วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 หรือวันนี้เมื่อ 29 ปีที่แล้ว เป็นวันวางจำหน่ายของเกม Contra บนเครื่อง Famicom ที่ประเทศญี่ปุ่น โดย Contra นั้นเป็น 1 ในซีรีส์ระดับตำนานของ Konami ที่เกมเมอร์ที่อายุมากกว่า 30 ปีย่อมน่าจะเคยได้เล่นกันมาหมดแล้ว ด้วยรูปแบบที่เป็นเกมแนวแอ็กชั่นเดินหน้ายิงลูกเดียว ซึ่งสามารถเล่นพร้อมกัน 2 คนได้ แต่ที่ดูจะเป็นที่จดใจในหมู่เกมเมอร์ยุคนั้นได้เป็นอย่างดีคือมันจะมีบางฉากที่ต้องลุยกันในแนวดิ่ง และปัญหามันจะเริ่มเกิด เมื่อมีผู้เล่นคนนึงกระโดดไต่ขึ้นไปด้านบนรัวๆ จนไม่ยอมรออีกคนที่กระโดดตามไม่ทัน ทำให้โดนดึงฉากตาย เหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้เป็นชนวนเหตุให้เพื่อนฝูงหรือแม้กระทั่งพี่น้องต้องทะเลาะกันหน้าทีวีกันมานับครั้งไม่ถ้วน และอีกเรื่องคือสูตรโกงยอดฮิตของเกมที่เรามักเรียกติดปากว่า “สูตร 30 ตัว” ที่ต้องกดนำด้วยปุ่ม “บน บน ล่าง ล่าง ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา B A” ทั้งหมดที่ว่านี้เป็นเพียงส่วนประกอบนึงที่มีผลให้ซีรีส์นี้กลายเป็น 1 ในห้วงความทรงจำของเกมเมอร์มาช้านานเลยทีเดียว ว่าแล้วเรามาค่อยๆ ย้อนความหลังไปกับเกมนี้กันดีกว่าครับ
(ล่าง) หน้าปกกล่องเกม Contra เวอร์ชั่นญี่ปุ่น นำโดยตัวละครเอก 2 คนได้แก่ บิล ไรเซอร์ (ผมบลอนด์) และ แลนซ์ บีน (ผมดำ) สองเจ้าหน้าที่หน่วยคอมมานโดที่ต้องบุกรังขององค์กร Red Falcon ที่มีจุดมุ่งหมายในการยึดครองโลก เพื่อคืนความสุขแก่มวลมนุษยชาติให้จงได้
(ล่าง) หน้าปกกล่องเกมเวอร์ชั่นที่จำหน่ายในทวีปอเมริกาเหนือ จะเห็นได้ว่า 1 ในพระเอกของเกมจะมีการดึงเอาดีไซน์จากโปสเตอร์หนังเรื่อง Predator ที่อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดังเคยแสดงไว้เมื่อปี 2530 มาเป็นต้นแบบด้วย
(ล่าง) หน้าไตเติ้ลที่ผู้เล่นต้องกดสูตร “บน บน ล่าง ล่าง ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา B A” ตามด้วย Start (กรณีเล่นคนเดียว) หรือตามด้วย Select Start (กรณีเล่น 2 คน) ให้ทัน หากอยากจะเพิ่มจำนวนชีวิตเป็น 30 ตัว
(ล่าง) สำหรับใครที่เล่นเกมเวอร์ชั่นญี่ปุ่น ก่อนจะเข้าเล่นในแต่ละด่าน ก็จะมีผังแผนที่ให้เราได้ดูก่อนว่าเราบุกไปถึงส่วนไหนของเกาะแล้ว และในบางด่านก็จะมีฉากเนื้อเรื่องเล็กน้อยให้เราได้ดูด้วย ทว่าหากเป็นเวอร์ชั่นอังกฤษ ฉากเหล่านี้จะโดนตัดออกไปด้วย เนื่องจากตลับ Famicom ของฝั่งตะวันตกจะมีความจุน้อยกว่านั่นเอง
(ล่าง) จากรูปข้างล่างนี้ เพื่อนๆ ทราบมั้ยครับว่า เกม Contra ที่ไปวางจำหน่ายในทวีปยุโรป จะมีการเปลี่ยนชื่อเกมเป็น Probotector พร้อมทั้งเปลี่ยนดีไซน์ของตัวละครและศัตรูเป็นหุ่นยนต์ทั้งหมด นั่นก็เพราะว่าทางฝั่งยุโรปในช่วงเวลานั้นจะค่อนข้างอ่อนไหวกับการใส่เนื้อหาลงสื่อบันเทิงที่มีมนุษย์ใช้ความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ทาง Konami เลยต้องเปลี่ยนดีไซน์เสียใหม่หมด จึงวางจำหน่ายได้ในที่สุดครับ
(ล่าง) ฉาก Waterfall หรือด่าน 3 ของเกม ซึ่งนี่คือด่านที่หลายคนมักจะมีดราม่ากันเองกับเพื่อนหรือพี่น้องที่เล่นด้วยกัน สืบเนื่องจากปัญหาการแกล้งดึงฉากกัน หรือกระโดดตกเหวตายเอง เป็นต้น
(ล่าง) Devil Gate บอสฉาก 3 นี่ก็เป็นอีก 1 แลนด์มาร์คแห่งความทรงจำของเพื่อนๆ ที่เคยเล่นเกมนี้กันทุกคนเลย
(ล่าง) ด่าน 2 และ 4 ของเกมนี้ จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการลุยเป็นลักษณะวิ่งเข้าไปด้านในฉาก เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศไปอีกแบบ
(ล่าง) ด่าน 6 ถือเป็นอีกด่านที่มีกับดักประเภทเลเซอร์เพียบ ใครใจร้อนนี่บอกเลย…เล่นไม่มีผ่านแน่นอน
(ล่าง) หลังชนะบอสด่าน 8 หรือบอสใหญ่ของเกมแล้ว ถ้าใครเล่นเวอร์ชั่นญี่ปุ่น ก่อนที่ Credit จะขึ้น ก็ให้กดปุ่ม Select กับ Start ค้างไว้จนกว่า Credit ขึ้นจนครบ ก็จะมีข้อความลับจากหน่วย Red Falcon ที่ประกาศขอล้างแค้นบิลกับแลนซ์ในภาคต่อไปด้วยนะเออ (แต่ข้อความที่ว่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่นนะครับ)
เกร็ดเล็กน้อยเพิ่มเติม
– แม้ว่ายอดขายของ Contra จะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบันก็ตาม แต่อย่างน้อยซีรีส์นี้ก็เคยสร้างชื่อให้กับ Konami เอาไว้มากมาย จนมีภาคต่อตามมาอีกหลายภาค แต่น่าเสียดายที่กระแสความนิยมกลับสวนทางและไม่เคยกลับมาพีคได้เหมือนสมัยที่ลงเครื่อง Famicom ได้อีกเลย
– ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นจะมีสูตรเลือกฉากอยู่นะครับ โดยวิธีคือ กดปุ่ม บน, ซ้าย และ A พร้อมกันค้างไว้ จากนั้นกดปุ่ม Start แล้วตามด้วยกดปุ่ม Select ค้างทันที ถ้าสูตรติด เกมจะขึ้นหน้าต่างให้เราเลือกฉากได้เลย