ถ้าหากจะนับย้อนไปถึงช่วงเวลาเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘วิดีโอเกม’ นั้น เราจะพบว่ามันดำเนินมาในแนวทางที่เบ็ดเสร็จตายตัว มีรูปแบบที่เป็นเส้นตรงไม่มีโค้งหรือคดงอพอสมควร
‘ลักษณะการเดินเรื่องราว’ ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปจากเมื่อสองทศวรรษก่อน เพราะทุกอย่างก็ต้องมี ‘จุดเริ่มต้น’ เพื่อสานต่อไปยัง ‘จุดจบ’ อยู่เสมอ ซึ่งมันหมายความว่า... การกระโดดเหยียบเห็ดเพื่อช่วยเจ้าหญิงก็ไม่ต่างอะไรกับการใส่ชุดนาโนสูทกระโดดร่มลงเกาะเพื่อไปยิงจรวดขีปนาวุธพกพาใส่มนุษย์ต่างดาวตอนจบสักเท่าใดนัก
แน่นอน ผมเองก็ไม่ได้มีปัญหากับกระบวนการดังกล่าว ด้วยค่าที่ว่าความเข้าใจของมนุษย์ปกติโดยทั่วไปก็มักจะมีการเรียงลำดับตามขั้นตอน 1-2-3-4 อยู่แล้ว และการจะไปใส่เกลียวตีลังกาห้าตลบ มองให้มันแตกต่างไปจากนี้ ก็พาลแต่จะทำให้สับสนไปเสียเปล่าๆ
แต่ก็อีกนั่นล่ะ กับเรื่องราวที่ทุกท่านจะได้รับชมในวรรคถัดไป ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นสิ่งที่อาจหาญพอสมควร ในการหักลำและขัดแย้งกับ ‘แนวคิด’ ปกติของโลกแห่งวิดีโอเกม ที่น่าสนใจจนต้องขออนุญาตหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในครั้งนี้
มันเริ่มต้นขึ้นจากการที่ผมได้เปิดหน้าเว็บไซต์จนไปพบกับเกมอินดี้ขนาดเล็กกะทัดรัดของ Tale of Tales ผู้พัฒนาเกมชาวเบลเยียมที่ชื่อ ‘The Graveyard’ ในบ่ายวันหนึ่ง ด้วยรายละเอียดผ่านหน้าเว็บที่น้อยนิด ไม่มีแนวทางการเล่น ไม่มีภาพประกอบ ไม่มีบอกว่าอาวุธกี่ชนิด ศัตรูกี่แบบ เล่นได้กี่ชั่วโมง ราวกับข้อมูลต่างๆ เป็นเพียงสิ่งที่ยุ่งยาก เกะกะรกรุงรังจนต้องตัดทิ้ง
แม้จะไม่มีรายละเอียดใดๆ เลยก็ตาม แต่โดยส่วนตัวที่ผ่านชิ้นงานเกมมาอย่างต่อเนื่อง ผมก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีอะไรมากไปกว่าเกมจากฝั่งยุโรปที่ไม่ได้พบเจอจากกระแส Mainstream ของฝั่งอเมริกาได้บ่อยๆ มีบ้างที่เข้าท่า แต่ส่วนมากก็มักจะหนีไม่พ้นจากรูปแบบที่เคยเป็นมาอยู่ดี แต่ด้วยความสงสัยอย่างเต็มกำลัง บวกกับราคาที่ถูกอย่างเหลือเชื่อเพียงห้าเหรียญ (ประมาณ 200 บาทไทย) ผมก็ตัดสินใจจ่ายเงิน และใช้เวลาไม่นานในการนำมันมาสถิตในฮาร์ดดิสก์ของตนเองจนได้
...แต่สิ่งที่ปรากฏออกมาในตลอดช่วงเวลาสิบนาที มันช่างแหวกและพิสดารเกินกว่าที่ผมจะคาดเดาได้ชนิดไปไกลลิบสุดกู่
อธิบายกันอย่างสั้นๆ ใน The Graveyard คุณจะได้เล่นเป็นหญิงชราคนหนึ่ง ในฉากหลังสุสานอันเงียบสงบสีซีเปีย บังคับให้เธอเดินไปที่ม้าหินด้านท้าย นั่งฟังบทกวีภาษาเบลเยียมคลอเสียงเพลง ก่อนจะเดินกลับออกมา และ... ตาย
แค่นี้เหรอ!! หลายท่านอาจจะสงสัย ครับ ทั้งเกมมีแค่นี้จริงๆ ไม่มีโหมดฝึกสอน ไม่มีการเกริ่นนำ ไม่มีศัตรูสามแขนสี่หัวตัวเท่าตึก ไม่มีอาวุธมหาประลัย ในตอนแรกผมก็อึ้งแทบจะไม่เชื่อสายตา (แอบโมโหอยู่นิดหน่อยกับเงินที่เสียไป) จนต้องลองเล่นซ้ำอีกสอง หรือสามครั้ง ถึงเริ่มเข้าใจใน ‘บางสิ่ง’ ที่ผู้สร้างได้พยายามบอกผ่านชิ้นงานของพวกเขา
ว่าสิ่งเหล่านี้... คือการใส่ใจกับ ‘กระบวนการ’ มากกว่า ‘ผลลัพธ์’...
อย่างที่กล่าวไปในวรรคต้นๆ แวดวงวิดีโอเกมไม่มีที่ว่างสำหรับการสับเปลี่ยนลำดับของเรื่องราวที่เป็นเส้นตรงมากนัก แต่ก็น้อยเกมเหลือเกิน ที่จะให้ความสำคัญกับ ‘กระบวนการ’ ระหว่างทาง โดยเปิดช่องของ ‘ผลลัพธ์’ หรือปลายทางเอาไว้ให้ธรรมดาที่สุดและสำคัญรองลงมา และ The Graveyard ก็บ้าพอที่จะท้าทายในขอบเขตดังกล่าวที่ไม่มีใครคิดจะเข้าไป
เพราะเวลาเพียงแค่สิบนาที สำหรับเกมอื่นๆ คงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าภาพยนตร์คั่นฉากหนึ่งตอน บรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงสามครั้ง หรือสาละวนกับปุ่มลัดในเกมวางแผน แต่กับเกมนี้ กลับดูยาวราวกับจะไม่สิ้นสุด บรรยากาศสีซีเปียแสนเหงา ท่วงท่าที่ร่วงโรยตามสังขารของหญิงชรา และเนื้อหาที่บอกผ่านบทกวี (มีซับภาษาอังกฤษ) สามารถชี้นำให้ผู้ชมรับรู้ถึงเรื่องราวเบื้องหลังของเธอที่อยู่บนหน้าจอ มันอึดอัด มันกดดัน มันท่วมท้นด้วยความหมาย และเหนือสิ่งอื่นใด มัน ‘เต็มที่’ ในความรู้สึก
อาจจะเช่นเดียวกันกับ ‘ภาพยนตร์แนวทดลอง (Experimental Film)’ ที่ส่วนมากจะเป็นภาพของเส้นสีที่ดูไม่รู้เรื่อง วิ่งตัดกันไปมาน่าเวียนหัว ไม่มีจุดเริ่ม ไม่มีจุดจบ ถูกใช้เพื่อ ‘สำรวจ’ ปฏิกิริยาของผู้ชมมากกว่าบอกเล่าเรื่องราว ปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นไปตามประสบการณ์และความเข้าใจของแต่ละคน ไม่มีถูกมีผิด และเพื่อท้าทายความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุดของสื่อชนิดนั้นๆ ที่ผู้สร้างได้เลือกใช้
มาถึงจุดนี้ ใช่ว่าผมจะติสต์แตกหรือออกมาสนับสนุนว่านี่คือนิมิตหมายใหม่ของวงการเกม (สองร้อยบาทกับสิบนาที มันก็สิ้นเปลืองเกินไปจริงๆ) แต่อย่างน้อยการมีอยู่ของเกมเกมนี้ก็เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าวิดีโอเกมมีศักยภาพมากพอที่จะก้าวข้ามไปสู่ขอบเขตอันลุ่มลึกงดงามของศิลปะ แม้จะเป็นเพียงก้าวแรก ท่ามกลางความคลาคล่ำประดามีของเกมในกระแสหลักที่รายล้อมอยู่รอบตัวเราในทุกขณะ
และสำหรับใครที่สนใจตัวอย่างของเกม The Graveyard หรือรายละเอียดเกมอื่นๆ ของพวกเขา (ตัวอย่างเช่น The Endless Forest เกมออนไลน์เล่นฟรี ในป่าเปิดกว้างของกวางน้อยที่สดใสและไร้ความรุนแรง) ลองเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ http://tale-of-tales.com/ กันได้ และโดยใจจริงก็อยากให้ทุกๆ ท่านได้ลองร่วมสัมผัสความรู้สึกดังกล่าวดูสักที
เพราะอย่างที่ผมได้กล่าวไปในหลายๆ ครั้ง เรื่องราวและกระบวนการใน ‘ระหว่างทาง’ คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง “เพราะมันเป็นตัวบ่งชี้ว่าในตอนจบของพวกเราทุกคนนั้น มีคุณค่าและความหมายมากน้อยสักเพียงใด…”
5 เกมที่ผมกำลังเล่นอยู่ในขณะนี้
- World of Warcraft: Wrath of the Lich King
- Pharoah
- Kohan II: Kings of War
- Sacrifice
- The Endless Forest
ภาพนี้คือ The Path ผลงานล่าสุดของค่าย Tale of Tales ที่ถอดรื้อและตีความ ‘หนูน้อยหมวกแดง’ เสียใหม่ในสไตล์โพสต์โมเดิร์นโดยใช้แนวคิดเชิง ‘ทดลอง’ ของพวกเขาและกำลังจะกลายเป็นเกมเพื่อการค้าอย่างเต็มตัว