[รีวิว] Final Fantasy XV – ไฟนอลแฟนตาซีที่เปลี๊ยนไป๋

Final Fantasy XV
ไฟนอลแฟนตาซีที่เปลี๊ยนไป๋

แพลตฟอร์ม: PS4, Xbox One
ผู้พัฒนา: Square Enix
ผู้จัดจำหน่าย: Square Enix
เรต: 13 ปีขึ้นไป
ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการเล่นจนจบเกม: 25 ชั่วโมง
ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการเก็บทุกรายละเอียด: 80 ชั่วโมง

เป็นเวลานานนับทศวรรษที่เกมนี้ได้ปรากฏสู่สายตาของเราเป็นครั้งแรกในนาม Final Fantasy Versus XIII ก่อนจะถูกปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง ตัวละคร ระบบเกม ตลอดจนชื่อที่กลายมาเป็น Final Fantasy XV เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ระยะเวลาในการพัฒนาไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสมบูรณ์แบบของเกม และ Final Fantasy XV ก็เป็นตัวอย่างของคำกล่าวที่ว่าได้เป็นอย่างดี

จริงอยู่ที่ Final Fantasy ภาคหลักแต่ละภาคจะมีระบบการเล่นที่แตกต่างกันออกไป แต่ Final Fantasy XV ดูจะฉีกแนวออกไปมากที่สุดในบรรดาเกมในตระกูลเดียวกันไม่ว่าจะด้วยรากฐานที่ไม่ได้ถูกวางไว้ให้เป็นภาคหลักตั้งแต่ต้น หรือการที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวทางของเกม RPG ฝั่งตะวันตกที่เน้นการให้อิสระแก่ผู้เล่นอันเป็นที่นิยมในตลาดเกมยุคปัจจุบัน แม้จะไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าองค์ประกอบที่หลากหลายเหล่านั้นมีสิ่งใดเป็นจุดเด่นที่น่ายกย่อง แต่อย่างน้อย Final Fantasy XV ก็สามารถนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของ Final Fantasy ให้เราได้ตื่นตาตื่นใจมากกว่าที่จะหงุดหงิดกับข้อเสียโดยรวมของตัวเกม

หากจะมีสิ่งใดที่ชวนให้แฟนๆ ได้นึกถึงกลิ่นอายของ Final Fantasy ในภาคนี้ก็คงจะเป็นเนื้อเรื่องที่ Lucis อาณาจักรอันเป็นที่สถิตของคริสตัลได้ถูกจักรวรรดิ Niflheim ผู้ชั่วร้ายเข้ารุกรานช่วงชิง ด้วยเหตุนี้ Noctis ผู้สืบราชบัลลังก์ของอาณาจักรจึงต้องออกเดินทางเพื่อฝึกฝนตัวเองและนำความสงบสุขคืนสู่ดินแดนให้ได้ ซึ่งต่างจากภาคอื่นๆ ที่เรามักจะเห็นเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เกิดขึ้นบนโลกผ่านคัทซีนอยู่เป็นระยะ การดำเนินเรื่องของ Final Fantasy XV เหมือนจะถูกบอกเล่าผ่านมุมมองของ Noctis และเพื่อนๆ ตัวเอกอีกสามคนที่อยู่ด้วยกันตลอดเวลาเท่านั้น จะบอกว่ามันดีตรงที่ทำให้เราได้เข้าถึงมุมมองของตัวละครต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้ก็จริง แต่ข้อเสียของมันก็คือ เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อความเป็นไปของเรื่องราวหลายๆ ครั้งจะถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนาของคนในกลุ่มหรือตัวละครที่พบเจอระหว่างทางเท่านั้น ทำให้บางครั้งเราอาจไม่รู้สึกถึงความสำคัญของเหตุการณ์ต่างๆ ว่ามันส่งผลต่อการเดินทางของเราอย่างไรโดยเฉพาะในช่วงแรกของเกม

บางคนอาจจะบอกว่า Final Fantasy XV มันมีเนื้อเรื่องมากกว่าแค่ในเกมนะ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพยนตร์ CG หรืออนิเมะ ก็จริงอยู่ที่สื่อรูปแบบอื่นๆ เหล่านั้นจะช่วยให้เราได้เข้าถึงเรื่องราวของโลก Eos และตัวละครต่างๆ มากขึ้น แต่ตัวเกมทีเป็นสื่อหลักก็ควรจะมีการนำเสนอเรื่องราวที่ลุ่มลึกได้ด้วยตัวของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งสื่ออื่นมากเกินไป หากคุณสนใจที่จะเล่นเกมนี้ ทางทีมงานก็ขอแนะนำให้อย่างน้อยไปหาชมภาพยนตร์ Kingsglaive: Final Fantasy XV และอนิเมะ Brotherhood: Final Fantasy XV มาก่อนจะยิ่งดี เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวความเป็นมาของสถานการณ์ต่างๆ และเบื้องลึกของตัวละครในกลุ่มได้ดีขึ้นมาก อย่างบางทีเราอาจไม่รู้ได้เลยว่าทำไมสมาชิกในกลุ่มอย่าง Prompto ต้องพยายามสดใสร่าเริงขนาดนั้นถ้าไม่ได้ดู Brotherhood มาก่อน

ถึงแม้การเดินเรื่องจะถูกผูกอยู่แค่กับ Noctis และเพื่อนๆ อีกสามคน แต่อย่างน้อยตัวเกมก็นำเสนอบุคลิกและประโยชน์ของตัวละครเหล่านั้นออกมาได้อย่างมีมิติ ช่วยให้การเดินทางบนฉากที่กว้างใหญ่มีชีวิตชีวาและไม่น่าเบื่อแม้จะเล่นติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อย่างถ้าเราจะออกเดินทางในเวลากลางคืนที่มอนสเตอร์ชุกชุม Ignis ผู้เงียบขรึมก็จะคอยตักเตือนเราอย่างนุ่มนวลทุกครั้งว่ารอให้เช้าก่อนดีกว่ามั้ย หรือถ้าตอนไหนเราขับรถผ่านจุดที่มีทิวทัศน์สวยๆ Prompto ก็ไม่รอช้าที่จะขอให้เราจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก ตลอดจนเวลาที่เดินเท้าไปบนฉากกว้างๆ กลางแดดเปรี้ยงจน Noctis บ่นว่าร้อน พี่เบิ้ม Gladiolus ก็จะแซะทันทีว่าถ้าร้อนนักก็ถอดเสื้อคลุมออกซะสิ นับว่าเป็นองค์ประกอบเล็กๆ ที่ช่วยให้เราสนิทสนมและรับรู้อุปนิสัยของเพื่อนในกลุ่มมากขึ้นไปอีกขั้นโดยไม่ต้องพึ่งคัทซีนหรือบทสนทนาที่ยาวยืดอะไรเป็นพิเศษเลย

ระบบต่อสู้ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่แหวกแนวที่สุดของภาคนี้ ต่างจากภาคก่อนๆ ที่ทุกอย่างจะถูกควบคุมผ่านการกดเลือกคำสั่งผ่านเมนูเป็นขั้นๆ แต่ Final Fantasy XV กลับพลิกระบบต่อสู้ให้เน้นแอ็กชั่นเป็นหลักโดยที่หยิบเอาองค์ประกอบของเกม RPG มาประกอบได้อย่างลงตัว โดยในฉากต่อสู้เราจะได้ควบคุมแค่ Noctis เพียงคนเดียว ถ้าอยากเปลี่ยนอาวุธก็แค่กดปุ่มทิศทาง D-pad ซึ่งสามารถเปลี่ยนได้มากถึง 4 ชนิด และศัตรูจะแพ้ทางแตกต่างกันไปในเวลาแค่เสี้ยววินาที จะค่อยๆ โจมตีทีละครั้งสลับกับถอยมาตั้งหลักก่อนจะหามุมเข้าแทงข้างหลังเพื่อค่าความเสียหายที่มากกว่าปกติหรือเน้นโจมตีติดต่อกันเป็นคอมโบแล้วพึ่งการสวมใส่ยุทโธปกรณ์ที่เน้นพลังป้องกันก็แล้วแต่สไตล์การเล่นของเรา นอกจากนี้หากกดปุ่มหลบหลีกค้างเอาไว้ Noctis ก็จะหายตัวระยะใกล้ๆ เพื่อหลบการโจมตีของศัตรูได้ตลอดเวลา แต่การทำแบบนั้นจะต้องใช้ MP ทุกครั้ง แต่ตัวเกมก็มีระบบที่เกื้อหนุนรูปแบบการเล่นดังกล่าวได้ด้วยการที่เราสามารถวิ่งไปหลบหลังที่กำบังหรือวาร์ปไปพักยังจุดที่ปลอดภัยเพื่อฟื้น HP และ MP ได้ ทำให้การต่อสู้ดำเนินไปได้อย่างฉับไวและต่อเนื่อง และที่สำคัญ การวาร์ปยังมีประโยชน์ในด้านอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นวาร์ปเข้าหาศัตรูเพื่อเปิดฉากโจมตี หรือวาร์ปถอยออกมาในช่วงเวลาคับขันก็ได้ ทำให้การเก็บเลเวลมีความหลากหลายและน่าตื่นเต้นมากกว่าที่เคย

ใช่ว่าพอควบคุมได้แค่ Noctis คนเดียวแล้วเพื่อนๆ ในกลุ่มอีกสามคนจะไม่มีประโยชน์นะครับ เพราะระหว่างที่โจมตีเนี่ย ตัวเราจะมีการสะสมแถบพลังเพื่อเรียกใช้การโจมตีแบบพิเศษหลายๆ รูปแบบจากเพื่อนในกลุ่มได้ แต่ข้อเสียก็คือบรรดาเพื่อนๆ ของเราดูจะไม่เชี่ยวชาญการหลบหลีกสักเท่าไหร่ ทำให้ HP แต่ละคนมักเข้าขั้นวิกฤติจนเราต้องเข้าไปช่วยครั้งแล้วครั้งเล่า ประกอบกับมุมกล้องที่ไม่ค่อยจะฉับไวและเอื้อประโยชน์กับระบบการต่อสู้รูปแบบนี้ ทำให้ภาพที่เราเห็นกลายเป็นมุมอับสายตาอยู่บ่อยครั้ง แม้จะปรับมุมกล้องระหว่างฉากต่อสู้ให้ไกลออกมามากกว่าปกติจากใน Options แล้วก็ตาม

นอกจากการโจมตีด้วยอาวุธแล้ว เวทมนตร์ก็มีรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างจากที่เราคุ้นเคยกับเกม RPG ทั่วไปอยู่ไม่น้อย ไฟ น้ำแข็ง และสายฟ้า คือธาตุหลักของเวทมนตร์ที่ Noctis จะสามารถใช้ได้ แต่ก่อนจะใช้เราก็ต้องไปดึงพลังเวทมนตร์ของแต่ละธาตุที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของแผนที่มาสะสมก่อนที่จะคราฟต์แล้วติดตั้งเป็น 1 ใน 4 รูปแบบการโจมตีบนปุ่มทิศทาง D-pad แต่ความพิเศษของระบบคราฟต์เวทมนตร์ก็คือ เราสามารถผสมเวทมนตร์ธาตุต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้ได้เวทที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถใส่ยาชนิดต่างๆ อย่างเช่นโพชั่นเพื่อให้เกิดผลพร้อมกับการร่ายมนตร์ด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเวทมนตร์จะมีพลังทำลายสูง แต่หากมีพวกของเราไปอยู่ในพื้นที่ของมันแล้ว ตัวละครของเราก็จะได้รับค่าความเสียหายพร้อมกับศัตรูไปด้วย ดังนั้นก่อนที่จะเล็งเป้าเพื่อร่ายเวทย์ก็ควรจะถอยออกมาให้ได้ระยะพอสมควร แต่ที่อลังการกว่าเวทมนตร์ก็คือการอัญเชิญหรือ Summon ที่บางคนอาจติดปากเรียกกันมาแต่ไหนแต่ไรว่ามนต์อสูร โอกาสในการใช้มนต์อสูรในภาคนี้อาจมีไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับภาคก่อนๆ แตสิ่งที่น่าชื่นชมก็คือคัทซีนของมนต์อสูรแต่ละตัวที่เมื่อกดใช้แล้วสามารถนำเสนอถึงความทรงพลังได้เป็นอย่างดี หากเปรียบเป็นการเล่นเกมกับเพื่อนล่ะก็เรียกได้เลยว่าถ้ามีคนใช้มนต์อสูรเมื่อไหร่ เพื่อนอีกคนก็คงวางคอนโทรลเลอร์แล้วเตรียมรับความพ่ายแพ้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กันตรงนั้นไปเลย

ความกว้างใหญ่ของแผนที่ถูกนำเสนอออกได้อย่างมีคุณค่า เพราะไม่เพียงแต่ขนาดเท่านั้น แต่ตัวเกมยังมีการออกแบบฉากที่สวยงาม ส่งเสริมให้การเดินทางระยะไกลๆ ไม่ว่าจะด้วยยานพาหนะหรือโชโคโบะก็ทำให้เพลินตา ลดความน่าเบื่อไปได้มาก อีกทั้งระหว่างที่ขับรถเรายังเลือกเปิดเพลงประกอบจากเกม Final Fantasy ภาคต่างๆ ฟังได้ตลอดทางอีกต่างหาก แต่น่าเสียดายที่เราจะไม่สามารถขับรถออกนอกเส้นทางได้จนกว่าจะถึงช่วงท้ายเกม ดังนั้นนกโชโคโบะจึงช่วยขจัดปัญหานี้ไปได้ด้วยดี เพราะเราสามารถขี่มันไปได้ทุกที่ไม่ว่าจะบนทุ่งหญ้า ทะเลทราย หรือแม้แต่ทะเลสาบ

เมื่อมีฉากที่กว้างใหญ่และไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ แน่นอนว่านอกจากจะทำมาเพื่อภาพลักษณ์ที่สวยงามแล้ว วัตถุประสงค์ของมันก็คือเป็นพื้นที่สำหรับทำเควสต์เสริมเพื่อเก็บเลเวลและหาไอเทมต่างๆ แต่น่าเสียดายที่อาจเพราะ Final Fantasy XV เป็นเกมภาคแรกในตระกูลที่เริ่มใส่แนวการเล่นอันเป็นที่นิยมในตลาดตะวันตกมากกว่าที่เคย เควสต์เสริมเหล่านี้จึงไม่ค่อยมีความน่าติดตามนัก เพราะส่วนใหญ่แทบทั้งหมดสิ่งที่เราจะได้ทำก็แค่ไปไปกำจัดศัตรูจำนวนเท่านี้ หรือไปเก็บของในบริเวณนู้นเท่านั้น แต่นอกเหนือจากเควสต์เสริมแล้ว สิ่งที่ทำหน้าที่ในการดึงผู้เล่นออกมาจากการดำเนินเควสต์หลักตามเนื้อเรื่องได้ดีกว่าก็คือบรรดามินิเกมที่ซีรีส์ Final Fantasy มีมาไม่เคยขาด ซึ่งในภาคนี้นอกจากมันจะทำให้เราเพลิดเพลินแล้ว มันยังมีพัฒนาการของตัวละครไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งด้วย ไม่ว่าจะเป็นมินิเกมตกปลา สนามแข่งโชโคโบะ ลานประลองมอนสเตอร์ หรือแม้แต่ตู้พินบอลที่จะให้ไอเทมเพื่มความสามารถของตัวละครหากเล่นจนทำคะแนนได้สูงพอ

การดำเนินเรื่องที่ค่อนข้างเป็นเส้นตรงตั้งแต่ต้นจนจบผ่านสายตาของ Noctis และผองเพื่อนอาจไม่ใช่จุดแข็งของเกม แต่อย่างน้อยสิ่งต่างๆ ที่ตัวเกมมีมาให้เราเล่นระหว่างทางก็ทำให้เกิดความสนุกที่คุ้มค่าจนกลบข้อด้อยในส่วนนี้ไปได้ และเมื่อดูจากทางเลือกในการเล่นหลายๆ อย่างหลังจากจบเกม ไม่ว่าจะเป็นมินิเกมเบาสมองหรือดันเจี้ยนลับมหาโหดแล้ว สิ่งที่น่าจะทำให้ผู้เล่นติดอยู่กับ Final Fantasy XV กันคนละหลายสิบหรือเป็นร้อยชั่วโมงก็น่าจะเป็นระบบของรูปแบบการเล่นโดยที่ถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาตัวละครในหลายๆ ด้านเป็นอย่างดีมากกว่า

จุดเด่น

– ระบบต่อสู้แบบแอ็กชั่นที่ผสมกับองค์ประกอบของ RPG ได้อย่างลงตัว
– บุคลิกของตัวละครในกลุ่มช่วยเพิ่มสีสันให้กับการเดินทางได้เป็นอย่างดี
– มีหลายสิ่งให้เลือกทำโดยอิสระมากกว่าแค่ดำเนินเกมไปตามเนื้อเรื่อง

จุดด้อย

– เหตุการณ์สำคัญหลายครั้งถูกนำเสนอผ่านบทสนทนาแทนที่จะเป็นคัทซีน
– มุมกล้องของฉากต่อสู้ทำให้เกิดมุมอับบ่อยครั้ง
– เฟรมเรตไม่ค่อยคงที่ในหลายๆ สถานการณ์

สรุป

ดังที่กล่าวไปในตอนต้นว่า กว่าจะถึงวันนี้บางคนก็อาจตั้งตารอเกมนี้มาตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดตัวเมื่อ 10 ปีก่อน เท่านั้นยังไม่พอ ตัวเกมยังต้องแบกรับความหวังจากการถูกยกระดับมาเป็นเกมภาคหลักอีก นี่ยังไม่รวมปัญหาระหว่างการพัฒนาหลายๆ อย่างที่ส่งผลต่อทั้งการเปลี่ยนแนวทางของเกมและวันวางจำหน่ายหลายต่อหลายครั้ง แต่หากมองกันแค่ที่ตัวผลงาน Final Fantasy XV ดูจะเป็นวิวัฒนาการของซีรีส์ที่น่าจับตามองต่อไปในอนาคต ครั้งหนึ่งเคยมีทีมงานของ Square Enix กล่าวว่าความเป็น Final Fantasy สำหรับพวกเขามันมากกว่าแค่การที่เกมต้องมีคริสตัลหรือต้องมีเนื้อหาอยู่ในยุคใดยุคหนึ่งเท่านั้น แต่ Final Fantasy สำหรับพวกเขาก็คือเกมที่ต้องทุ่มเทและใส่ใจเป็นพิเศษกับองค์ประกอบหลายๆ อย่างและสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับซีรีส์ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ซึ่งโลกแฟนตาซีที่ผสานเข้ากับโลกความจริงของ Final Fantasy XV ก็ดูจะเข้ากันกับคำกล่าวนั้นได้เป็นอย่างดี

คะแนน 8 / 10

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้