“ดูนั่นสิ เกมใหม่ แต่มันออกเครื่องที่เรายังไม่มี อยากเล่นจัง” นี้คือปัญหาใหญ่มากของเกมเมอร์ยุคนี้หลายๆคน ที่มีใจรักในการเล่นเกม แต่ปัญหาใหญ่ของพวกเขาคือ...จะเล่นได้ยังไงกันล่ะ เครื่องยังไม่มีเลย ไอ้ครั้นจะซื้อก็ไม่รู้จะทำยังไงดี หลายคนสับสน กังวล ได้แต่นั่งทำตาละห้อยเวลาดูตัวอย่างเกมออกใหม่
วันนี้ทาง play จึงขอแนะนำแนวทางสำหรับผู้ที่อยากได้เครื่องเกมใหม่มาไว้ในกำมือ จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ฝ่าฟันความตั้งใจมาจนได้เครื่องเกมไว้ในกำมือถึง 2 เครื่อง จึงเป็นเรื่องที่ดีที่จะแนะนำเพื่อนๆ ผู้อ่านทุกคนถึงแนวทาง และแนวทางนี้ไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะแค่เรื่องเกม แต่ยังปรับแต่งให้พอเหมาะจนสามารถปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้เชียวล่ะคุณเอย เอาล่ะ เปิดเพลง Theme ของ Rocky เรียกกำลังใจ แล้วเราร่วมเดินไปพร้อมกันดีกว่า
1. จงตั้งเป้าหมายและศึกษาให้ถ่องแท้
การจะเดินไปให้ถึงเป้าหมาย คงไม่มีใครมองเส้นชัยก่อนเป็นอันดับแรก เครื่องเกมก็เช่นกัน หากคิดแค่จะซื้อมาเท่านั้น พอได้มาคงนั่งคิด เออ...แล้วจะซื้อมาทำไมหว่า ฉะนั้นจงตั้งเป้าหมายว่าเราอยากได้เครื่องเกมนี้มาทำไม อยากเล่นเกม ก็ให้ศึกษาข้อมูลเกมแนวที่เราชอบว่ามีในเครื่องนี้มั้ย ศึกษาคะแนนรีวิวและความเห็นของคนที่เล่นว่าใช้ได้รึเปล่า หรือจะซื้อมาใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ ของเครื่อง ก็ศึกษาการทำงานของมันให้ดี มันทำอะไรได้ มันทำอะไรไม่ได้ หากการหาข้อมูลในเว็บไม่เพียงพอต่อความต้องการ จงถือคติ “หน้าหนา” ถามข้อมูลจากทั้งเกมเมอร์และร้านเกมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จงคิดไว้ว่ายิ่งรู้เยอะ เรายิ่งได้เปรียบ เพราะอย่างที่ทราบว่าบางร้านขายเกมในไทยอาจจะคิดไม่ซื่อกับลูกค้า อาจมีหลอกลวง ซึ่งหากเราไร้ความรู้ก็จะเสียเปรียบ ฉะนั้นจงรู้ให้พอๆ กับร้านเกมนั่นแหละ (ฮา) ยิ่งรู้มาก เราก็จะได้เปรียบมากขึ้น
2. เช็คราคา โปรโมชั่น และราคา จากร้านขายเกม
มนุษย์ของเราชื่นชอบที่จะซื้อของที่ลดราคา หรือมีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ดังนั้นร้านค้าบนโลกใบนี้จึงจำเป็นต้องมีโปรโมชั่นเพื่อล่อลูกค้าเหล่านี้ ซึ่งบรรดาร้านค้ามักจะไม่เดินมากระซิบข้างหูเราแน่ว่า นี่ๆ นายจ๋า ร้านชั้นลดราคานะจ๊ะ เราจึงต้องสืบเสาะหาเอาเอง ในปัจจุบันร้านค้าขายเกมใหญ่ๆ ในประเทศมักจะมีเว็บไซต์หรือแฟนเพจให้ติดตามข่าวสารกันอยู่แล้ว และเขาจะมีประกาศหากทางร้านจัดโปรโมชั่นลดราคา ฉะนั้นเราต้องดูและวิเคราะห์การลดราคาหรือโปรโมชั่นเหล่านี้ว่า มันคุ้มเงินที่จะเสียมั้ย พยายามนำราคาโปรโมชั่นไปเทียบกับของจริงเข้าไว้ว่ามันถูกขนาดไหน และของแถมของมันถ้าซื้อแยกจะคุ้มกว่ามั้ย อย่าตาโตทันทีที่เห็นตัวเลขลดราคา เพราะบางทีถ้าเราวิเคราะห์อย่างใจเย็น อาจพบว่าการซื้อแยกอาจจะคุ้มค่ากว่าโปรโมชั่นก็ได้ และอย่าได้ดูเพียงร้านเดียว ให้เสาะหาหลายๆ ร้านเทียบราคาและความคุ้มค่าของโปรโมชั่นด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกเจ็บตัวหากเราพบโปรโมชั่นร้านอื่นคุ้มค่ากว่าร้านที่เราซื้อในภายหลัง
นอกจากนี้ก็อย่าลืมกับประวัติร้านค้าด้วย เนื่องจากหลายๆ ร้านอาจซุกซ่อนไว้ซึ่งประวัติที่ไม่ค่อยจะดีกับลูกค้าเอาไว้ หลายๆ คนอาจเคยเจอวีรกรรมน่าเอือมระอาและเขียนลงเว็บบอร์ด เช่นนี้แล้ว...เรานี่แหละคือคนที่ควรจะเสพข้อมูลเหล่านั้นเพื่อการตัดสินใจ การเสิร์ชนั้นทำได้ไม่ยาก แค่เอาชื่อร้านใส่ลง Google และค้นหา ถ้าร้านไหนมีเคสให้เราอ่านพิจารณาว่า มันเป็นเคสที่ปวดตับไหม และจำนวนเคสเยอะไหม หากเคสร้ายแรงและจำนวนเยอะ ต่อให้โปรโมชั่นคุ้มค่ายังไงก็ควรจะหันหน้าหนีทันที เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลังที่สำคัญหากทำได้ ที่สำคัญ เราควรจะซื้อเครื่องเกมเป็นชุด Bundle ของเกมดังๆ เพราะราคาที่แพงกว่าเครื่องปกติไม่มากแล้ว เรายังได้เกมและเครื่องลายพิเศษมาด้วย บางทีมันอาจจะคุ้มกว่าการที่เราซื้อเครื่อง และเกมแยกอีกทีด้วยซ้ำไป และสุดท้าย อย่าลืมซื้อเครื่องที่มีประกันด้วยนะครับ เวลาเกิดแจ็คพ็อตได้เครื่องพังมาจะได้ไม่มีปัญหา
3. เก็บตังค์กันเถอะจ๊ะ
มาถึงประเด็นที่ทุกคนรอคอย และน่าจะเป็นขั้นตอนที่ทำยากที่สุด ซึ่งก็คือ “การเก็บสตางค์” นั่นเอง แน่นอนแหละว่าด้วยค่าครองชีพยุคนี้สูงยังกับอะไร เงินที่ใช้แต่ละวันก็มากขึ้น เก็บเงินได้ก็น้อยนิดไม่พออยู่แล้ว ใจเย็นๆ ครับ กฎข้อแรกของการเก็บเงินเลยคือ ให้เราอดทน คนส่วนใหญ่จะยอมแพ้เพราะคิดว่า จะต้องเก็บอีกเท่าไหร่เราถึงจะได้ของ ซึ่งมันใช้เวลานานแน่ๆ ทำให้หมดกำลังใจและเลิกเก็บไป ห้ามคิดเช่นนั้น ให้เราดูจากข้อแรก นึกถึงเป้าหมายของก่อนว่าเราจะเอาเครื่องเกมไปทำไม และอดทนเก็บเงินต่อไป ให้คิดว่า เราได้เครื่องช้าเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น เพราะป่านนั้นคงมีเกมออกมากมายแล้ว และบางทีเราเก็บๆ เงินไปอาจมีเครื่องเกมรุ่นโมเดลใหม่ที่มีระบบหรือฟีเจอร์ต่างๆ ที่ดีกว่ารุ่นก่อนก็ได้ แล้วยิ่งผสมกับข้อสอง การเก็บเงินอาจจะไม่นานอย่างที่คิด เพียงแค่ปีเดียวอาจจะได้เครื่องเกมแล้วด้วยซ้ำไป
สิ่งที่ควรจะต้องทำหากอยากเก็บเงินเป็นระบบคือ ให้ทำรายรับรายจ่ายที่ชัดเจน ใช้อะไรไปบ้าง กินอะไรไปบ้าง จดให้หมด แล้วมาดูแต่ละวันว่าเราใช้ไปเท่าไหร่ จากนั้นให้ดูความเหมาะสมของรายจ่ายแต่ละวันว่า เราสามารถที่จะเก็บเงินได้ในระดับไหนให้ตัวเราไม่ทรมานเกินไป (ไอ้แบบจากขึ้นรถเป็นเดินไปทำงาน กินข้าวเปลี่ยนเป็นน้ำ อะไรแบบนี้ไม่ดีนะครับ เผลอๆ จะน็อคก่อนได้เครื่องเกมเอาง่ายๆ) และตั้งเป้าไว้เลยว่า เดือนนี้เราจะต้องเก็บเงินได้เท่านี้ จากนั้นการบริหารรายรับรายจ่ายจะง่ายและเห็นภาพมากขึ้น ของที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องรีบซื้อ ให้นึกว่า เดี๋ยวค่อยมาเอาทีหลังก็ไม่สาย หรือถ้าต้องใช้จากเงินเก็บแต่ละเดือน ก็อย่าพยายามให้เกินครึ่ง เพราะไม่งั้นเราจะชะล่าใจและทำไปเรื่อยๆ จนเงินเก็บไม่ได้ตามเป้าที่คิดไว้ และอันนี้แนะนำเล็กๆ เวลาได้เงินเก็บมาให้หาโถหรือกระปุกอะไรสักอย่าง เก็บเงินก้อนนั้นไว้แล้วเอาไปซ่อนในตู้หรือที่ใดที่หนึ่ง ให้พอจำได้ว่าเราเก็บเงินไว้ตรงนี้ แต่ไม่ต้องให้ขนาดเห็นทุกวัน จะทำให้เราลดกิเลสอยากใช้เงินได้ในระดับหนึ่ง (หรือใครลงทุนจะฝากธนาคารเลยอันนี้ก็ไม่ว่ากัน)
4. จ๊อบพิเศษสมทบทุน
หากอาชีพที่เราทำ เงินมันน้อยเหลือเกินจนเงินเก็บมันไม่รู้จะเห็นทางสว่างอย่างไร หรือต้องการได้เครื่องเกมเร็วกว่านี้ มันก็มีตัวเลือกพิเศษก็คือ การไปหางานพิเศษทำช่วงเสาร์อาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นรับงานจากคนนอก หรือทำ OT หรือจะไปสมัครพวกร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ เพิ่มเติมก็ย่อมได้หมด ซึ่งมันก็จะทำให้เราได้ทุนสมทบที่มากขึ้น และเก็บเงินได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก แต่อย่าลืมว่าร่างกายของเราก็จะต้องทำงานหนักขึ้น การพักผ่อนจะน้อยลง เสี่ยงที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนค่าเครื่องเกม ฉะนั้นหากจะใช้หัวข้อนี้ ต้องมั่นใจว่าตัวเองแข็งแรงและแบกรับภาระที่หนักขึ้นได้โดยไม่มีปัญหา
5. จับมือกับคนในครอบครัว
ข้อนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบของคนที่มีพี่น้องเป็นคอเกมเหมือนกัน (และควรที่จะอยู่บ้านเดียวกัน) ด้วยการยื่นข้อเสนอที่คลาสสิคที่สุดในจักรวาล ด้วยการ “หุ้นกัน” หรือช่วยออกกันคนละครึ่งนั่นเอง หรือจะช่วยออกค่าอุปกรณ์หรือเกมก็แล้วแต่ตามที่จะเจรจากันได้ การทำเช่นนี้ก็จะทำให้เงินที่ต้องเก็บลดลงไป และได้เครื่องเกมเร็วขึ้น แต่ข้อเสียก็คือ จะต้องมีการแบ่งเวลาการเล่นเกมด้วย ซึ่งไม่เหมาะนักสำหรับผู้ที่อยากจะครอบครองเครื่องเกมแต่เพียงผู้เดียว หรือคนที่จะเล่นเกมข้ามวันข้ามปี หรือถ้าใครยังอยู่ในวัยเรียน ก็สามารถเจรจากับพ่อแม่ให้ช่วยออกได้หากฐานะทางการเงินไม่ได้แย่หรือมีปัญหาอะไร แต่ทางผู้เขียนแนะนำว่าให้เก็บเงินซื้อเองจะทำให้รู้สึกว่าเท้าตัวเองติดแสงมากกว่า
6. ไม่จำเป็นว่าต้องซื้อ Day One เสมอไป
เวลาที่เกมดังๆ ออก หลายๆ คนมักจะได้ยินคำว่า Day One ซึ่งมันก็คือการซื้อเกมตั้งแต่วันแรกที่วางจำหน่ายนั่นเอง หากถามว่าจำเป็นมั้ย ก็ต้องบอกว่าไม่จำเป็น จริงอยู่ที่ว่าการซื้อแบบ Day One เราอาจจะได้ของแถมพิเศษมา แต่สำหรับบางเกมมันก็อาจจะจำหน่ายของแถมดังกล่าวแบบแยกต่างหากในภายหลัง ไม่ใช่ว่าจะไม่ปรากฏอีกเลยแบบ Limited Edition และแม้จะซื้อ Day One มาก็ใช่ว่าเนื้อหาโดยรวมเกมจะเปลี่ยนไป ความสนุกอะไรมันก็เหมือนกับคนซื้อทีหลังนั่นแหละครับ ฉะนั้นไม่ต้องซีเรียส ซื้อเกมมาแล้วเล่นให้จบไปทีละเกมจะดีกว่า เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาสุดคลาสสิค นั่นก็คือ “ดองเกม” นี่แหละครับ
แม้มันอาจจะไม่ใช่แนวทางที่ใช้ได้กับทุกคน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าหากท่านมี ไม่ว่าจะเครื่องเกม บ้าน รถ หรืออะไรทั้งหลายที่คุณต้องการ ถ้าคุณมีสิ่งนี้คุณจะได้รับมันแน่นอนคือ ความอดทน...อดทนที่จะเก็บเงิน อดทนที่จะไม่ซื้อสิ่งที่ล่อตาล่อใจอย่างอื่นที่นอกเหนือจากเป้าหมายเรา อดทนที่จะต้องเผชิญอะไรหลายๆ อย่างที่อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่เราจะไม่ท้อถอย ถ้าอดทนเข้าไว้ ตั้งใจต่อเป้าหมายเข้าไว้ คุณจะได้สิ่งที่คุณต้องการอย่างแน่นอน