จบเป็นตำนาน...หรือสานต่อจนเละเทะ

แชร์เรื่องนี้:
จบเป็นตำนาน...หรือสานต่อจนเละเทะ

บทความจากนิตยสาร Play ฉบับที่ 74

     ปี 2558 ผ่านมาอย่างรวดเร็ว เผลอแป๊บเดียวเราก็ก้าวผ่านครึ่งปีแรกของวงการเกมกันมาแล้วครับ จากช่วงต้นปีที่ดูเหมือนจะจืดชืด ด้วยขบวนเกมที่ทยอยออกมาให้เราเล่นแบบค่อนข่างจะเนือยๆ แต่เกมระดับ AAA อย่าง Bloodborne, The Witcher 3: Wild Hunt และ Batman: Arkham Knight นั้นก็แสนจะโดดเด่นและไม่ทำให้พวกเราผิดหวังเลย ทั้ง 3 เกมมีงานโปรดักชั่นที่ยอดเยี่ยม เนื้อเรื่องที่น่าสนใจ มีระบบเกมที่ดี อยู่ในระดับที่สามารถเข้าชิงตำแหน่ง Game of the Year ได้สบายๆ

     และหากเหลียวมองปฏิทินไปยังครึ่งปีหลังก็ยังมีเกมฟอร์มยักษ์รอเราอยู่อีกหลายเกม จำพวกที่ชื่อชั้นการันตีชนิดขาข้างหนึ่งก้าวเข้าชิงตำแหน่งเกมยอดเยี่ยมประจำปีได้เลยก็คือ Metal Gear Solid V: The Phantom Pain และ Fallout 4 แต่ถ้าเกมที่ดูฟอร์มดีน่าเล่นยังมีอีกเพียบ เช่น Forza Motorsport 6, Assassin’s Creed Syndicate, Call of Duty: Black Ops III หรือ Star Wars: Battlefront และอื่นๆ อีกมากมาย ดูท่าแล้ว 2558 น่าจะถือว่าเป็นปีที่ดีมากปีหนึ่งสำหรับชาวเกมเมอร์
     ในขณะเดียวกันปีนี้เหมือนจะเป็นปีรูดม่านปิดฉากเกมหลายๆ ซีรีส์ เช่น The Witcher 3: Wild Hunt และ Batman: Arkham Knight ทีมสร้างของทั้งสองเกม อย่าง CD Projekt RED และ Rocksteady ประกาศแล้วว่าจะขอหยุดซีรีส์ทั้งสองเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ โดยทีมงานจะขอไปค้นหาแนวทางใหม่ๆ หรืออาจจะไปซุ่มสร้างซีรีส์ใหม่ๆ มาให้เล่นกันอีกในอนาคต ซึ่งทั้งสองซีรีส์ที่ว่ามาต่างก็มีบทส่งท้ายที่งดงาม ประทับใจ และน่าจดจำสำหรับผมในฐานะแฟนซีรีส์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ The Witcher 3 ที่เมื่อเล่นจบแล้ว ผมได้ความรู้สึก “เต็ม” และอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก

     หากพวกเราติดตามข่าวสารจากงาน E3 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมากันดีๆ ก็แอบมีการประกาศปิดตัวซีรีส์กันไปไม่น้อย อาทิ ทีม Guerrilla Game ที่คลุกคลีปลุกปั้นซีรีส์ Killzone มาตลอดนับสิบปีก็เปิดตัวผลงานใหม่อย่าง Horizon: Zero Dawn ด้วย ทำให้เราอาจจะไม่ได้เจอกับ Killzone ภาคใหม่กันอีกสักระยะ แม้แต่ Metal Gear Solid V: The Phantom Pain ของ ฮิเดโอะ โคจิมะ ก็ยังประกาศว่าภาคนี้จะเป็นภาคสุดท้ายของเขาแล้ว (แม้เจ้าตัวจะเคยพูดแบบนี้อยู่บ่อยๆ แต่คราวนี้ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด เพราะดูเหมือนโคจิมะจะไปมีปัญหากับต้นสังกัดอย่าง Konami จนน่าจะไปเปิดสตูดิโอของตัวเองแล้ว)

     ผมมีความคิดว่าตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวมานั้น พวกเขาได้เลือกเส้นทางที่กล้าหาญสำหรับทีมพัฒนาเกมในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการสร้างเกมดีๆ ขึ้นมาสักเกมนั้นสูงมาก ทั้งแรงงานคน เวลา และงบประมาณ หลายๆ ค่ายดังมักจะเลือกเอาหนทางที่แน่นอนหรือชัวร์เอาไว้ก่อนว่าหากทำเกมออกมาแล้วจะขายได้กำไร ซึ่งนั่นก็คือ การสร้างภาคต่อให้กับซีรีส์ที่เป็นที่รู้จัก โด่งดัง และมีฐานแฟนมากพอสมควร เพราะมันมีความเสี่ยงน้อยกว่า อันเป็นที่มาของวิกฤติความคิดสร้างสรรค์ในวงการวิดีโอเกมซึ่งเริ่มจะตีบตัน เกมต่างๆ ก็เหมือนพัฒนาชนิดลอกกันมาหมด หรือเกมภาคใหม่ที่ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม สุดท้ายมันก็มาจบลงที่ความเบื่อหน่ายของผู้เล่นอย่างเราๆ นั่นเอง
     อันที่จริงจะเรียกว่าวิกฤติก็อาจจะไม่ถูกนัก เพราะหากเรามองวงการเกมโดยรวมให้ลึกลงไป ยุคนี้เรียกได้ว่าเป็นยุค “กำเนิดใหม่ของเกมอินดี้” เกมของนักพัฒนาเกมรุ่นใหม่ที่คิดอะไรนอกกรอบ สร้างจากความรัก ความผูกพัน และความทรงจำในวัยเด็กว่า เกมอะไรที่เราอยากเล่น เล่นแล้วสนุก หรือแม้แต่ใช้ส่งสาร ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้สร้าง น่าเสียดายว่าความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้มักถูกตีมูลค่าไม่สูงนักจากเกมเมอร์ เพราะความที่ “ดูไม่น่าเล่น” ของมัน ที่แตกต่างจากเกมฟอร์มยักษ์ซึ่งทุนหนา ทำให้มีกราฟิกฉูดฉาด ลูกเล่นแพรวราว พร้อมโหมโฆษณากันทั่วบ้านทั่วเมือง คนเลยมองข้ามเกมจำพวกนี้ไป

     แต่กลับมาในตลาดเกมค่ายใหญ่ที่พวกเราคุ้นเคยกันนั้น หลายค่ายไม่อาจที่จะตัดใจทิ้งซีรีส์ที่ตัวเองเพียรสร้างขึ้นมาจนชื่อกระฉ่อนอยู่แถวหน้าของวงการได้ จนต้องนำกลับมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดในการผลิตซ้ำผลงานเดิมๆ หากควบคุมคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์ดีไปเรื่อยๆ ได้ตลอดรอดฝั่ง ก็ยังพอเอาตัวรอดจากการก่นด่าของแฟนๆ ไปได้ แต่เมื่อใดที่พลาดขึ้นมา หายนะก็บังเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เช่นกัน 
     Call of Duty, Final Fantasy และ Assassin’s Creed คือตัวอย่างที่ชัดเจน สองรายแรกอาจจะดีหน่อยที่เนื้อหาของแต่ละภาคจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นคนละเกมกับภาคก่อนเลยก็ได้ เพียงแต่อาศัยบุญเก่าของชื่อเดิมที่สั่งสมมานานในการทำโปรโมท แต่สำหรับซีรีส์ Assassin’s Creed ที่ถือกำเนิดในปี 2550 จนมาถึงในปี 2558 ภายในระยะเวลา 8 ปี เราได้เล่นเกมจากซีรีส์นี้ไปแล้ว 8 ภาค (ยังไม่รวมภาค Spin-off อีก 13 ภาค และยังไม่นับภาคใหม่ที่กำลังจะออกปลายปีนี้อีก 1 ภาค) สำหรับหลายๆ คนเกมนี้มันถึงจุดอิ่มตัวมานานมากแล้ว หากว่ากันตามตรง นับตั้งแต่ภาค Brotherhood เป็นต้นมา ซีรีส์ Assassin’s Creed นั้นพัฒนาอะไรใหม่ลงไปในเกมค่อนข้างน้อยมาก แถมเรื่องราวเหตุการณ์สถานการณ์โดยรวมของเกมก็ไม่ได้คืบหน้าไปไหนเลยตั้งแต่ภาค 3 แต่อาศัยดราม่าของตัวละครในแต่ละภาค ทำให้เนื้อหาของแต่ละคนน่าสนใจแทน เพื่อยื้อเวลาและหลีกเลี่ยงการเล่าเรื่องราวหลักของเกม

     จริงอยู่ว่าทุกครั้งที่ออกภาคใหม่ ผู้คนจะยังคงสนใจ ได้ขึ้นเป็นข่าวพาดหัวใหญ่ และหากนำมาเล่นก็ยังคงสนุกอยู่ แต่ความรู้สึกอยากและโหยหาที่จะได้เล่นภาคต่อไปของมันนั้น...สำหรับผมแล้วมันน้อยลงไปทุกปี ตัวอย่างเกมเพลย์ของภาคใหม่อย่าง Syndicate ไม่ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นและสนใจมันเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว ยิ่งปีนี้ต้องชนกับเกมบิ๊กเนมทั้งหลายที่กล่าวมาอย่าง แบทแมน ที่มีระบบยิงสลิงลอยตัวกันแบบธรรมดาบ้านๆ ไม่ต้องเอามาเป็นประเด็นโปรโมทอย่างที่ Syndicate ทำเลย กลับกันผมอยากให้ภาคนี้ประสบความล้มเหลวทางด้านยอดขายจนทำให้ต้นสังกัดอย่าง Ubisoft หันกลับมามองตัวเองได้แล้วว่า พวกเขาจะต้องใส่อะไรลงไปในเกมให้มันมากขึ้นเป็นรูปธรรม...ผมมาถึงจุดนี้ได้ยังไง? ทำไมผมถึงอยากให้ซีรีส์ที่ผมแสนรักนั้นประสบความล้มเหลวไปได้?...หรือมันอาจจะถึงจุดที่ผมเกินจะทนได้อย่างไม่รู้ตัวแล้วกันแน่?
     Shawn Layton ประธานของ Sony ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในงาน E3 ว่า “การเล่าเรื่องและเนื้อเรื่องคือเครื่องมืออันทรงพลังของสื่ออย่างวิดีโอเกม นั่นคือสาเหตุที่ทำให้การประกาศ Shenmue 3 หรือ Final Fantasy VII Remake ถึงได้มีผลต่อหัวใจของเหล่าเกมเมอร์มาก” เพราะความซาบซึ้งจากเรื่องราวอันน่าประทับใจจะยังคงอยู่ และทิ้งรอยประทับไว้ในห้วงความทรงจำของเรา แม้เวลาจะล่วงเลยไปเกือบ 2 ทศวรรษแล้วก็ตาม 

     เกมรายปีทั้งหลาย เช่น เกมกีฬาหรือซีรีส์อื่นๆ แม้ว่าจะพัฒนาระบบของตัวเกมไปขนาดไหนก็ยากที่จะยืนหยัดต่อสู้กับบททดสอบแห่งกาลเวลาได้ เพราะเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดที่เกมในยุคหนึ่งทำได้ไปแล้วนั้น ความล้ำสมัยของมันก็จะหมดลงไป เราอาจจะจดจำมันได้ในฐานะเกมที่ดีในช่วงเวลาแห่งยุคนั้น แต่คงไม่อาจจะคงอยู่ในสถานะที่เป็นอมตะหรือคลาสสิก อย่างที่เรารู้สึกกับภาพยนตร์ชั้นดีเมื่อ 50-60 ปีก่อนได้
     สิ่งที่เป็นสัจธรรมสำหรับทุกเรื่องราว ก็คือเมื่อมันมีจุดเริ่มต้น มันย่อมต้องมีจุดจบ และมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ การสร้างสรรค์เนรมิตเรื่องราวสุดวิจิตรขึ้นมาว่ายากแล้ว แต่การรูดม่านปิดฉากตำนานให้สวยงามจับใจเป็นเรื่องยากกว่าหลายเท่า
     ความพยายามในการรื้อฟื้น ปลุกชีพ หรือรีบูตซีรีส์ที่จบไปแล้วจึงเป็นเรื่องที่ผมไม่สนับสนุนนัก เพราะน้อยครั้งที่มันจะออกมาดี ส่วนใหญ่เป็นผลพวงของการ ”จบไม่ลง” ของทีมสร้าง เช่น Devil May Cry ที่ดำเนินเนื้อเรื่องมาถึง 4 ภาค แต่ก็กลับตัดสินใจรีบูตกันเสียดื้อๆ หรือ Mass Effect ที่กำลังจะเปิดฉากปฐมบทของตำนานใหม่ทั้งที่จบบริบูรณ์ไปแล้วในภาค Andromeda โดยเราเองก็ยังไม่รู้กันว่าจะดีร้ายขนาดไหน ก็ได้แต่หวังว่าค่ายเกมต่างๆ จะไม่ติดหล่มอยู่ในวังวนการสร้างภาคต่อแบบไม่รู้จบกันเสียที

     แน่นอนว่าเสียงบ่นของผมมันไม่มีความหมายมากไปกว่าความชอบของเกมเมอร์ทุกคน ซึ่งทุกคนก็มีสิทธิ์จะเลือกสิ่งที่ตัวเองพอใจได้เสมอ อย่างที่ผมเคยพูดอยู่เป็นประจำว่า “Vote With Your Wallet” ถ้าใครที่ยังชอบกับระบบของเกมแบบเดิมที่เราเล่นกันอยู่เป็นประจำหรือเชื่อมั่นในฝีมือและผลงานของทีมสร้างที่เรารัก ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะสนับสนุนเกมนั้นๆ ต่อไป แต่หากเราไม่พอใจเกมไหน หรือต้องการให้มันมีการเปลี่ยนแปลง ก็แค่อย่าไปซื้อของเขา ให้เวลาเขาไปพัฒนาปรับปรุงตัว เราก็จะได้เล่นอะไรใหม่ๆ ที่มีรูปแบบแตกต่างกันไปเอง นั่นคือวิธีเดียวที่เราจะส่งสารจากความต้องการของเราไปถึงทีมพัฒนาได้ ผมไม่อยากให้ถึงวันที่เราจะได้เห็นเกม XXX (นามสมมุติ) ภาค 50 เลยจริงๆ

 

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ