RPG ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจรวดที่พวกผู้ก่อการร้ายนิยมใช้ไล่ยิงทหารอเมริกัน (อาวุธที่เรียกว่า PPG นั้นย่อมาจาก Rocket Propelled Grenade) สำหรับนักเล่นเกม RPG หมายถึงเกมสวมบทบาทหรือ Role Playing Game ซึ่งบ้านเราชอบเรียกกันติดปากว่าเกมภาษา
เกมสวมบทบาทตามนิยามแล้วคือเกมที่ผู้เล่นสมมุติตัวเองให้เป็นหนึ่งในตัวละครตามนิยายหรือเกมนั้นๆ ผู้เล่นจะถือว่ามีความสามารถตามตัวละครที่เขาเลือก แต่ผู้เล่นก็มีอิสระในการปรับปรุงตัวละครของพวกเขาหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องราวไปในทิศทางต่างๆ สำหรับองค์ประกอบอื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบการเล่น การต่อสู้หรือรางวัลที่จะได้รับก็ขึ้นกับกฎพื้นฐานของเกมนั้นๆ
เกมสวมบทบาทน่าจะมีการเริ่มเล่นกันมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดยในช่วงแรก (ที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์) ผู้เล่นทุกคนจะมานั่งล้อมวงกันและมีผู้เล่นคนหนึ่งรับบทเป็น Gamemaster ซึ่งเขามีหน้าที่ต้องบรรยายเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในโลกของเกมคล้ายๆ กับ NPC ในเกมยุคปัจจุบัน ส่วนผู้เล่นคนอื่นๆ ต้องอธิบายการกระทำและการตอบสนองของตัวละครของพวกเขา
ดูท่าทางเขาจะเป็น Paladin นะ แล้วก็น่าจะเล่นเป็นเผ่าDragonborn
รายละเอียดหรือค่าสถิติต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงจะอาศัยการจดลงบนกระดาษที่เรียกว่า Character Sheet นอกจากนี้ยังนิยมใช้ลูกเต๋าหรือวิธีใดๆ ก็ตามที่เป็นการสุ่ม (เช่น ลูกเต๋า 20 หน้าที่เรารู้จักกันดี) เพื่อแสดงผลจากการกระทำบางอย่างของตัวละคร เช่น ระหว่างต่อสู้ เกมสมบทบาทแบบนี้มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า Tabletop หรือ Pen and Paper นอกจากนี้ยังมีเกมสวมบทบาทในรูปแบบแปลกๆ อีกเช่น Live Action Role Playing Game (LARP) ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการอธิบายใดๆ ผู้เล่นแต่ละคนจะแสดงท่าทางตามตัวละครของตนจริงๆ และมักมีการแต่งองค์ทรงเครื่องให้เหมือนตัวละครอีกด้วย LARP จะไม่มีการทอดลูกเต๋า การสุ่ม หรืออ้างอิงกฎตามหนังสือมากนัก แต่มักใช้การเปรียบเทียบตามหลักค้อน กรรไกร และกระดาษ สถานที่เล่นก็มักสรรหาที่ที่มีความเหมือนโลกของเกมให้มากที่สุด (น่าเล่นเหมือนกันนะเนี่ย)
ใครบางคนอาจว่ามันเชย แต่ผมว่าน่าเล่นดีออก
เกม RPG ได้รับความนิยมเพราะมีเรื่องราวที่ลุ่มลึกเหมือนนวนิยายหรือภาพยนตร์ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่สมจริงและให้ผู้เล่นมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ ต่างจากเกมการเล่นอื่นๆ ในสมัยก่อนที่เน้นการเอาชนะกันเพียงอย่างเดียว มีเกมจำนวนมากที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง บางเกมแม้ในปัจจุบันก็ยังทรงอิทธิพลต่อวงการเกมอยู่ไม่คลายเช่น Dungeons & Dragons (2517) ของ Dave Arneson และ Ernest Gary Gygax ซึ่งถือเป็นเกม RPG ที่วางจำหน่ายเป็นการค้าเกมแรก และเป็นเกมที่ส่งผลต่อวงการเกม RPG มากที่สุดเกมหนึ่งจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้จะเคยถูกกล่าวหาว่าส่งผลด้านลบต่อสภาพจิตใจของผู้เล่น (อืม… เกมเป็นจำเลยสังคมแบบนี้มานานแล้วนี่เอง) ก็ยังสามารถฝ่าฟันพ้นมาได้ ซีรีส์ Warhammer Fantasy (2526) ผลงานของ Games Workshop ต้นกำเนิดของ Warhammer Online: Age of Reckoning และ Warhammer 40,000 ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดีและ Vampire: The Masquerade (2534) โดย Mark Rein-Hagen ที่ถึงแม้ตอนเป็นเกมบนเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีชะตาไม่สู้ดีนัก แต่เวอร์ชั่นดั้งเดิมได้รับความนิยมไม่ใช่เล่นเลย
Crysis หลบไปเลย dnd มาแล้ว!
ยุคเริ่มต้นของการผสมผสาน RPG กับพีซี
จากเกมตั้งโต๊ะ RPG เริ่มยกทัพเข้าสู่ Mainframe Computer โดยเกมแรกๆ ที่ออกสู้สายตาก็มีอาทิ Dungeon (Don Daglow, 2518), pedit5 (Rusty Rutherford, 2517) และ dnd (Gary Whisenhunt และ Ray Wood, 2517) ทั้ง 3 เกมมีรูปแบบการเล่นในสไตล์ Text-Based (อยากทำอะไรก็พิมพ์เอา) สำหรับระบบค่าสถิติ ความสามารถ และอื่นๆ อีกจิปาถะมีการจดบันทึกที่ดีขึ้นกว่าการใช้กระดาษ ซึ่ง 2 เกมหลังมีภาพกราฟิกด้วย
หลังจากนั้นก็มีเกมตามมาอีกมากมาย ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจาก Dungeons & Dragons และงานเขียนของ J. R. R. Tolkien ซึ่งในช่วงนั้นเกมเกือบทั้งหมดออกแบบมาให้เล่นได้บนระบบที่เรียกว่า PLATO (Programmed Logic for Automated Teaching Operations) ก่อนจะมีเกมที่เล่นได้บนระบบอื่นๆ ตามมา เช่น Akalabeth: World of Doom (Richard Garriott, 2522) บน Apple II และ DOS เกมนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตในวงการเกมสำหรับ Lord British ก่อนจะมาโด่งดังเป็นพลุกับซีรีส์ Ultima (เริ่มที่ Ultima I, 2523 และไปจบลงที่ Ultima Online: Kingdom Reborn, 2550) ซีรีส์ Wizardy (Andrew C. Greenberg และ Robert Woodhead, 2524) ซึ่งเล่นได้บนระบบที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงครั้งแรกกับกราฟิกสีในเกม RPG บนเครื่องคอมพิวเตอร์ (Wizardry: Proving Grounds of the Mad Overlord, 2524 – Wizardry 8, 2544)
ถ้ารู้ว่าฟันแล้วเสียหายน้อยแบบนี้ เข้าสู่ด้านมืดไปนานแล้ว
เมื่อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มเป็นที่แพร่หลาย เกมแนว RPG ก็เริ่มแตกกิ่งก้านสาขาออกเรื่อยๆ เช่น Rouge (Michael Toy, Glenn Wichman และ Ken Arnold, 2523) เกมแนว Dungeon Crawler ที่มีความง่ายกว่า RPG ดั้งเดิม แต่เน้นไปที่การต่อสู้และเก็บไอเทมตามด่านต่างๆ และถือเป็นบรรพบุรุษของเกมแนว Hack and Slash อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีรีส์ระดับตำนานอย่าง Diablo (Blizzard North, 2540) ที่แทบจะทิ้งกฎทุกอย่างของ RPG เหลือเพียงความมันส์และสะใจเท่านั้น (Diablo, 2540 – Diablo III, 255X), ซีรีส์ Might and Magic (New World Computing, 2529) ที่เต็มไปด้วยค่าสถิติอันแสนสลับซับซ้อน โลกเกมขนาดมหึมา อาวุธและเวทมนตร์คาถาจำนวนมากให้ใช้ (Might and Magic: The Secret of the Inner Sanctum, 2529 – Might and Magic IX, 2545) ซีรีส์นี้ยังเป็นต้นกำเนิดของซีรีส์ Heroes of Might and Magic (2538) เกมวางแผนเทิร์นเบสยอดนิยมที่ปัจจุบันออกอาการลูกผีลูกคนไปพอสมควร และ Dungeon Master (FTL Games, 2530) เกม RPG ที่สร้างมาตรฐานใหม่ๆ จำนวนมากตั้งแต่การเล่นในแบบเรียลไทม์ ใช้เมาส์ควบคุมและมุมมองบุคคลที่หนึ่ง
ยุคแห่ง ACTION RPG
ร่ายยาวมาขนาดนี้เกมเมอร์รุ่นใหม่อาจงงกับชื่อเกม ต่อไปนี้จะเข้าสู่ยุคที่รุ่นของพวกเรารู้จักกันดีเสียที "ยุคแห่ง Action RPG" ที่ให้ความสำคัญกับฉากต่อสู้มากขึ้น โดยที่ยังคงรายละเอียดในสไตล์ RPG ดั้งเดิมเอาไว้ด้วย หัวหอกสำคัญในช่วงแรกๆ คือ Interplay Entertainment ของ Brian Fargo กับผลงาน The Bard’s Tale (2528) และ Wasteland (2531) พอมาถึงปี 2540 สองทีมพัฒนาขั้นเทพ Black Isle Studios และ BioWare ก็แจ้งเกิดด้วยผลงานระดับ Fallout และ Baldur’s Gate ตามลำดับ ทั้งสองเกมสร้างมาตรฐานใหม่มากมายให้กับเกมแนว RPG และมีภาคต่อตามมาอีกเป็นพรวนโดยเฉพาะ Fallout 3 ที่หลังจากมีข่าวลือมานานปีก็ได้ฤกษ์วางจำหน่ายไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ถึงแม้จะเปลี่ยนมือไปให้กับทาง Bethesda Softworks แต่เจ้าของผลงานที่ไม่ยิ่งหย่อนกันเท่าใดนักจากซีรีส์ The Elder Scrolls (The Elder Scrolls: Arena, 2537 – The Elder Scrolls V, 25XX) ก็ไม่ทำให้ความยอดเยี่ยมหายไปไหน น่าเศร้าและน่าตกใจ (สำหรับตอนนั้น) ที่ปัญหาด้านการเงินในช่วงปี 2546 – 2547 ทำให้ทาง Interplay ต้องปิดตัวลงและทำให้ Black Isle ซึ่งเป็นบริษัทลูกพลอยโดนหางเลขไปด้วย นอกจากซีรีส์ Fallout แล้ว พวกเขายังมีผลงานชั้นเยี่ยมอย่าง Planescape: Torment (2542) และซีรีส์ Icewind Dale (Icewind Dale, 2543 – Icewind Dale II, 2545)
ในยุคของเราก็อยากเห็นเกมระดับนี้อีกเยอะๆ
ถึงกระนั้นวงการเกม RPG ก็ใช่ว่าจะซบเซา ช่วงเวลาต่อมาเกม RPG ได้เข้าสู่ยุคของกราฟิก 3 มิติอย่างเต็มตัว ปี 2545 ทีมพัฒนา BioWare ได้เข็นผลงาน Neverwinter Nights ออกสู่ตลาดและถือเป็นเกมแรกที่รวมกฎของ D&D รุ่นที่ 3 เข้ากับกราฟิก 3 มิติ ตัวเกมได้รับทั้งคำชมและความนิยมอย่างล้นหลาม ส่งผลให้มีภาคเสริมตามมาหลายตัว (Neverwinter Nights, 2545 – Neverwinter Nights: Kingmaker, 2548) ส่วนผลงานลำดับถัดๆ มาถือได้ว่ายิ่งน่าเกรงขามไม่ว่าจะเป็นการผสมลูกเต๋า 20 หน้าเข้ากับโลกของเกมที่ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่าง Star Wars: Knights of the Old Republic (2546), ใส่ความเป็น RPG เข้ากับโลกแห่งยุทธจักรมังกรใน Jade Empire (2548) และพาเราตะลุยห้วงอวกาศกับ Mass Effect (2550)
ส่วนทางด้าน Black Isle หลังจากถูกปิดตัวลงพนักงานส่วนใหญ่ได้รวมตัวกันก่อตั้ง Obsidian Entertainment ขึ้นมาและพวกเขาก็ยังไม่สิ้นลายด้วย Star Wars: Knights of the Old Republic II: The Sith Lords (2548) และ Neverwinter Nights 2 (2549) พร้อมภาคเสริมอีกหลายตัว
ใครอยากเล่นแบบนี้บ้าง? ยกมือขึ้น
อาจกล่าวได้ว่าวงการเกมแนว RPG ไม่เคยขาดความคึกคักอย่างแท้จริง แค่รายชื่อเกมที่จะออกในอนาคตของทีมพัฒนาอย่าง BioWare และ Obsidian ก็ฟังแล้วต้องร้องซี้ดมากมาย เช่น Dragon Age: Origins, Mass Effect 2 – 3, Alpha protocol (RPG แนวสายลับ) หรือ Aliens RPG (RPG กับฝูง Aliens จอมโหดที่ยังไม่มีชื่อเกมเป็นทางการ) นี่ยังไม่รวมฝั่ง Bethesda กับ The Elder Scrolls V หรือกระทั่งทีมพัฒนาม้านอกสายตาที่อาจสร้างความประหลาดใจเหมือนกับที่ซีรีส์ Gothic (Piranha Bytes, 2544 – 2549), The Witcher (CD Projekt, 2550), Mount & Blade (TaleWorlds, 2551) และอื่นๆ อีกมากมายเคยทำได้มาแล้ว