บทความพิเศษ by play : Take On Me บทเพลงโรแมนติกในโลกอีกมิติ

เฮ้ยนี่มัน! นี่มันหมวดเกมคอนโซล จะมาใส่อะไรเกี่ยวกับเพลง !!

ช้าก่อนครับ…แม้บทความเปิดตัวสำหรับหมวดเครื่องคอนโซลจะเป็นบทความเกี่ยวกับเพลง ไม่เกี่ยวอะไรกับเกมเท่าไหร่นัก แต่เพลงนี้มีความเกี่ยวข้องกับเกมๆ หนึ่ง และมีความน่าสนใจจนต้องมาเขียนให้เพื่อนๆ อ่านกันก่อน

เชื่อว่าในวินาทีนี้ หลายๆ คนน่าจะจบ Metal Gear Solid V: The Phantom Pain กันไปมากมายแล้ว และเชื่อว่าพวกเราน่าจะได้เทปเพลงที่ซุกซ่อนไว้ในเกมมากมาย แต่มีเพลงหนึ่งที่ผมอยากจะเสนอเรื่องราวของมัน เพราะมันค่อนข้างน่าสนใจพอสมควร เพลงที่ว่านี้คือเพลง Take On Me ของวง A-Ha ครับ

Take On Me เป็นบทเพลงจากวง A-Ha ซึ่งเป็นวงดนตรีจากประเทศ Norway ประกอบไปด้วยสมาชิก 3 คน อันได้แก่ Morten Harket (ร้องนำ), Magne Furuholmen (คีย์บอร์ด) และ Pål Waaktaar-Savoy (กีตาร์) จัดตั้งวงขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 และปัจจุบันวงนี้ยังมีการออกอัลบั้มและขึ้นแสดงตามงานคอนเสิร์ตต่างๆ แม้จะมีการแยกวงหลายครั้งก็ตาม โดยมีอัลบั้มล่าสุดคือ Cast in Steel ซึ่งออกเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา แต่เพลงที่ดังและแจ้งเกิดวงนี้อย่างเต็มตัวก็คือ Take On Me

เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นบทเพลง

Pål Waaktaar และ Magne Furuholmen เริ่มต้นอาชีพสายดนตรีจากวงที่ชื่อ Bridges ร่วมกับ Viggo Bondi และ Øystein Jevanord ซึ่งในปี 2524 นั้นวงของพวกเขาได้สร้างสรรค์อัลบั้มชื่อ Fakkeltog (เป็นภาษานอร์เวย์ที่แปลว่าขบวนพาเหรดคบเพลิง), ซึ่งบรรจุในแผ่นเสียงไวนิลชนิด LP (ย่อมาจากคำว่า Long Play ซึ่งแผ่นเสียงชนิดนี้จะสามารถบันทึกเสียงได้นานกว่าแผ่นเสียงปกติที่ใช้กันในขณะนั้น) โดยเพลงทุกเพลงในอัลบัมนั้นถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยวง Bridges ทั้งหมด และเกือบทุกเพลงแต่งโดย Waaktaar อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นได้มีการซ้อมและเล่นเพลงหนึ่งที่ไม่ได้รับการบรรจุลงไปในแผ่นเสียงโดยเพลงนั้นมีชื่อว่า The Juicy Fruit Song ที่กล่าวได้ว่าเพลงนั้นมีองค์ประกอบที่จะไปปรากฏในเพลง Take On Me ต่อไปในภายหน้า รวมถึงท่อนริฟฟ์ของเพลงด้วย ทว่าไม่นานหลังจากนั้น Brdiges ก็ยุบวง และ Waaktaar กับ Furuholmen ก็ได้ย้ายไปอยู่ลอนดอนเพื่อลองวัดดวงกับวงการเพลงที่นั่น แต่เพียงเวลา 6 เดือนพวกเขาก็ต้องผิดหวังและกลับบ้านเกิดที่นอร์เวย์ในที่สุด

ทั้งสองคนตัดสินใจชักชวน Morten Harket เพื่อมาเป็นนักร้องนำ ในตอนนั้น Harket กำลังทำหน้าที่ร้องนำให้กับวง Souldier Blue อยู่ แต่ด้วยความที่เขารู้สึกว่าวงของตนเองนั้นมันไปไม่ถึงไหนจึงตัดสินใจเข้าร่วมวงกับ  Waaktaar และ Furuholmen พวกเขาใช้เวลาร่วมกันเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อเขียนเพลงและทำเทปเพลงตัวอย่างขึ้นมา รวมถึง Lesson One ซึ่งเป็นเพลงใหม่ที่มีพื้นฐานมาจาก The Juicy Fruit Song ซึ่งก็จะพัฒนาไปเป็น Take On Me ในภายหลัง ต่อมาในเดือนมกราคม 2526 ทั้งสามคนก็กลับไปยังลอนดอนเพื่อหาบริษัทที่จะยอมเซ็นสัญญาด้วยต่อไป

ก่อนจะเข้าสู่หัวข้อต่อไป เราจะขอให้เพื่อนๆ ได้ชม Music Video ของเพลงนี้กันก่อนตามด้านล่างครับ
 

ซึ่งหากมองในยุคสมัยที่บทเพลงนี้เปิดเผยทางทีวีครั้งแรก (พ.ศ.2525) ต้องเรียกว่าน่าตื่นตาตื่นใจกับเทคนิคที่ผสมผสานระหว่างภาพวาดมือกับโลกแห่งความจริง แล้วเรามาดูกันกับเบื้องหลังของมิวสิควิดีโอชุดนี้กัน

เบื้องหลังมิวสิควิดีโอ

เพลง Take On Me ที่ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในปี พ.ศ.2525 นั้น ต่างไปจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง และเพลงชุดแรกนั้นถูกบันทึกเอาไว้ในมิวสิควิดีโอตัวแรกสุด ซึ่งเป็นแค่วิดีโอที่วงร้องเพลงกันโดยมีฉากหลังสีฟ้าเท่านั้น

วิดีโอตัวที่สองนั้นกำกับโดย Steve Barron และถ่ายทำที่ Kim’s Café (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Savoy Café) และบันทึกเสียงในห้องอัดเสียงในลอนดอนในปี 2528 โดยที่วิดีโออยู่ในรูปแบบของภาพแอนิเมชั่นแบบลายเส้นภาพสเก็ตช์ของดินสอผสมผสานกับคนแสดงจริงที่เรียกว่า Rotoscope ซึ่งกรรมวิธีก็คือถ่ายทำวิดีโอแบบคนแสดงก่อนที่จะลากเส้นด้วยดินสอแบบทีละเฟรมเพื่อให้ตัวละครมีการเคลื่อนไหวที่สมจริง ในท้ายที่สุดนั้นมิวสิควิดีโอนี้ต้องใช้ภาพโดยประมาณถึง 3,000 เฟรม และใช้เวลาถึง 16 สัปดาห์กว่าจะเสร็จสมบูรณ์

ธีมหลักของวิดีโอเป็นแบบโรแมนติกแฟนตาซี โดยมิวสิควิดีโอเริ่มต้นจากภาพวาดดินสอในสไตล์ของการ์ตูนคอมิคที่แสดงภาพการแข่งขันมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง โดยที่ตัวเอกนำแสดงโดย Morten Harket นั้นถูกไล่ตามโดยคู่แข่งสองรายที่หนึ่งในนั้นแสดงโดยนักแสดงชาวอังกฤษชื่อ Philip Jackson จากนั้นฉากก็ตัดไปที่ในคาเฟ่ ซึ่งหญิงสาวรายหนึ่งแสดงโดย Bunty Bailey (และเป็นแฟนสาวของ Harket ในขณะนั้น) กำลังนั่งดื่มกาแฟและอ่านคอมิคอยู่ในร้าน ระหว่างที่อ่านอยู่นั้นบริกรของร้านก็นำใบเสร็จค่าอาหารมาวางให้ ส่วนตัวเอกในคอมิคที่ชนะการแข่งขันก็ขยิบตาให้หญิงสาวจากในหนังสือ ก่อนที่มือของตัวเอกในสภาพเป็นดินสอสเก็ตช์จะยื่นออกมาจากในหนังสือและเชื้อเชิญหญิงสาวให้เข้าไปในหนังสือด้วยกัน เมื่อเข้าไปในหนังสือแล้วหญิงสาวเองก็มีรูปลักษณ์ในแบบดินสอสเก็ตช์เช่นเดียวกัน ก่อนที่ตัวเอกจะร้องเพลงให้หญิงสาวฟังพร้อมกับแนะนำโลกแห่งนี้ให้เธอรู้จัก (ในโลกนี้มีกระจกที่เมื่อมองจากด้านหนึ่งผู้คนและวัตถุจะมีลักษณะสมจริงตามปกติ แต่เมื่อมองจากอีกด้านหนึ่งก็จะมีลักษณะเป็นภาพดินสอสเก็ตช์)

ในระหว่างนั้นเอง เมื่อบริกรหญิงกลับมาที่โต๊ะก็กลับไม่พบกับหญิงสาวแล้ว เธอจึงออกอาการหัวเสียเพราะนึกว่าหญิงสาวออกจากร้านไปโดยไม่จ่ายเงิน เธอจึงขยำหนังสือแล้วโยนลงถังขยะไป ส่วนด้านในหนังสือนั้นคู่แข่งสองรายของ Harket ก็กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับถือประแจขนาดใหญ่ในมือเตรียมล่าตัว Harket โดยที่คู่แข่งทั้งสองรายได้ทำการทุบกระจกด้วยประแจทำให้หญิงสาวเองต้องติดอยู่ในหนังสืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนที่ Harketจะชกหน้าคู่แข่งไปรายหนึ่งพร้อมกับจูงมือหญิงสาวหนีเข้ามาในเขาวงกตกระดาษ ไม่นานนักทั้งสองก็วิ่งมาพบกับทางตัน แต่ Harketก็ฉีกกระดาษออกเพื่อให้หญิงสาวหนีออกไปได้ก่อนที่ตนเองจะเผชิญหน้ากับคู่แข่งโดยลำพัง หญิงสาวที่กลับมาสู่โลกความเป็นจริงก็พบว่าตัวเองนอนอยู่ในถังขยะภายในร้านท่ามกลางความประหลาดใจของพนักงานร้านรวมถึงลูกค้าคนอื่นๆ แต่หญิงสาวก็ไม่รอช้าและคว้าหนังสือออกมาวิ่งกลับบ้านทันที เมื่อกลับถึงบ้านเธอก็พยายามที่จะจับกระดาษให้เรียบพอที่จะรู้ว่าเหตุการณ์ในหนังสือเป็นอย่างไรต่อไป

สิ่งที่เธอเห็นก็คือ Harket นอนนิ่งไม่ไหวติงกับพื้นราวเสียชีวิตแล้ว เธอจึงเริ่มที่จะร้องไห้ออกมา แต่ไม่นานนักเขาก็ฟื้นขึ้นมาและพยายามจะออกมาจากในหนังสือ ขณะเดียวกันภาพของเขาก็ปรากฏร่างขึ้นมาในระเบียงทางเดินบ้านของหญิงสาวแต่อยู่ในสภาพที่สลับกันระหว่างภาพจริงและภาพสเก็ตช์ เขาเหวี่ยงตัวเองเข้าหากำแพงไปมาเพราะพยายามที่จะหลุดออกมาสู่โลกจริงให้ได้ (ฉากนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากฉากไคลแม็กซ์ของภาพยนตร์เรื่อง Altered States ที่ฉายเมื่อปี 2523) สุดท้ายแล้วเขาก็หลุดมาจากหนังสือและออกมาสู่โลกจริงได้ ก่อนจะลุกขึ้นยืนและยิ้มให้หญิงสาว ซึ่งหญิงสาวก็ตอบรับโดยการโผเข้าอ้อมกอดของเขา และเนื้อหาเรื่องราวของมิวสิควิดีโอนี้มีตอนต่อและบทสรุปของเรื่องราวในฉากเริ่มต้นของมิวสิควิดีโอเพลงชื่อ The Sun Always Shines on T.V.

ในงาน MTV Video Music Awards ปี 2527 นั้น มิวสิควิดีโอของ Take On Me ชนะเลิศไปถึง 6 รางวัลด้วยกันนั่นคือ Best New Artist in a Video, Best Concept Video, Most Experimental Video, Best Direction, Best Special Effects, และ Viewer's Choice  พร้อมกับได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอีก 2 รางวัล นั่นคือ Best Group Video และ Video of the Year นอกจากนั้นแล้วยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Favorite Pop/Rock Video ในงาน 13th American Music Awards ในปี 2527 ด้วยเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้หลายๆ สำนักเกี่ยวกับดนตรี ยังจัดให้ Take On Me เป็น 1 ในมิวสิควิดีโอที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษ 80 โดยยังมีการพูดถึงทุกจนทุกวันนี้ อย่างเช่นการ์ตูนชุด Family Guy ก็ยังหยิบมาล้อเลียน

แม้ Take On Me จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่มันก็เปรียบเสมือนคำสาปของวงที่หลังจากนี้ก็ไม่มีเพลงที่ดังเทียบเท่า จนชื่อเสียงของวงไม่โด่งดังเช่นอดีต แต่ในทุกงานคอนเสิร์ตที่มีวงนี้ เพลง Take On Me ยังคงถูกนำมาร้องอยู่ทุกครั้งไป และเพลงนี้ยังถูกหลายๆวงนำไปร้องใหม่ด้วย แต่ความโด่งดังก็ไม่สามารถสู้ตัวเพลงต้นฉบับได้

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้