หลังจากคราวที่แล้วได้แนะนำชาวต่างชาติไปแล้ว 2 คน ที่ประสบความสำเร็จในแวดวงอุตสาหกรรมจากประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของเกม ซึ่งก็คือประเทศญี่ปุ่น และครั้งนี้ก็จะมีอีก 2 คนที่เป็นชาวต่างชาติแต่ได้ทำงานอยู่ในบริษัทเกมญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ไม่ใช่เชื้อชาติชาวซามูไร แต่อยู่ในเบื้องหลังความสำเร็จของเกมต่างๆ นั่นเอง
คนที่สาม นาย Jean Pierre Kellams เขาเริ่มวางฐานตัวเองใน Capcom ทำเกมภายในให้กับบริษัทอย่าง God Hand, Monster Hunter และ Phoenix Wright Ace Attorney: Justice for All ล่าสุดก็คือเขียนเนื้อเรื่องและร่างสคริปต์ให้เกม Bionic Commando จนตุลาคม ค.ศ. 2007 เขาย้ายไปอยู่ Platinum Games ทำเกม Bayonetta รวมทั้งเป็นผู้ช่วยเขียนและดัดแปลงบท MadWorld
คำแนะนำจาก Jean Pierre Kellams:
ภาษาญี่ปุ่นไม่ใช่ทางเลือก
อยู่ในญี่ปุ่น ก็ต้องพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ถ้าไม่อยากถูกไล่ออก คุณจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ตัวเองสามารถติดต่อพูดคุยและปฏิสัมพันธ์กับบริษัทอื่นๆด้วยภาษาของพวกเขาเองได้ แค่พูดภาษาของเขาได้ก็ช่วยไปได้มากแล้ว
ทำงานให้หนักขึ้น ดีขึ้น เร็วขึ้น แข็งขันขึ้น
สำหรับบริษัทในญี่ปุ่นที่จะจ้างคุณ โดยเฉพาะคุณๆ ที่อยู่ต่างประเทศ พวกเขาต้องเตรียมการอย่างหนัก การสมัครงานเป็นนักพัฒนาเกมนั้นต้องสัมภาษณ์และทดสอบเป็นกระตั้ก ไหนจะเรื่องวีซ่า ซึ่งถ้าคุณยังไม่มี การเตรียมเอกสารก็จะใช้เวลาเป็นเดือนๆ ถ้าใบอนุญาตบอกว่าคุณสมควรได้รับมัน การขอวีซ่าก็จะผ่านเอง
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณจะต้องจริงจังกับสิ่งที่ขอให้บริษัทช่วย กับความพยายามที่บริษัทเตรียมให้คุณ คุณต้องโดดเด่นให้เขารู้สึกว่าดีกว่าการจ้างคนอื่น คนญี่ปุ่นเป็นพวกบ้าทุ่มเทมากและมีพรสวรรค์พอๆกัน คุณอาจจะได้เปรียบหน่อยด้วยภูมิหลังที่ทำให้รู้ซึ้งถึงสิ่งต่างๆได้ต่างออกไปตามหลักความงาม หลักวิชาการ และหลักภาษา อย่างไรก็ตาม คุณต้องทำให้สิ่งที่มีอยู่นั้นสมบูรณ์ด้วยความสามารถที่เทียบเท่าหรือสูงกว่าผู้สมัครชาวญี่ปุ่นที่เหมือนๆกัน ท้ายที่สุด มันต้องคุ้มค่าสำหรับบริษัทที่เขาจะต้องหางานเพิ่มเข้ามาและเสี่ยงกับการจ้างคุณ
(ข้อยกเว้นสำหรับเรื่องนี้ คือ โปรแกรมเมอร์ที่มีฝีมือระดับสูง การวิจัยมากมายและเทคนิคใหม่ต่างๆนั้นเกิดขึ้นในฝั่งตะวันตก ฉะนั้นคนญี่ปุ่นจึงเปิดรับโปรแกรมเมอร์ฝีมือดีมากขึ้นโดยไม่มีข้อยกเว้น เงินเดือนก็ต่างออกไป ผมเลยไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นประสบความสำเร็จแค่ไหนในเมื่อมีแต่คนเขียนโค๊ดเปี่ยมพรสวรรค์จากต่างแดน แต่บางทีบริษัททั้งหลายในญี่ปุ่นอาจจะเป็นกลุ่มที่มองหาโปรแกรมเมอร์ที่มีความสามารถและมากประสบการณ์มากที่สุดในโลกก็ได้)
ชีวิตมันไม่ได้เป็นอย่างที่คาดฝันไว้หรอก
การจะใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องจำอะไรใส่ใจไว้อย่างนึง ไม่ว่าพาสปอร์ตจะระบุไว้ว่ายังไง คุณจะรู้จักใคร รู้จักญี่ปุ่น หรือรู้จักภาษามากแค่ไหน คุณก็ไม่มีวันเป็นคนญี่ปุ่นแท้ๆ เวลาไปร้านหนังสือก็มีหนังสือภาษาบ้านเกิดตัวเองให้เลือกน้อย เวลาไปร้านค้าก็ต้องรู้สึกอึดอัดตอนคนขายทำท่าตกใจที่คุยกันรู้เรื่อง (ไม่ก็รู้สึกอึดอัดที่คนขายทำท่าตกใจที่คุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะ คุณดูเป็นคนเอเชียแต่พูดญี่ปุ่นไม่เป็น) ความต่างระหว่างคุณจะกลายมาเป็นบทสนทนาในออฟฟิศ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกแปลกตามพวกเขาไหมก็ตาม
นี่ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายนะ ในหลายๆกรณี มันก็นำมาซึ่งประสบการณ์แปลกใหม่ แต่กลับกันมันก็ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยหน่ายได้เหมือนกัน ถ้าคุณปรับตัวไม่ได้ในทุกๆด้านกับการต้องอยู่ไกลจากบ้าน คุณคงไปไม่รอดแน่
โอตาคุอย่าริสมัครเชียว
หลายๆ คนคิดว่ายิ่งซึมซับความเป็นญี่ปุ่นเข้าไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งช่วยให้ได้งานมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่เลย ไม่ว่าคุณจะรักอนิเมะ J-pop หนังญี่ปุ่น หรืออะไรก็ตามมากเท่าไหร่ มันก็ยังมีคนญี่ปุ่นที่รู้เรื่องพวกนั้นดีกว่าคุณ เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว พวกเขาโตมากับของพวกนี้ แถมยังซึมซับสิ่งที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายสอนเข้าอีก
ถ้าจุดขายของตัวคุณ คือ ไอเดียการเชื่อมโยงกันระหว่างวัฒนธรรมกับความรู้ พยายามเสนออะไรใหม่ในห้องที่คนในนั้นมีพื้นฐานมาเหมือนกันหมด ต้องไม่ใช่ด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับนารูโตะเป็นกระบุง หรือไม่ใช่เอาพอร์ตที่มีแต่ภาพออกแบบลายเส้นอนิเมะไปให้เขาดู คุณต้องทำโดยที่รู้ต่างออกไปว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ยังไงบนพื้นฐานของพวกเขา หรือแสดงพอร์ตที่มีแรงบันดาลใจและระดับหลากหลาย
พอใจกับความต่าง สู้เพื่อความเหมือน
คุณจะถูกคาดหวังให้ต่างออกไป แต่ต้องเหมือนด้วย คุณอาจจะได้รับมอบหมายงานที่คั่งค้างเนื่องด้วยภูมิหลังที่ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ เขาคาดหวังกับพนักงานญี่ปุ่นยังไงก็คาดหวังกับคุณอย่างนั้นแหละ ด้วยกฎและมารยาทบางทีสิ่งที่ “ผิด” ก็ต้องกลายเป็น “ถูก” ตั้งแต่สั่งคุณแจกใบปลิวในงานพบปะ ไปจนถึงสั่งให้รวบรวมข้อมูลไปจัดหาซื้อของ หรือกระทั่งการขอโทษ (ถ้าไม่ได้ถาม ไม่ต้องไปอธิบาย ก้มหน้าขอโทษอย่างเดียว) ต้องคำนึงถึงความคาดหวังจากเจ้านายด้วย
อย่างไรก็ตาม คุณต้องพอใจกับความต่างของตัวเองด้วย คุณไม่ใช่คนญี่ปุ่น และนั่นคือสิ่งที่เขาล่ะต้องการ อย่ากลัวที่จะเอ่ยความคิดเห็นในมุมมองที่ต่างออกไป แค่อย่าพูดมากเกินไปก็พอ เขารู้อยู่แล้วล่ะตั้งแต่ตอนจ้างว่าคุณไม่ใช่คนญี่ปุ่น ดั้งนั้น รักษาตรงนี้ไว้ด้วย
คนที่สี่ นาย Dylan Cuthbert ผู้ก่อตั้งบริษัท Q-Games ในเกียวโต ผู้สร้างเกม PixelJunk สุดฮิตใน PSN เขาเริ่มเข้าวงการนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 กับ Argonaut Software ต่อมาก็มาทำงานในประเทศญี่ปุ่น ที่กรุงเกียวโตกับเกม Starfox และ Starfox II ช่วงระหว่างยุค 1990 เขาเป็นหัวหน้าโปรแกรมเมอร์ทั้งที่ Sony Computer Entertainment of America และ Sony Computer Entertainment of Japan ซึ่งตอนนั้นเขาเป็นคนออกแบบเกม Ape Escape บนเครื่อง PS2
คำแนะนำจาก Dylan Cuthbert:
ตีสนิทกับพวกเขาสิ
ไปเที่ยวกับพวกพนักงานชาวญี่ปุ่นบ้าง ไปก๊งเหล้าด้วยกัน ทานมื้อเย็นด้วยกัน เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันซะ นี่เป็นหนึ่งเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดแล้ว ถ้ามัวแต่คบหากับคนนอกก็จะมีแต่สร้างความแตกแยก โดยเฉพาะเรื่องความเข้าใจระหว่างกันเนี่ย
เรียนภาษาญี่ปุ่นซะ!
ไม่ต้องอ้างอะไรเลย ในอินเตอร์เน็ตก็มีตั้งเยอะ แถมส่วนใหญ่ก็ฟรีด้วย เทียบกับสมัยก่อนที่ยังไม่มีเว็บไซต์ใช้กันแล้วมันง่ายกว่าตั้งเยอะนะ
พูดภาษาญี่ปุ่นด้วย!
ได้เมื่อไหร่ก็พูดญี่ปุ่นซะ และต้องพูดให้เยอะขึ้นกว่าเดิม ลองไปกินเหล้าดูแล้วเดี๋ยวจะรู้ว่าตัวเองนี่พูดได้ปร๋อเลยแหละ!
เปิดใจซักหน่อย
วัฒนธรรมของญี่ปุ่นนั้นต่างกับของตะวันตกมาก และเป็นจุดเล็กๆมากมายที่ไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น คนส่วนใหญ่บอกว่าญี่ปุ่นไม่ชอบพูดตรงไปตรงมา แต่ในสังคมทีมทำเกมแคชชวลแล้วมันไม่ใช่ (ในด้านการถกปัญหาทางธุรกิจเท่านั้น) ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ตรงไปตรงมาสุดๆแล้ว ส่วนมากคำแสดงอารมณ์คำนึงในภาษาญี่ปุ่นนี่แปลเป็นอังกฤษได้เป็นประโยคๆเลยนะ
อย่าเอาไปเปรียบเทียบกันเลย
อย่าบ่นว่าทำไมไม่เหมือนที่บ้านเราเลย คนนอกส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น ที่ญี่ปุ่นมีของดีๆเพียบและมีวัฒนธรรมโดดเด่นเจ๋งๆก็เพราะว่าเขาไม่เหมือนที่ฝั่งตะวันตกไง จำความเท่าเทียมตรงนี้เอาไว้ และผมก็จะพูดอย่างเดียวกันกับคนญี่ปุ่นที่ไปอยู่และทำงานในอเมริกาแล้วโอดครวญว่าทำไมมันไม่เหมือนที่ญี่ปุ่นเลย แต่ละวัฒนธรรมและแต่ละประเทศมันเป็นตัวของตัวเอง สังคมโลกไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันหรอก ไม่งั้นเบื่อตายเลย
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับคำแนะนำของนักล่าฝันจากฝั่งตะวันตกที่เข้ามาเสี่ยงดวงเสี่ยงชะตาจนได้ดิบได้ดีเป็นคนทำเกมที่ญี่ปุ่น จริงอยู่ ที่พวกเขาไม่ใช่คนไทย เป็นคนฝั่งตะวันตก พูดภาษาอังกฤษ แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ทั้งเขาและเราก็คือ “คนนอก” ที่ไม่ได้พูดภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาถิ่นกำเนิด ไม่ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ฉะนั้นแล้ว รับเอาไว้เถอะกับคำแนะนำเหล่านี้
สรุป การจะเข้าไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นนั้น ไม่ว่าจะไปทำเกมหรือทำอย่างอื่น เราต้องรู้จักปรับตัวก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งด้านภาษา ด้านวัฒนธรรม และการเข้าสังคม ต่อมาก็ตามด้วยความรู้ความสามารถ เอกสารประกอบการเดินทาง การอยู่อาศัย ฯลฯ การทำงานเลี้ยงตัวเองว่ายากแล้ว แต่การทำงานในต่างประเทศนั้นยากกว่า และการล่าฝันของตัวเองก็ยิ่งยากกว่า ถึงแม้เราจะมีคำแนะนำเต็มหัวเต็มใจ แต่ไม่มีความพยายาม ไม่เตรียมพร้อมในทุกๆรายละเอียด ก็ไปไม่ถึงฝั่งหรอกครับ โลกนี้ต้องแข่งขัน เพราะงั้นก็อย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควาย.... เอ๊ย! ปั้นตัวเองให้ดีตลอดไปจะดีกว่า อย่าประมาท คนอื่นเขาก็มีฝันเหมือนกัน เขาก็ทุ่มเทได้เหมือนกัน ทำให้คุ้มกับที่เรา “ใฝ่ฝัน” ไว้ดีกว่าครับ.... คุณล่ะ.... “ใฝ่ฝัน” ไว้มากขนาดไหน หรือว่าจริงๆแล้วมันก็แค่ “ฝัน”?
สุดท้ายทีมงาน OS-Station คงช่วยได้แค่นี้แหละ
“ขอให้โชคดี”