บทความจาก Online Station Magazine
เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมเคยจะเขียนลงใน Weekly Online เมื่อเกือบ 10 ปีก่อนในช่วงสมัยตั้งแต่ Mr.Chow ยังเป็นบก.อยู่ แต่คอลัมน์พิเศษช่วงนั้นจบไปเสียก่อนเลยไม่ได้นำบทความนั้นไปลงที่ไหน จนเวลาผ่านไปผมก็รู้สึกว่ายังมีการใช้คลาดเคลื่อนอยู่ดี เลยหยิบคำนี้มาคุยกันอีกสักครั้ง
ความหมายของ Otaku
Otaku (โอตาคุ, โอตะกุ) ในญี่ปุ่นเริ่มมีการใช้กันตั้งแต่ปี 1983 ซึ่งนิยมคนลักษณะที่ติดการ์ตูนมากๆ ขึ้นมา และพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมญี่ปุ่น คำนี้เริ่มใช้แพร่หลายขึ้นในปี 1989 ที่เกิดคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ มีเหยื่อเคราะห์ร้ายเป็นเด็กอายุ 4–7 ขวบ ถึง 4 ราย โดยฆาตกรที่สะสมอนิเมะและหนังฆาตกรรมเกือบ 6 พันชุด ทำให้สังคมเริ่มคุ้นกับคำนี้มากขึ้นในเชิงลบ อีกทั้งรู้สึกว่าพวกวัยรุ่นสนใจในเรื่องที่ไม่ค่อยมีประโยชน์นัก
อย่างไรก็ตาม อาจเพราะการ์ตูนและอนิเมะถือเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและเป็นหนึ่งในธุรกิจของญี่ปุ่น ทำให้มีความหมายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและเบาลงตามเวลาที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะหลังปี 2000 ซึ่งมีการศึกษาและสำรวจเรื่องนี้กันเรื่อยๆ
รายการญี่ปุ่นบางครั้งมีการสัมภาษณ์กลุ่มอนิเมะโอตาคุ
นอกจากอนิเมะมีการจำกัดประเภทของโอตาคุที่ชื่นชอบวัฒนธรรมสมัยใหม่อย่างใดอย่างหนึ่งเพิ่มเข้ามา อย่าง เกม, ไอดอล, กีฬา, กันพลา, เครื่องจักร เป็นต้น โดยจะมีชื่อเรียกในสิ่งที่ชอบนำหน้าแล้วตามด้วย Otaku หรือ Ota
ตามผลสำรวจในญี่ปุ่นเอง ก็พบว่าคนยอมรับว่าตัวเองเป็นโอตาคุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ปิดบังเหมือนเมื่อก่อนตามคำนิยามที่กว้างและรับได้มากขึ้น
แม้ว่าความหมายของโอตาคุจะถูกใช้ได้กว้างขึ้นในปัจจุบัน แต่ในญี่ปุ่นยังเป็นความหมายในเชิงลบเพื่อต่อว่าคนที่คลั่งไคล้อะไรมากเกินพอดี
- คนในสังคม มองคนติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินพอดี เรียกว่า โอตาคุ
- กลุ่มชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกัน เห็นพวกที่คลั่งไคล้จนเกินพอดี ก็จะเรียกกลุ่มนั้นว่า โอตาคุ เช่นกัน
สำหรับบางประเทศนอกจากญี่ปุ่น อาจจะใช้โอตาคุความหมายใกล้เคียงกับ Geek หรือ Mania ซึ่งจะต่างจากญี่ปุ่นที่เน้นว่า “เกินพอดี” ดังนั้นความหมายจึงออกมาทางที่ดีกว่า ซึ่งก็ต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ไม่มีผิดหรือถูกหรอกครับ โดยรวมคนไทยน่าจะใช้คล้ายกับญี่ปุ่นมากกว่า
ภาษาเปลี่ยนแปลงตามเวลา
บางคนอาจมีข้อสงสัยต่อว่า โอตาคุ เคยใช้เป็นคำด่า จะความหมายเบาลงได้อย่างไร? ความจริงในหลายประเทศรวมถึงไทยเองก็มีบางคำที่เปลี่ยนแปลงความหมายไปบ้างเหมือนกัน
ภาษาไทยก็มีหลายคำที่เปลี่ยนแปลงตามเวลา ถ้าให้ยกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมจะนึกถึงคำหนึ่ง คือคำว่า เกรียน ที่เคยต่อยกันได้เพราะเป็นคำต่อว่าที่ไม่ชินนัก ในปัจจุบันถูกใช้ในความหมายที่เบาลงจนกลายเป็นใช้ในโฆษณาเสียด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็ยังคงเป็นคำด่าได้ในบางโอกาส
หมายเหตุ : เกรียน คนละความหมายกับโอตาคุ
ใช้คำว่า Otaku เป็นชื่องานก็มี
คำถามทั่วไปที่พบเห็นกันบ่อย
Q : ทำไมถึงมีคนที่ยอมเรียกตัวเองว่า โอตาคุ?
A : คลั่งไคล้อะไรหนักมากเกินพอดี ไม่มีใครชอบหรอกครับ แต่ก็มีกลุ่มที่คิดได้เหมือนกันว่าเราไม่ได้ทำอะไรให้ใครเดือดร้อน จะไปอายทำไม? เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นยอมรับว่าตัวเองเป็นโอตาคุมากขึ้น แน่นอนว่ายังมีบางส่วนที่ไม่ชอบเปิดเผยเรื่องนี้และบางส่วนที่รับไม่ได้กับคำนี้ปนกันไป (สำหรับในไทย บางคนที่เรียกตัวเองว่า เกรียนเทพ หรือ Noob ก็ใช้เหตุผลทำนองเดียวกัน)
Q : มีเกณฑ์ในการตัดสินไหมว่าใครเป็นโอตาคุ?
A : คำว่า “เกินพอดี” ของแต่ละคนต่างกันไป บวกกับโอตาคุเป็นเพียงคำต่อว่าเท่านั้น ดังนั้นไม่มีเกณฑ์ตายตัวหรอกครับ รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอกก็เป็นการนิยามเพียงคร่าวๆ เท่านั้น
Q : ทำไมถึงเห็นโอตาคุในการ์ตูนถึงต้องเป็นพวกสุดโต่ง?
A : ไม่สุดๆ ก็ไม่ฮาสิครับ อย่างหนังไทย ถ้ามีตัวละครที่มีเอกลักษณ์แบบ บ้าหวย หรือ เจ้าชู้ คุณคงจะนึกภาพออกนะครับว่าควรจะออกมาแบบไหนถึงจะเข้าถึงผู้ชม
ตัวอย่างในเรื่อง Densha Otoko
Q : แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเราเป็นโอตาคุหรือไม่?
A : ไม่ต้องคิดให้เหนื่อยหรอกครับ เพราะเป็นเพียง “คำด่า” ซึ่งหมายความว่าอีกฝ่ายก็อาจไม่ทราบเหมือนกันว่าคุณเป็นจริงหรือไม่ บางทีไม่รู้ความหมายของคำนี้ด้วยซ้ำ เห็นเขาใช้กันก็ไม่อยากตกเทรนด์ก็มี
เหมือนข้อก่อนหน้านี้ สมมุติว่าถ้ามีคนมาพูดกับคุณว่า บ้า คุณคงไม่ไปเช็คกับคนใกล้ตัวว่าตัวคุณกำลังบ้าอยู่หรือเปล่า จริงไหม ?
ครั้งหนึ่งผมก็รู้สึกว่า โอตาคุ ไม่เหมาะที่จะใช้ในประเทศไทยเพราะความเข้าใจไม่ตรงกันมาก กลุ่มที่พยายามให้ใช้ตามความหมายในญี่ปุ่น “สมัยก่อน” โดยไม่ยอมรับความหมายตามญี่ปุ่นปัจจุบัน กลุ่มที่พยายามนำมาใช้ในเชิงบวก หรือ กลุ่มที่อยากให้ใช้ตามฝรั่งก็มี ปัจจุบันมีการใช้กันกว้างขึ้นในไทย น่าจะทำความเข้าใจกับคำนี้ให้ตรงกันน่าจะดีกว่า
โอตาคุถูกล่าวถึงในการ์ตูนบ่อยๆ