PC Master: HOW MUCH RAM DOES YOUR PC NEED? "แรมเท่าไรจึงจะพอ!?"

แชร์เรื่องนี้:
PC Master: HOW MUCH RAM DOES YOUR PC NEED? "แรมเท่าไรจึงจะพอ!?"

falcon_mach_v
- บทความจากนิตยสาร Future Gamer Iss 229


เส้นทางการพัฒนาของอุปกรณ์พีซีมีทิศทางที่คาดเดาได้ไม่ยากนัก โปรเซสเซอร์มีความเร็วสัญญาณนาฬิกาเร็วขึ้น มีแกนประมวลผลมากขึ้น และมีขนาดการผลิตที่เล็กลง ส่วนการ์ดกราฟิกก็มีความเร็วและปริมาณทรานซิสเตอร์มากขึ้น ซึ่งมักตามมาด้วยขนาดของชุดระบายความร้อนที่ใหญ่และหรูอลังมากกว่าที่เคย ส่วนฮาร์ดดิสก์ก็ถูกพัฒนาให้จุข้อมูลได้มากขึ้น ขณะที่มีราคาขายถูกลง

หน่วยความจำหรือแรมก็เช่นเดียวกันที่ได้รับการพัฒนาความสามารถอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความเร็ว ปริมาณ และช่องทางการรับส่งข้อมูล คนส่วนมากจึงเชื่อว่ายิ่งมีปริมาณแรมและความเร็วมากขึ้นเท่าใด ก็จะส่งผลให้โปรแกรมและเกมต่างๆ ตอบสนองได้อย่างรวดเร็วขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่คำถามคือนั่นเป็นความเชื่อที่ถูกต้องหรือไม่ บทความนี้จะพาท่านไปพบกับคำตอบครับ


แรมในยุคปัจจุบัน 

แรมคอมพิวเตอร์ในตอนนี้สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก นั่นคือ DDR3 กับ DDR4 แรมชนิด DDR3 ได้เข้าสู่ตลาดตั้งแต่ ค.ศ. 2007 ขณะที่ DDR4 นั้นจะเห็นวางขายทั่วไปเมื่อปีที่แล้วในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการเปิดตัวแพลตฟอร์ม Intel X99 ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าฮาร์ดคอร์เป็นเป้าหมายหลัก ส่วนลูกค้าในกลุ่มเมนสตรีมก็เพิ่งจะได้รับรสความแรงของ DDR4 กันในปีนี้พร้อมกับการเปิดตัวแพลตฟอร์ม Intel Z170 สำหรับโปรเซสเซอร์คอร์รุ่นที่ 6 หรือ Skylake อันคุ้นเคย

การพัฒนาของแรมจาก DDR-DDR4

แรมทั้งสองชนิดทำงานเหมือนกันนั่นคือ ชิพ DRAM จะเก็บข้อมูลโปรแกรมที่กำลังทำงาน หรือข้อมูลที่ใช้ในการประมวลผลของโปรแกรมที่กำลังทำงานอยู่ โดยข้อมูลในแรมจะหายทันทีที่เราปิดคอมพิวเตอร์ เนื่องจากต้องการการหล่อเลี้ยงด้วยกระแสไฟฟ้า ดังนั้นจึงตั้งสมมุติฐานได้ว่า ยิ่งเรามีแรมมากเท่าไรก็ยิ่งเก็บข้อมูลได้มากขึ้นเท่านั้น ขณะที่ยิ่งมีความเร็วมากเท่าใด แรมตัวนั้นก็ยิ่งวิ่งได้ที่ความไวมากกว่า และสามารถรับส่งข้อมูลได้ฉับไวมากขึ้น

กระนั้นก็ดี แรม DDR4 มีข้อดีมากกว่า DDR3 หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเร็วที่มากกว่า จึงทำให้ประมวลผลข้อมูลได้เร็วกว่า แรม DDR3 โดยส่วนใหญ่มีความเร็วสัญญาณนาฬิการะหว่าง 1333-2400MHz ขณะที่ DDR4 จะมีอยู่ระหว่าง 2400-3200MHz หรือมากกว่า ถึงแม้ผู้ใช้ฮาร์ดคอร์จะแย้งว่าเราสามารถโอเวอร์คล็อก DDR3 ขึ้นไปให้เร็วเทียบเคียง DDR4 ได้ แต่ในภาพรวมแล้ว DDR4 ก็ยังมีความเร็วที่มากกว่าอยู่ดี นอกจากนี้ DDR4 ยังถูกออกแบบให้ประหยัดพลังมากขึ้น ตลอดจนมีอัตราการรับส่งข้อมูลที่มากกว่าเช่นกัน

ที่สำคัญคือแรมทั้งสองชนิดมีแพลตฟอร์มรองรับที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ หน่วยความจำ DDR3 สามารถทำงานเข้ากันได้กับเมนบอร์ดและซ็อกเก็ตโปรเซสเซอร์แทบทุกตัวในตลาด ขณะที่มีเพียงแพลตฟอร์ม Intel X99 ที่มาพร้อมกับซ็อกเก็ต LGA2011 กับแพลตฟอร์ม Intel Z170 เท่านั้นในตอนนี้ที่ทำงานร่วมกับแรม DDR4 ได้ เพราะฉะนั้นแรม DDR3 จึงมีตัวเลือกการใช้งานมากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เป็นสาวก Intel

อย่างไรก็ดี แรม DDR4 ก็มีข้อด้อยบ้างเหมือนกัน นั่นคือ Latency หรือความหน่วงที่เกิดขึ้นขณะใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น แรม DDR4 ความเร็ว 2133MHz จะมีอัตราหน่วงที่ CL15 ซึ่งนั่นหมายความว่ามันต้องใช้เวลาราว 14.06ns ในการอ่านข้อมูล ขณะที่แรม DDR3 ความเร็ว 1600MHz มีค่าดังกล่าวอยู่ที่ 13.75ns แต่ก็นับว่าไม่ได้ต่างอย่างมีนัยยะสำคัญเท่าใดนัก อีกทั้งได้รับการชดเชยด้วยความเร็วสัญญาณนาฬิกาที่มากกว่าอยู่ดี

ไม่ว่าจะซื้อแรมแบบไหน สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือมักขายเป็นแพ็คคู่บ้างหรือแพ็คสี่แถวบ้าง นั่นก็เพราะว่าแรมในปัจจุบันได้รับการออกแบบให้ทำงานในโหมดดูอัลหรือควอดแชนแนล เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับส่งข้อมูลให้มากขึ้น และเป็นการเพิ่มแบนด์วิดธ์ไปในตัว แม้จะสามารถเสียบแรมเพียงช่องเดียวได้ก็ตาม แต่ก็ไม่แนะนำให้ทำนะครับ เพราะประสิทธิภาพจะลดลง


ภูมิทัศน์ปัจจุบันของโลกพีซี

นอกจากจะต้องทำความเข้าใจโลกของแรมในยุคปัจจุบันแล้ว ก็ต้องตามโลกของพีซีให้ทันด้วยเช่นกันเพราะประกอบไปด้วยตัวเลือกหลากหลายมาก ในฝั่ง Intel โปรเซสเซอร์คอร์รุ่นที่ 6 คือดาวเด่นที่เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ สำหรับผู้ที่ประกอบคอมพิวเตอร์ใหม่ มันมาพร้อมกับชิพเซ็ต Intel Z170 ที่รองรับแรม DDR4 แบบดูอัลแชนแนลได้มากสุดที่ 64GB ส่วนโปรเซสเซอร์น้องรองอย่าง Haswell นั้นก็ต้องใช้งานร่วมกับเมนบอร์ดชิพเซ็ต Intel Z97 ที่รองรับแรม DDR3 ดูอัลแชนแนลได้มากสุดที่ 32GB เป็นส่วนใหญ่ และสำหรับโปรเซสเซอร์พี่เบิ้มอย่าง Haswell-E ที่ใช้งานร่วมกับซ็อกเก็ต LGA2011 และชิพเซ็ต Intel X99 นั้นรองรับแรม DDR4 ชนิดควอดแชนแนลนะครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องซื้อแรมชุดสี่แผงจึงจะดึงความสามารถของระบบออกมาใช้ได้เต็มที่

แพลตฟอร์ม Intel Skylake ที่รองรับแรม DDR4 แล้ว

มาที่ฟาก AMD กันบ้าง ซีพียูและเอพียูรุ่นใหม่ๆ ของค่ายนี้ต่างใช้สถาปัตยกรรม Piledriver ซึ่งรองรับการทำงานร่วมกับแรม DDR3 แต่ก่อนซื้อต้องศึกษาให้ดีก่อนนะครับว่าตัวชิพรองรับความเร็วของแรมได้มากสุดเท่าใด เพื่อที่จะซื้อแรมได้ที่ความเร็วถูกต้อง เพราะชิพบางรุ่นรองรับแรมได้ที่ความเร็วจำกัดเพียง 1600MHz หรือ 1866MHz เท่านั้น แต่สิ่งที่เหมือนชิพ Intel ระดับเมนสตรีมทั่วไปก็คือสามารถใช้งานได้ในแบบดูอัลแชนแนล


เมนบอร์ดก็สำคัญนะ

ไม่เพียงแต่จะต้องตรวจสอบชนิดของโปรเซสเซอร์และชิพเซ็ตเท่านั้น เมนบอร์ดก็ต้องมีสเป็กตรงกับความต้องการของเราด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนช่องเสียบแรม ตลอดจนปริมาณและความเร็วแรมที่รองรับ เพราะคงไม่ดีแน่หากเราลงทุนซื้อแรม 32GB ความเร็ว 3200MHz แต่มาพบทีหลังว่าเมนบอร์ดเรารองรับแรมได้เพียง 16GB ที่ความเร็ว 2666MHz เท่านั้น

จากที่กล่าวไปทั้งหมดก็น่าจะพอเห็นภาพได้ว่ามีสิ่งละอันพันละน้อยหลายอย่างที่ต้องได้รับการตรวจสอบก่อนที่จะประกอบคอมพิวเตอร์สักชุด แต่ในภาพรวมแล้ว แพลตฟอร์มทั้งของ Intel และ AMD ต่างสามารถรองรับปริมาณและความเร็วแรมได้มากเท่าที่การใช้งานในปัจจุบันต้องการ และจะยิ่งดีขึ้นกว่าเดิมในอนาคตเมื่อทั้งสองค่ายพัฒนาแพลตฟอร์มของตนให้มีความสามารถมากขึ้น โดยในตอนนี้เราก็ได้เห็น Skylake จาก Intel ไปแล้ว และในอนาคต AMD ก็มีแผนเปิดตัวโปรเซสเซอร์ Zen ที่รองรับแรม DDR4 ออกมาเช่นกัน

โปรเซสเซอร์ AMD Zen พร้อมรองรับแรม DDR4


แล้วจะซื้อเท่าใดดีหรือ?

เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าวผมได้ทดสอบแบบบ้านๆ โดยใช้คอมพิวเตอร์ที่บ้านกับโปรแกรมพื้นฐานอย่าง PCMark 8 ในโหมดทดสอบ Home, Creative และ Work ซึ่งเป็นลูกผสมของการทดสอบการใช้งานพื้นฐานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการท่องเว็บ วิดีโอแชท การประมวลผลเวิร์ด และการทำสเปรดชีต เป็นต้น

เริ่มต้นผมได้ทดสอบแรม DDR3 8GB ความเร็ว 1333MHz ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น 1600MHz และตบท้ายด้วย 16GB ความเร็ว 1866MHz ผลการทดสอบพบว่าปริมาณแรมที่มากขึ้นไม่ได้ส่งผลกับผลคะแนนการทดสอบที่ได้มากนัก ยกเว้นในการทดสอบ Creative ที่มีคะแนนกระเตื้องขึ้นมาบ้างในการทดสอบกับแรม 16GB แต่ก็อาจจะเนื่องด้วยว่ามันเกี่ยวกับการทดสอบตัดต่อภาพถ่าย ซึ่งเป็นลักษณะการใช้งานที่ต้องการแรมเยอะอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับการทดสอบกับการเล่นเกมทั่วไปที่ปริมาณแรม 8 กับ 16GB ไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างมากนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นเกมอย่าง Bioshock Infinite หรือ Batman: Arkham Origins นั้นเฟรมเรตเฉลี่ยที่ได้ก็ต่างกันไม่เกิน 3-4 FPS เพราะฉะนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า ปริมาณแรมที่ 8GB ความเร็ว 1600 หรือ 1866MHz ก็เพียงพอกับการใช้งานแล้ว


แล้ว DDR4 ล่ะ?

ตามจริงแล้วผมค่อนข้างคาดหวังจากการเปลี่ยนมาใช้แรม DDR4 ค่อนข้างมากว่ามันต้องมีความเดียวเพิ่มขึ้นอย่างปรู๊ดปร๊าด แต่ผลการทดสอบก็ทำให้ผมผิดหวัง เพราะไม่ว่าจะมีปริมาณ 8 หรือ 16GB หรือที่ความเร็วใดๆ ก็ตาม ผลคะแนนที่ได้ก็ไม่เพิ่มมากกว่ากันในระดับที่จะสร้างความแตกต่างขณะใช้งานจริงได้ ยิ่งกับการเล่นเกมยิ่งแล้วใหญ่ เพราะแทบจะไม่เห็นความแตกต่างระหว่างปริมาณแรม 8 กับ 16GB เลย


สรุป

เนื่องจากเนื้อที่มีจำกัด ผมจึงขอสรุปสั้นๆ ว่า ปริมาณแรมมาตรฐานที่คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันควรจะมีนั้นอยู่ที่ 8GB เว้นเสียแต่ว่าท่านผู้อ่านตัดต่อภาพถ่ายหรือวิดีโอเป็นอาชีพก็อาจเพิ่มไปเป็น 16GB และจะเป็นชนิด DDR3 หรือ DDR4 ก็ได้ตามแต่แพลตฟอร์มเมนบอร์ดและชนิดของโปรเซสเซอร์ที่เลือกใช้ ส่วนความเร็วนั้นก็ควรเลือกที่ MHz สูงสุดตามที่เมนบอร์ดรองรับครับ

แชร์เรื่องนี้:
Dark_Libra
About the Author

Dark_Libra

Everything in this world comes down to the matter of ponytail

เรื่องที่คุณอาจสนใจ