ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนในที่นี้เวลาซื้อเกมกันมา เราจะเห็นสัญลักษณ์เป็นอักษรภาษาอังกฤษตัวเดียว เช่น T หรือ M อักษรเหล่านี้คือเรตติ้งขององค์กร Entertainment Software Rating Board หรือที่เรียกสั้นๆว่า ESRB องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการกำหนดเรตVideo Game ที่จำหน่ายภายในสหรัฐอเมริกา
โดยเรตติ้งกำหนดเอาไว้ดังนี้
EC สำหรับเด็กอายุน้อย
E สำหรับทุกๆวัย
E10+ สำหรับอายุ 10 ปีขึ้นไป
T สำหรับอายุ 13 ปีขึ้นไป
M สำหรับอายุ 17 ปีขึ้นไป
Ao สำหรับอายุ 18 ปีขึ้นไป
โดยองค์กรนี้ถูกจัดตั้งขึ้นจากกรณี Joe Lieberman ได้ร้องเรียนต่อศาลในอเมริกาเกี่ยวกับความรุนแรงของเกม Mortal Kombat จากฉาก Fatality ที่สังหารคู่ต่อสู้ด้วยความเหี้ยมโหด และ Night Trap เกมแนวกดตามเหตุการณ์ที่ใช้หนังจริงเรื่องราวของแวมไพร์ที่ไล่ล่าสาวๆ ในบ้านเพื่อเอาเลือด โดยบอกว่า 2 เกมนี้สามารถซื้อขายได้ในหมู่เยาวชนอย่างอิสระ จนก่อให้เกิดความรุนแรงได้ในภายภาคหน้า สุดท้ายจึงมีการก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาเพื่อดูแลความรุนแรงของเกมนั่นเอง
ทั้งนี้ ลักษณะของการทำงานโดย ESRB นั้น จะเป็นไปโดยความสมัครใจครับ กล่าวคือ ESRB ไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับบรรดาผู้ผลิตเกมต่างๆให้ต้องส่งเกมมาให้ตรวจสอบเพื่อจัดเรตติ้ง เพียงแต่ระบบการจัดเรตติ้งเช่นนี้ ได้รับความร่วมมือจากบรรดาร้านค้าต่างๆทั่วสหรัฐฯ นั่นหมายความว่าเกมใดก็ตามแต่ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบจาก ESRB ก็จะไม่ถูกรับไปวางขายในร้านนั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นวิธีการบังคับกลายๆ ให้ต้องส่งเกมมาตรวจสอบนั่นเองครับ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่บริษัทผู้ผลิตส่งเกมมาให้ตรวจสอบ จนมีสัญลักษณ์ ESRB ไปแปะเมื่อไหร่ เมื่อนั้นบริษัทผู้ผลิตก็จะมีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามแนวทาง guideline ที่ ESRB กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาเกมหรือเงื่อนไขอื่นๆ เช่นการต้องนำเอาสัญลักษณ์ ESRB รวมถึงเรตติ้งของเกมแสดงให้ปรากฏบนกล่องเกมหรือในโฆษณา เป็นต้นครับ ถามว่าแล้วไม่ปฏิบัติตามพันธะดังกล่าวได้หรือไม่? ก็ได้ครับ เพียงแต่อาจมีกระบวนการในการโต้ตอบหลายประการ เช่นการคว่ำบาตร หรือแม้กระทั่งการเรียกเงินค่าปรับนั่นเองครับ
พูดง่ายๆ ว่าถึงแม้จะไม่มีกฎหมายมาบังคับ แต่ทุกวันนี้ผู้ผลิตเกมในสหรัฐฯก็ส่งให้ตรวจสอบจนเป็นแนวทางดำเนินการตามปกติไปแล้วโดยปริยายนั่นเองครับ