วันเวลาที่อยู่ในวงการเกมมานาน ทั้งในฐานะสื่อ และในฐานะเกมเมอร์ หากทุกคนสังเกตจะพบว่ากระแสข่าวในโลกโซเชียลนั้นเริ่มถูกจับตามองจากสื่อต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ ไปจนถึงสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะในปัจจุบันอินเตอร์เน็ตถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ผู้คนทุกเพศทุกวัยต่างเข้าถึงง่ายมากขึ้น ถ้าเราจะพูดว่าการรับข่าวสารจากอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางที่ไวที่สุดก็คงจะไม่เกินความจริงไปนัก และในวันนี้ Exclusive Scoop ของเราจะมาพูดถึงพฤติกรรมของคนที่รับข่าวสารโดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอินเตอร์เน็ตที่เราสามารถอ่านความเห็นได้มาวิเคราะห์กันครับ
หลากเหตุผล คนอินข่าว
นอกจากข่าวสารจะให้ความรู้ อัพเดตเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกให้เราได้รับรู้แล้ว บางคนเมื่อทราบข่าวแล้วก็วางเฉย แต่ข่าวสารต่างๆ จะมีอิทธิพลกับกลุ่มคนทันทีที่มีปัจจัยเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้อง
• เป็นอารมณ์ร่วมที่เกิดขึ้นเอง
เป็นเหตุผลสุดเบสิกที่ใครสักคนหนึ่งจะเกิดอารมณ์ร่วมขึ้นเพราะเกิดความสนใจในเนื้อข่าว ถึงแม้ข่าวนั้นๆ จะไม่ได้มีเนื้อหาอะไรเกี่ยวข้องกับตนเองเลย ยกตัวอย่างเช่น "คุณยาย A ถูกลูกอกตัญญูนำไปทิ้งไว้ในซอยเปลี่ยวพร้อมกับสุนัข 1 ตัว" อย่างนี้ก็ทำให้ผู้เสพย์ข่าวเกิดความสงสาร เห็นอกเห็นใจขึ้น และอีกข่าวเช่น "จับได้แล้วโจรข่มขืน ฆ่าหั่นศพเด็กอายุ 12 ปีคาห้องน้ำโรงเรียน ชาวบ้านต่างรุมประชาทันท์" ผู้รับข่าวสารจะเกิดความรู้สึกสะใจ, สมน้ำหน้า หรืออยากจะเข้าไปรุมสหบาทาอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความอินส่วนบุคคล
• มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในข่าว
โดยสามัญสำนึกปกติของคนทั่วไปจะมีความสนใจในการรับข่าวสารแตกต่างกัน แต่สำหรับกลุ่มผู้รับข่าวสารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข่าวนั้นจะเกิดอารมณ์ร่วมตาม ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ข่าววิกฤติมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา ผมมั่นใจเลยว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะต้องคอยติดตามว่าน้ำจะมาทางไหน จะท่วมพื้นที่ ที่อาศัยอยู่หรือไม่ เรตติ้งรายการข่าวทางโทรทัศน์ดีขึ้น และตัวเลขที่ยืนยันว่าข่าวน้ำท่วมเป็นที่น่าสนใจก็คือ จำนวนผู้กด Like Fan Page น้ำขึ้นให้รีบบอกบน Facebook พุ่งเกิน 2 แสนในเวลาอันรวดเร็ว
• เป็นข่าวของอะไรก็ตามที่ชื่นชอบ
การมีอารมณ์ร่วมกับข่าวประเภทนี้ แม้จะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับสิ่งที่เป็นข่าว แต่ถ้าในข่าวนั้นเป็นข่าวของบุคคล หรืออะไรก็ตามที่คนๆ นั้นชื่นชอบก็จะเกิดอารมณ์ร่วมตามได้เช่นกัน ตัวอย่าง "ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดบุกรังหงส์ ถล่ม 3 - 0" ข่าวอย่างนี้ถ้าคุณเป็นแฟนผีคุณจะรู้สึกดีใจอิ่มเอิบ แต่ถ้าคุณเป็นแฟนหงส์เมื่อไหร่จิตใจคุณก็จะห่อเหี่ยวลงมาก แม้ว่าคุณจะไม่ได้ถือหุ้นในสโมสรทั้ง 2 เลยแม้แต่หุ้นเดียว
อารมณ์กับข่าว ต้นเหตุของความขัดแย้ง
เมื่อผู้เสพข่าวเกิดอารมณ์ร่วมแล้วสิ่งที่จะตามมาก็คือการแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ตอนนี้เรื่องของความเห็นส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง หากมีข่าวอัพเดตเหตุการณ์ขึ้นสักข่าวหนึ่งก็จะมีกลุ่มคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย เคยมีคำกล่าวว่า "ปิดประตูหน้าต่างยังปิดได้ แต่ปิดกั้นความคิดคนนั้นปิดยาก" ยิ่งในสังคมออนไลน์ด้วยแล้วคำกล่าวที่ว่าก็ยิ่งจริงเสียยิ่งกว่าจริง เพราะเป็นการแสดงความเห็นในพื้นที่ส่วนตัว ถ้าไม่สืบเสาะจริงๆ ก็จะไม่มีทางรู้ว่าผู้พูดเป็นใคร ดังนั้นจึงมีผู้ที่วุฒิภาวะยังไม่สูงพอมาแสดงความเห็นที่ผิดต่อจริยธรรมที่ดีของสังคม
วิจารณญาณ หรือเสพสารอย่างประมาท
แน่นอนว่าการรับข่าวสารต่างๆ นั้นจะต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาให้ถี่ถ้วน แต่สำหรับบางคนที่เสพข่าวสารมากเกินไปนั้นมักจะหลอนกับข้อมูลที่ได้รับเสมอ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเสพข่าวสารช่วงน้ำท่วม หลายคนเกิดความวิตกกังวลมากกว่าปกติจึงติดตามข่าวจากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเกาะติดข่าวทางโทรทัศน์, ตามข่าวทางอินเตอร์เน็ต, ดูวิเคราะห์ทิศทางน้ำจาก Youtube หรือติดตามอัพเดตบน Facebook จากหน้าแฟนเพจต่างๆ ซึ่งบางครั้งข้อมูลที่ได้รับอาจเป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมา อาจมีเนื้อความข่าวสารผิดเพี้ยน หรือเป็นข้อมูลลวงที่มีผู้ไม่หวังดีแต่งขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคม ถึงแม้ว่าจะเป็นแบบไหนการรับข่าวสารที่มากเกินไปนั้นจะเกิดความเครียด และส่งผลในหลายๆ แง่ เมื่อในปัจจุบันนั้นเราสามารถเข่าถึงข่าวลือ ข่าวลวงได้ง่ายการรับข่าวสารด้วยความประมาทนั้นอาจจะส่งผลร้ายต่อตัวคุณเองได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อแสดงความคิดเห็น คุณเป็นประเภทไหน?
อย่างที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้นนั้นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้คนหนึ่งคนแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับ ด้วยอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง, มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อมูลนั้นๆ และการรับข่าวสารแบบไม่ไตร่ตรอง เมื่อคุณแสดงความเห็นใดๆ ออกไปแล้วขอให้จำไว้เลยว่า ก่อนพูดเราเป็นนายของมัน ถ้าพูดออกไปคำพูดนั้นจะเป็นนายเราหากพูดออกไปแล้วเราต้องยอมรับถึงผลที่จะตามมา แม้ว่า Comment ของแต่ละข่าว แต่ละกระทู้จะมีหลักร้อยหลักพัน แต่ภาวะอารมณ์ของผู้แสดงความเห็นจะมีไม่กี่ประเภทแน่นอน ลองสำรวจตัวคุณเองดูว่าคุณเป็นประเภทไหนบ่อยที่สุด
• เจ้าหลักการ ยึดเหตุผล
ความเห็นประเภทนี้ผู้อ่านมักจะคิดคล้อยตาม เพราะนอกจากประเด็นที่ต้องการจะสื่อแล้วยังมีเหตุผลสนับสนุนตามมาอีกเป็นกระบุง เห็นความเห็นที่ต้องใช้วิจารณญาณไตร่ตรองเป็นอย่างมาก หากเป็นคนจิตอ่อนโดนชักจูงให้คล้อยตามได้ง่ายอาจจะไหลตามกระแสของความเห็นประเภทนี้ได้ไม่ยาก
• มาเต็ม อารมณ์ล้วน
ตามหัวข้อเลยครับ ความเห็นประเภทนี้จะขัดกับความเห็นประเภทแรกอย่างสิ้นเชิง ไม่ต้องการเหตุผลประกอบ แค่อาศัยความเกลียด หรือความชอบก็สามารถแสดงความเห็นออกมาได้เป็นชุดๆ เมื่อเป็นความเห็นที่ปราศจากเหตุผลรองรับพวกเขาก็ไม่คิดที่จะรับฟังเหตุผลของใครเช่นเดียวกัน (ขึ้นอยู่กับบุคคล) ความเห็นลักษณะนี้เปรียบดั่งแกนโลกที่ต้องการให้ทุกคนหมุนตามเท่านั้น
• ปลุกปั่น ยุแยง
ความเห็นเหล่านี้จะเกิดขึ้นในกระทู้ที่เกิดดราม่าเท่านั้น ท่ามกลางความขัดแย้ง คนเหล่านี้จะเข้ามาพูดชงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดอารมณ์อยากตอบโต้ (เหมือนพวกยุให้เด็กชกต่อยกัน โดยตัวเองไม่ได้ไปเจ็บตัวพร้อมนั่งรอดูมวย) เป็นความเห็นที่ไม่มีเนื้อหาสาระอะไรน่าสนใจ แต่ก็ทำให้ความขัดแย้งบานปลายอย่างไม่น่าเชื่อ
• ไม่มีผลกระทบในทางใดเลย
เป็นประเภทความเห็นที่พบเจอในกระทู้ หรือข่าวต่างๆ ได้มากที่สุด เป็นความเห็นอารมณ์ประมาณว่า "โพสต์เฉยๆ" ไม่ได้ต้องการให้ใครสนใจ เป็นความเห็นสั้นๆ ที่ไม่มีผลใดๆ ต่อข่าวเลย
ทิ้งท้ายไว้ให้คิด
ที่พูดออกมาในบทความทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการจะสื่ออะไรมากกว่าการกระตุ้นสามัญสำนึกให้เกิดขึ้นกับทุกๆ คนที่บทความนี้เข้าถึง เพราะการแสดงความเห็นในโลกไซเบอร์นั้น หากคิดแค่ว่ามันเป็นโลกสมมุติ แม้จะแสดงความคิดเห็นด้านลบตลอดเวลาก็ไม่มีผลอะไรต่อตัวตนของเราในโลกแห่งความเป็นจริงเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ แม้ตอนนี้ กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในทางปฏิบัติจะไม่ได้เคร่งครัดจริงจัง แต่ก็มีตัวอย่างกรณีที่ถูกดำเนินคดีกันไปแล้วในดคีหมิ่นประมาท และคดีอื่น ถึงแม้จะเป็นความคิดเห็นที่ไม่รุนแรงถึงขนาดต้องถูกจับดำเนินคดี แต่เชื่อเถอะครับว่าสิ่งเหล่านี้มันจะซึมซับเป็นความเคยชินติดตัวเป็นนิสัย เมื่อไปเข้าสังคมการศึกษา หรือสังคมวัยทำงานก็จะสร้างภาพลบให้กับตัวเราแน่นอน
ส่วนจริยธรรม หรือความสะใจใครจะเป็นคนตอบ? ตัวคุณผู้อ่านนั่นแหละครับที่สามารถตอบได้ เพราะบางครั้งสิ่งที่ถูกใจ อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง, สิ่งที่คนหมู่มากทำกันมันก็ไม่แน่ว่าจะถูกต้องเสมอไป สติ, พินิจ พิจารณาให้ดีจะช่วยให้สังคมของเราสวยงามได้อีกมากมาย
บทความจากนิตยสาร Weekly Online ฉบับที่ 450