EA เลิกคบ Saluzi หันไปซบ Zest
อะไรจะเกิดขึ้นกับเกม EA ในไทย
ช่วงที่ผ่านมา คงไม่มีกระแสในวงการเกมเรื่องไหน จะร้อนแรงไปกว่ากรณีที่ EA ตัดสินใจฉีกสัญญากับทาง Saluzi ทิ้ง ก่อนหน้าการวางจำหน่ายเกม Battle Field 3 แค่ไม่กี่สัปดาห์
ซึ่งได้สร้างความมึนงงให้กับหลายฝ่าย ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วทำไมอยู่ดีๆ Zest ก็ออกมาประกาศว่าได้ลิขสิทธิ์ EA ในไทยต่อจาก Saluzi แบบสายฟ้าแล่บ วันนี้เรื่องราวที่ชวนน่าพิศวงเรื่องนี้ เรามีคำตอบให้แล้วครับ
"วลีเด็ดของผู้บริหารจากทั้งสองฝั่ง"
ต้นสายปลายเหตุ
บ่ายของวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางทีมงานก็ได้รับภาพจดหมาย ผ่านมาทาง Facebook ซึ่งออกโดยทาง Saluzi (ตัวแทนจำหน่าย EA ในไทย) ซึ่งในเนื้อความระบุว่า “ทาง EA สิงคโปร์ (ที่ดูแลแถบ Southeast Asia ทั้งหมด) ได้ทำการยกเลิกสัญญากับทาง Saluzi ในวันที่ 11 ต.ค. และจะหยุดส่งของนับตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. เป็นต้นไป และทาง Saluzi จะทำการคืนเงินให้กับลูกค้าที่จองเกม Battle Field 3 ทั้งหมดโดยทันที”
เมื่ออ่านจดหมายฉบับดังกล่าวจบ มีคำถามผุดขึ้นมาทันที 2 เรื่อง เรื่องแรกคือมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมทาง EA ถึงยกเลิกสัญญากับพันธมิตรที่ต่อสู้ตลาดในไทยอย่างแข็งขันเช่น Saluzi
อย่างที่สองคือชะตากรรมของเกม EA ในไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะเกม Battle Field 3 ที่กำลังสั่งจองกันอยู่?
ในสภาวะที่หลายฝ่ายกำลังมึนงง และสับสนกับเหตุการ์ณที่เกิดขึ้นอยู่นั้น (เรียกได้ว่าต้องคอยเช็คข่าวกันแบบนาทีต่อนาที) ในที่สุดเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ทุกอย่างก็มาถึง “บางอ้อ” เมื่อเว็บไซด์หลักของทาง Zest ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า “Zest ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายเกม EA ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ”
แฟน Battle Field 3 หลายท่านเริ่มมีความหวัง ว่าอย่างน้อยตัวเกมคงไม่ได้หายไปไหน ก็แค่การเปลี่ยนคนถือลิขสิทธิ์ต่อในไทย แต่เมื่อลองมาวิเคราะห์ถึงเหตุการ์ณนี้กันดูดีๆ มีหลายอย่างที่น่าสนใจ มากกว่าแค่การได้เล่น หรือไม่ได้เล่นเกม Battle Field 3
เกิดอะไรขึ้นระหว่าง Saluzi กับ EA
Saluzi กับ EA นั้นได้ทำสัญญากันไว้ทั้งหมด 3 ปี (สัญญาหมดอายุ พ.ค. ปีหน้า) ซึ่งสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การยกเลิกสัญญาคือ EA ได้กล่าวหาทาง Saluzi ว่า “มีการนำเกมของ EA จำหน่ายนอกราชอนาจักรไทย ซึ่งเป็นการละเมิดสัญญา ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทาง EA จะขอยกเลิกสัญญากับทาง Saluzi โดยทันที แม้ว่าจะยังไม่หมดอายุสัญญาก็ตาม”
ซึ่งทาง Saluzi ได้ยืนยันว่า ไม่ได้มีการจำหน่ายเกมออกนอกประเทศ อย่างที่ EA กล่าวหา แต่ถ้ามีจริงๆ อาจเป็น ดีลเลอร์ (พ่อค้าคนกลาง) ที่มาซื้อเกมจาก Saluzi นำไปขายต่อประเทศอื่นมากกว่า ซึ่งตรงนี้ทาง Saluzi เอง ก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นสิทธิของดีลเลอร์
และทาง Saluzi เชื่อว่า กรณีนี้น่าจะมาพูดคุยกันได้ ไม่ใช่มายกเลิกสัญญากันดื้อๆ และที่สำคัญในตัวสัญญายังระบุด้วยว่า หากมีการบอกเลิกสัญญา จะต้องมีการพูดคุยกันก่อนบอกเลิกอย่างน้อย 1 เดือน ไม่ใช่ตัดขาดกันเลย
นอกจากการบอกเลิกสัญญาแล้ว สิ่งที่ EA ทำไว้กับ Saluzi แบบน่าเจ็บใจสุดๆ คือ ช่วงไตรมาส 4 ทาง Saluzi ได้มีการจ่ายเงินให้ EA ล่วงหน้า เป็นค่า License (ลิขสิทธิ์) จำนวน 75,000$ จากจำนวนเต็มที่ต้องจ่าย 200,000$ เพื่อการันตียอดขอจอง Battle Field 3 แต่ปรากฏว่าทาง EA กลับหุบเงินจำนวนดังกล่าวไป ก่อนจะบอกยกเลิกสัญญา พร้อมทั้งแจ้งทาง Saluzi ว่า ทางคุณได้ติดค้างค่า License อยู่ ซึ่งทาง Saluzi การันตีว่าไม่มียอดค้างชำระแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลประกอบหลายอย่าง ที่ทาง Saluzi เองก็ดูออกว่าเหมือนเป็นสัญญาณเตือน ว่าทาง EA อาจมีการยกเลิกสัญญาเช่น การขึ้นราคาสินค้า, การส่งสินค้าล่าช้า หรือการลาออกของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลประเทศไทย (คนที่สนิทกับทาง Saluzi) เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้
Saluzi ที่ขาด EA จะเป็นอย่างไรต่อไป
ธุรกิจหลักของทาง Saluzi ตลอด 2 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา คือการเป็นตัวแทนจำหน่ายเกมของ EA ซึ่งถือได้ว่าเป็นธุรกิจหลักเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะการมาของเกม Battle Field 3 ที่ทาง Saluzi ได้ประมาณการไว้ว่า จะทำให้ธุรกิจโตขึ้นจากปีก่อนถึง 100% และน่าจะมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 80 ล้านบาท
แต่เมื่อ EA ยกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่าย แน่นอนว่าตอนนี้ทาง Saluzi เองก็ต้องขอปรับกระบวนทัพกันใหม่ เพราะก่อนที่ Battle Filed 3 จะวางจำหน่าย ทาง Saluzi ได้มีการเพิ่มจำนวนดีลเลอร์ตามต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นจาก 100 ราย เป็น 300 ราย เพื่อรองรับการกระจายสินค้าให้ทั่วถึง รวมไปถึงการเปิดรับจองสินค้าล่วงหน้า
ซึ่งจากการสอบถาม ทางผู้บริหารของ Saluzi ขอเวลาในการคิดหาแผนธุรกิจใหม่ถึง 3 เดือน โมเดลที่คิดเอาไว้ก็มีตั้งแต่ การหาเกมมาจำหน่ายต่อ (มองหาในตลาดอื่นเช่น รัสเซีย), การเปิดให้บริการเกมออนไลน์ หรืออาจจะทำธุรกิจด้านอื่นซึ่งไม่ใช่วงการเกม
หากประเมินตามสถานการ์ณที่เกิดขึ้น ต้องบอกว่าทาง Saluzi ได้รับความเสียหายค่อนข้างหนัก ทั้งการลงทุนเพื่อรองรับการมาของ Battle Field 3, การโดนริบเงิน 75,000$ ที่จ่ายล่วงหน้าของไตรมาส 4 และการโดนบอกยกเลิกสัญญาก่อนหมดอายุ ก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่าทาง Saluzi จะปรับกระบวนทัพธุรกิจไปในทิศทางใด
ต่อไปนี้ราคาในไทย ไม่มีคำว่า “ถูก”
จากข้อมูลที่ได้รับมาทั้งสองแหล่ง มีข้อมูลหนึ่งที่ได้รับมาตรงกันคือในเรื่องของราคา คือจากนี้ไป การจำหน่ายเกมของ EA จะต้องไม่มีการขายต่ำกว่าราคากลางที่ EA สาขาใหญ่ประกาศ มีผลบังคับใช้ทุกประเทศ นั่นหมายความว่า ถ้า EA สาขาใหญ่ประกาศออกมาว่าเท่าไหร่ ตัวแทนแต่ละประเทศต้องไปบวกราคาเพิ่มกันเอาเอง
ซึ่งในประเทศไทยมีภาษามูลค่าเพิ่ม ที่ต้องบวกแน่นอน 7% ส่วนดีลเลอร์ที่รับเกมจากตัวแทน EA ไปจำหน่ายต่อ ก็ต้องบวกราคาเพิ่มไปเองอีกขั้นตอนหนึ่ง ผลกระทบสำหรับสาวกของ EA คงหนีไม่พ้นกับการเผชิญกับราคาที่จะแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว
คำถามคือ แล้วทาง EA ไม่ใส่ใจกับยอดการซื้อที่จะลดลง หรือการหันไปเล่นเกมเถื่อนมากขึ้นเลยเหรอ? คำตอบในข้อนี้ ผมได้สอบถามทาง Zest ที่เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ EA ในไทย ซึ่งก็ได้คำตอบที่น่าสนใจมาว่า “จากนี้ไปทาง EA มองว่าในส่วนของตลาด PC หรือ Console คงไม่ใช่ตลาดหลักที่ทาง EA จะโฟกัสเหมือนที่ผ่านๆ มา เพราะในปัจจุบัน EA มองไปถึงแพลทฟอร์มอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Online หรือ Social แต่สำหรับประเทศไหนที่การจำหน่ายยังพอไปได้ ก็คงดำเนินการต่อไป ไม่ใช่ว่าจะทิ้งเลยเสียทีเดียว”
คำตอบนี้ทำให้ผมฉุดคิดคิดมาได้ว่า หรือ EA จะมองตัวเองว่าเป็นองค์กรที่ผลิตคอนเทนท์เกม โดยไม่สนใจแพลทฟอร์มอีกต่อไป นั่นหมายความว่าอนาคตเราอาจเห็น Battle Field ใน Facebook เหมือนที่ทำกับ SIM หรือเปล่า
เพราะหากลองดูจากประวัติย้อนหลังดีๆ ทาง EA ได้กว้านซื้อบริษัทที่พัฒนาเกมแพลทฟอร์มอื่นมาแล้วมากมายเช่น การซื้อบริษัท J2M (เกาหลี) ที่พัฒนาเกม Raycity ซึ่งพร้อมซัพพอร์ตในแพลทฟอร์ม Online หรือการซื้อ Playfish ที่พัฒนาแพลทฟอร์มเกม Social น่าจับตามองว่าปีหน้า EA จะขยับตัวเองไปในทิศทางไหน เพราะต่อไปนี้เราคงจะได้ยินคำว่า “EA & Money” มากขึ้นเป็นแน่
ทำไม EA ถึงเลือก Zest
เมื่อจิ๊กซอว์ต่อกันจนครบ ภาพรวมที่ประเมินได้สำหรับการที่ EA ย้ายมาเป็นพันธมิตรกับทาง Zest ก็คือ การที่ Zest ซึ่งถูกควบรวมกิจการกับ MOL สามารถรองรับแผนงานในอนาคตของทาง EA ได้มากกว่าที่จะผูกพันธ์ต่อกับทาง Saluzi (ที่เน้นแต่การขายเกมกล่องอย่างเดียว และมักจะต่อรองเรื่องราคาให้ต่ำ ซึ่งขัดต่อแผนงานในอนาคตของ EA)
และ MOL ในต่างประเทศ นอกจากจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังสามารถเป็นช่องทางการจ่ายเงินในระบบเกม Social ให้กับ EA ได้
หรือหาก EA จะเดินหมากในแพลทฟอร์ม Online ทาง MOL ก็มีพันมิตรทางธุรกิจที่พร้อมจะซัพพอร์ตทันที อย่างเช่นการเปิดเซิรฟ์เวอร์ Battle Field 3 ในไทย (อาจจะเห็นในเร็วๆ นี้) ที่สำคัญการที่ MOL มี Zest อยู่ในมือ ยังเติมเต็มแผนธุรกิจเดิม นั่นคือการขายเกมกล่องได้อยู่
หากมองในแง่ของธุรกิจแล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า MOL ที่มี Zest อยู่ในมือ มีอำนาจต่อรองทางธุรกิจที่เหนือกว่า Saluzi หลายขุม และ MOL ในต่างประเทศ ก็ครอบคลุมการดูแลทั่วทั้ง Southeast Asia และอินเดีย คล้ายกับ EA เช่นกัน
เพื่อป้องกันการสับสนสำหรับเกม EA ที่วางขายในท้องตลาด ผมขอชี้แจ้งแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า เกมที่เป็นของทาง Saluzi ก็ยังคงมีการจำหน่ายต่อไปจนกว่าของจะหมด (แต่ไม่มีการเพิ่มของ) ส่วนเกมที่ Zest เริ่มจำหน่ายจะมีเฉพาะเกม Battle Field 3 อนาคตอาจมีการสั่ง SIM3 มาเพิ่มต่อไป ดังนั้นแฟนเกม EA อาจจะลองเช็คข้อมูลกับทาง Saluzi และ Zest ได้โดยตรง
เกมต่างๆ เหล่านี้กำลังได้รับผลกระทบ