สุดยอดอีเวนท์ของเหล่าบรรดานักพัฒนาเกม
48 ชั่วโมงแห่งการปลดปล่อยพลังเทคนิคและจินตนาการ
ร่วมสร้างเกมไปพร้อมกับเหล่านักพัฒนาเกมทั่วโลกภายใต้โจทย์เดียวกัน!
มารู้จัก Global Game Jam กันก่อน
Global Game Jam นั้นรู้จักกันในนามอีเวนท์สุดโหดของเหล่านักพัฒนาเกม ที่จะมารวมตัวกันเพื่อปลดปล่อยเทคนิค ฝีมือ และจินตนาการในการสร้างเกมภายในเวลา 3 วัน 2 คืน ภายใต้โจทย์เดียวกันกับเหล่านักพัฒนาเกมทั่วโลกนั่นเอง เหล่านักพัมนาเกมผู้เข้าร่วมอีเวนท์นี้จะถูกเรียกว่าเหล่าแจมเมอร์ (Jammer) ซึ่งพวกเขาเหล่านี้มีทั้งนักพัฒนาเกมหน้าใหม่ นักศึกษา นักเรียน รวมไปถึงบริษัทเกมและนักพัฒนาเกมมืออาชีพ
ในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 7 แล้วที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับทาง Global Game Jam และ Jam site ที่แรกนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยรังสิต และในปัจจุบันถือว่าเป็น Jam site ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ระยะเวลาและสถานที่การจัดงาน
Global Game Jam นั้นจะถูกจัดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง และใช้เวลาในการแข่งขันอยู่ที่ 3 วัน 2 คืน ซึ่งในปีนี้ก็คือ 20-22 มกราคม ที่ผ่านมา ส่วนสถานที่นั้น ก็คือมหาวิทยาลัยรังสิตนั่นเอง โดยค่าเข้าร่วมนั้นอยู่ที่ ราคา 500 บาท ต่อหนึ่งคน และไม่มีข้อบังคับหรือการบังคับจำนวนคนต่อกลุ่ม
การเตรียมตัว
ผู้เข้าร่วมจะต้องเตรียมของใช้ส่วนตัวเช่น ผ้าขนหนู ของใช้อาบน้ำ เสื้อผ้า และอุปกรณ์ที่จะใช้ในการสร้างเกม (ปีที่แล้วบางทีมหิ้วอุปกรณ์มาอย่างน่ากลัวมากค่ะ) นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นผ้าห่ม หมอน ถุงนอน (บางทีมหิ้วเตนท์มาเลยนะคะ) ส่วนเรื่องสาย LAN และ ไวไฟนั้น ทางมหาวิทยาลัยจะจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย โดยแจมเมอร์จะได้รับไวไฟ สาย LAN และเสื้อของ Global Game Jam หลังเสร็จสิ้นการลงทะเบียน
ส่วนอาหารการกิน และห้องน้ำนั้น ทางมหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อยแล้วค่ะ โดยมีบริการของกินแทบจะ 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว
ข้อบังคับ
Global Game Jam นั้นไม่มีข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ใดๆมาก
ยกเว้นการโพสต์หรือการกระทำอันใดก็ตามที่เป็นการบ่งบอกถึงโจทย์ของ Global Game Jam ในปีนั้นๆ ก่อนที่อีเวนท์จะจบลง นั่นหมายถึงการหลีกเลี่ยงโจทย์ที่จะรั่วไปไหลยัง Jam site ที่ยังไม่ได้รับการประกาศโจทย์
เนื่องจาก Global Game Jam นั้น เป็นการจัดงานที่มีขึ้นทั่วโลก (ปีนี้อยู่ราวๆที่ 80 ประเทศ) (การแข่งขันจะเหมือนอีเว้นท์ที่แต่ละประเทศแยกกันจัดและให้รางวัลกันเองเพียงแต่มีโจทย์ร่วมกันที่ใช้ในทุกประเทศที่จัดอีเว้นท์) ซึ่งเวลาในการประกาศโจทย์นั้นก็จะต่างกันตามไทม์ไลน์ของแต่ละประเทศ ซึ่งปีนี้ Jam site สุดท้ายที่ได้ทำการประกาศโจทย์คือ Jam site ที่ฮาวาย
ดังนั้นเหล่าแจมเมอร์ทุกคนจะถูกกำชับเรื่องการแสดงความคิดเห็นหรือการโพสต์โจทย์ของ Global Game Jam ก่อนการประกาศโจทย์ในแต่ละปี
โจทย์ในแต่ละปี
ความท้าทายข้อสำคัญของ Global Game Jam คือ โจทย์ในรูปแบบต่างๆกันในแต่ละปี ซึ่งมีได้กระทั่ง เสียง รูป วีดีโอ หรือแม้แต่ประโยคเพียงประโยคเดียว แต่นักพัฒนาเกมทั่วโลกจะต้องพัฒนาเกมออกมาจากโจทย์เหล่านี้ในระยะเวลา 48 ชั่วโมง
โดยตัวอย่างโจทย์ในแต่ละปีที่ผ่านมาจะมีดังนี้
2012: “Ouroboros” (ภาพ)
2013: “เต้นของหัวใจ” (เสียง)
2014: “We don’t see things as they are, We see them as we are”
2015: “What do we do now?”
2016: “Ritual”
และในปีนี้โจทย์ก็คือ
“WAVE”
โดยจะมาในรูปแบบของคลื่น กราฟ การเต้นของหัวใจ รวมไปถึงวีดีโอสั้นๆ ตอนคนกำลัง เวฟมนุษย์ (ใครนึกภาพไม่ออกลองนึกภาพกองเชียร์กีฬาที่มีการยืนหรือการโบกมือจนมองเป็นคลื่นจะเข้าใจ)
ผู้เขียนเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการประกวดหฤโหดหรรษาในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 แล้วที่ได้เข้าร่วมอีเวนท์ ของทาง Global Game Jam โดยได้ไปกันกับเหล่าเพื่อนๆในทีมอีก 5 คน และไปกันในนามของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งในแต่ละครั้งขอบอกได้เลยว่า ‘คุ้มค่า’ มากๆสำหรับเหล่านักพัฒนาเกมที่อยากฝึกตนเองและหาค่าประสบการณ์ (แม้จะแลกไปกับพลังงานและ HP ที่เกือบจะหมดหลอดก็ตาม) เพราะ Global Game Jam นั้นเป็นเหมือนสนามฝึกตนเอง โดยจะต้องระดมความคิดและวางแผนกันให้ดีในการจัดการเวลาและกำหนดงานต่างๆ เพื่อให้ตัวเกมออกมาสมบูรณ์ที่สุดในระยะเวลา 48 ชั่วโมง นอกจากจะได้ฝึกทักษะการทำงานในรูปแบบของทีมเวิร์กแล้ว ยังได้ฝึกการบริหารเวลาด้วย
-----------------------------------------------------------------------
ขออนุญาตแนะนำเกมที่ทีมผู้เขียนได้ทำการพัฒนาขึ้นคือ ‘ Soundless’
Soundless
ผลงานของ : ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เล่นเกมได้ที่ : http://globalgamejam.org/2017/games/soundless
โจทย์ : “Wave” : Heart beat + Sound wave = Mechanics
สิ่งที่คุณเห็นอาจไม่ใช่ความจริง
และสิ่งที่คุณได้ยิน อาจจะมีอะไรซ่อนอยู่
ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นเด็กชายที่พลัดหลงกับแม่ โดยเขาจะต้องตามหาแม่ของตนที่หายตัวเข้าไปในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ใครจะคิดว่ามันจะนำเขาไปสู่สิ่งที่ไม่คาดฝัน
ระบบการเล่นของเกมนี้ เน้นใช้ ‘เสียง’ (Headphone recommend) ผู้เล่นสามารถใช้พลังคลื่นเสียงของตนในการตรวจจับวัตถุ หรือสิ่งต่างๆที่ซ่อนอยู่ตามฉาก ซึ่งมีทั้งช่วยเหลือ และเป็นอันตราย รวมไปถึงบางอย่างจะต้องใช้ในการผ่านด่านด้วย แต่ไม่ใช่เพียงแค่เสียงที่เป็นรูปภาพที่เราต้องคอยระวังแล้ว เสียงการเต้นของหัวใจเรานั้นจะบ่งบอกถึงอันตรายจากสิ่งที่ตามล่าเราอยู่เช่นกัน
ยิ่งสิ่งนั้นเข้าใกล้ผู้เล่นมากเท่าไหร่ จังหวะการเต้นหัวใจจะถี่มากขึ้น รวมไปถึงภาพจอที่จะเบลอ ซึ่งฝั่งโค้ดดิ้งได้อ้างอิงถึงสภาพอาการหวาดกลัวของมนุษย์
ช่วยเด็กน้อยเอาตัวรอด เพื่อที่เขาจะได้พบแม่อีกครั้ง
การเคลื่อนไหว
ctrl = คลาน
a d = เคลื่อนไหว
w = ต้องกดค้างเพื่อเข้่าไปซ่อน (ตามด่านมีพวกของบางอย่างซ่อนได้)
z = จะเป็นการใช้พลังเสียง กดค้างแล้วปล่อยจะทำให้ปล่อยเสียงได้ไกลขึ้น
spacebar = กระโดด
สิ่งที่เป็นจุดประสงค์แอบแฝงมากับการจัด Global Game Jam นั้น คือการได้แบ่งปันและแชร์เทคนิคต่างๆ รวมไปจนถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทีมอื่นและคนอื่นที่ไม่รู้จัก ซึ่งในระหว่างที่ทำเกมนั้นจะเห็นแจมเมอร์เดินไปมา บางคนก็ไปช่วยเหลือฝั่งเขียนโปรแกรม บางคนก็ไปช่วยเหลือฝั่งกราฟิก หรือแลกเปลี่ยนแนวคิดกับระบบเกมก็มีเช่นกัน
เมื่อใกล้หมดเวลานั้น แต่ละทีมจะต้องอัพโหลดตัวเกม รวมไปถึง source code และ assets ต่างๆในตัวเกมขึ้นบนเว็บไซต์ของ Global Game Jam หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงเวลานำเสนอของแต่ละทีม (ลำดับนั้นขึ้นอยู่กับการจับฉลากของตัวแทนทีม) และเมื่อครบทุกทีมแล้วก็จะเป็นการมอบรางวัลให้กับเกมที่ได้รับ Popular vote
-----------------------------------------------------------------------
ผู้ได้รับรางวัล Popular vote
ในปีนี้หัวข้อ WAVE ผลงานเกม Kaptain Kitten นั่นเอง!
สามารถทดลองเล่นเกมได้ที่นี่ (http://globalgamejam.org/2017/games/kaptain-kitten)
ซึ่งตัวเกมมากับระบบที่น่าสนใจ เมื่อเหล่าแมวน้อยจะต้องช่วยกันป้องกันเรือไม่ให้จม ระบบ Multiplayer กับการสร้างความเกรีย--- แค่ก ความร่วมมือในการป้องกันเรือไม่ให้จมระหว่างผู้เล่นและเพื่อนๆ ซึ่งมาในรูปแบบของภาพน่ารักสดใส!
-----------------------------------------------------------------------
ภาพรวมของ Global Game Jam ปีนี้นั้น ในฐานะผู้ร่วมแข่งขัน พูดได้ว่าได้รับความสนุก การฝึกฝน และรู้สึกมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเกมมากยิ่งขึ้นขึ้น แม้ในส่วนของผู้เขียนจะเป็นงานฝั่ง Graphic แต่การได้มาที่นี่ ได้เห็นงานของทีมอื่น ก็มีความอยากพัฒนาเกมของตนเองให้ดียิ่งขึ้นไป Global Game Jam นั้นถือว่าเป็นปัจจัยผลักดันให้นักพัฒนาเกมของประเทศไทยได้มีการแสดงฝีมือ รวมไปถึงส่งเสริมให้วงการการพัฒนาเกมก้าวหน้าอีกด้วย และหวังว่าเราจะได้พบกันใน Global Game Jam 2018 นะคะ!
สามารถที่ติดตามข่าวสาร หรือสมัครเข้าแข่งขันในปีต่อไปได้ตามนี้ค่ะ
www.thaigamejam.com และ www.facebook.com/ThaiGameJam
Global Game Jam 2018: 26 – 28 มกราคม 2018
รายละเอียดเพิ่มเติม:
Global Game Jam Official Site : http://globalgamejam.org/
Rangsit Jam Site : http://globalgamejam.org/2016/jam-sites/rangsit-university
Thai Game Jam Page: https://www.facebook.com/ThaiGameJam/
ขอขอบคุณภาพจาก
Thai Game Jam Page ( Photographer: Ekapong Nopawong )
บทความโดย Utopiaz