BENEFIT FROM PLAYING VIDEOGAMES "เล่นเกมนั้นดีไฉน?"

แชร์เรื่องนี้:
BENEFIT FROM PLAYING VIDEOGAMES "เล่นเกมนั้นดีไฉน?"

โดย: SorawisJ
บทความจาก นิตยสาร Future Gamer ฉบับที่ 229


ถ้าคุณพ่อคุณแม่หรือคุณแฟนของคุณผู้อ่านเดินเข้ามาถามระหว่างกำลังตีดอทในเกม DotA 2 ยิกๆ หรือกำลังสาดกระสุนอย่างเมามันส์ใน CoD ภาคใหม่ว่า “ที่นั่งเล่นทั้งวันทั้งคืนเนี่ย ได้ประโยชน์อะไรกับชีวิตบ้างไหม” คุณผู้อ่านคงจะนั่งอ้ำอึ้งไปพักหนึ่งและพยายามสาธยาย (แถ) ว่าการเล่นเกมมันดีอย่างนู้นอย่างนี้นะ ประมาณว่ามันทั้งสนุกและช่วยคลายเครียด...แถมมันยังสนุกและช่วยคลายเครียด (อีกแล้ว) ด้วยนะ สุดท้ายก็ต้องยอมนั่งนิ่งให้เขาบ่นไปตามระเบียบ แต่คุณผู้อ่านรู้ไหมครับว่าจริงๆ แล้วการเล่นวิดีโอเกมมีประโยชน์มากกว่าที่คิดนะ ถ้าไม่เชื่อผมก็เชื่อบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งไทยและเทศละกัน เพราะพวกเขาได้พิสูจน์กันมาแล้ว 

ประเด็นแรกๆ ที่พวกเขาให้ความสนใจกันก็คือการเล่นวิดีโอเกมมีผลกับทักษะด้านการรับรู้ของเกมเมอร์หรือไม่ โดยในปี ค.ศ. 2013 คุณ Adam Chie-Ming Oei และ Michael Donald Patterson ได้ทำการทดลองเรื่องนี้กับนักศึกษาจำนวน 70 คน ซึ่งไม่ได้เป็นคนที่เล่นเกมเป็นประจำในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 5 กลุ่ม และให้เล่นวิดีโอเกมชนิดต่างๆ บนอุปกรณ์ iOS ไล่ตั้งแต่แนวแอ็กชั่น, จดจำตำแหน่ง, จับคู่ 3, หาวัตถุที่ถูกซ่อน และเกมซิมูเลชั่นจำลองชีวิต กลุ่มตัวอย่างทุกคนเล่นเกมวันละ 1 ชั่วโมง รวมทั้งหมด 20 วัน ซึ่งหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาทดลอง นักวิจัยทั้งสองพบว่าวิดีโอเกมชนิดต่างๆ สามารถช่วยพัฒนาทักษะด้านการรับรู้ได้แตกต่างกันไป เช่น เกมแอ็กชั่นจะช่วยเรื่องความจำด้านการควบคุมการรับรู้และการติดตามวัตถุหลายชิ้นพร้อมๆ กัน ในขณะที่เกมแนวหาวัตถุที่ถูกซ่อนจะช่วยพัฒนาการจดจำตำแหน่งของวัตถุ เป็นต้น 

สรุปสั้นๆ ได้ว่าวิดีโอเกมสามารถนำไปใช้ฟื้นฟูทักษะการรับรู้หรือฝึกฝนทักษะการทำงานได้ ถ้าหากทักษะพื้นฐานของงานนั้นๆ เป็นลักษณะเดียวกับในเกม

นอกจากนี้ในปีเดียวกัน ดร. Andrea Facoetti กับทีมงานยังพบว่าการเล่นวิดีโอเกมแนวแอ็กชั่นสามารถช่วยพัฒนาทักษะด้านการอ่านให้กับเด็กพิเศษที่มีอาการของโรค Dyslexia (อาการผิดปกติที่ทำให้มีปัญหาด้านการอ่านและการตีความ) ได้ด้วย โดยเธอได้ให้เด็กพิเศษที่มีอาการดังกล่าวจำนวน 10 คนเล่นเกมแอ็กชั่นนานประมาณชั่วโมงครึ่งติดต่อกัน 9 วัน หลังจากนั้นเธอได้นำคะแนนสอบทักษะด้านการอ่าน การพูด และการจดจ่อความสนใจของเด็กกลุ่มนั้นจำนวน 2 ชุด (คะแนนชุดหนึ่งเก็บก่อนการทดลอง ในขณะที่อีกชุดหนึ่งเก็บหลังการทดลอง) มาเทียบกัน สิ่งที่น่าตกใจก็คือคะแนนสอบที่ได้หลังจากการเล่นเกมแอ็กชั่นนั้นสูงขึ้นเป็นอย่างมาก กลุ่มเด็กพิเศษสามารถอ่านได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องเทียบเท่ากับการพัฒนาทักษะด้านการอ่านแบบปล่อยตามธรรมชาตินาน 1 ปีเลยทีเดียว 

เคล็ดลับความมหัศจรรย์ของเรื่องนี้น่าจะมาจากการที่เกมแอ็กชั่นส่วนใหญ่มักจะมีวัตถุที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว (เช่น ทหารข้าศึก เอเลี่ยน ซอมบี้ เป็นต้น) และผู้เล่นมักจะต้องพบกับช่วงเวลาคับขันที่ต้องคิดต้องทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน (เช่น ยิงศัตรูไปด้วยโยกหลบกระสุนไปด้วย หรือฟัน หลบ และออกคอมโบชุดใหญ่ใส่ปีศาจในคราเดียว) ผลก็คือมันช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของสมองส่วนหนึ่งได้เป็นอย่างดี ซึ่งสมองส่วนนั้นช่วยด้านการจดจำภาพและการเก็บข้อมูลจากสภาพแวดล้อม สรุปคือเกมแอ็กชั่นช่วยให้กลุ่มเด็กพิเศษเขาเรียนรู้วิธีจดจ่อความสนใจของตัวเองได้ดีขึ้น และมันมีผลโดยตรงกับความสามารถด้านการอ่านนั่นเอง

ในบ้านเราก็มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์จากการเล่นวิดีโอเกมด้วยนะครับ โดยคุณ Yupawan Baines ได้ทดลองใช้วิดีโอเกมพัฒนาความรู้ด้านคำศัพท์อังกฤษในหมู่เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-3 ของโรงเรียนเพลินพัฒนาเมื่อปี 2013 (อีกแล้ว) เธอได้แบ่งเด็กนักเรียนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเรียนภาษาอังกฤษโดยมีภาพประกอบแบบทั่วไป ส่วนกลุ่มที่สองเรียนโดยการเล่นวิดีโอเกมที่ชื่อว่า 'Fun English Vocabulary' หลังการทดลอง เธอพบว่าคะแนนเฉลี่ยผลสอบภาษาอังกฤษของเด็กนักเรียนกลุ่มที่สองสูงขึ้นเป็นอย่างมากหากเทียบกับคะแนนเฉลี่ยผลสอบก่อนการทดลอง และพอจะสรุปได้ว่าการใช้วิดีโอเกมเป็นสื่อการสอนช่วยให้เด็กจำคำศัพท์ได้มากขึ้นรวมทั้งทำให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีกับการเรียนภาษาอังกฤษด้วย

เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของตัวกระผมเองที่เริ่มทำการสำรวจในช่วงต้นปีนี้ (2015) ในหัวข้อ “ทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับการใช้วิดีโอเกมเป็นเครื่องมือสำหรับเรียนรู้ภาษาอังกฤษ” ซึ่งจากคำตอบของแบบสอบถามที่ได้แจกจ่ายให้กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 120 คน ก็พอจะนำมาสรุปคร่าวๆ ได้ว่าคนไทยค่อนข้างเห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่มองว่าวิดีโอเกมน่าจะช่วยพัฒนาทักษะการอ่าน การฟังภาษาอังกฤษให้กับผู้เล่น รวมทั้งช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ให้กับผู้เล่น นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเกมเมอร์ยังเห็นพ้องต้องกันว่าเกมแนว RPG และ MMORPG สามารถใช้ฝึกภาษาได้ดีที่สุด เพราะศัพท์อังกฤษเยอะ บทสนทนาก็แยะ และผู้เล่นยังต้องลงทุนลงแรงฝึกภาษาด้วยตัวเองเพิ่มอีกต่างหากถ้าต้องการเข้าใจเนื้อเรื่องในเกมอย่างแจ่มแจ้ง

อย่างไรก็ตาม วิดีโอเกมก็ส่งผลด้านลบกับชีวิตได้ถ้าไม่รู้จักแบ่งเวลาเล่นให้ดี เรื่องนี้ไม่ต้องบอกก็น่าจะรู้กันอยู่แล้ว แต่คุณ Weis, Brittany และ Cerankosky เขาได้ทำการทดลองในปี 2010 เพื่อยืนยันผลเสียของมันให้เห็นชัดเจน พวกเขาพบข้อสรุปว่าการให้เครื่องเล่นวิดีโอเกมกับเด็กจะมีผลกระทบกับพัฒนาการด้านการอ่านการเขียนรวมทั้งยังทำให้เด็กมีปัญหาในสถานศึกษามากขึ้นด้วย (หากเทียบกับเด็กกลุ่มที่ไม่ได้รับเครื่องเล่นวิดีโอเกมแต่แรก) ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากการที่เด็กเอาเวลาหลังเลิกเรียนไปเล่นเกมซะหมดจนไม่เหลือเวลาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ถึงตอนนี้คุณผู้อ่านอาจจะมีข้ออ้างเอาไว้เถียงได้แล้วว่าเล่นเกมมันดียังไง แต่ก็อย่าติดเกมงอมแงมจนเสียงาน เสียการเรียน หรือถึงขั้นเสียแฟนนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าทีมงาน FG ไม่เตือน 555+

แชร์เรื่องนี้:
Dark_Libra
About the Author

Dark_Libra

Everything in this world comes down to the matter of ponytail

เรื่องที่คุณอาจสนใจ