ลาร่า ครอฟต์ กับสิ่งสะท้อนต่อแนวคิดสตรีนิยม

แชร์เรื่องนี้:
ลาร่า ครอฟต์ กับสิ่งสะท้อนต่อแนวคิดสตรีนิยม

ลาร่า ครอฟต์ กับสิ่งสะท้อนต่อแนวคิดสตรีนิยม

มีอยู่บ่อยครั้งนะครับที่เกมเมอร์อย่างเราๆ ได้เล่นเกมไหนสักเกมแล้วรู้สึกผูกพันหรืออินไปกับตัวละครในเกมนั้นๆ ซึ่งก็พอมองได้ว่าเนื้อเรื่องและการพัฒนาของตัวละครผ่านตัวเกมทำให้ผู้เล่นได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกัน เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเนื้อหาในเกม ตลอดจนพัฒนาการด้านอารมณ์และความคิดของตัวละครที่เราเฝ้าติดตาม ขณะเดียวกันความรู้สึกของผู้เล่นเองก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ลาร่า ครอฟต์ (Lara Croft) สาวแกร่งผู้เป็นตัวละครเอกของซีรีส์ Tomb Raider มายาวนานถึง 20 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้มีเพียงแค่เกมเพลย์ กราฟิก และพล็อตเรื่องที่เปลี่ยนโฉมไป หากแต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวลาร่า ครอฟต์เองก็สำคัญไม่แพ้กัน

ย้อนไปไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้า เหมือนจะมีวัฒนธรรมร่วมกันอย่างนึงระหว่างทีมพัฒนาเกมและคนเล่นเกมครับว่าตัวละครหญิงในเกมมักจะมีองค์ประกอบหลักที่คนเล่นเกมอายุราวๆ 25 ปีขึ้นมาน่าจะคุ้นเคยดี นั่นก็คือไซส์หน้าอกที่โตเกินค่าเฉลี่ยสตรีทั่วไป เสื้อผ้าต้องโชว์เนื้อหนังและสัดส่วน และอาจจะมีฉากเซอร์วิสแถมให้ผู้เล่นได้ครึ้มอกครึ้มใจ ทว่าที่น่าสังเกตกว่านั้นคือ ตัวละครหญิงที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงยุคนั้นมักจะปรากฏตัวเป็นเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำในเกมอยู่บ่อยๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่ว่าทุกตัวละครหญิงในเกม ณ ช่วงเวลานั้นจะต้องเข้าแบบพิมพ์แล้วปั๊มออกมาเป็นแบบนี้หมดนะครับ เพราะอย่างน้อยเราก็ยังฟันธงไม่ได้ว่าเจ้าหญิงพีชจากเกม Super Mario Bros. นั้นเข้าข่ายที่ว่าได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก เพียงแค่จะบอกว่ามันเคยเป็นแนวทางการออกแบบตัวละครหญิงที่วงการเกมนิยมใช้กันอยู่พักหนึ่งก็เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ในยุคดังกล่าวจึงฟังดูเป็นเรื่องค่อนข้างแปลกใหม่ครับที่ผู้เล่นจะได้เล่นเกมที่มีตัวละครหญิงเป็นตัวเอก และที่สำคัญคือการถือกำเนิดของลาร่าในวงการเกมถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเธอมาพร้อมกับเทคโนโลยีในช่วงปลายยุค 90 ที่สามารถทำตัวละครแบบ 3 มิติได้แล้ว ซึ่งคุณโทบี้ การ์ด (Toby Gard) ผู้ให้กำเนิดซีรีส์ Tomb Raider ก็ได้วางบทให้ลาร่าเป็นตัวเอกที่มีความเป็นซูเปอร์ฮีโร่ มีความเชี่ยวชาญและเป็นมืออาชีพ พร้อมปืนคู่ 2 กระบอกที่ทำให้นางควบคุมได้แทบทุกสถานการณ์ ในที่สุดเสียงตอบรับด้านบวกจากฝั่งคนเล่นเข้ามาอย่างล้นหลาม ทำให้ลาร่าโด่งดังเป็นพลุแตก ความดังของเธอได้ทำให้ไปปรากฏเป็นพรีเซนเตอร์บนสินค้าแบรนด์ดังหลายเจ้าของแดนตะวันตก (ลาร่าเคยได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ด้วยนะเออ) ไม่นานนัก บรรดาผู้คนในโลกวิดีโอเกมก็ยกสมญานามให้เธอว่าเป็น "สตรีหมายเลขหนึ่งของวงการเกม" ไปโดยปริยาย

ในทางกลับกัน ด้วยการออกแบบสรีระของลาร่าที่ยังอิงตามสมัยนิยม (ในช่วงเวลานั้น) อยู่ ทำให้มีผู้คนบางกลุ่มมองว่าเธอเป็นสัญลักษณ์ทางเพศที่ดูล่อแหลมเกินไปหน่อย แถมทาง Eidos ก็พยายามจะขายภาพลักษณ์ของลาร่าที่ออกแนวปลุกใจเสือป่ามากขึ้น (ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดนักในการโปรโมทเกมสมัยก่อน) ประเด็นนี้ได้สร้างความไม่พอใจแก่คุณโทบี้ การ์ด เพราะเขาต้องการสร้างลาร่าให้เป็นนักผจญภัยสาวผู้แข็งแกร่ง ไม่เน้นอวดสัดส่วนเพื่อขายอาหารตาให้ใคร แต่เนื่องจากสิทธิ์ในตัวเกม Tomb Raider และลาร่า ครอฟต์นั้นเป็นของบริษัท Eidos ไม่ใช่ของตัวคุณโทบี้ การ์ด นี่เลยเป็นชนวนเหตุทำให้เขาตัดสินใจลาออกจาก Eidos ในเวลาต่อมา

ครั้นเวลาผ่านไป เทรนด์ก็เปลี่ยน ทุกวันนี้การขายเรือนร่างตัวละครหญิงจนเกินงามในวงการเกมฝั่งตะวันตกนอกจากจะถูกตั้งข้อครหาแล้วยังเสี่ยงถูกต่อต้านจากแฟนๆ และบรรดานักสิทธิสตรีทั้งหลายด้วย ดังจะเห็นได้จาก Tomb Raider ภาครีบูตที่วางจำหน่ายเมื่อปี 2556 ที่ทาง Crystal Dynamics ได้พยายามลดความเป็นวัตถุทางเพศในตัวลาร่าลง และให้เธอสวมชุดที่ปกปิดเนื้อหนังมากขึ้น พร้อมกับเพลาๆ ความเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของนางไป ให้เธอดูเป็นสาวที่ดูจับต้องได้ เหมือนมนุษย์มากกว่าเดิม ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะตัวเกมภาครีบูตต้องการเล่าเรื่องชีวิตของลาร่าก่อนที่เธอจะกลายเป็น Tomb Raider อย่างเต็มตัว เราจึงได้เห็นลาร่าแสดงอาการกลัวเจ็บกลัวตายอยู่บ้างและห้าวน้อยลง เรียกได้ว่าลาร่า ครอฟต์ ยุคปัจจุบันในแง่ของความรู้สึก อารมณ์ และบุคลิกได้ถูกปั้นและขัดเกลาจนมีมุม มีมิติกว่าแต่ก่อน

ถึงแม้ทางทีมงาน Crystal Dynamics จะลดความเป็นวัตถุทางเพศของลาร่าไปแล้ว แต่เพื่อนๆ เชื่อมั้ยครับว่า Tomb Raider ภาครีบูตเมื่อปี 2556 เคยมีดราม่าอยู่รอบนึง โดย 1 ในทีมงานได้ให้สัมภาษณ์กับทางผู้สื่อข่าวว่ามีฉากหนึ่งที่ลาร่าเกือบจะถูกคนบนเกาะ Yamatai พยายามจะข่มขืน บรรดาแฟนๆ ที่เซ้นส์ซิทีฟและเหล่านักสิทธิสตรีในตะวันตกเลยพุ่งเป้าโจมตีทันที ทีมพัฒนาเลยต้องออกมาแก้ข่าวว่าฉากดังกล่าวเป็นฉากตอนต้นเกมที่จำเป็นต่อการพัฒนาของตัวลาร่าให้รู้จักการเอาชีวิตรอดนั่นเอง

ถ้าลาร่าฉบับออริจินัลคือหญิงยอดมนุษย์ที่ล้ม T-Rex ด้วยการเคลื่อนไหวอันรวดเร็วราวกับเป็นสมาชิกหน่วยซีลตั้งแต่แบเบาะ ลาร่าฉบับรีบูตก็คือหญิงสาวที่ขอขมากวางที่เธอล่าก่อนจะแล่เนื้อมากินประทังชีวิต หรือถ้าจะพูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ Crystal Dynamics กำลังนำเสนอด้านความเป็น "มนุษย์" ที่มีทั้งด้าน "อ่อนแอ" และ "บาดเจ็บเป็น" ให้แก่ลาร่านั่นแหละครับ

หลังจากนี้คงไม่อาจมีใครทราบได้ว่าลาร่าจะเติบโตไปเป็นตัวละครอย่างที่เธอเคยเป็นเมื่อในอดีตหรือไม่ แต่ไม่ว่านางจะเป็นคนใหม่หรือคนเก่าก็ตาม ลาร่าก็ได้จุดกระแสความเท่าเทียมและความเสมอภาคขึ้นในวงการเกมเป็นที่เรียบร้อย และ "สาร" ที่เธอเฝ้าบอกต่อคนเล่นเกมมาตลอดก็คือคนทุกคนนั้นเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเพศชายหรือหญิงและเพศสภาพอื่นๆ ก็สามารถเป็นฮีโร่ได้

แชร์เรื่องนี้:
Vesper
About the Author

Vesper

เซเว่นที่ว่าแน่ ก็ยังหารักแท้มาขายไม่ได้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ