สามารถอ่านตอนแรกได้ที่นี่
PewDiePie กับเคล็ดลับการเป็นแคสเตอร์อันดับ 1 ของโลก
ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว PewDiePie กับเคล็ดลับการเป็นอันดับ 1 ของเขา มาในบทความนี้เราจะมาพูดถึงการเป็นอันดับ 1 ใน Youtube ของ PewDiePie นั้นก่อให้เกิดผลลัพธ์อะไรในวงการเกมบ้าง ซึ่งหลายๆ คนรวมทั้งตัวผมด้วยก็ได้อยู่ในแวดวงนี้ด้วยเช่นกัน แต่ก่อนอื่นเลยเพื่อนๆ จะต้องเข้าใจทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม (Diffusion of Innovation Theory) เสียก่อน
ทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม (Diffusion of Innovation Theory)
ทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม โดย Everett Roger เป็นทฤษฎีที่จะมาอธิบายเกี่ยวกับ การทำให้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นที่ยอมรับในสังคม โดยในแนวคิดนี้จะมีการแบ่งกลุ่มคนเป็น 5 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
Innovators 2.5%
เหล่าบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ ยกตัวอย่างเช่น Steve Job, Bill Gates และ Mark Zuckerberg เป็นต้น
Early adopters 13.5%
เหล่าคนที่ชอบลองของใหม่ มีความเป็นผู้นำเทรนด์สูง อาจจะเป็นเหล่าคนดังหรือเซเลปในวงการต่างๆ
Early majority 34%
เหล่าคนที่ตามเทรนด์ เวลาเห็นอะไรใหม่ๆ ก็อยากจะใช้บ้าง แต่ต้องผ่านการตัดสินใจในระดับหนึ่ง
Late majority 34%
คนที่ไม่ค่อยตามเทรนด์สักเท่าไหร หรือจะเริ่มใช้บางอย่างก็เริ่มตกรุ่นไปบ้างแล้ว มักจะตามกระแสก็ต่อเมื่อเทรนด์นั้นๆ โด่งดังจริงๆ หรือจำเป็นต้องใช้จริงๆ
Leggards 16%
ไม่สนใจเทรนด์เลย ไม่ค่อยแคร์กับเทรนด์ใหม่ๆ นอกจากจะมีคนนำมาให้ต่อหน้า
ซึ่งหากเปรียบเทียบให้ PewDiePie อยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในกราฟ เขาเปรียบเสมือนเป็น Innovators ให้กับคนเหล่าวงการเกมได้เลยทีเดียว ซึ่งการแคสเกมของ PewDiePie เปรียบเสมือนการเปิดเทรนด์ใหม่ๆ ให้แก่เหล่าคนเล่นเกมได้อย่างมากมาย ด้วยยอดผู้ติดตามหลักสิบล้าน ทำให้การสร้างเทรนด์ใหม่ๆ นั้นไม่ยากอย่างที่คิด ซึ่งตัวอย่างที่สามารถเห็นได้ชัดที่สุดในกรณีนี้เลยก็คือ Flappy Bird....
มีหลายบทความมากมายที่พูดถึงเกม Flappy Bird แล้วก็เกิดความสงสัยว่า ทำไมเกมนี้มันถึงดังขึ้นมาได้?? หลากหลายคนต่างแสดงความคิดเห็นไปในหลายๆ ทิศทาง แต่สิ่งที่คนลืมพูดถึงกันไปมากที่สุดก็คือ PewDiePie..... ก่อนอื่นเรามาดูเหตุผลก่อนว่าทำไม PewDiePie ถึงทำให้เกมนี้ดังขึ้นมาได้ แรกเลย PewDiePie ถือเป็นแคสเตอร์เจ้าใหญ่เจ้าแรกๆ ที่นำเกม Flappy Bird มาแคสในชาแนลของเขา ซึ่งวันที่เขาปล่อยวิดีโอ FLAPPY BIRD – DONT PLAY THIS GAME! นั้นเป็นวันที่ 27 มกราคม 2014 ซึ่งถ้าเราไปเช็คใน Google Trends Charts คำว่า Flappy Bird ได้พุ่งทะยานมีคน Search เพิ่มมากขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกับที่ PewDiePie ได้ทำการปล่อยวิดีโอแรกเกี่ยวกับ Flappy Bird นั่นเอง
วันที่ Flappy Bird เริ่มถูก Search มากยิ่งขึ้นอยู่ ในวันที่ 27 มกราคม 2014
วันที่ PewDiePie ปล่อยวิดีโอ Flappy Bird 27 มกราคม 2014
ย้อนกลับมาที่ทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม หลังจากที่ PewDiePie ได้ทำการเปิดประเด็นเล่น Flappy Bird เปรียบเสมือนเป็นดั่ง Inovators ผู้คนก็เริ่มให้ความสนใจ และแน่นอนเหล่าชาแนลเกมอื่นๆ ซึ่งเปรียบได้กับ Early adopters ก็เริ่มทำคลิปเกี่ยวกับ Flappy Bird ออกมากันหลากหลายเจ้ามากมาย จนมาถึงเหล่าคนเล่นเกมอย่างพวกเราๆ Early majority ซึ่งช่วยสร้างกระแสโดยการแชร์ไปในสื่อต่างๆ มากมาย ซึ่งเมื่อความแรงของ Flappy Bird ได้ก้าวผ่านระดับขึ้นของ Early majority เป็นที่เรียบร้อย ก็เปรียบเสมือนเราเข็นหินขึ้นภูเขาทางด้านซ้ายแล้วปล่อยให้มันไหลลงไปทางด้านขวา ในคราวนี้เหล่า Late majority ซึ่งบางคนก็อาจจะไม่ได้ดูคนแคสเกมเกี่ยวกับ Flappy Bird มาด้วยซ้ำ แต่เพราะด้วยกระแสการพูดกันปากต่อปาก ทำให้เกิดการอยากเล่นอยากลองเล่นขึ้นมา
PewDiePie และเหล่าเกมแคสเตอร์ชื่อดังอื่นๆ ที่ช่วยกันสร้างเทรนด์ใหม่ๆ เมื่อก้าวผ่านในระดับ Early majority ไปได้ ก็จะทำให้เกิดกระแสปากต่อปากหรือที่เรียกว่า Talk of the Town นั่นเอง
ในกรณีของ Flappy Bird ต้องยอมรับว่าเกมก็ค่อนข้างดึงดูดในระดับหนึ่ง รวมไปถึงความง่ายในการเข้าถึง (โหลดได้ฟรีใน Store ต่างๆ) แต่ถ้าขาดแรงผลักดันจากเหล่าแคสเตอร์และการระดมแชร์ของเหล่าผู้ติดตามผู้ริเริ่มลองเล่นเกมนี้ ก็คงจะเป็นเรื่องยากสำหรับเกม Flappy Bird ที่จะมีกระแสโด่งดังถึงขนาดนี้ได้
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาก็ไม่ใช่ว่า PewDiePie จะสามารถทำให้เกมทุกเกมเป็นที่โด่งดังได้ด้วยตัวเขาเอง ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างมากมาย นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการสร้างเทรนด์ใหม่ๆ ของวงการเกมเท่านั้น ซึ่งเกมดังส่วนใหญ่ก็มักจะมีแฟนๆ ติดตามกันมาก่อนอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงเกมอินดี้ที่ไม่มีต้นทุนในการโฆษณาในสื่อต่างๆ การที่ PewDiePie นำเกมเหล่านี้มาเล่น ทำให้อุตสาหกรรมเกมอินดี้เติบโตขึ้นได้มากเลยทีเดียว จนถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า ถ้าอยากให้เกมขายดี สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือส่งเกมไปให้ PewDiePie เล่น
เกล็ดเล็กน้อย
ในเกม Surgeon Simulator 2013 จะมีฉากลับผ่าตัดเอเลี่ยน โดยในฉากได้มีการตั้งชื่ออวัยวะภายในของเอเลี่ยนตามเหล่าแคสเตอร์ชื่อดังที่เคยแคสเกมนี้เพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยทำให้เกมโด่งดังขึ้นมา
Pewdsball มาจาก PewDiePie
Birgirspallex มาจาก Birgirpall
Cubed Trangrifier มาจาก NerdCubed (Nerd³)
Gavichal มาจาก Gavin and Michael’s Rage Quit โดย RoosterTeeth
Robbaloraz มาจาก Robbaz
จากที่กล่าวมาคงจะเห็นได้ว่าเหล่านักแคสเกมใน Youtube มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวงการเกมและการสร้างเทรนด์ใหม่ๆ ให้กับเกมได้มากขนาดไหน แล้วเพื่อนๆ ที่ได้อ่านบทความนี้คิดว่าตัวเองนั้นอยู่ในส่วนไหนของทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรมกันบ้าง? ส่วนตัวของผู้เขียนคงจะอยู่ระหว่าง Early majority และ Late majority ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความสนใจในสิ่งนั้นๆ ด้วย แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็คือ ทุกๆ คน มีส่วนช่วยสร้างกระแสให้เกิดเทรนด์ใหม่ๆ อย่างแน่นอน ไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนของทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรมก็ตาม
Source : Game Theory: Flappy Bird, PewDiePie, and Pasta Sauce
Source : PewDiePie Wiki
Source : 95% Of Gamers Enhance Their Experience With YouTube