สำหรับฟีเจอร์ของกระผมในสัปดาห์นี้ ขอสงวนสิทธิ์ไว้ให้เฉพาะเกมเมอร์รุ่นเก๋า ที่ผ่านประสบการณ์การเล่นเกมมาแล้วอย่างโชกโชนเพื่อรำลึกถึงความหลังกัน ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ได้เพลิดเพลินกับเกมกราฟิกสวยจังอลังจริง จะทำอะไรก็ง่ายเพราะมีระบบต่างๆ รองรับมากมาย แต่สมัยก่อนนั้นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ในปัจจุบันอย่างการ "เซฟเกม" เป็นสิ่งที่โคตะระจะยากเลยนะครับพี่น้องครับ!!
Famicom ยุคแห่งการจดยิกๆ
แน่นอนว่าเครื่องเกมที่เรารู้จักกันแพร่หลายอย่าง Famicom นั้นใช้ตลับเกมที่มีแผ่นวงจรบางๆ อยู่ข้างใน (และส่วนใหญ่เรามักจะกระเทาะเปลือกตลับออกแล้วเอาน้ำลายถูๆๆๆเช็ดๆๆๆ แผ่นยามที่มันขึ้นสนิมก็ตาม) ซึ่งในยุคนั้นตลับเกมไม่มีหน่วยความจำอย่าง Memory แม้แบตเตอร์รี่แบ๊คอัพก็ยังหายากแล้วทำไง? สมัยนั้นเค้าใช้วิธีจดกันครับ เช่นเกมร็อคแมนที่เรารู้จักกันดี ก็จะมีระบบพาสเวิร์ดที่ทำเป็นตาราง 5×5 แล้วให้เราใส่จุดสีแดง กับน้ำเงินเข้าไปให้ถูกต้อง ถ้าจะเลิกเล่นเมื่อไหร่ก็ต้องจดพาสเอาไว้
เอ้าจดไว้อย่าให้พลาด
เรื่องที่น่าปวดตับอย่างที่สุดก็คือเกมสัญชาติญี่ปุ่นบางประเภทอย่าง Dragon Quest แน่นอนว่าคุณไม่มีทางที่จะเล่นมันจบในวันเดียวได้ ถ้าคุณต้องการจะเซพเพื่อมาเล่นต่อคราวหลังก็ต้องจดพาสเวิร์ดไว้เช่นกัน แต่ที่สำคัญ…พาสเวิร์ดมันเป็นภาษาญี่ปุ่นครับพี่!!
เอ้า!! ใส่รหัสซะสิ!!
คือนี่พี่จะเอายังไงกับผมครับ สมัยนั้นผมยังหัวเกรียนเหม่งแค่อ่านไทยก็ยังไม่แตกฉาน พี่เล่นให้ผมจดพาสเวิร์ดภาษาญี่ปุ่นจะตัวอักษร ฮิราคานะ หรือคาตาคานะ ก็ไม่รู้ได้!! สุดท้ายแค่คุณจดผิดแค่ขีดในตัวอักษรเดียว ก็เป็นอันต้องรื้อกระดาษเก่าๆ ที่เคยจดพาสก่อนหน้าไว้มาดูเพื่อเล่นเซพที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันที่สุด….เว้นแต่น้องชายคุณจะฉีกมันออกไปพับจรวดเล่นซะแล้วน่ะนะ…
Super Famicom แผ่นดิสก์ หัวโปร และ Error
ต่อมาก็เข้าสู่ช่วงที่สบายขึ้นกับยุคเครื่อง Super Famicom ซึ่งหากคุณเล่นตลับแท้ (ที่มีราคาสูงพอสมควร)ก็จะมีแบตเตอร์รี่แบ๊คอัพให้เราขณะที่เซฟ ซึ่งจะมีระยะเวลาหนึ่งที่ถ่านในตลับจะหมด… แต่ที่หรรษาสุดๆ คือพวกที่ใช้หัวโปรอ่านแผ่น Floppy Disk ในการเล่น ความสะดวกสบายในการเซพจะไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อใดที่คุณเก็บรักษาแผ่นดิสก์ไว้ไม่ดีพอจนตัวแผ่นเสียหายทั้งไฟล์เกมทั้งหมดก็จะถึงกาลอวสานกันเลยทีเดียว
อันนี้หัวโปรของ Famicom
ว่าแต่เคยมั้ยครับที่หัวอ่านแผ่นแต่ขึ้น CRC Error ? คุณจะได้ประสบการณ์การเล่นเกมแบบภาพบั๊กๆ แบบรับสภาพภาระจำทนที่พอผ่านฉากบั๊กจะหายไป หรือเลวร้ายกว่านั้นเกมที่คุณเล่นก็จะค้างไปเลย
Play Station Memory Card กับร้านเกม
การมาของเพลย์สเตชั่นในยุคนั้น ต้องบอกตรงๆ ว่ามันหวีหวาเสียเหลือเกิน ด้วย CG เปิดตัวสุดอลังบวกกราฟิกที่เป็นเหลี่ยมของ FF7 ก็เล่นเอาเหล่าเกมเมอร์ติดกันงอมแงม แต่เรื่องนั้นผมจะขอจบลงแค่นี้ และมาเข้าเรื่องการเซฟเกมกันต่อ
รู้ๆ กันอยู่ว่า PS นั้นไม่สามารถเซฟเกมลงในแผ่น CD-ROM ได้ และไม่มีหน่วยความจำในตัวเครื่องไว้บันทึกไฟล์ใดๆ อีกด้วย แต่ผู้ผลิตนั้นได้ให้กำเนิดอุปกรณ์ที่เรียกว่า Memory Card หรือที่วัยรุ่นสมัยนั้นเรียกมันว่า "แผ่นเซฟ"
สมัยนั้นต่อให้ใครไม่มีเครื่อง Play Station ที่บ้านยังไงก็ต้องรู้จักเกม "วินนิ่งมั้ยสาดดดด" อย่างแน่นอน เพราะตกเย็นหลังเลิกเรียนอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 วันต้องมีนัดปากมันไปดวลวินนิ่งกับเพื่อนร่วมชั้นสักชั่วโมง แถมบางคนถ้าอยากจะเล่นเกมอย่าง Final Fantasy หรือ Bio Hazard จะต้องมีแผ่นเซฟเป็นของตัวเองแน่ๆ (แม้จะไม่มีเครื่องก็ตาม)
อันนี้แหละเด็กติดเกมมีกันทุกคน
แฟชั่นอีกอย่างที่น่าขันของเจ้า Memory Card ก็คือตามร้านเกม (บางแห่ง) จะมีสติ๊กเกอร์ติดแผ่นเซฟจำหน่าย ซึ่งเจ้าสติ๊กเกอร์ที่ว่านี้นอกจากจะทำให้เราแยก Memory Card ของเรากับเพื่อนได้ง่ายแล้ว ยังจะมีไว้บอกยี่ห้อว่า "ข้าเซียนวินนิ่งนะเว้ย" "ผมเล่น Chrono Cross อยู่นะครับ" หรือ "Dokapon กับตูได้นะเย็นนี้"
แล้วเพื่อนๆ ล่ะมีประสบการณ์ฮาๆ กับการเซฟเกมบ้างไหม ?