[รีวิว] Watch Dogs 2 – เมื่อแฮคเกอร์อยู่ในคราบเน็ตไอดอล

[รีวิว] Watch Dogs 2 – เมื่อแฮคเกอร์อยู่ในคราบเน็ตไอดอล

แพลตฟอร์ม – PS4, Xbox One, PC (ทีมงานทำการรีวิวจากเวอร์ชั่น PS4)
ผู้พัฒนา – Ubisoft
ผู้จัดจำหน่าย – Ubisoft
เรต17 ปีขึ้นไป
ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการเล่นจนจบเกม – ประมาณ 18 ชั่วโมง

ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการเก็บทุกรายละเอียด – ประมาณ 22-23 ชั่วโมง

คอนเซ็ปต์ที่ Watch Dogs ภาคแรกได้นำเสนอตั้งแต่เมื่อครั้งประกาศเปิดตัวในปี 2012 นั้นน่าสนใจมากครับ เพราะเป็นเกมแรกที่ให้เราได้สวบทบาทเป็นแฮคเกอร์ ท่องไปในโลกโอเพ่นเวิลด์อันเป็นมหานครที่ซึ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ถูกโยงใยด้วยระบบเครือข่ายอัจฉริยะ เทคโนโลยีอันแสนสะดวกสบายและทันสมัยกลายมาเป็นฉากหลังให้ตัวละครของเราได้ใช้ความสามารถในการเจาะระบบ บัญชาสภาพแวดล้อมได้ตามอำเภอใจอย่างที่ไม่เคยมีปรากฎในเกมใดมาก่อน ช่างเป็นไอเดียที่แปลกใหม่และเย้ายวนใจอย่างมากในตอนนั้น

แต่ตัวเกมในภาคแรกกลับกลายเป็นรอยด่างพร้อยของทีมพัฒนาเมื่อประสบกับปัญหากระแสตีกลับ สืบเนื่องจากการไม่สามารถทำตามคำสัญญาในการใส่ระบบต่างๆ เข้าไปในเกมได้เท่ากับที่ตั้งใจไว้ ทำให้รูปแบบการเล่นไม่ได้แปลกใหม่หรือดูแตกต่างเท่ากับความคาดหวังของเหล่าเกมเมอร์นัก ตลอดจนกราฟิกที่ถูกดาวน์เกรด อีกทั้งมีเนื้อเรื่องที่จืดชืด ส่งผลตัวเกมถูกโจมตีอย่างหนัก แต่นับจากวันนั้น Ubisoft ก็พยายามรับฟังเสียงติติงของเหล่าเกมเมอร์และนำมันไปแก้ไข จนทำให้ Watch Dogs 2 นี้ได้รับการปรับปรุงพัฒนาในหลายจุด

เกมนี้เราจะได้รับบทเป็น มาร์คัส ฮอลโลเวย์ (Marcus Holloway) หรือโค้ดเนม "Retr0" สมาชิกหน้าใหม่ของกลุ่มแฮคเกอร์ชื่อก้องอย่าง DedSec (เดดเซ็ก) ซึ่งมารวมตัวกันด้วยจุดมุ่งหมายที่จะโค่นล้มบริษัท บลูม คอร์ปอเรชั่น (Blume Corporation) ผู้นำในธุรกิจเทคโนโลยีผู้พัฒนาระบบปฎิบัติการอัจฉริยะ ctOS 2.0 ที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อและควบคุมสั่งการระบบสาธารณูปโภค เครื่องยนต์กลไก ระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ ของเมืองทั้งเมือง ไปจนถึงกักเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้คนแล้วนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง อันเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพ ซึ่งนั่นทำให้เหล่าก๊วนแฮคเกอร์ของเราต้องลุกขึ้นมาต่อต้านด้วยการเปิดโปงฉีกหน้ากากให้ผู้คนเห็นเบื้องหลังของบริษัทยักษ์ใหญ่นี้

จริงๆ แล้วประเด็นจั่วหัวของตัวเกมค่อนข้างจะหนัก เพราะพูดถึงการต่อสู้ระหว่างเผด็จการทางข้อมูลและเสรีภาพในการใช้ชีวิตโดยไม่ถูกปิดกั้นหรือบิดเบือน แต่รูปแบบการนำเสนอในคราวนี้ทำออกมาอย่างไม่เคร่งเครียด แถมออกจะบันเทิงเสียด้วย เริ่มกันตั้งแต่ตัวเอกอย่างมาร์คัสที่นอกจากเป็นแฮคเกอร์มือฉกาจแล้ว เขายังเป็นทั้งนักวิ่งปากัวร์ นักแข่งรถโมโตครอส ชอบเล่นหุ่นบังคับวิทยุ แถมยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปืนและวัตถุระเบิด เป็นเน็ตไอดอล และแฟชั่นนิสต้า ในคนๆ เดียวกันอีกด้วย ซึ่งต่างกับ เอเดน เพียร์ซ พระเอกภาคแรกที่ดูเหมือนมือปืนจิตตกที่มีชีวิตอยู่เพื่อตามล่าล้างแค้นมากมายนัก

ขึ้นชื่อว่าเป็นแฮคเกอร์ ก็ต้องพูดถึงการแฮกเจาะเข้าระบบต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นหัวใจหลักของเกม โดยในภาคนี้ได้เพิ่มทั้งปริมาณสิ่งของที่เราสามารถบังคับและมีปฎิสัมพันธ์ได้ ไปจนถึงความหลากหลายของการใช้งาน ตั้งแต่แฮคข้อมูลคนเดินถนนเพื่อขโมยเงินจากบัญชี ใช้เบี่ยงเบนความสนใจหรือก่อกวนศัตรู ไล่แฮคยวดยานพาหนะหรือระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ แม้กระทั่งสร้างข้อมูลปลอมให้กับเป้าหมายเพื่อให้ตำรวจบุกมาจับ หรือเรียกแก๊งมือปืนมาจัดการกับเป้าหมายของเราก็ยังได้

ด้วยความหลากหลายมากมายนี้ ทำให้ผู้เล่นมีทางเลือกที่จะดำเนินเนื้อเรื่องอย่างสร้างสรรค์ตามที่ชอบใจ ซึ่งมีทางเลือกในการทำภารกิจอยู่ 3 ช่องทางหลัก ไม่ว่าจะเป็นสายบู๊แหลกที่พกอาวุธหนักบุกเข้าไปด้วยปืนกระบอกโต แอบลอบเข้าไปทำภารกิจอย่างเงียบเชียบไม่ให้ใครรู้ตัว หรือรูปแบบที่เจ๋งที่สุดอย่างการแฮคทุกอย่างเข้าไปทำภารกิจได้โดยที่ตัวเราไม่ต้องก้าวเท้าเข้าเขตภารกิจเลยก็ยังได้ ซึ่งอุปกรณ์ตัวช่วยสุดล้ำที่ช่วยให้เราทำแบบนั้นได้ก็คือโดรนบังคับวิทยุ ที่ต้องถือว่าเป็นพระเอกของเกมภาคนี้อย่างแท้จริง โดยมาร์คัสจะสามารถเลือกใช้ได้สองชนิด ตัวแรกคือรถบังคับวิทยุที่มีชื่อว่า “จัมพ์เปอร์” (Jumper) ที่สามารถเดินผ่านซอกหลืบ ช่องระบายอากาศ เพื่อลอบเร้นเข้าไปในตัวอาคารหรือที่แคบๆ ได้อย่างง่ายดาย ส่วนอีกตัวหนึ่งเป็นโดรนบินสี่ใบพัด “ควอดคอปเตอร์” (Quadcopter) ที่เคลื่อนที่ทางอากาศได้คล่องแคล่วและซ่อนตัวจากการถูกตรวจจับได้ดีกว่า โดรนทั้งสองตัวสามารถใช้ในการแฮคเข้าระบบต่างๆ ได้ราวกับการที่ตัวมาร์คัสได้ไปอยู่ ณ จุดนั้นด้วยตัวเอง ทว่าจะมีจำกัดอยู่บ้างบางจุดที่จะต้องใช้จัมพ์เปอร์เท่านั้น หรือบางจุดจะต้องเป็นตัวมาร์คัสเองเท่านั้น แต่ก็ถือว่าน้อยมาก โดรนทั้งสองถือเป็นลูกเล่นที่ดีที่สุดของมาร์คัส ซึ่งต้องพึ่งพาในการใช้แก้ไขปริศนาตลอดทั้งเกม แถมหากอัพเกรดก็ยังสามารถเอาไว้ใช้ทิ้งระเบิดสังหารหรือระเบิดสตันระหว่างการต่อสู้ได้ด้วย

ระบบการต่อสู้ทำออกมาได้เรียบง่ายแต่ก็มีประสิทธิภาพ อาวุธโจมตีระยะประชิดของตัวเอกถูกดีไซน์ใหม่ เป็นลูกบิลเลียตเจาะรูร้อยเชือกซึ่งใช้งานได้ทั้งรัดคอหรือเหวี่ยงฟาดศัตรูให้น็อค แม้แต่ศัตรูที่แข็งแกร่งที่สุดอย่างทหารสวมเกราะหนักเราก็ยังทำให้สลบได้ด้วยการโจมตีเพียงครั้งเดียว ซึ่งกลไลนี้ใช้สำหรับการเล่นแบบลอบเร้นด้วย นอกจากนี้กันเพลย์ของเกมก็ไม่ซับซ้อน เราสามารถเลือกพกปืนได้สองกระบอกซึ่งหาซื้อได้จากเครื่อง 3D Printer ที่อยู่ในฐานทัพเดดเซ็ก หากใครที่มีพื้นฐานการเล่นเกมยิงมาก่อนบ้างก็เข้าใจได้ทันที

การวิ่งและปืนป่ายอันเป็นเอกลักษณ์ของมาร์คัสที่สามารถกระโจนโลดโผนผ่านสิ่งกีดขวางหรืออาศัยลีลาปากัวร์ที่มีชั้นเชิงก็ดูเหมาะกับบุคลิกของตัวละครดี แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบเจอก็คือ การควบคุมตัวละครในขณะเดินเท้า เช่นการดีไซน์ให้ต้องกดอนาล็อกค้างเพื่อวิ่ง หรือรั้วบางแห่งที่สูงแค่เข่าแต่กลับปีนไม่ได้ มันได้สร้างความหงุดหงิดให้แก่ทีมงานในระดับนึงเลยทีเดียว

ไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของมาร์คัสสะท้อนออกมาในรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ในเกม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเกมโอเพ่นเวิลด์ ที่แผนที่อันกว้างใหญ่จะต้องอุดมไปด้วยภารกิจทั้งหลักและรองให้เหล่าตัวเอกออกสำรวจเคลียร์จุดต่างๆ หากเราอยากจะพักจากภารกิจทั้งหลาย ผู้เล่นก็สามารถสำรวจเมืองเพื่อไล่เก็บความลับหรือไอเทมต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งสำหรับเกมอื่นๆ นั้น บรรดา Collectible อาจจะเป็นของสะสมที่ใส่มาเพื่อให้เราเก็บหรือไม่เก็บก็ได้ แต่สำหรับเกมนี้จะจำเป็นมากเพราะมันเป็นทรัพยากรในการพัฒนาตัวละครเอกของเราด้วยส่วนหนึ่ง

เป้าหมายของเกมนั้นออกแบบมาได้แหวกแนวและเข้ากับยุคสมัย โดยอ้างอิงกับป๊อปคัลเจอร์มากมายในปัจจุบัน มาร์คัสและผองเพื่อนจะต้องสร้างวีรกรรมสุดระห่ำทั้งหลายเพื่อสร้างชื่อให้กับเดดเซ็ก โดยเป้าหมายก็คือการสร้างแนวร่วมด้วยการเอาชนะใจคนเพื่อเพิ่มฐานคะแนนนิยมหรือผู้ติดตามที่เรียกกันประสาโลกโซเชียลว่า Follower ซึ่งเปรียบได้กับค่าประสบการณ์ (EXP) ของเกมอื่นๆ ยิ่งเราได้ผู้ติดตามมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะสามารถใช้มันในการปลดล็อคเอาลูกเล่นใหม่ๆ มาเสริมเขี้ยวเล็บให้กับมาร์คัสได้มากขึ้น แต่ถึงกระนั้น บางครั้งแค่จำนวนผู้ติดตามก็ไม่เพียงพอต่อการอัพเกรดความสามารถชั้นสูงทั้งหลาย เราจะต้องหาเอา Key Data ซึ่งเป็นสกิลพอยต์พิเศษที่ถูกซ่อนอยู่ตามสถานที่ต่างๆ มาใช้ในการอัพเกรดสกิลที่เราต้องการนั้นๆ อีกทีหนึ่ง ซึ่งการจะเข้าถึงเจ้า Key Data เหล่านี้ ผู้เล่นมักต้องผ่านการป้องกันทั้งจากเวรยามคุ้มกันแน่นหนา และปริศนาซับซ้อนที่ชวนขบคิดอยู่เสมอ

เมืองอย่างซานฟรานซิสโกภายในเกม Watch Dogs 2 ก็ดูดีมีเสน่ห์กว่าเดิมขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า มหานครแห่งนี้เป็นแหล่งรวมของสถานที่สำคัญ ศิลปะแขนงต่างๆ ผู้คนมากมายหลายวัฒนธรรม และยังเป็นศูนย์กลางไอที ทำให้เรามีฉากหลังเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยกิจกรรมสำหรับผู้เล่น แค่การเดินสำรวจตัวเมืองเราก็จะได้พบกับสิ่งน่าสนใจมากมาย ซึ่งตัวเกมนำเสนอได้อย่างชาญฉลาด โดยการนำเอาจุดสำคัญต่างๆ ของเมือง มาทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เราควรจะแวะไป เต๊ะท่าถ่ายรูปเซลฟี่แล้วโพสต์ลงโซเชี่ยลมีเดียเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ติดตามได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย ซึ่งระบบนี้ถือว่าเป็นความลับหรือ Collectible อย่างหนึ่งในเกม โดยสถานที่เหล่านั้นเราสามารถตามหาได้จากแอพลิเคชั่นที่ชื่อ ScoutX บนสมาร์ทโฟนของเรา

พูดถึงแอพต่างๆ ในสมาร์ทโฟนของมาร์คัส มันถูกดีไซน์ให้เป็นออพชั่นเมนูของเกม ซึ่งทั้งสามารถใช้เป็นแผนที่ (ในเกมใช้ชื่อว่า Nudle Map เป็นการเลียนแบบ Google Map) ใช้อัพเกรดความสามารถ (Research) ติดตามมิชชั่นที่กำลังทำอยู่ (DedSec Apps) สร้าง Playlist เอาไว้ตามหาและฟังเพลง (Song Sneak) หรือรับจ๊อบเสริมเป็นคนขับแท๊กซี่อูเบอร์ (Driver SF) ก็ยังได้

ระบบการแต่งตัวของเกมภาคก่อนเป็นจุดบกพร่องหนึ่งที่โดนตำหนิมาก เพราะเราไม่สามารถแต่งตัวละครของเราให้มีเครื่องแต่งกายที่แหวกแนวออกไปได้เลย แต่ในคราวนี้ทำออกมาได้ดีมาก เราสามารถที่จะหาซื้อเสื้อผ้าจากร้านแบรนด์เนมชื่อดังในเกมได้หลากหลาย ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีแนวเป็นของตัวเอง ตั้งแต่แนวหรูเนี๊ยบ แนวฮิปสเตอร์ แนวไบค์เกอร์สิงห์นักบิด หรือแนวสบายๆ … ไม่เพียงเท่านั้น ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ก็จะมีซุ้มขายเสื้อผ้าที่ระลึกซึ่งหาซื้อไม่ได้จากร้านค้าอีกด้วย แม้กระทั่งโดรนคู่ใจทั้ง 2 ชนิดหรือแม้แต่อาวุธปืนของเราก็ยังสามารถตกแต่งลวดลายได้อีกด้วย

หากเนื้อเรื่องมิชชั่นหลัก มิชชั่นรอง การสำรวจตัวเมือง และเก็บของสะสมจากที่ต่างๆ ยังไม่หนำใจ ผู้เล่นยังสามารถเข้าไปลองสัมผัสกับระบบมัลติเพลเยอร์ที่ไม่เหมือนใครของเกมนี้ได้อีก โดยรูปแบบการเล่นจะถูกแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ ได้แก่ ภารกิจ Co-op ที่ผู้เล่นจะต้องร่วมมือกันทำลายสินค้าเป้าหมาย ดาวน์โหลดขโมยข้อมูล ขโมยของ ขโมยรถ หรือ Bounty Hunter ที่ผู้เล่นอาจจะบุกเข้าไปในเกมของผู้เล่นคนอื่น หรือถูกคนอื่นบุกเข้ามาในโลกของเราได้โดยไม่รู้ล่วงหน้า เพื่อไล่ล่ากันทั้งสองฝ่ายจะต้องชิงไหวชิงพริบกันเพื่อเอาตัวรอดหรือทำภารกิจให้สำเร็จ ทำให้มันกลายเป็นเกมของผู้ล่าและผู้ถูกล่าที่สนุกตื่นเต้น และ Hacking Invasion ที่ผู้เล่นฝ่ายบุกจะต้องซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ ผู้เล่นคนอื่นเพื่อดาวน์โหลดข้อมูลให้สำเร็จ ในขณะที่ผู้ถูกบุกจะต้องตามหาผู้เล่นที่บุกเข้ามาซ่อนตัวอยู่ในฝูงชนให้เจอ และจัดการเขาให้ได้

ข้อดี

– ตัวละครฝ่ายพระเอกมีสีสันและน่าจดจำ พร้อมด้วยมุกตลกฮาๆ อีกเพียบ
– โลกในเกมดูกว้างใหญ่ มีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยกลิ่นอายของโลกแห่งความเป็นจริงของเรา และมีภารกิจให้ทำมากมาย
– บรรยากาศในเกมเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนกระแสของโลกในยุคสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี
– ปริศนาต่างๆ ในเกมถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน นำเสนอได้อย่างชาญฉลาด
– ระบบมัลติเพลเยอร์ที่สนุก ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าให้เราเล่นเกมนี้ได้นานขึ้นอีก

ข้อเสีย

– การควบคุมรู้สึกติดขัดในบางจังหวะ เช่น การวิ่งต้องกดอนาล็อกค้าง รวมถึงการปีนป่ายบางจุดน่าจะทำได้ก็ทำไม่ได้ หลายครั้งทำให้เล่นพลาดอย่างไม่น่าจะเป็น
– การเลือกจะเล่นสายบู๊แบบเต็มตัวนั้นทำได้ลำบากพอสมควร
– เนื้อเรื่องทางตัวละครฝ่ายผู้ร้ายทำมาได้น่าผิดหวัง เนื่องจากตัวเกมมีธีมที่ลึกซึ้งและดูยิ่งใหญ่ จึงน่าจะอธิบายองค์ประกอบดังกล่าวได้ดีกว่านี้

สรุป

Watch Dogs 2 มีองค์ประกอบของเกมโอเพ่นเวิลด์ชั้นดีที่ครบถ้วนเหมาะสม มีฉากหลังที่สวยงามมีชีวิตชีวา อัดแน่นไปด้วยกิจกรรมให้ผู้เล่นทำ หนำซ้ำยังมี Collectable เจ๋งๆ ให้ตามหา ผสมผสานกับเนื้อเรื่องอันโดดเด่นเฉพาะตัว มีเอกลักษณ์น่าติดตามผ่านกราฟิกและดนตรีประกอบที่งดงาม และตบท้ายด้วยมัลติเพลเยอร์เพลินๆ โดยรวมแล้วตัวเกมได้รับการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นในหลายจุด และถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเกมโอเพ่นเวิลด์ชั้นดีแห่งปี 2016 ถือว่า Ubisoft เก็บงานมาได้เนี๊ยบกว่าเดิม และน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเขาจะนำพาซีรี่ส์นี้ไปในทิศทางใด

คะแนน – 9

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้