วันนี้ในอดีต by play: 22 พฤษภาคม

แชร์เรื่องนี้:
วันนี้ในอดีต by play: 22 พฤษภาคม

"วันนี้ในอดีต" by play

วันที่ 22 พฤษภาคม 2523 หรือวันนี้เมื่อ 36 ปีที่แล้ว เป็นวันเปิดให้บริการเกม Pac-Man บนตู้เกมอาเขดแบบหยอดเหรียญ โดย Pac-Man เป็นผลงานที่คิดค้นขึ้นโดยเกมดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นนามว่า โทรุ อิวาทานิ จากบริษัท Namco ซึ่งตัวตู้เกมอาเขดของ Pac-Man ที่ไปวางในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นได้มีการจดลิขสิทธิ์โดยบริษัท Midway และเริ่มเปิดให้บริการในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน และเกมนี้ก็ได้กลายมาเป็นตำนานบทหนึ่งของวงการเกมคอนโซลได้ในเวลาอันรวดเร็ว แถมยังได้รับความนิยมจากเกมเมอร์ทุกเพศทุกวัยกันมาจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว

ระบบของเกมนี้ ผู้เล่นจะได้บังคับเป็นตัว Pac-Man ตัวเอกของเกมที่มีรูปร่างเป็นวงกลมสีเหลือง พร้อมปากที่อ้าพะงาบๆ ตลอดเวลา โดยเรามีหน้าที่คอยกินจุดเล็กๆ ภายในฉากที่เหมือนเขาวงกตให้ครบทุกเม็ด พร้อมกับคอยหนีศัตรูทั้ง 4 ตัว 4 สีที่ป้วนเปี้ยนอยู่ตามฉากไปในตัว หากเราไปชนถูกตัวมัน เราจะตายทันที (1 เหรียญจะมีให้เล่นได้ 3 ชีวิต) แต่ก็จะมีตัวช่วยคือจุดเม็ดใหญ่ๆ ที่อยู่แต่ละมุมของฉาก (เรียกว่า Power Pellets หรือเม็ดพลังงาน) ซึ่งถ้าเรากิน Power Pellets แล้ว เราจะมีความสามารถในการกินพวกศัตรูได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทว่าเจ้าเม็ด Power Pellets จะมีให้เก็บเพียงด่านละ 4 ชิ้นเท่านั้น เท่ากับว่าผู้เล่นต้องวางแผนเส้นทางการวิ่งกินจุดให้ดีนั่นเอง

Fact เล็กน้อยเกี่ยวกับเกม Pac-Man

1. มอนสเตอร์ทั้ง 4 สีที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเจ้า Pac-Man ตลอดทั้งเกมล้วนมีชื่อของมันเองนะครับ โดยแต่ละตัวจะมีชื่อดังนี้

เวอร์ชั่นญี่ปุ่น
- ตัวสีแดง ชื่อ โออิคาเคะ (追いかけ) แปลว่า ผู้ไล่ล่า
- ตัวสีชมพู ชื่อ มาจิบุเสะ (待ち伏せ) แปลว่า นักซุ่มโจมตี
- ตัวสีฟ้า ชื่อ คิมากุเระ (気まぐれ) แปลว่า โลเล, เอาแน่เอานอนไม่ได้ (เดาทางยากว่าจะวิ่งมาทางไหน)
- ตัวสีส้ม ชื่อ โอโตโบเคะ (お惚け) แปลว่า เสแสร้งทำเป็นไม่สนใจ

เวอร์ชั่นอเมริกา
- ตัวชื่อแดง ชื่อ Shadow
- ตัวสีชมพู ชื่อ Speedy
- ตัวสีฟ้า ชื่อ Bashful
- ตัวสีส้ม ชื่อ Pokey

(บน) มอนสเตอร์ทั้ง 4 สีจากเกม Pac-Man

2. คุณโทรุ อิวาทานิ ผู้ให้กำเนิดเกม Pac-Man ได้เข้ามาทำงานที่บริษัท Namco เมื่อปี 2520 ซึ่งตอนนั้นเขาเพิ่งจะมีอายุ 22 ปีเท่านั้น แต่ที่น่าตกใจกว่าก็คือ คุณอิวาทานิไม่ได้เรียนจบทางด้านเกมดีไซเนอร์หรือโปรแกรมเมอร์มาก่อนเลย และในตอนแรกเขาตั้งใจว่าจะเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้ดูแลเครื่องพินบอล กระทั่งการคิดค้นเกม Pac-Man ก็ได้ทำให้ชีวิตของเขาพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

3. ช่วงปี 2529 คุณอิวาทานิได้มาเปิดเผยในภายหลังว่า ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970-1980 ณ ขณะนั้นตู้เกมอาเขดยังแสดงผลด้วยจอขาวดำอยู่ และเกมส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการก็จะมีแต่เกมยานยิง หรือไม่ก็เกมแอ็กชั่น ซึ่ง Namco เองก็เคยประสบความสำเร็จกับการทำเกม Galaxian หรือ Space Invader บนตู้เกมอาเขดมาก่อน คุณอิวาทานิจึงเกิดความต้องการที่จะสร้างเกมที่เล่นได้ทุกเพศทุกวัย แล้วก็ได้เริ่มคิดคีย์เวิร์ดภาษาญี่ปุ่นสำหรับเกมที่เขาต้องการจะสร้างว่า "Taberu" ที่แปลว่า กิน จนได้คอนเซ็ปต์ของเกมที่เรียกว่า พัคคุมัน โดยแผลงมาจาก พาคุ พาคุ ที่เป็นศัพท์แสลงของญี่ปุ่น หมายถึง การเคี้ยวเสียงดัง

4. อีก 1 แรงบันดาลใจของการสร้างเกม Pac-Man นั้นมาจากตอนที่คุณอิวาทานิสั่งพิซซ่าในร้านอาหารมากิน เมื่อเขาหยิบพิซซ่าชิ้นหนึ่งขึ้นมา ก็ก้มลงไปมอง เห็นว่าพิซซ่าจากวงกลม พอแหว่งไปชิ้นหนึ่ง กลับดูมีรูปร่างเหมือนอะไรบางอย่างกำลังอ้าปาก และนั่นก็เป็นที่มาของดีไซน์ตัวละคร Pac-Man แต่คุณอิวาทานิก็ได้ให้สัมภาษณ์ในตอนหลังว่า เรื่องแรงบันดาลใจจากพิซซ่านั้นมีส่วนจริงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น (อีกครึ่งให้เดากันเอาเอง)

5. Pac-Man ได้สร้างปรากฏการณ์สุดเหลือเชื่อแก่วงการเกมไว้มากมาย นับตั้งแต่มีสถิติบันทึกจากทาง Guinness World Records ว่ามีผู้เล่นหยอดเหรียญเพื่อเล่นตู้เกม Pac-Man รวมกันทุกตู้ทั่วโลกถึงกว่า 1 หมื่นล้านครั้ง เรียกได้ว่าถ้าตู้ Pac-Man ในเมืองไทยต้องหยอดเหรียญ 5 บาทเพื่อเล่น เท่ากับว่าทาง Namco ก็ฟันรายรับจากเกมนี้ (เฉพาะเวอร์ชั่นตู้อาเขด) ไปไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาทละครับ ทว่าเรื่องที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ แม้ว่า Namco จะได้กำไรมหาศาลจาก Pac-Man ก็ตาม แต่ตัวคุณอิวาทานิเองก็ไม่ได้รวยขึ้นแต่อย่างใด เพราะในตอนนั้นเขาอยู่ในฐานะพนักงานคนหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้บริษัท และเงินเดือนเขาเองก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่ได้โบนัส ไม่ได้คำกล่าวสรรเสริญอย่างเป็นทางการอะไรเลยด้วยซ้ำ (มีแต่การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งจากทาง Namco ให้ในอีกหลายปีต่อมา)

(บน) คุณโทรุ อิวาทานิ ผู้ให้กำเนิดเกม Pac-Man

6. เกม Pac-Man เวอร์ชั่นแรกสุดของตู้เกมอาเขดจะเล่นได้เพียงแค่ 256 ด่านเท่านั้น และคะแนนจะไปตันอยู่ที่ 3,333,360 คะแนน ตามข้อจำกัดการคำนวณของโค้ดเขียนโปรแกรมในยุคนั้น แต่ก็ยังมีผู้เล่นที่สามารถพิชิตแต้มดังกล่าวได้ นั่นก็คือ นายบิลลี่ มิตเชลล์ ซึ่งเป็นเกมเมอร์คนแรกที่สามารถทำคะแนนสูงสุดของเกม Pac-Man เป็นผลสำเร็จ

แชร์เรื่องนี้:
Vesper
About the Author

Vesper

เหนื่อยจากเกมก็ลองหยุดพัก แต่ถ้าเหนื่อยจากรักก็จงหยุดเถอะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ