[Review] PlayStation VR

PlayStation VR
ผู้พัฒนา: Sony
ราคา: 15,990 บาท (แบบ Standalone) และ 16,990 บาท (แบบพ่วง PlayStation Camera)
เริ่มวางจำหน่าย: 13 ตุลาคม 2559

ท่ามกลางกระแสการแข่งขันในตลาดของอุปกรณ์ VR (Virtual Reality) ที่มอบประสบการณ์การเล่นเกมเสมือนจริงดุจผู้เล่นเข้าไปอยู่ในเกมด้วยตัวเอง ต้องยอมรับครับว่าเส้นทางนี้ของ Sony ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบนัก ด้วยการที่มีคู่แข่งจากนานาแบรนด์ชั้นนำที่โดดเข้ามาร่วมวง ซึ่งแต่ละค่ายต่างก็งัดเอาสเปคและคุณสมบัติที่สุดโหดมาประชันกัน โดยทาง PlayStation VR ที่เป็นอุปกรณ์ VR เพียงยี่ห้อเดียวจากฝั่งเครื่องเกมคอนโซล ณ ตอนนี้ที่วางจำหน่ายออกมาแล้วจึงต้องเตรียมกลยุทธ์สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ

พูดถึงตัวฮาร์ดแวร์กันก่อนครับ ดีไซน์ของ PlayStation VR ภายนอกจะชวนให้รู้สึกเหมือนเวลาเราชมภาพยนตร์แนวไซไฟจากโลกอนาคตสักเรื่อง รวมถึงไฟสีฟ้าที่ประดับอยู่รอบๆ
ตลอดจนการสวมก็สามารถปรับยืด-หดได้ตามขนาดศีรษะผู้เล่น และยังปรับระยะของตัวแว่นให้เข้าใกล้หรือห่างใบหน้าได้ เพื่อรองรับผู้เล่นที่ต้องสวมแว่นสายตาขณะเล่น นอกจากนี้ภายในกล่องจะมีแถมสายชนิดต่างๆ มาให้มากมาย แต่ทุกเส้นจะมีการระบุตัวเลขกำกับไว้หมด รวมถึงเล่มคู่มือการติดตั้งจะมีการเล่าขั้นตอนไว้ละเอียดและเข้าใจได้ง่ายมากๆ ทว่าปัญหาจะไปตกเอาตอนที่เล่นเสร็จแล้วและต้องถึงเวลาจัดเก็บครับ ถ้าจะเก็บแบบชั่วคราวสำหรับเผื่อเล่นในวันหลังก็คงต้องมีเคลียร์พื้นที่พอรวบสายต่างๆ ให้เข้าที่ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียว

มาเข้าเรื่องของการแสดงผลของจอภาพภายใน PlayStation VR กันบ้าง ด้วยความที่ตัว PlayStation VR มีราคาต่ำกว่าแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งในตลาด ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจก่อนว่าความละเอียดของกราฟิกที่ได้ก็จะต่ำกว่าแบรนด์คู่แข่งเหล่านั้นตามไปด้วย แต่เอาเข้าจริงๆ ภาพที่ออกมามันก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไรขนาดนั้นหรอกครับ มันยังคงดูสวยงามสมกับเป็นเกมในเจนปัจจุบันอยู่ดี ต้องพูดเลยว่านี่คืออุปกรณ์ VR ที่ทำออกมามีคุณภาพสมกับราคาที่จ่ายเลยด้วยซ้ำ และจากที่ทีมงานได้ทดลองเล่นเกมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น The Playroom VR หรือ Until Dawn: Rush of Blood อยู่หลายวัน ก็ยังไม่พบว่ามีอาการเวียนหัวแต่อย่างใด

สิ่งจำเป็นอีกอย่างที่ต้องมาควบคู่กับ PlayStation VR ก็คือ PlayStation Camera กล้องขนาดกะทัดรัดที่เลือกติดตั้งไว้ด้านบนของขอบจอทีวีหรือจะวางด้านหน้าทีวีก็ได้ ซึ่งนี่คืออุปกรณ์หลักที่ใช้ในการจับการเคลื่อนไหวของผู้เล่น, จอย DualShock 4 และ PlayStation Move โดยผู้เล่นควรต้องนั่งห่างจาก PlayStation Camera อย่างน้อยประมาณ 2 เมตร เพื่อให้ตัวกล้องจับการเคลื่อนไหวตัวเราได้ทั่วถึง ซึ่งข้อเสียเท่าที่เห็นคือทั้ง PlayStation Camera และ PlayStation Move ต่างเป็นอุปกรณ์ที่ทำมาก่อนที่ PlayStation VR จะเข้ามา (โดยเฉพาะ PlayStation Move นี่เป็นผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ยุค PS3 เลย) การจับการเคลื่อนไหวจึงอาจมีหน่วงๆ บ้างในบางจังหวะ และตัวกล้อง PlayStation Camera เองก็มีระยะการจับการเคลื่อนไหวที่ไม่กว้างเท่าแบรนด์อื่นเช่นกัน

การเล่น PlayStation VR ในบางเกมนั้นยังสามารถใช้จอย DualShock 4 ได้อยู่นะครับ ซึ่งเจ้ากล้อง PlayStation Camera จะสามารถจับการเคลื่อนไหวของจอย DualShock 4 ได้ด้วย โดยบรรดาเกมที่รองรับกับการเล่นด้วยจอยจะมีคำแนะนำขึ้นบนหน้าจอระหว่างเล่นว่าต้องขยับจอยไปในทิศทางใด ก็พอจะกล้อมแกล้มไปได้บ้างหากใครยังไม่มี PlayStation Move อย่างไรก็ตาม ทีมงานแนะนำว่าเกมส่วนใหญ่ที่ทำมาเพื่อเล่นกับ PlayStation VR ควรจะต้องเล่นกับ PlayStation Move อยู่ดี (ไม่เพียงแค่เกมที่เป็นแนวชู้ตติ้ง) เนื่องจากหลายๆ เกมมีการออกแบบมาให้ PlayStation Move สามารถควบคุมและมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ในเกมได้ลื่นไหลและเป็นธรรมชาติกว่า ตรงนี้ค่อนข้างจะน่าทึ่งอยู่เพราะตัว PlayStation Move เองก็มีวางจำหน่ายมาตั้งแต่ยุค PS3 แล้วแต่สามารถใช้ฟังก์ชั่นร่วมกับ PlayStation VR ได้ครบเครื่องจริงๆ ก็ยุคนี้ ทว่าสิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างก็คือ ตัว PlayStation Move นั้นจะใช้สายชาร์จที่เป็น USB Mini ที่เป็นรุ่นเก่า ซึ่งเป็นคนละแบบกับสาย USB Micro ที่ใช้เสียบชาร์จจอย DualShock 4 อีกทั้งเวลาเล่น PlayStation VR ตัวเครื่อง PS4 จะต้องมีการเสียบสาย USB 1 ช่อง เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์แปลงสัญญาณตลอดเวลา ในขณะที่เครื่อง PS4 เองก็มีช่อง USB ให้เสียบเพียงแค่ 2 ช่อง นั่นเท่ากับว่าถ้าผู้เล่นจำเป็นต้องชาร์จ PlayStation Move พร้อมกัน 2 อันแล้วเล่นไปด้วยในเวลาเดียวกันจะทำไม่ได้ (แต่ใน PS4 Pro จะทำได้เพราะตัวเครื่องมี USB ให้ 3 ช่อง)

เพื่อนๆ ที่ซื้อ PlayStation VR มา ข้างในจะมีแผ่นเดโมเกม PlayStation VR Worlds ที่เป็นรวม 7 เกมเด่นพื้นฐานของ PlayStation VR ซึ่งพระเอกของ 7 เกมนี้น่าจะต้องยกให้กับ The London Heist กับ Ocean Descent ครับ โดยเกมแรกจะค่อนข้างครบเครื่องหน่อย เพราะมีทั้งการทดลองหยิบจับวัตถุ มีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครในเกม มีเนื้อเรื่องและบทสนทนาให้ชมพอหอมปากหอมคอ แถมยังมีฉากให้ขบคิดเพื่อแก้ปริศนา ก่อนจะตบท้ายด้วยบทบู๊ที่ต้องสาดกระสุนใส่ศัตรูที่ขับรถไล่กวดเรา ซึ่งทุกช่วงที่ The London Heist นำเสนอจะใช้ฟีเจอร์ของ PlayStation VR มาประยุกต์ในเกมได้อย่างชาญฉลาด ขณะเดียวกัน เกม Ocean Descent ก็จะเน้นบรรยากาศที่สมจริงของการที่เราอยู่ในกรงต่อต้านฉลาม และต้องมาประจักษ์กับเหตุการณ์ที่ฉลามขาวตัวเขื่องพยายามจะเขมือบเราจากทุกทิศทาง และนี่ก็คือประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเกมแนวเขย่าขวัญจะมีภาษีที่ดีกว่าหากนำมาเล่นกับอุปกรณ์ VR

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสามารถใช้ PlayStation VR ในการเสพอรรถรสของการชมภาพยนตร์ด้วยแผ่นบลูเรย์หรือผ่านแอพลิเคชั่น Netflix ได้ด้วย (แต่คอนเท้นท์ในไทยยังมีไม่มากเท่าโซนตะวันตก) ข้อดีของมันก็คือผู้เล่นสามารถสวม PlayStation VR แล้วเอนตัวลงบนโซฟาเพื่อดูหนังอย่างสบายอารมณ์ได้ เพราะแม้ว่าเราจะอยู่ในท่านอนหงาย แต่ภาพที่แสดงออกมาก็ยังอยู่ตรงหน้าเราเช่นเดิม อีกทั้งการชมภาพยนตร์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฟังก์ชั่นของ PlayStation Camera ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่หน้ากล้อง ขอเพียงแค่อยู่ในระยะที่สายของ PlayStation VR อำนวยก็เพียงพอแล้ว ทว่าทั้งนี้ทั้งนั้น การจะบอกว่า PlayStation VR สามารถทดแทนการดูหนังบนทีวีจริงๆ ได้แบบเบ็ดเสร็จก็ไม่ยังไม่ตอบโจทย์นักครับ ควรจะเรียกว่ามันสามารถนำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เราได้จะดีกว่า

สเปค

– จอแสดงผลแบบ OLED ขนาด 5.7 นิ้ว 
– ความคมชัด 1,920 x 1,080 (960 x 1,080 ต่อตา 1 ข้าง)
– ค่า Refresh Rate ของจอ 90Hz – 120Hz
– ขอบเขตการมองเห็น 100 องศา

จุดเด่น

– เกมที่รองรับกับ PlayStation VR แต่ละเกมได้ดึงศักยภาพและฟีเจอร์ที่ PlayStation VR ทำได้มาใช้ได้อย่างเต็มที่
– บรรดาเกมที่ออกมาพร้อมกับ PlayStation VR มีอยู่หลายไตเติ้ล รวมถึงรายชื่อเกมที่กำลังจะออกมาในอนาคตก็น่าสนใจไม่น้อย
– การติดตั้งทำได้ง่ายมาก ประกอบกับคู่มืออธิบายวิธีการติดตั้งไว้ให้เข้าใจง่าย
– การชมภาพยนตร์ด้วย PlayStation VR ได้ให้ความรู้สึกที่แปลกใหม่จริงๆ
– สวมใส่ได้สบายและไม่มีปัญหากับผู้เล่นที่ต้องสวมแว่นตา
– คุณภาพที่ได้เมื่อเทียบกับราคาถือว่าคุ้ม และถ้ามองที่ราคาเพียวๆ ก็ยังถูกกว่ายี่ห้ออื่นๆ อาทิ Oculus หรือ Vive

จุดด้อย

– แม้การติดตั้งจะทำได้ง่าย ทว่าตัวอุปกรณ์จำเป็นต้องต่อสายระโยงระยางอยู่หลายเส้น ดังนั้นจึงต้องมีการคำนึงถึงพื้นที่สำหรับเก็บตัวอุปกรณ์แบบชั่วคราวในกรณีเผื่อไว้เล่นครั้งต่อไป
– ตัวกล่อง Processing Unit ยังจำเป็นต้องใช้วิธีถอดปลั๊กในการดับเครื่อง
– ความคมชัดของภาพยังเป็นรอง VR Headset จากแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง
– สำหรับในบางเกมอาจจะมีปัญหาเรื่อง Motion Sickness แก่ผู้เล่น ซึ่งหากมีการเคลื่อนไหวของตัวละครหรือภาพที่รวดเร็วอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวได้
– การติดตั้ง PlayStation VR จำเป็นต้องใช้ช่อง USB ของ PS4 อย่างน้อย 1 ช่อง จึงอาจมีปัญหาหากจำเป็นต้องชาร์จ PlayStation Move 2 อันพร้อมกันระหว่างเล่น (ปัญหานี้จะหมดไปถ้าเล่นบน PS4 Pro ที่มี USB ให้เสียบถึง 3 ช่อง)

สรุป

คงต้องแนะนำกันก่อนว่าถ้าใครสนใจที่จะซื้อ PlayStation VR ในช่วงนี้ อย่างเร็วก็ควรจะรอให้ PS4 Pro วางจำหน่ายก่อน (ด้วยสาเหตุของจำนวนช่อง USB และประสิทธิภาพในการประมวลผล) หรืออย่างช้าก็อาจลากยาวจนมีเกมไตเติ้ลใหญ่ๆ ที่มีเนื้อเรื่องให้เสพเต็มอิ่มพ่วงกับฟีเจอร์ที่เล่นควบคู่กับ PlayStation VR ออกตามมาก็ยังไม่สาย หรือต่อให้ใครที่อยากเล่นใจจะขาดจริงๆ ก็ควรรอจนมีชุดบันเดิ้ลที่พ่วง PlayStation Move 2 อันมาด้วยจะดีกว่า เพราะหลายๆ เกมที่จะมาอีกในอนาคตก็น่าจะต้อง "กึ่ง" บังคับให้ใช้ร่วมกับ PlayStation Move อีกเป็นแน่

คะแนน 8.5

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้