มันไม่เป็นการง่ายเลยในโลกแห่งวงการเกมยุคปัจจุบัน ที่จะมีผู้หาญกล้าท้าฉีกขนบที่ประสบความสำเร็จของตนเองทิ้งแล้วพุ่งทะยานเข้าสู่ขอบเขตใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ท่ามกลางสภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา การลงทุนเงียบเหงารกร้าง การแข่งขันที่เข้มข้นทวีความรุนแรง การจะพาตัวเองกระโจนไปสู่โปรเจ็กต์ที่ดูดีในหน้ากระดาษแต่ไม่ ‘เพลย์เซฟ’ ในสายตาผู้ออกเงินทุน ก็รังแต่จะเป็นการตีตั๋วเที่ยวเดียวไปไม่กลับของเหล่าผู้พัฒนาหลายๆ เจ้า แต่แล้ว DICE ทีมพัฒนาเกมชาวสวีเดนผู้มีผลงานระดับขึ้นหิ้งติดโล่อย่างซีรีส์ Battlefield กลับเลือกที่จะเบนเข็มตนเองและซุ่มพัฒนาเกมผจญภัยที่พวกเขา ‘อยากจะทำ’ ขึ้นมา
ผลลัพธ์? แม้จะยังมีความขรุขระกับความติดขัดในบางกระบวนการ แต่พวกเขาก็ได้ให้กำเนิดผลงาน First-Person Adventure เลือดใหม่ที่โฉบเฉี่ยวและไฉไล หลากสไตล์ และเป็นบทพิสูจน์ในการก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ ของตนเองไปได้อย่างสวยสดงดงามไม่น้อยเลยทีเดียว กับวีรกรรมไต่ขอบผาครั้งล่าสุดของพวกเขา… Mirror’s Edge
แค่เห็นด้วยตาอาจจะไม่สามารถบรรยายได้ถึงความเร็วที่ Mirror’s Edge ดำเนินไปในตลอดทั้งเกม แต่เชี่อเถอะว่ามันกระชากใจจริงๆ
ใน Mirror’s Edge ผู้เล่นจะได้รับบท Faith Connors ‘นักเดินสาร’ สาวในเมืองแห่งอนาคตที่แสนจะเรียบร้อยราวกับผ่านการฆ่าเชื้อมาเป็นอย่างดี แต่แฝงไปด้วยความไม่ชอบมาพากลแห่งการปกครอง ด้วยตำรวจความคิดที่เข้มงวด กวดขันในทุกๆ การแสดงความคิดเห็นของประชาชน และเรื่องราวทั้งหลายก็ขมวดปมสู่ความยุ่งยากเมื่อเธอต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับเหตุฆาตกรรมอำพรางของผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีคนล่าสุด ที่ประกาศกร้าวหมายจะล้างบางการคอร์รัปชั่นให้หมดสิ้น จนนำไปสู่เรื่องราวที่ซับซ้อนเกินกว่าที่เธอจะคาดคิด
อย่างไรก็ดี ถ้าทั้งหมดมันมีเพียงเท่านี้ มันก็คงจะกลายเป็นสูตรสำเร็จง่ายๆ อย่างเช่นที่ภาพยนตร์หรือเกมทั้งหลายได้เคยมีมา เพราะใน ME นั้น Faith จะมีก็แต่เพียงร่างกาย ความคล่องตัว และศิลปะแห่ง Freerunner ที่ใช้ในการไต่ไปตามขอบตึกที่เป็นประหนึ่งอาวุธคู่กาย และยังเป็นปัจจัยหลักของเกมการเล่นโดยรวมอีกด้วย ซึ่งใน 9 แชพเตอร์หลัก (ที่ซอยย่อยออกมาได้ประมาณสามสิบกว่าฉาก) คุณจะต้องใช้ความสามารถในการวิ่งของ Faith ฝ่าสิ่งกีดขวาง และเหล่าศัตรูทั้งหลายที่ดาหน้าเข้ามาเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในตอนท้ายของฉาก
แม้จะไม่ได้ล้ำสมัย แต่ภาพยนตร์การ์ตูนคั่นฉากก็ให้ความรู้สึกที่ ‘ดิบ’ ดีอยู่ไม่น้อย
ซึ่งนอกจากการวิ่งและไต่ไปตามปกติแล้ว ในเกมนี้เน้นหนักไปที่ระบบการใช้ ‘แรงเหวี่ยง’ อันเป็นการนำเสนอระบบฟิสิกส์แบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามา กล่าวคือ ผู้เล่นจำต้องรักษาระดับ ‘ความเร็ว’ ในการเคลื่อนที่ของ Faith ให้ต่อเนื่องอยู่เสมอเท่าที่จะทำได้ เพราะแรงส่งดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวในจังหวะถัดไป ตัวอย่างเช่น การกระโดดข้ามจากขอบตึกไปยังระเบียงที่อยู่อีกฝั่งนั้น ไม่สามารถกระทำได้ถ้าปราศจากแรงส่งที่มากพอ หรือการม้วนหน้าหลังจากกระโดดลงจากที่สูง ช่วยลดอาการบาดเจ็บและรักษาความเร็วให้ต่อเนื่อง นั่นทำให้ ME กลายเป็นเกมแอ็กชั่นผจญภัยในระดับ ‘ความเร็วสูง’ ที่แทบจะทำให้ผู้เล่นหายใจหายคอไม่ทั่วท้อง
รวมถึงสภาพแวดล้อมในเกมที่จะค่อยๆ ทวีความซับซ้อนมากขึ้นทุกขณะ จากตึกที่ไม่สูงมากนัก สู่ทางรถไฟใต้ดินอันแสนลึกลับ ท่อระบายน้ำ เรือขนส่งสินค้า และศัตรูก็จะเปลี่ยนจากตำรวจติดปืนพกธรรมดาไปสู่กองกำลังพิเศษอาวุธครบมือ รวมถึงศัตรูชนิดพิเศษที่ผมไม่ขอเปิดเผยในบทความชิ้นนี้ แต่บอกได้คำเดียวว่าคุณจะได้ซึ้งกับความหมายของคำว่า ‘เฉียดตาย’ และ ‘หืดขึ้นคอ’ ก็คราวนี้เอง
แต่ก็ใช่ว่าจะขาดซึ่งตัวช่วยใดๆ ไปเลย เพราะในเกมนี้จะคอยกำกับสิ่งแวดล้อมที่ Faith สามารถ ‘ใช้ได้’ ด้วยโทนสีแดงเข้มตัดกับฉากหลังที่เต็มไปด้วยสีสะอาดตาอย่างสิ้นเชิง ทั้งกล่องลังที่ใช้เป็นตัวส่งต่างระดับ ป้ายไม้ที่สามารถวิ่งไต่ได้ หรือช่องระบายอากาศที่เป็นทางออก ซึ่งนอกจากจะสวยงามเข้ากันได้ดีแล้ว ยังเป็นวิธีการบอกใบ้ผู้เล่นที่ ‘ประนีประนอม’ พอสมควร ดูมีสไตล์และไม่ยัดเยียดเกินความจำเป็น (แต่แน่นอน คุณสามารถปิดมันได้เพื่อความท้าทาย) รวมถึงระบบ Faith’s Vision อันเป็นระบบสโลว์โมของเกม ที่จะมีให้เลือกใช้ในจังหวะคับขันและจะมีให้ใช้อีกครั้งหลังจากสะสม ‘ความต่อเนื่อง’ ในการวิ่งไปได้ระยะหนึ่ง ช่วยให้ผู้เล่นกะจังหวะการกระโดดที่ยากได้อย่างแม่นยำ หรือหาช่องปลดอาวุธจากมือของฝ่ายตรงข้ามได้ดียิ่งขึ้น
ใช่ว่าในเกมจะไม่มีอาวุธปืนให้ใช้ แต่ไม่ค่อยจะมีประโยชน์สักเท่าไหร่
แต่ก็อย่างที่กล่าวไป ตัวเกมยังต้องการความคล่องตัวในการควบคุมที่สูง ซึ่งระบบควบคุมของเวอร์ชั่นพีซีคือสิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมในความเอาใจใส่ของ DICE ในการแปลงครั้งนี้ ด้วยปุ่ม W, A, S, D แบบมาตรฐานที่ใช้งานได้ง่าย ปุ่ม Spacebar สำหรับทุกการเคลื่อนไหว ‘ขึ้น’ (กระโดด, เกาะขอบ) ปุ่ม Ctrl สำหรับการเคลื่อนไหว ‘ลง’ (สไลด์, ก้มตัว, ปล่อยตัวจากราวโหน) เมาส์ซ้ายใช้โจมตี เมาส์ขวาใช้ปลดอาวุธ ทุกอย่างกำหนดเอาไว้ในที่ทางที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน (แต่ก็สามารถปรับปุ่มได้ตามที่ถนัด) เรียกได้ว่าคล่องตัวยิ่งกว่าบนระบบ Xbox 360 หรือ PS3 ด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะด้วยค่าที่ว่า Faith คือสาวน้อยร่างบาง ไร้เครื่องป้องกันและอาวุธใดๆ บวกกับศัตรูที่ไล่หลังมาที่พร้อมจะกำราบเธอให้ร่วงได้ในการยิงเพียงสองหรือสามนัด (หรือปะทะตรงๆ เพียงสองครั้งจอด) ถ้าจะมีความติดขัดในจังหวะการควบคุมแม้เพียงสักนิดคงไม่เป็นผลดีต่อเกมการเล่นโดยรวมเป็นแน่
แต่ท่ามกลางความหลากสไตล์และโฉบเฉี่ยวที่ Mirror’s Edge ได้มอบให้ เราไม่อาจจะปฏิเสธความจริงข้อหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยว่า นี่คือเกม ‘Action Platformer’ ขนานแท้และดั้งเดิม และไม่ได้มีแต่ข้อดีเท่านั้นที่ถูกยำมาไว้จนครบถ้วน ข้อเสียเองก็ใช่ว่าจะน้อยเสียที่ไหน เพราะเกมนี้ค่อนข้างเรียกร้องกระบวนการลองผิดลองถูกในการเล่นพอสมควร มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยในรอบแรกที่คุณจะไม่ได้วิ่งตกตึก หรือหยุดชะงักกับเส้นทางอันแสนคดเคี้ยวลึกลับของฉากเพื่อหาทางไปต่อ (แม้จะมีระบบย้อมสีสิ่งของเพื่อเป็นตำหนิเอาไว้ก็ตาม) บวกกับระบบเซฟแบบจุดเช็คพอยท์เข้าไปอีก ยิ่งทำให้ความสับสนและความวุ่นวายในการเล่นถีบสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
AI ศัตรูไม่ค่อยจะฉลาดเฉลียวสักเท่าไหร่
ระบบการต่อสู้นั้นเล่า ก็ยุ่งยากไม่แพ้กัน แม้ว่า AI ของเกมนี้ไม่ค่อยฉลดาเท่าที่ควร นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งการปรากฏที่ซ้ำซาก แต่ระบบการปลดอาวุธของ Faith เองก็เป็นตัวฆ่าความต่อเนื่องในการเล่นเสียจนพังพาบ เพราะในขณะที่คุณกำลังปลดมันออกจากมือของศัตรูคนหนึ่ง คนที่เหลือก็พร้อมจะเฮโลสกรัมคุณจนน่วม และแทบไม่ต้องพูดถึงการใช้ปืน เพราะทุกครั้งที่คุณแบกมันโทงๆ ก็เท่ากับตายโหงไปครึ่งตัว เพราะมันทำให้คุณไม่สามารถวิ่งหรือกระโดดได้อย่างปกติ หมัด/เท้านั้นเล่าก็เปล่าประโยชน์เหลือเกิน กับลีลาการเตะต่อยราวกับเป็นง่อยที่จะค่อยๆ บีบให้การวิ่งหนีและเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ
อีกทั้งตัวเกมยังค่อนข้าง ‘สั้น’ เอามากๆ ด้วยเฉลี่ยเวลาการเล่นในโหมด Normal นับจากเริ่มต้นจนถึงฉากสุดท้ายอยู่ที่ประมาณ 8 ชั่วโมง (ถ้าตัดเวลาตายและโหลดซ้ำซากก็จะเหลือ 6 ชั่วโมงกว่าๆ) แต่นั่นก็ถูกแทนที่ด้วยโหมด Time-Trial และ Speed Run ที่ให้ผู้เล่นได้ประลองฝีมือกับสถิติความเร็วระดับโลก ที่ว่องไว เลือกใช้เส้นทางได้พิสดารและเล่นเอาอ้าปากค้างไปหลายตลบ
กระนั้นก็ตาม แม้ ME จะมีข้อผิดพลาดและความขลุกขลักในเกมการเล่น แต่ก็เล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับสีสันอันโฉบเฉี่ยว และความสนุกท้าทายที่ตัวเกมได้มอบให้ โดยไม่ต้องอาศัยกระสุนสักนัดหรือปืนสักกระบอก อันเป็นก้าวย่างใหม่ที่ทาง DICE ผู้พัฒนาจากสวีเดนได้เลือกเดิน และได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเขากล้า บ้า และสามารถพอที่จะฉีกรูปแบบออกไปด้วยความมุ่งมั่นเต็มร้อยโดยไม่ต้องอาศัยเครดิตเก่ามาหากินแต่อย่างใด
ขั้นตอนการปลดอาวุธ...
ความเห็นที่หนึ่ง : 82%
ข้อดี: กราฟิกสวยงามสะอาดตา, ระบบควบคุมที่ยอดเยี่ยม, เกมการเล่นที่ท้าทาย, เพลงประกอบฉากเข้ากันได้ดีและไพเราะมาก, โหมด Speed Run และ Time-Trial สุดมันส์
ข้อด้อย: ระบบการต่อสู้ที่ไม่เข้ากับเกมการเล่นโดยรวม, ต้องอาศัยการลองผิดลองถูกสูง, เกมสั้นมากๆ
โดยรวม: แม้จะไม่แปลกใหม่ แต่ผลงานล่าสุดของ DICE ก็โฉบเฉี่ยวไฉไล หลากสไตล์ที่น่าจะเข้ามาสร้างที่ทางในใจผู้เล่นได้อย่างไม่ยากเย็น
ความเห็นที่สอง : 83%
ฉากแรกๆ ใน Mirror’s Edge คือฉากที่สามารถสื่อถึงจุดเด่นของเกมได้ดีที่สุด เพราะมันเป็นฉากที่สื่อถึงความสนุกที่คุณจะได้รับจากสไตล์การเล่นแบบ Free-Run ภายในสภาพแวดล้อมสีสันสวยงาม ปัญหาเริ่มขึ้นเมื่อมีการใส่สิ่งต่างเข้ามา “เสริม” อาทิ ศัตรูหรือปริศนา (DICE กล้าพอที่จะปฏิวัติ... แต่ก็ไม่กล้าพอที่จะล้างแนวความคิดเก่าๆ ทั้งหมด) โหมด Time Trail นับว่าเป็นโหมดที่เข้าถึงแก่แท้ของความพยายามปฏิวัติเกมแนว First-Person ของ DICE แต่คุณก็ต้องเล่นเนื้อเรื่องให้ (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ยาวเท่าไหร่) จบถึงจะปลดล็อกโหมดนี้ได้