ทำตลาดเกมออนไลน์...หลากสไตล์หลายแนว สูตรสำเร็จมีจริงหรือ!?

แชร์เรื่องนี้:
ทำตลาดเกมออนไลน์...หลากสไตล์หลายแนว สูตรสำเร็จมีจริงหรือ!?

    เป็นที่กล่าวขานกันมานานถึงตลาดเกมออนไลน์ในประเทศไทยที่ได้ชื่อว่า “ตลาดปราบเซียน” ด้วยเหตุผลนานัปการทั้งในแง่ของจำนวนผู้เล่นที่เหมือนจะเยอะ แต่ก็ไม่มากเท่ากับหลายๆ ประเทศในเอเชีย ลักษณะนิสัยของผู้เล่นที่เบื่อง่ายหน่ายเร็ว แต่บทจะชอบก็ชอบเสียจนคอนเท้นท์ในเกมหมดไปอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่อัตราการจ่ายเงินของผู้เล่นเกมในไทยเองก็ยังยากแก่การเข้าใจ เพราะกลุ่มคนเล่นกับกลุ่มคนจ่ายบางทีอยู่ในคนละช่วงอายุกัน เกมที่ฮิตติดกระแส มีคนเล่นจำนวนมาก แต่คนที่ยอมจ่ายเงินทำรายได้ให้กับเกมนั้นกลับเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่มีกำลังทรัพย์และมีความชอบแบบเฉพาะกลุ่ม สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือตัวแปรที่ทำเอาบรรดาผู้ให้บริการเกมต่างๆ ต้องปวดหัวอยู่เสมอ

     หลายคนมองหาสูตรสำเร็จ ว่าการทำตลาดเกมออนไลน์ในไทยนั้นจะมีสูตรสำเร็จให้เลือกใช้หรือไม่ ออกตัวก่อนเลยว่าตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้มีความรู้ความสามารถทางด้านการตลาดสักเท่าไหร่ เพียงแต่อยากจะสนอง Need ยกเอาสูตรต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในไทย นำมาแบ่งเป็นข้อๆ ให้ดู เผื่อว่ามันจะช่วยให้นึกภาพออกได้บ้างว่าสูตรต่างๆ เหล่านี้ใช้ได้ผลกับพวกเราชาวเกมเมอร์บ้างหรือไม่

เปิดไวเต็มเหนี่ยว สาย Pure Agi รีบเปิดรีบโกย

    สไตล์แรกที่อยากจะกล่าวถึงเลยก็คือสายที่เน้นความไวครับ ทุกอย่างจะมาพร้อมกับความรวดเร็ว มีการเตรียมการในการเปิดให้บริการเอาไว้ล่วงหน้าอย่างดีพร้อม และมาด้วยสเต็ปแรกคือ “ไม่เปิดเผยวันที่เปิดให้บริการล่วงหน้า” หลังจากได้จังหวะที่เหมาะสม ก็ทำการประกาศเปิด Close Beta หรือช่วงทดสอบอย่างฉับพลันภายใน 1 สัปดาห์ หรือบางทีน้อยกว่านั้นก็มี ส่วนใหญ่เกมที่มาสเต็ปนี้จะไม่ต้องใช้ Activate Code ในการสมัครไอดี เพราะต้องการทำเซอร์ไพร้ส์ให้กับเกมเมอร์ เห็นปุ๊บงงทันทีว่านี่เกมอะไร หาข้อมูลทางเว็บไซต์ เปิดหนังสือไป เปิดหนังสือมา รู้ตัวอีกทีล็อกอินเข้าเกมไปลองเรียบร้อยแล้ว

เปิดสายฟ้าแลบ

    ข้อดีของสไตล์นี้คือหากผู้ให้บริการมีความพร้อมทางด้านตัวเกมและเซิร์ฟเวอร์จริง ก็จะสามารถเรียกความสนใจจากเกมเมอร์ได้ และยิ่งหากมีเกมเมอร์ส่วนหนึ่งเข้ามาลองเล่นแล้วประทับใจ ก็จะเกิดการบอกต่อไปยังเพื่อนฝูงให้หันมาลองเกมใหม่ได้อย่างไม่ยากเย็น แต่ข้อเสียอย่างใหญ่หลวงก็คือหากมีข้อผิดพลาดในการให้บริการ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็อาจตกม้าตายได้ เพราะเกมเมอร์ไทยจำความประทับใจเกี่ยวกับเกมได้ดี แต่จำเรื่องไม่น่าประทับใจได้ดียิ่งกว่า ข้อเสียหรือความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย จะกลายเป็นหลุม Black Hole ได้เลยทีเดียว

เกริ่นมายาวนาน สาดไม่ยั้งทั้ง Teaser, PR และหน้าเว็บ

    สไตล์ต่อมาคือสไตล์ที่ตรงกันข้ามกับแบบแรก โดยสไตล์ที่ 2 นี้จะเน้นการพีอาร์หรือประชาสัมพันธ์ที่ค่อยๆ เผยรูปแบบของเกมทีละนิดๆ ให้ผู้เล่นได้รู้จักชื่อเกม เห็นโลโก้ ค่อยๆ รู้จักตัวละครแต่ละอาชีพทีละเล็กทีละน้อย มี Teaser หรือวิดีโอ Game Play ปล่อยมาให้ได้น้ำลายไหลกันเป็นระยะๆ วิธีนี้กระตุ้นต่อมอยากรู้และอยากเล่นของเกมเมอร์ได้เป็นอย่างดีทีเดียว ระยะเวลาที่ใช้ในการปล่อยของออกมาแบบเรื่อยๆ อาจจะกินไปนานเดือนกว่าหรือบางครั้งอาจเกิน 2-3 เดือน ในช่วงระยะเวลาเหล่านั้นเกมเมอร์ที่ได้รับรู้ข้อมูลก็อาจบอกต่อไปยังเพื่อนฝูงให้มาร่วมติดตามเกมใหม่นี้ด้วยกัน ทั้งหมดทั้งมวลสิ่งที่เกมเมอร์ทำได้ในระยะเวลานั้นคือการเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์หลักของเกม และคอยติดตามกำหนดวันเปิด Close Beta อย่างใจจดใจจ่อ

ค่อยๆ แง้ม ดูน่าสนใจ

    ข้อดีของสไตล์นี้คือมีระยะเวลาการประชาสัมพันธ์ออกทางสื่อต่างๆ นาน ทำให้จำนวนคนรับรู้ข้อมูลเกมแพร่กระจายไปได้มากกว่าปกติ อย่างน้อยๆ ก็ต้องรู้จักชื่อเกมและโลโก้กันบ้าง ดังนั้นโอกาสที่จะมีผู้เล่นพร้อมใจกันเข้ามาเล่นในช่วง Close Beta ก็ย่อมมีมากกว่า ในทางกลับกันข้อเสียก็มีไม่น้อย เพราะเกมเมอร์ที่ไม่ชอบการรอคอยก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน ในกรณีนี้ความเป็นได้ที่เกมเมอร์เหล่านั้นจะรู้จักเกมแต่ตัดสินใจที่จะไม่เล่นก็มีสูงพอๆ กัน ดีไม่ดีบางคนอาจรำคาญว่าเมื่อไหร่จะเปิดเสียที จนเลิกรอและหันไปลงหลักปักฐานกับเกมอื่นอย่างจริงจังจนไม่ได้ใส่ใจเกมใหม่นั้นเลยก็มี

มาเนิบๆ แต่เน้นกิจกรรม แจกใจป้ำ เอาไอเทมฟาด

    มีเกมออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่อาจเลือกวิธีนี้ โดยเฉพาะในช่วงการเปิด Close Beta และ Open Beta สไตล์นี้คือการขนเอาไอเทมสารพัดชนิดมาระดมแจกกันในหลากหลายกิจกรรม ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมีไอเทมเหล่านั้นในช่วงเริ่มต้นเกมจนถึงช่วงกลางเกม ผู้เล่นก็จะสามารถเล่นเกมนั้นได้อย่างสนุกและสบาย ไม่ต้องยากลำบากอีกต่อไป ยังไม่นับรวมกับเกมเมอร์อีกหลายคนที่เข้าลัทธิ “ชอบของฟรี” ยิ่งของฟรีเยอะกติง่ายได้ทุกคน ก็ยิ่งอยากจะเข้ามาเล่น และที่สำคัญเกมที่มาสไตล์นี้ส่วนใหญ่จะต้องมีกิจกรรม Friend get Friend หรือเพื่อชวนเพื่อน ยิ่งชวนมากก็ยิ่งได้ไอเทมกันไป 3 ต่อ 4 ต่อ เนียนกันไปอีกยาว

พิเศษ! เพียงเข้าเล่นช่วงเดือนแรกที่เกมเปิดรับไอเทมทั้งหมดนี้ฟรี!

    จะว่าการแจกไอเทมเป็นวิธีที่ดีก็น่าจะไม่ผิด เพราะเป็นการทำในสิ่งที่ค่อนข้างจะตรงกับความชอบของคนเล่นเกม จริงอยู่ที่บางคนเลือกเล่นเกมจากฟีเจอร์หรือ Title ที่ตัวเองชอบ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ชอบเล่นเกมที่เน้นความสบาย ยิ่งมีไอเทมช่วยเหลือเยอะๆ ยิ่งชอบเล่น เพราะใช้เวลาไม่นานก็สนุกกับตัวเกมได้ราวกับเติมเงินด้วยตัวเอง ส่วนข้อเสียก็มีเหมือนกัน เพราะหลายเกมที่มีแจกไอเทมในช่วงแรกเยอะๆ แบบนี้ ทำให้ผู้เล่นเข้าใจว่าเกมเล่นง่าย เล่นสบาย เดี๋ยวเล่นถึงเลเวลนี้ก็มีไอเทม เล่นไปถึงตรงนั้นก็มีกิจกรรม เอาไอเทมนี้ไปใช้ทำอย่างนู้น ไปปั๊มเลเวลตรงนี้ หรือแม้แต่บางเกมให้วาร์ปฟรี หรือสิทธิพิเศษบางอย่างฟรี แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นหมดลงภาพในหัวของเกมเมอร์มีคำเดียวคือ “คดีพลิก” ผู้เล่นอาจรู้สึกว่ามันเป็นเกมที่ยากมากๆ จู่ๆ วาร์ปที่เราควรจะใช้ได้ก็กลายมาเป็นต้องเดินฝ่าดงมอนสเตอร์ด้วยความยากลำบาก ไอเทมที่ควรจะมีกลับกลายเป็นต้องเติมเงินเพื่อให้ได้มันมา แม้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของฟรีที่ตัวเองเคยได้รับ แต่เชื่อเถอะครับว่าจะต้องมีสะอึกกันบ้างเมื่อมันไม่ได้รับอีกต่อไป และอาจลงท้ายด้วยการเลิกเล่นโดยมิได้เติมเงินสักบาทเดียว

ฝากไว้ก่อนจบ

    3 สไตล์ที่ผมยกมาให้เห็นภาพกันนั้นเป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้นครับ มันยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แต่ละค่าย แต่ละเกม จะงัดเอามาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อครองใจเกมเมอร์กันได้อีกตั้งมากมาย แต่หากเราลองมองดูดีๆ แล้วจะเห็นสิ่งที่เหมือนกันในทุกรูปแบบ นั่นก็คือทุกรูปแบบมุ่งไปที่ “ความต้องการของผู้เล่น” เป็นสำคัญ สุดท้ายสิ่งที่อยากฝากไว้ก่อนจบบทความนี้มี 2 มุมใหญ่ๆ ครับ

    หากคุณเป็นผู้ให้บริการเกม...จงอย่าลืมว่าครั้งหนึ่งคุณเคยเป็นคนเล่นเกม
    หากคุณเป็นคนเล่นเกม...จงอย่าลืมว่าหากคุณไม่บอกความต้องการ ใครก็ไม่อาจสร้างสิ่งนั้นให้คุณได้

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ