ได้ที่ (คลิกที่นี่)
เครดิต: Kotaku