Exclusive Scoop : เกมเมอร์ยุคตั๊กแตน

แชร์เรื่องนี้:
Exclusive Scoop : เกมเมอร์ยุคตั๊กแตน
เกมเมอร์ยุคตั๊กแตนเขียนโดย : LannaJr.
จากคอลัมน์ Exclusive Scoop นิตยาสาร Weekly Online Magazine
ฉบับที่ 397 ประจำวันที่ 17 - 21 มกราคม 2554

        รู้หรือไม่? ว่าพฤติกรรมเกมเมอร์ในปัจจุบันนี้กำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “ยุคตั๊กแตน” ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาพฤติกรรมนี้ดูจะชัดเจน จนไม่มีอะไรจะมาหยุดลงได้!

        รู้ไหมว่าทำไมถึงเรียกว่ายุคตั๊กแตน ลองอ่านนี้ดูก่อนนะครับ “ตั๊กแตนคือแมลงที่สามารถกินได้ทุกสิ่งที่ขวางหน้าไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ ในคัมภีร์ไบเบิ้ลของศาสนาคริสต์มีบันทึกกล่าวถึงภัยพิบัติจากตั๊กแตนไว้ว่า ในวันที่พระเจ้าจะพิพากษาโลก พระองค์จะปลดปล่อยฝูงตั๊กแตนมายังแผ่นดินโลกและให้ทำร้ายคนพวกนอกรีต โดยจะไม่ให้ตายทันที แต่จะให้ทุกข์ทรมานห้าเดือน ซึ่งมันเป็นสัญญาณเตือนสุดท้ายก่อนถึงวันสิ้นโลก”
เริ่มเห็นเงาลางๆ หรือยังครับว่ามันเหมือนกันตรงไหน เอาเป็นว่าผมจะขยายความเพิ่มเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

ยุคแรก “ยุคแพนด้า”

        พฤติกรรมของเกมเมอร์ในยุคแรกของเกมออนไลน์ จะจริงจังและภักดีกับเกมที่ตัวเองเล่นโคตรๆ เล่นกันเป็นปีๆ โดยไม่มีเบื่อ เล่นกันจนแทบจะนับญาติกันได้เลย และด้วยความที่เล่นด้วยกันนานๆ จึงเกิดคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่ง จะสังเกตได้จากความแน่นแฟ้นของกลุ่มคนที่สนิทกว่าเพื่อนนอกจอเสียอีก การนัดมิตติ้งเพื่อพบปะระหว่างกิลด์มีให้เห็นบ่อยๆ ถึงแม้สถานที่ยอดฮิตช่วงนั้น จะทิ้งดิ่งกันแต่ร้านหมูกระทะกันก็ตามที

        นั่นก็เพราะยุคนั้นเกมออนไลน์เปิดให้บริการแค่ไม่กี่เกม คนเล่นก็ถูกจัดเป็นกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม ในยุคแรกเกมเมอร์จึงต้องพิสูจน์ตัวเองให้สังคมได้รับรู้ ว่าการเล่นเกมก็นำพามา ซึ่งสังคมดีๆ ได้เช่นกัน ความเหนียวแน่นของเกมเมอร์ยุคแรก ยังมีให้เห็นมาจนถึงปัจจุบันถึงแม้หลายคนจะมีลูกมีหลานกันไปแล้ว แต่ความทรงจำครั้งเก่ายังหอมหวนในใจอยู่เสมอ

        ถ้าจะให้หาคำนิยามในยุคนั้นก็คงไม่มีคำใดเหมาะไปกว่าคำว่า “ยุคแพนด้า” เพราะซื่อสัตย์กับการกินไผ่จนไม่แตะอย่างอื่น (เปรียบเทียบถึงการจริงจังกับเกมที่ตัวเองเล่น) แถมยังเล่นกันหามรุ่งหามค่ำจนขอบตาดำ โดยไม่คิดอยากจะเลิกเล่นแต่อย่างใด

ยุคที่สอง “ยุคตั๊กแตน”

        จนวันหนึ่งบรรดาเจ้าของสวนเริ่มมีหลายเจ้า และเริ่มปลูกพืชพันธุ์อื่นที่มากกว่าต้นไผ่ ทำให้สวนที่ชื่อว่า “ตลาดเกม” มีความหลากหลายทางชีวภาพ จนทำให้สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแพนด้าที่กินแต่ไผ่ค่อยๆ กลายพันธุ์เป็นตั๊กแตน ที่สามารถกินได้ทุกอย่าง

        จากสวนที่หลากหลายทำให้ฝูงตั๊กแตนเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว สังคมที่เคยรักกันเหมือน “หลินปิง” กับ “ช่วงช่วง” ก็กลายเป็นสังคมที่ต่างคนต่างอยู่ ถึงแม้ว่าจะรวมตัวกันเป็นฝูงแต่ก็ไม่ได้สนิทสนมหรือมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเหมือนครั้งเก่า ซึ่งนำมาสู่วัฒนธรรมการบริโภคที่มีการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด สามารถจัดประเภทออกได้ดังนี้

ตั๊กแตนที่กินจนเหี้ยน

        พฤติกรรมนี้จะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การที่เราบอกกับคนอื่นๆ ว่า “เห้ย เกมนี้สนุกโคตร ข้าตกลงใจละ เล่นเกมนี้แหละยาวๆ” แน่นอนคำว่า “ยาวๆ” ในปัจจุบันจะเฉลี่ยอยู่ประมาณ 2-5 เดือน ซึ่งด้วยระยะเวลาแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการจะเข้าใจระบบของตัวเกม เหตุผลที่ทำให้เลิกมีหลายสาเหตุ เช่น เลเวลตัน, แพตช์ใหม่ไม่มา, เจอเกมใหม่ที่น่าสนใจกว่า เป็นต้น (โดยรวมก็คือเบื่อนั่นแหละ)

        ส่วนใหญ่คนที่จะเป็นแบบนี้ได้ คือต้องสนใจเกมนั้นจริงๆ หรือมีคอมมูนิตี้อยู่บ้าง ซึ่งหลังจากที่ฟันธงว่าเกมนี้แหละ ก็จะพากันเล่นด้วยความสนุก เริงร่าอยู่กับพืชพันธุ์ที่ตัวเองชื่นชอบ แต่เมื่อวันหนึ่งตั๊กแตนร่วมก๊วนเริ่มล้มหายตายจาก หรือสารอาหารอัดแน่นเต็มท้องแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องโบกมือลาก่อน ทิ้งไว้แต่รอยแทะอันสวยงามในความทรงจำ..

ตั๊กแตนนักชิม

        ตั๊กแตนประเภทนี้อาจจะเข้ามาชิมรสชาติในช่วงตัวอ่อน อาจจะช่วง CB หรือ OB ไม่ว่าระยะไหนก็ตาม สุดท้ายผลลัพธ์ก็เหมือนกัน คือเล่นได้ไม่เกิน 7 วัน ก็มีอันลาจาก สาเหตุน่าจะมาจากโดนกระแสพาไป แต่สุดท้ายเมื่อมาลองเองก็ค้นพบว่า รสชาติไม่ได้เป็นอย่างที่ตัวเองคิดไว้

         ในกรณีนี้ถ้าเกิดกับเกมฟอร์มใหญ่กระแสดี อาจจะไม่ส่งผลอะไรมากเท่าไหร่ แต่ถ้าเกิดกับเกมฟอร์มเล็กรับรองเตรียมตัวบ๊ายบายจากสวนได้เลย

ตั๊กแตนสายตานักปราชญ์

        อันนี้ถือว่าเป็นขั้นเทพสุดของเหล่าตั๊กแตน เพราะแค่เห็นรูปสกรีนช็อต, วิดีโอเกมเพลย์หรือฟีเจอร์หลักๆ ของเกม ก็สามารถตัดสินได้แล้วว่าเกมเป็นแบบไหน ส่วนใหญ่เกมเมอร์ที่จะมาถึงขั้นนี้ได้ จะต้องมีประสบการณ์ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว ดังนั้นระยะเวลาที่เขาจะตัดสินใจเล่นเกมดังกล่าวจึงเท่ากับ 0 (บางครั้งก็มีเหตุผลประกอบอย่างอื่นเช่น เกมนั้นไม่ใช่เกมที่ตัวเองถนัดหรือนิยม หรือบริษัทที่เปิดให้บริการก็มีส่วนในการตัดสินใจ)

ส่วนข้อสรุปสุดท้ายของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร!?
หาอ่านได้จาก Weekly Online Magazine ฉบับที่ 397

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ