Tropico 5 เกมบงการชาติ อำนาจแห่งผู้นำ

แชร์เรื่องนี้:
Tropico 5 เกมบงการชาติ อำนาจแห่งผู้นำ

Tropico ถือเป็นเกมแนวซิมูเลชั่นที่แปลกครับ หากมองผ่านๆ หน้าตาของมันก็ไม่ได้แตกต่างจากเกมสร้างเมืองสักเท่าไหร่ เพราะมีภาพรวมของเกมค่อนข้างใหญ่มาก ซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยเกินกว่าที่หลายคนคาดเอาไว้ และยังเป็นเกมที่สะท้อนแนวคิดทางการเมืองได้เฉียบคมไม่ใช่น้อย ทั้งระดับภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในเวลาเดียวกันนั้น ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ยังยึดโยงอยู่กับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ชนิดที่เรียกว่าใกล้เคียงกับโลกของความเป็นจริงที่เราอาศัยอยู่อย่างน่าตกใจ

เมื่อครั้งที่เกมวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2557 เมืองไทยของเราได้สั่งห้ามจัดหน่ายเกมนี้ภายในประเทศ ด้วยเหตุที่ว่าเกมมีเนื้อหาล่อแหลมต่อสถานการณ์ทางการเมืองของบ้านเราในขณะนั้น จนกลายเป็นประเด็นดังอยู่ราวหนึ่งสัปดาห์ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว เกมนี้เป็นเกมที่มีเนื้อหาหนักแน่นสอดแทรกแฝงอารมณ์ขันอันเฉียบแหลม จนสามารถที่จะถูกหยิบจับมาใส่หลักสูตรการศึกษาได้เสียด้วยซ้ำ เพราะมันให้ความรู้ทั้งระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับเชิงลึกในด้านการบริหารประเทศ ตลอดจนแนวคิดทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างดีทีเดียว

เริ่มต้นผู้เล่นจะได้รับบทเป็นพ่อเมือง ดูแลหัวเมืองเล็กๆ ที่เมื่อเริ่มต้นเป็นเพียงอาณานิคมของกษัตริย์ประเทศหนึ่ง ที่มีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ทั้งส่งออก แปรรูป ค้าขาย เพื่อสร้างงานและรายได้ส่งให้กับเมืองหลวง ซึ่งสิ่งที่เราจะได้รับตอบแทนก็มีเพียงการขยายอายุราชการที่เราจะได้ปกครองเมืองนี้ต่อไปเรื่อยๆ หากบริหารงานได้ถูกใจกษัตริย์ที่มักจะเอาแต่ใจและเรียกร้องเอาเงินจากเราเพื่อนำไปใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย (เช่นเก็บภาษีเราเพื่อนำไปสร้างพระราชวังใต้บาดาลของตัวเอง หรือขอให้ส่งเสบียงไปให้กองทัพที่ถูกส่งไปพิชิตขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้)

สิ่งแรกที่เราต้องสนใจคือ การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในยุคแรกของเกม การใช้ชีวิตและการค้าในประเทศของเรายังผูกติดกับการเกษตรเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมง เหมืองแร่ ป่าไม้ โดยการส่งออกสินค้าเหล่านั้นในรูปวัตถุดิบ ต้องใส่ใจถึงขนาดที่ต้องดูรายละเอียดว่าดินบริเวณไหนเหมาะกับการเพาะปลูกหรือใช้ในกิจการใด เพื่อให้เกิดประโยชน์และทรัพยากรที่ดินให้คุ้มค่าที่สุด เมื่อระยะเวลาผ่านไป เทคโนโลยีของเรามีการพัฒนาขึ้น ก็จะสามารถนำผลิตผลทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมได้ เช่น การหาไม้ดิบหรือแร่เหล็ก ก็จะกลายเป็นการโรงงานไม้ โรงถลุงเหล็ก หรือการนำเอานม โกโก้ และน้ำตาล มาแปรรูปเป็นโรงงานช็อคโกแลต นำเอาขนสัตว์มาแปรรูปเป็นเส้นใยทอผ้า จนพัฒนาเป็นบริษัทแฟชั่นก็ยังได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าของเรามากขึ้น

เมื่อวันหนึ่งที่คะแนนนิยมของตัวเรามากเกินกว่าความพอใจของประชาชนที่มีต่อกษัตริย์ ด้วยการสร้างถิ่นฐานที่อยู่ สร้างงานสร้างรายได้ให้พวกเขามีความปลอดภัยในชีวิต เราจะเริ่มได้ยินเสียงเรียกร้องจากเหล่าที่ปรึกษา (อันเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของเหล่าประชาชนกลุ่มต่างๆ) ว่าสมควรแก่เวลาที่เราจะประกาศเอกราชตั้งประเทศเป็นของตัวเอง และเมื่อนั้นเนื้อหาที่แท้จริงของเกมก็จะเริ่มต้นขึ้น โดยเราจะต้องเป็นผู้กำหนดรูปแบบชาติที่กำเนิดใหม่อันมีเราเป็นผู้นำด้วยตัวเอง ด้วยการกำหนดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่จะบ่งชี้ว่าประเทศของเรานั้นเป็นอะไร ปกครองด้วยระบอบอะไร? สิทธิของพลเมืองเป็นอย่างไร? ใครบ้างที่จะมีหรือไม่มีสิทธิเลือกตั้ง? ซึ่งส่งผลต่อประเทศของเราโดยตรงในหลายแง่มุม ถ้าเรากำหนดให้ประเทศเป็นระบอบเผด็จการ การคอรัปชั่นก็จะสูง ผลผลิตของประเทศที่ควรจะได้ก็จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ประชาชนก็จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตลอดเวลา และการพัฒนาประเทศจะเป็นไปได้ช้า เพราะเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาสูงขึ้นเท่าไร ความไม่สงบในบ้านเมืองก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว (คนฉลาดจะปกครองยาก และมักจะเรียกร้องอะไรที่ผู้นำเผด็จการมองว่าเกินความจำเป็น) ขณะเดียวกัน ถ้าเราให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ผู้คนก็จะเรียกร้องความเพียบพร้อมทางด้านต่างๆ มากกว่าปกติ ทุกคนก็จะอยากมีบ้านที่สวยขึ้น ค่าแรงที่สูงขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้ต้องคอยเอาใจและสร้างสาธารณูปโภครองรับตลอดเวลา

ปัจจัยสำคัญที่สุดในการชี้นำทิศทางประเทศของเรา มีอยู่ 2 ปัจจัย คือ มหาอำนาจต่างชาติและกลุ่มแนวคิดทางการเมืองต่างๆ ภายในประเทศ มหาอำนาจต่างชาตินั้นมักมีสองฝ่ายเสมอ นับตั้งแต่ยุคอาณานิคมที่เราต้องเลือกเอาใจราชสำนักหรือกลุ่มนักปฎิวัติ เมื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสงครามโลกก็จะเป็นฝ่ายพันธมิตรกับอักษะ ยุคสงครามเย็นก็จะเป็นอเมริกากับโซเวียต เป็นแบบนี้อยู่ร่ำไป ซึ่งหากเรามีนโยบายเจริญสัมพันธไมตรีกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไปก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฝ่ายตรงข้ามเกลียดชัง ฝ่ายที่สนิทสนมกับเราก็มักจะมีข้อเสนอทางธุรกิจต่างๆ มาให้เราอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่เราได้ประโยชน์บ้างหรือเอาเปรียบเราบ้าง แต่การค้าขายกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไปก็จะทำให้เสียโอกาสทางการค้าที่จะค้าขายกับอีกฝ่ายที่กำลังต้องการสินค้าของเราก็ได้ ซึ่งหากรุนแรงมากๆ ก็จะถึงขนาดส่งกองทัพมารุนรานสั่งสอนเรากันเลย

แน่นอนว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่ามหาอำนาจต่างชาติ ก็คือประชาชนในประเทศของเราเองนี่แหละครับ ที่มีแนวคิดทางการเมืองหลากหลายมากมายแตกต่างกันไป บ้างก็ชื่นชอบชาติมหาอำนาจฝั่งใดฝั่งหนึ่งเป็นพิเศษ เมื่อเราไปสนิทสนมกับมหาอำนาจฝ่ายที่เขาชื่นชอบพวกเขาก็จะพอใจ แต่ถ้าไปสนิทกับฝ่ายตรงข้ามพวกเขาก็จะเริ่มเขม่นผู้นำของตัวเอง

ประชากรในประเทศเป็นปัจจัยที่จัดการได้ยากที่สุด ถ้าพวกเขาไม่ได้รับการบริการด้านสุขภาพที่ดี พวกเขาก็จะไม่ปลื้ม ถ้าไม่มีงานทำ พวกเขาก็จะไม่แฮปปี้ หรือไม่มีบ้านช่องซุกหัวนอน พวกเขาก็จะไม่โอเค ซึ่งหากเราจัดการกับความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ของพวกเขาได้ เราก็ต้องมารับมือกับแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างของแต่ละกลุ่ม บางพวกก็เป็นกลุ่มคลั่งศาสนา ที่มักจะไม่พอใจหากเราไม่สร้างวัดวาอารามหรือมัวเน้นแต่สิ่งปลูกสร้างของกองทัพ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ฝ่ายทหารนิยมกัน ที่ชอบให้ผู้นำอย่างเราใช้ความรุนแรงเกรี้ยวกราดปกครองด้วยความเข้มแข็ง ส่วนทางกลุ่มทุนนิยมจะสนใจเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าอย่างอื่น และยังเป็นกลุ่มที่มั่งคั่งและทรงอิทธิพลอีกด้วย ในขณะที่กลุ่มสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ก็จะให้ความสำคัญกับสวัสดิการของคนในประเทศเป็นหลัก

เมื่อมีกลุ่มที่ไม่พอใจเรามากเข้า เราก็จะเริ่มมีศัตรูทางการเมือง ซึ่งเป็นหัวหน้าของกลุ่มที่ก่อความไม่สงบในประเทศของเรา ซึ่งเราสามารถเลือกวิธีที่จะจัดการกับเขาได้ ทั้งการเนรเทศออกไปจากประเทศ พยายามใส่ร้ายใส่ความดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่จ้างมือปืนไปสังหารเขาทิ้งเสียก็ได้ และเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ เราก็อาจจะมีคู่แข่งที่มีแววได้รับความนิยมมากกว่าเรา ซึ่งหากเราแพ้การเลือกตั้งก็เท่ากับเป็นการหลุดจากตำแหน่งผู้นำประเทศ แล้วเกมจะจบลงทันที เราจะโกงการเลือกตั้งก็ได้ แต่อาจจะได้เจอกับปัญหาการจลาจลครั้งใหญ่จากชาวเมือง ซึ่งการที่จะป้องกันการแพ้การเลือกตั้งได้นั้นมีเพียงหนทางเดียว คือสร้างคะแนนนิยมของตัวเราเองให้ทิ้งห่างคู่แข่งให้ได้มากที่สุด ใช้งบประมาณของประเทศไปในการพัฒนา บำบัดทุกข์บำรุงสุข สร้างคะแนนนิยม จนเราไม่มีวันแพ้การเลือกตั้งอีกโดยไม่ต้องโกงการเลือกตั้งเลย

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นระบบต่างๆ ที่มีอยู่ในเกมอย่าง Tropico ซึ่งต้องขอบอกกันตามตรงว่าค่อนข้างละเอียดมาก แต่ความละเอียดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะได้จากเกมเกมนี้ แต่เป็นคำถามที่ว่า “ถ้าเราเป็นผู้ปกครองประเทศที่ว่านี้ เราจะบริหารจัดการประเทศของเราอย่างไร?” หรือ “ถ้าเราเป็นประชาชนในประเทศนี้ เราจะยอมรับกับนโยบายของรัฐบาลของเราได้หรือไม่? และถ้าไม่ เราจะทำอย่างไร?” นี่ต่างหากคือคำถามที่น่าสนใจ

ในฐานะผู้นำประเทศ เราจะจัดการกับประชาชนที่มีแนวคิดและความต้องการที่หลากหลายอย่างไร เพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการให้ได้มากที่สุด มีการเอื้อประโยชน์ต่อกันมากที่สุด อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขที่สุด การไล่ฆ่าหรือจับทุกคนที่ไม่เห็นด้วยเข้าคุกเข้าตาราง ต่อให้เป็นในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย มันจะเป็นทางออกที่ถูกต้องหรือเปล่า?

และในฐานะประชาชนของประเทศที่มีความเชื่ออันแตกต่าง เราจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างไร ให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องกลัวอำนาจรัฐที่อาจจะคุกคามชีวิตและความปลอดภัยของเรา หรือแม้แต่เพื่อนบ้านที่บ้าคลั่งแนวคิดทางการเมือง ศาสนา หรือความเชื่อที่มากพอจะทำร้ายเราได้เพียงเพราะเราคิดเห็นไม่เหมือนกัน การเงียบ ไม่พูด หรือไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ จะถือเป็นทางออกที่ถูกต้องหรือไม่?

สุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไรที่ถูกที่สุดหรือผิดตลอดไป มันมีเพียงความพอใจของแต่ละบุคคลเท่านั้นเองที่จะเป็นตัวกำหนดว่า คุณอยากจะอยู่ในโลกแบบไหนที่คุณสร้างขึ้นมา และความจริงที่เราจะต้องพบเจอเสมอก็คือ เราจะไม่มีทางทำให้ทุกคนพอใจได้ ไม่ว่าเราจะเลือกวิธีจัดการหรือรับมือกับปัญหาอย่างไรก็ตาม

ลองคิดดูดีๆ ว่า ถ้าเราเป็นผู้นำประเทศที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านอยู่เนืองๆ เพราะพวกเขาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ หรือต้องการชีวิตที่ดีกว่าเดิม เราจะเลือกรับมือกับคนกลุ่มนี้ยังไง? ยอมตามข้อเรียกร้องที่อีกฝ่ายเสนอ เจรจาต่อรอง หรือไล่ฆ่าพวกเขาเสียให้หมด ตัดปัญหาไปให้หมดเรื่องหมดราว การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีไหนจะเป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่ากัน

ในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นคนกลุ่มนั้นที่ออกมาเรียกร้อง แล้วโดนไล่ฆ่า เราจะยินดีไหม? เราจะยอมไหม? แล้วเราจะทำอย่างไร?

บางทีการค้นหาคำตอบลงไปในก้นบึ้งของจิตใจตัวเอง อาจจะทำให้คุณประหลาดใจ และตั้งคำถามขึ้นมาใหม่ว่า “จริงๆ แล้วตัวเราเองเป็นคนยังไงกันแน่?” ก็เป็นได้…

ผู้เขียน: P-51 Mustang (พี่กู้ จากรายการ play Hard Talk)

**บทความนี้มีได้รับการคัดลอกและดัดแปลงมาจากคอลัมน์ Feature ในนิตยสาร play ฉบับที่ 72 ประจำเดือนมิถุนายน 2558 ครับ**

แชร์เรื่องนี้:
Vesper
About the Author

Vesper

เหนื่อยจากเกมก็ลองหยุดพัก แต่ถ้าเหนื่อยจากรักก็จงหยุดเถอะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ