เกมคอนโซลนั้นมีอยู่ในบ้านเรากันมานาน หากจะนับกันจริงๆ เกมเมอร์ประเทศเราจำนวนไม่น้อยเคยได้จับเจ้าเกมคอนโซลกันมาตั้งแต่สมัยเครื่อง Atari เลยด้วยซ้ำ แต่ก่อนที่ทาง Sony จะเริ่มแผนการตลาดเชิงรุกในไทยมาตั้งแต่ช่วงกลางยุค PS3 มาจนถึงวันนี้ ตลาดเกมคอนโซลในบ้านเราก็ยังมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก เชื่อว่าคำถามที่ยังคาใจหลายคนตลอดมาก็คือ ทำไมวงการเกมคอนโซลในประเทศไทยถึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น?
เมื่อประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันเมื่อใด เหตุผลแรกที่หลายคนอาจจะผุดขึ้นมาในใจ ก็คงจะไม่พ้นเรื่องของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือพูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านว่า “เกมก๊อปปี้” ที่เป็นบ่อนทำลายยอดขายของซอฟท์แวร์เกมในบ้านเรามาเป็นเวลานานแสนนาน ซึ่งเป็นเหตุผลเก่าแก่คลาสสิกเกินไปเสียจนดูซ้ำซากที่จะมานำเสนอใหม่ ดังนั้น ถ้าไม่นับเรื่องสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แล้วนั้น ยังพอจะมีเหตุผลอื่นๆ อีกหรือไม่ที่ทำให้ตลาดเกมคอนโซลของเรานั้นเติบโตได้ช้า? วันนี้เราจะมาลองวิเคราะห์ถึงเหตุผลเหล่านั้นกันดูสักหน่อยครับ
ประเด็นแรกที่สำคัญเลยคือปัจจัยเรื่องราคาครับ นั่นคือการที่สินค้าประเภทเกมคอนโซลที่วางจำหน่ายในบ้านเรานั้นจัดว่ามีราคาแพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพหรือค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายในปัจจุบันอยู่ที่วันละ 300 บาทเท่านั้น (หรือคิดต่อเดือนง่ายๆ ว่า 9,000 บาท) แต่เมื่อเทียบราคาแผ่นเกมต่อแผ่นแล้ว ส่วนใหญ่ราคาจะอยู่ที่ 1,800 บาทโดยเฉลี่ย นั่นหมายความสำหรับผู้ที่มีงานอดิเรกคือการเสพสื่อบันเทิงเป็นวิดีโอเกมจะต้องใช้รายได้มากกว่า 10% ในการซื้อเกม 1 เกมต่อเดือน (อย่าว่าแต่เงินเดือน 9,000 บาทซึ่งแทบจะไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ กทม. อยู่แล้ว ต่อให้เงินเดือนระดับ 15,000-20,000 บาท ราคาของแผ่นเกมคอนโซลก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากอยู่ดีเมื่อเทียบกับรายได้)
จากเหตุผลข้อแรกนี้ อาจจะมีข้อโต้แย้งจากหลายๆ ท่านว่าคนไทยไม่จนจริงหรอก โทรศัพท์สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ออกแต่ละครั้ง พี่แกเล่นแห่ออกไปต่อคิวยาวเหยียดแย่งกันซื้อ หรือ PC ที่มีราคาแพงกว่าเครื่องเล่นเกมคอนโซลทำไมยังมีปัญญาหาซื้อกันมาได้
จริงอยู่ครับว่าสินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าราคาสูง แต่สำหรับในบ้านเรา โทรศัพท์สมาร์ทโฟนนั้นเป็นเหมือนสิ่งบ่งบอกสถานะทางสังคม (ในยุคนี้อาจจะไม่เห็นเด่นชัดนัก แต่ถ้าย้อนกลับไปสัก 5-7 ปีก่อน การที่ใครถือโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่มาโชว์ มักจะกลายเป็นเรื่องโก้เก๋ แสดงความหรูหราไฮโซให้ผู้คนอิจฉาตาร้อนกันได้) ในขณะเดียวกัน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือ PC ก็สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย จะใช้ในการร่ำเรียน การศึกษา ทำงาน หรือพักผ่อนหย่อนใจ ดูหนัง ฟังเพลงหรือแม้แต่เล่นเกมก็สามารถทำได้ทั้งหมด เป็นของสารพัดประโยชน์ที่มีความคุ้มค่าในตัวของมันเอง มากกว่าจะเสี่ยงนำเงินมาซื้อเครื่องเกมราคาเป็นหมื่นที่ทำได้แค่เล่นเกมเป็นหลัก ที่เล่ามานี้ยังไม่นับเรื่องราคาซอฟท์แวร์เกมบนสมาร์ทโฟนและแผ่นเกม PC ที่ส่วนมากก็มักจะมีราคาถูกกว่าแผ่นเกมคอนโซลอยู่มากพอสมควรอยู่แล้ว (ในกรณีใช้ของแท้) แถมยังสามารถเสาะหาของก๊อปปี้มาเล่นได้ง่ายกว่าด้วย
และที่สำคัญที่สุด ภาพลักษณ์ของเครื่องเกมและวีดีโอเกมโดยรวมยังไม่สามารถหลุดพ้นจากมุมมองที่สังคมเห็นว่าเป็นของเล่นหรือเป็นเรื่องสำหรับเด็กไปได้ เปรียบเทียบระหว่างคนเดินถือสมาร์ทโฟนแพงๆ มาสักเครื่อง คนก็จะมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ก็มีความคิดเห็นต่อคนๆ นั้นไปในแง่บวก แต่ถ้าใครเดินถือ PS Vita หรือ 3DS ผ่านมา ก็จะถูกมองว่าเป็นเนิร์ดทันที
ทั้งนี้ ค่านิยมและมุมมองของสังคมต่อวิดีโอเกมก็มีส่วนสำคัญด้วย เหตุผลข้างต้นได้สะท้อนทัศนคติที่คนภายนอกมองเข้ามาในวงการวิดีโอเกมได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนยังเห็นเป็นของเล่น เป็นเรื่องสำหรับเด็ก หรือแม้กระทั่งมองว่าเป็นสิ่งมอมเมา โดยไม่ได้พิจารณาเรื่องเนื้อหากันอย่างจริงจัง วงการเกมในบ้านเราจึงถูกปล่อยปละละเลย ไม่มีคนสนใจ ขาดการดูแลที่ดีจากภาครัฐอย่างน่าใจหาย ไม่มีรูปแบบกระบวนการนำเข้าที่ดีซึ่งสามารถบังคับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งไม่มีกระบวนการคัดกรองเนื้อหา ไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิทั้งผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่ายหรือแม้แต่ตัวผู้ซื้อผู้ใช้งาน ทำให้วิดีโอเกมกลายเป็นจำเลยสังคมที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีอยู่บ่อยครั้งเวลาเกิดเหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญอยู่เป็นประจำจากสื่อมวลชนที่ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างจริงจังถึงรูปแบบและธรรมชาติของวิดีโอเกม
ที่สำคัญคือ ทางด้านภาครัฐไม่ว่าจะรัฐบาลไหนๆ ก็ไม่เคยมีนโยบายที่สนับสนุนส่งเสริมทักษะฝีมือของการสร้างผลงานศิลปะที่มีชื่อว่าวิดีโอเกมนี้เลย ตัวอย่างที่ชัดเจนในต่างประเทศ วิดีโอเกมกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่ามหาศาล หรือบริษัทสร้างเกมได้รับการลดหย่อนภาษี หรือแม้แต่ได้รับการผลักดันโดยรัฐบาล ตลอดจนมีการพัฒนาฝีมือแรงงานจนทำให้ตัวโปรดักท์มีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศผู้ผลิตซอฟท์แวร์ชั้นนำต่างๆ ของโลกได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจวิดีโอเกมเป็นธุรกิจที่มีเม็ดเงินจำนวนมากเกี่ยวข้องทุกปี (เอาเฉพาะที่ค้าขายกันธรรมดาจากร้านค้าสู่มือเกมเมอร์อย่างที่เราคุ้นเคยกันดีก็พอ ไม่ต้องไปดูระดับทีมสร้างทีมพัฒนาที่ใช้เงินทำเกมหรือโปรโมทเกมหลักร้อยล้านพันล้าน)
ทุกองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกัน ล้วนเป็นปัญหาก้อนใหญ่ที่กระทบสู่ยอดขายของวิดีโอเกมโดยตรงทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ เมื่อยอดขายไม่เป็นที่น่าพอใจ เม็ดเงินจากต่างประเทศที่จะนำมาใช้ในการทำตลาดในบ้านเราก็จะไม่มี เราจึงไม่ได้เห็นงานอีเวนท์ของเกมคอนโซลขนาดใหญ่ที่ต่างประเทศเขาจัดกันเป็นว่าเล่น ไม่เว้นแม้แต่งาน E3, Tokyo Game Show หรืออย่างในฮ่องกง สิงค์โปร์ ไต้หวัน ต่างก็มีงานเกมโชว์เป็นของตัวเองชัดเจน ไม่ใช่ลักษณะเป็นลูกผสมงานเกมออนไลน์ เกมแนว MOBA หรือเกมประเภท Free to Play และมี PC ไปแจมนิดหน่อยเหมือนในบ้านเรา
เมื่อไม่ได้รับแรงสนับสนุนให้ทำตลาดจากค่ายเกมยักษ์ใหญ่นอกประเทศจนส่งผลให้ไม่มีอีเวนท์ใหญ่ๆ แล้วนั้น ยังคงส่งผลทางอ้อมอีกหลายประการ อาทิ สื่อต่างๆ เกี่ยวกับวิดีโอเกมมีคุณภาพหย่อนลง เช่น หนังสือที่มีคอนเท้นท์เกี่ยวกับเกมมีเนื้อหาที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีรายการเกมทั้งจากทางฟรีทีวี เคเบิ้ลทีวี หรือแม้แต่ดิจิตอลทีวีที่เพิ่งจะเกิดใหม่ เพราะทุกฝ่ายต่างก็กลัวว่าจะไม่มีคนดูและไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป
การซื้อโฆษณาจากสื่อ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หรือสิ่งพิมพ์ก็พลอยน้อยและชะงักงันตามไปด้วย ถ้าจะให้อธิบายว่ามันแร้นแค้นขนาดไหนก็ยกตัวอย่างเช่น เกม A กำลังจะวางจำหน่าย คนที่ควรจะมีหน้าที่ในการทำแผนงานโปรโมทเกม คือตัวแทนจำหน่ายที่นำเกมนั้นเข้ามา แต่เมื่อไม่มีตัวแทนจำหน่าย (เพราะร้านค้าต่างหิ้วเข้ามาเอง) หรือมีตัวแทนจำหน่าย แต่ไม่มีเงินโปรโมท หรืออาจจะคิดว่าเกมเราดีอยู่แล้วไม่ต้องโปรโมทก็ได้ ก็เลยทำให้สื่อในวงการเกมบ้านเราพากันลำบากเพราะไม่มีใครสนใจจะซื้อโฆษณา สุดท้ายก็อาจจะต้องทยอยปิดตัวกันไป ร้านค้าเองก็หลีกเลี่ยงที่จะโปรโมทเกมใดเกมหนึ่งเป็นพิเศษอยู่แล้ว เพราะเกิดโปรโมทเกมนี้ไปจนดัง ร้านค้าร้านอื่นๆ ก็ได้ประโยชน์ เพราะมันเป็นสินค้าที่หาซื้อที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่ว่ามีขายเฉพาะที่ร้านนั้นๆ ร้านเดียว
มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึงเลยก็คือ สุดท้ายแล้ว วิดีโอเกมก็เป็นสื่อบันเทิงชนิดหนึ่ง ซึ่งมันทำหน้าที่ของมันได้ดีมาก... มากเสียจนมีโอกาสจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อสื่อบันเทิงชนิดเก่าในบ้านเรา จนเจ้าของสื่อเหล่านั้นอาจจะเสียประโยชน์จากการที่ปล่อยให้ความบันเทิงชนิดใหม่นี้มาแย่งลูกค้าไปจากเขา โดยที่เขาไม่ได้อะไรเลย
หากวันหนึ่งวิดีโอเกมเกิดได้รับความนิยมจนมันแย่งเรตติ้งละครหลังข่าวได้ล่ะ? ถ้ามันทำให้คนไปดูหนังในโรงภาพยนตร์น้อยลงล่ะ? ถ้าคนดูทีวีน้อยลงล่ะ? ฟังเพลงน้อยลง เที่ยวน้อยลง พวกเขาอาจจะต้องสูญเสียประโยชน์ไปมหาศาล หรือแท้จริงแล้วนี่ต่างหากคือเหตุผลว่า ทำไมวงการเกมของเราจึงไม่โต เพราะผู้มีอำนาจในสังคมกีดกันไม่ให้มันเกิดหรือเปล่า?
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้วงการเกมคอนโซลในบ้านเรายังยืนหยัดอยู่ได้ ก็เพราะเกมเมอร์ทุกคนยังช่วยกันพยายามพยุงชีวิตของมันกันเอาไว้อยู่ ยังมีแฟนเกมที่อยากเล่นเกมนั้นเกมนี้ มาปั่นกระแสจนมีคนสนใจไล่ถามร้านค้า โดยร้านค้าที่อยากสนองความต้องการของลูกค้าก็ไปหามาขาย คนที่เล่นก็เอามาบอกต่อ จนขยายฐานผู้เล่นให้กว้างไกลออกไปเรื่อยๆ คนที่มีความรู้ก็เขียนหนังสือ เขียนกระทู้ลงเว็บบอร์ด กำเนิดกูรู กำเนิดแคสเตอร์ ทำวิดีโอ แปลซับไตเติ้ล สร้างคอนเท้นท์ต่างๆ มาให้เหล่าเกมเมอร์ที่สนใจได้เสพกันต่อไป สิ่งเหล่านี้ช่วยยืดอายุต่อลมหายใจให้วงการเกมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
สุดท้ายผมก็ไม่คิดว่าวงการนี้มันจะหายไปไหน เพียงแต่มันอาจจะแปรรูปกลายเป็นอะไรไปก็เท่านั้นเอง เพราะผมเชื่อว่าจิตวิญญาณของความเป็นเกมเมอร์มันซึมลึกอยู่ในสายเลือดของทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้อยู่แล้ว ดังนั้นต่อให้วันนึงบ้านเราประกาศให้เกมกลายเป็นของผิดกฏหมาย ผมก็คงตะเกียกตะกายไขว่คว้าหามาเล่นอีกอยู่ดี
ผู้เขียน: P-51 Mustang (พี่กู้ จากรายการ play Hard Talk)
**บทความนี้มีการคัดลอกและดัดแปลงจากคอลัมน์ Feature ในนิตยสาร play ฉบับที่ 70 ประจำเดือนเมษายน 2558**