วันที่ 4 มีนาคม 2542 หรือวันนี้เมื่อ 18 ปีที่แล้ว เป็นวันวางจำหน่ายของเกม Pepsiman บนเครื่อง PS1 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดย Pepsiman ก็คือมาสค็อตผู้เป็นซูเปอร์ฮีโร่ของน้ำอัดลมเป๊ปซี่ ที่ออกแบบโดยคุณโคทาโร่ อุจิโคชิ (Kotaro Uchikoshi) ซึ่งตอนแรกนั้นทางผู้จัดจำหน่ายจากทางฝั่งอเมริกาเองก็เล็งที่จะนำเกมนี้มาขายในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน แต่แล้วสุดท้าย Pepsiman ก็เป็นเพียงเกมที่จำหน่ายเฉพาะเวอร์ชั่นญี่ปุ่นเท่านั้นด้วยเหตุผลบางประการไป
Pepsiman นั้นเป็นเกมแนวแอ็กชั่นที่ผู้เล่นมีหน้าที่บังคับพ่อหนุ่ม Pepsiman ให้คอยหลบสิ่งกีดขวางที่อยู่ตรงหน้า โดยที่เกมจะบังคับให้เราวิ่งตลอดทาง ซึ่งการหลบสิ่งกีดขวางนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสไลด์ การวิ่งแบบสปรินท์ รวมไปถึงการกระโดด เป็นต้น ทั้งนี้ Pepsiman จะมีด่านให้เล่นทั้งหมดแค่ 4 ด่าน และแต่ละด่านจะมีแบ่งแยกเป็นแอเรียย่อย ระหว่างทางจะมีกระป๋องเป๊ปซี่ให้เก็บ ซึ่งกระป๋องเหล่านี้ก็จะเป็นคะแนนที่เกมจะคำนวณให้เมื่อวิ่งไปถึงเส้นชัย ถือว่าเป็นเกมที่หาความสนุกจากมันได้อยู่ และไม่มีความซับซ้อนมากนัก เล่นได้ทุกเพศทุกวัย
เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับเกม Pepsiman
- กระแสของเกมนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างสวนทางกับสิ่งที่ตัวเกมเป็นอย่างสิ้นเชิงครับ แม้ว่าทางนิตยสาร Famitsu ของญี่ปุ่นได้ให้คะแนนนี้เพียง 25 จากเต็ม 40 พร้อมนำไปเปรียบเทียบว่าตัวเกมมีความคล้ายกับ Paperboy (เกมเด็กส่งหนังสือพิมพ์บนเครื่องตู้อาเขดหยอดเหรียญ ที่เคยมีพอร์ตลงเครื่อง Famicom วางจำหน่ายเมื่อปี 2528) แถมบางสำนักรีวิวของตะวันตกก็ยกไปเทียบกับซีรีส์ Crash Bandicoot ว่ามีรูปแบบการลุยไปข้างหน้าคล้ายๆ กัน ต่างกันแค่ว่า Pepsiman จะวิ่งอย่างเดียว แต่ Crash Bandicoot จะมีสู้กับศัตรูไปด้วย และเกมไม่บังคับวิ่ง ทว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ที่เล่นเกมนี้ในไทยกลับมองว่า Pepsiman เป็นเกมที่เล่นเอาเพลินๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรมากมาย จนมองข้ามความพื้นๆ เกินไปของมันที่เป็นข้อเสียในสายตานักรีวิวไปซะงั้น ด้วยเหตุนี้ เกม Pepsiman จึงสามารถถีบตัวเองมาขึ้นแท่นเกมแนว Casual บนเครื่อง PS1 ที่ได้รับความนิยมสูงสุดเกมหนึ่งเลยทีเดียว แม้แต่ไทยเองในช่วงเวลานั้นก็ยังเห็นลูกเล็กเด็กแดงนั่งเล่นเกมนี้กันแพร่หลาย
- บริษัท KID Corp. (คำว่า KID ย่อมาจาก Kindle Imagine Develop) ทีมที่พัฒนาของเกม Pepsiman เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2531 โดย Pepsiman ก็เป็น 1 ในไม่กี่เกมที่ทำกำไรให้แก่บริษัท แถมเกมที่พัฒนาออกมาก็เน้นวางจำหน่ายเฉพาะญี่ปุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ สุดท้าย KID Corp. ก็ต้องถูกประกาศล้มละลายเมื่อปี 2549 หลังประสบภาวะขาดทุนสะสมมานาน
- แม้ว่า Pepsiman จะไม่ใช่เกมแรกที่เป็นเกมแนววิ่งหลบสิ่งกีดขวางไปเรื่อยๆ แต่สื่อมวลชนด้านเกมบางสำนักก็ยังคงยกให้เกมนี้เป็นต้นแบบของเกมสไตล์นี้ที่จุดประกายให้เกิดเกมซีรีส์อื่นๆ ที่เป็นแนวเดียวกันจนโด่งดังตามมาภายหลัง อาทิ Temple Run (เกมบนสมาร์ทโฟน) เป็นต้น