PC-Engine หรือที่ทางตะวันตกเรียกว่า Turbo Grafx-16 จาก NEC เป็นเครื่องเกมในยุค 16 บิท เครื่องแรกๆ ถือได้ว่าเป็นเครื่องเกมที่ประสบความสำเร็จพอสมควร ออกวางขายในช่วงที่เครื่องฟามิคอมยังครองตลาดเกมส่วนใหญ่อยู่ เครื่อง PC-Engine เลยเป็นเครื่องที่คาบเกี่ยวระหว่างยุค 8 บิท และ 16 บิท ซึ่งเป็นยุคมีการพัฒนาของเทคโนโลยีค่อนข้างเร็วจึงทำให้เครื่อง PC-Engine จำเป็นต้องมีการอัพเกรดตัวเองหลากหลายครั้งเพื่อที่จะสามารถคงอยู่ในตลาด เช่น ได้มีการออกเครื่องอ่านแผ่นซีดีมาต่อเข้ากับเครื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งในขณะนั้น แต่ในฉบับนี้จะพูดถึงเฉพาะเกมและเครื่อง PC-Engine ปกติเท่านั้นยังไม่รวมไปถึง เครื่อง CD Rom ต่างๆ
ตัวเครื่อง PC-Engine นั้นเริ่มต้นสามารถต่อคอนโทรลเลอร์ได้เพียง 1 ตัวเท่านั้น จึงอาจจะเป็นเหตุผลที่เกมส่วนใหญ่ของเครื่องนี้เป็นเกมที่เล่นได้เพียงคนเดียวและด้วยลักษณะพิเศษของตัวเครื่องและแผ่นเกมที่มีขนาดเล็กเครื่อง PC-Engine จึงสามารถเปลี่ยนตัวเองจากเครื่องเกมคอนโซลไปเป็นเครื่องเกมมือถือได้อย่างง่ายดาย โดยที่ทาง NEC ได้ออกวางจำหน่ายเครื่อง PC-Engine GT ในปี พ.ศ. 2533 และยังตามมาด้วยเครื่อง PC-Engine LT ในปี พ.ศ. 2534 ที่ดูจากรูปร่างแล้วเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบแบบเกมบอย Advance SP ก็ว่าได้
แต่ถึงแม้ NEC ได้วางจำหน่ายเครื่องออกมาหลายรูปแบบเพื่อให้ตอบสนองกับกลุ่มผู้เล่น แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เครื่องเกมนี้โด่งดังขึ้นมานัก อาจจะเป็นเพราะความยุ่งยากและราคาที่สูงมากของอุปกรณ์เสริมต่างๆ ทำให้เครื่อง PC-Engine ไปไม่ถึงฝั่งฝัน
ความนิยมของ PC-Engine ในประเทศไทย
ในเมืองไทยเครื่อง PC-Engine ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก มีผู้ชื่นชอบเป็นกลุ่มเล็กๆ เนื่องจากมีประสิทธิภาพไม่โดดเด่นนักและแผ่นเกมมีราคาสูง นักเล่นเกมส่วนใหญ่จะสนใจเครื่อง เมก้าไดรฟ์หรือซูเปอร์ฟามิคอมมากกว่า
ปัจจุบันสามารถพบเห็น PC-Engine
เครื่อง PC-Engine และแผ่นเกมนั้นอาจจะพบเห็นได้บ้างตามร้านขายเกมเก่าๆ ซึ่งเครื่อง PC-Engine นั้นมีหลายรุ่นมาก อาจจะต้องศึกษาข้อมูลก่อนสักนิด แต่ข้อดีของเครื่องและแผ่นเกม PC-Engine คือไม่ค่อยมีของก๊อบปี้ครับและแผ่นเกมนั้นทนไม้ทนมือมากครับจึงไม่ต้องกังวลเรื่องของปลอมหรือแผ่นที่ซื้อมาจะเสียมากนัก
เกมฮิตติดเครื่อง
Fighting Street หรือ Street Fighter ภาคแรกที่หาเล่นได้ยากก็ได้พอร์ตจากอาเขตสู่เครื่องนี้ด้วย
Splatter House เกมที่หลายๆ คนคุ้นเคย ภายในเกมนั้นตัวเอกจะใส่หน้ากากเจสันแล้วถือไม้หน้าสามไล่ฟาดศัตรู น่าจะเป็นเกมแรกเลยที่สมควรมีการจัดเรตอายุผู้เล่นครับ ฮ่าๆ
R-Type เกมยานยิงที่ขึ้นชื่อเรื่องความมันส์และความโหดหิน และมีรูปแบบการเล่นที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
รูปร่างลักษณะคอนโทรลเลอร์ของ PC-Engine
คอนโทรลเลอร์ของ PC-Engine มีลักษณะแทบจะเหมือนของฟามิคอมแทบทุกประการ ลักษณะการวางปุ่มและตำแหน่งปุ่มต่างๆ ก็ไม่ต่างกันมากนัก แต่ตัวเครื่องนั้นมีช่องต่อคอนโทรลเลอร์เพียงช่องเดียว ถ้าจะเล่นเกมพร้อมกัน 2 คนก็ต้องไปหาซื้อมัลติแทปมาใช้เพิ่ม สงสัยเครื่องนี้จะเน้นออกแบบมาให้เล่นคนเดียวเป็นหลัก!!
รูปร่างลักษณะแผ่นเกมของเครื่อง PC-Engine
แผ่นเกมของเครื่อง PC-Engine จะมีชื่อเรียกว่า HU-card มีลักษณะเป็นแผ่นขนาดใกล้เคียงนามบัตร และมีความบางไม่ถึงครึ่งเซนติเมตร ในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจมาก
ความสามารถโดยรวมของเครื่อง PC-Engine
ความเร็วซีพียู: 7.16MHZ
แรม: 8 K
ความละเอียดของสัญญาณภาพ: 256x244
จำนวนสีที่แสดงบนหน้าจอ: 32
จำนวนสีที่แสดงได้ทั้งหมด: 512
ความจุสูงสุดของตลับ: 2.5 M
วิวัฒนาการของ PC-Engine
PC-Engine วางจำหน่าย พ.ศ. 2530 เครื่อง PC-Engine รุ่นแรกเป็นเครื่องเกมคอนโซลที่มีขนาดเล็กมาก ตัวเครื่องมีสีขาวและมีช่องเสียบคอนโทรลเลอร์เพียงช่องเดียว
Turbo Grafx-16 วางจำหน่าย พ.ศ. 2530 เป็น PC-Engine เวอร์ชั่นตะวันตก ตัวเครื่องถูกปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนเป็นโทนสีดำ
SuperGrafx วางจำหน่าย พ.ศ. 2532 NEC ได้เพิ่มพลังให้กับเครื่อง PC-Engine และวางจำหน่ายในชื่อ SuperGrafx ซึ่งสามารถเล่นเกมเก่าของ PC-Engine และยังมีเกมที่เล่นได้เฉพาะบนเครื่องนี้อีก 5 เกมด้วยกัน!!
PC-Engine GT วางจำหน่าย พ.ศ. 2533 เครื่อง PC-Engine ที่แปลงโฉมมาเป็นเครื่องเกมมือถือ สามารถใช้แผ่นเกมจากเครื่อง PC-Engine นำมาเสียบเล่นได้เลย
PC-Engine LT วางจำหน่าย พ.ศ. 2534 เป็น PC-Engine แบบมือถือรุ่นที่อัพเกรดขึ้นมาอีกขั้นพร้อมด้วยราคาที่แพงมากๆ ออกวางขายในราคา 100,000 เยน (ประมาณ 4 หมื่นบาท) เป็นรุ่นที่หายากสุดๆ
บริษัทผู้ผลิต: NEC พ.ศ. 2530
จำนวนเครื่องที่ขายได้: ประมาณ 6 ล้านเครื่อง
จำนวนเกมที่ออกวางจำหน่าย: ประมาณ 650 เกม
ราคาจำหน่ายครั้งแรก: 24,800 เยน ประมาณ 5,000 บาทในยุคนั้น
โดย River01 (พรเกียรติ แซ่ลี้)
www.gameclubretro.com