เชื่อว่าประเภทของแอพลิเคชั่นบนมือถือของคุณผู้อ่านหลายๆ คนคงจะมีแอพฯ ประเภทเกมอยู่เยอะที่สุด และลองลงมาคงเป็นแอพฯ ถ่ายภาพต่างๆ นานาที่สามารถแต่งหน้าให้เราปากแดงเหมือนเพิ่งกินไก่สดอิ่มมาหมาดๆ เมื่อกล่าวถึงการตลาดของเกมบนมือถือที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนอย่างมหาศาล แต่ในเมื่อรายได้เป็นตัวกำหนดรูปแบบการพัฒนา ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันว่ารูปแบบการตลาดหลักที่ก่อเกิดรายได้ให้กับบริษัทผู้พัฒนานั้นมีอย่างใดบ้างที่น่าสนใจ
จ่ายแพงๆ รอบเดียวจบ
การขายแอพลิเคชั่นรูปแบบนี้ คุณสามารถสังเกตได้ง่ายมากครับ เพราะคุณจะตกใจกับราคาอภิมหาแพงทุกครั้งที่ตัดสินใจซื้อด้วยราคาที่มากกว่า 10 เหรียญ ตัวอย่างบริษัทที่นิยมการตลาดในรูปแบบนี้ก็คงหนีไม่พ้น Sqaure Enix หรือ EA Game ซึ่งคุณจะเห็นได้บ่อยครั้งกับการ์พอร์ตเกมดังๆ จากค่ายของตนมาลงบนมือถือ เช่น Square Enix ก็จะมี Series Final Fantasy เป็นตัวชูโรง และเกมที่แจ้งเกิดบนมือถือภายใต้ชื่อ Square Enix ก็คือ Chaos Rings ที่ผมเชื่อเหลือเกินว่ามันจะเป็นตำนานอีก 1 บทที่จะสามารถหากินได้อีกยาว ไหนจะเกมฟุตบอล, กอล์ฟ หรือเกมฟอร์มยักษ์ต่างๆ ของ EA ที่ออกสู่ตลอดบ่ายๆ อีก
FIFA จาก EA
หากมองเพียงด้านเดียวว่าการตลาดรูปแบบนี้บริษัทต้องการจะขายเกมในราคาแพงนั่นก็คงจะไม่ยุติธรรม เพราะเงินทุกเม็ดที่คุณจ่ายนั้นจะเป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียว เพื่อซื้อเกมกราฟฟิคสวยสุดยอดและมีความสมบูรณ์ที่สุดไปเล่นโดยไม่ต้องรอ Content ต่อ (ส่วนใหญ่เกมฟอร์มยักษ์ราคาแพงก็จะมีกราฟฟิคดีสมราคา) แต่อาจจะมีอัพเดตฟีเจอร์ใหม่เพิ่มขึ้นในภายหลัง เช่นการเพิ่มเสียงพากษ์ ฯลฯ แต่ถึงอย่างนั้นคุณก็สามารถอัพเดตฟีเจอร์เหล่านั้นได้ฟรี คุณคือสไตล์ที่จะจ่ายให้เกมประเภทนี้หรือไม่?
Chaos Rings จาก Square Enix
จ่ายถูกๆ แต่จ่ายถี่ๆ
รูปแบบเกมที่จะสามารถขายในรูปแบบนี้ได้ จะต้องมีปัจจัยหลายอย่างเกื้อหนุน ยกตัวอย่างเช่น เกมจะต้องได้รับความนิยมอย่างมาก หรือมีคาแรคเตอร์โด่งดังเป็นที่โจษขาน ซึ่งตัวอย่างที่ดีที่สุดของเกมที่สามารถทำการตลาดในรูปแบบนี้ได้อย่างดียิ่งก็คือ Angry Birds จากบริษัท Rovio นั่นเอง
Angry Birds เป็นเกมที่ขายในราคาถูกเพียงแค่ 0.99 เหรียญ เทียบเป็นราคาไทยคือประมาณ 30 บาท เท่านั้น แต่ Angry Birds ก็เป็นเกมที่ได้รับความนิยมไปทั่ว และทีมงานก็สามารถต่อยอดพัฒนาเกม Angry Birds ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ด้วยการเพิ่มด่าน เพิ่มระดับความยาก หรือแม้แต่เปลี่ยนธีมของเกมให้เข้ากับอะไรใหม่ๆ อย่างไม่สิ้นสุด ยกตัวอย่างเช่นการเพิ่มรูปแบบการเล่นตามเทศกาลต่างๆ ใน Angry Birds Season จับมือกับภาพยนตร์แอนิเมชั่นกับ Angry Birds Rio จนกระทั่งล่าสุดมี Angry Birds Space เรียกได้ว่าโด่งดังทะลุชั้นบรรยากาศกันเลยทีเดียว นอกจากจะขายแอพลิเคชั่นบนมือถือแล้ว Angry Birds ยังแปรรูปตัวเองเป็นสินค้าต่างๆ และสร้างยอดขายได้อย่างน่าภาคภูมิ นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่พูดไปหลายๆ คนอาจจะไม่รู้จักนั่นก็คือ Kairosoft ที่ขยันพัฒนาเกมกราฟฟิค 8 บิทที่เน้นขายไอเดีย และคอนเซ็ปต์การเล่นแบบ Simulation ที่หลากหลายออกมาขายบ่อยครั้งก็เป็นการดูดตังถูกๆ แต่ถี่ๆ เช่นเดียวกัน แล้วคุณคือผู้นิยมมีเกมระดับกลางไว้เยอะๆ บนมือถือด้วยการจ่ายสไตล์นี้หรือเปล่า?
ขอเล่นฟรี ถ้าเล่นแล้วดีเดี๋ยวพี่จ่ายเอง
มีเยอะแยะมากมายกับเกมประเภท Purchase in app ที่เป็นการปล่อยให้ผู้ใช้ App โหลดฟรีเล่นฟรี แต่จะเน้นการขายของภายในเกม ยกตัวอย่างเช่นเกม Zenonia 4 ซึ่งเป็นภาคล่าสุดที่มีการปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรี และมีรายได้จากการขายหินวาร์ป ใบชุบชีวิต หรืออาวุธเซ็ตเจ๋งๆ ที่ถ้าอยากได้ก็ต้องยอมจ่ายให้เค้าไป ถือเป็นความบันเทิงอย่างสมัครใจ ราวกับจะถามผู้ใช้ว่า "เพื่อความสุขระดับนี้ คุณยินดีเสียเงินเท่าไหร่?" แต่สุดท้ายถึงแม้คุณจะเล่นฟรีไปจนเกมจบก็ไม่มีใครว่าคุณได้ แต่ต้องอาศัยความอดทนที่เกินปกติ ถ้าจะมองในแง่ดีมันก็เป็นเครื่องยืนยันว่าคุณน่ะ เซียนตัวจริง!!
Zenonia 4 เกมฟรี แต่ดูดตังมิใช่น้อย
ไม่ต้องซื้อไม่ต้องหา ชอบดูโฆษณาสุดๆ
ถ้าคุณไม่ยินดีกับการจ่ายในรูปแบบใดๆ เลย คุณชอบที่จะเล่นเกมฟรีแต่มีข้อผูกมัดเล็กน้อย นี่คือสไตล์ที่เหมาะกับคุณ เพียงแค่คุณพร้อมจะเสพความบันเทิงที่เล่นง่าย เข้าใจไม่ยาก กับหน้าโฆษณาที่จะโผล่วับๆ แวมๆ มาทักทายคุณทุกครั้งที่เล่นจบ หรือแถบโฆษณาจะเจ๋ออยู่บนหน้าจอตลอดเวลาที่คุณเปิดแอพฯ ขึ้นมาเล่น ยกตัวอย่างเช่นเกม Draw Something เกมวาดภาพทายคำที่ทีมงานกำลังติดกันเป็นบ้าเป็นหลังอยู่ตอนนี้ก็เป็นตัวอย่าง App ฟรีที่มีโฆษณา เอาเป็นว่าถ้าคุณไม่เคยรู้สึกรำคาญกับอะไรเหล่านี้ เกมฟรีนี่แหละเหมาะกับคุณที่สุดแล้ว เพราะคุณจะได้สนุกในแบบของตัวเองโดยไม่ต้องจ่ายสตางค์ซักแดงเดียว
ลองรึยัง Draw Something
สุดท้ายนี้ผมเชื่อว่าไม่มีใครหรอกครับที่จะเน้นการเล่นเกมแบบใดแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว คุณอาจจะมีเกมที่แพง และเกมที่ไม่ต้องควักสตางค์ซักแดงอยู่พอๆ กัน แต่อีกสิ่งที่อยากแสดงให้เห็นเกี่ยวกับบทความนี้ก็คือรูปแบบการตลาดของการขาย Application บนมือถือ ไม่เว้นแม้แต่แอพประเภทอื่นๆ ก็จะมีรูปแบบการขายคล้ายคลึงกันนั่นเอง แต่สิ่งนึงที่กระผมไม่ขอพูดถึงก็คือ ประเภท Jailbreak ซึ่งเป็นสายดาร์คนั่นเอง -*-