Europa Universalis: Rome โรมไม่ได้สร้างในวันเดียว... แต่เป็นหนึ่งสัปดาห์ต่างหาก

แชร์เรื่องนี้:
Europa Universalis: Rome โรมไม่ได้สร้างในวันเดียว... แต่เป็นหนึ่งสัปดาห์ต่างหาก

ประเภท: REAL-TIME STRATEGY
ผู้พัฒนา: PARADOX INTERACTIVE
ผู้ผลิต: PARADOX INTERACTIVE
ผู้จัดจำหน่าย: NEW ERA
เครื่องที่ต้องการ: P4 1.9GHZ, 512GB RAM, 2.2GB HD SPACE, 128MB 3D CARD
เครื่องที่แนะนำ: P4 3.2GHZ, 2GB RAM, 256MB 3D CARD
จำนวนผู้เล่นสูงสุด: 32
ESRB RATING: T

     สำหรับแฟนเกม Turn-Based อย่างผม ชื่อ Europa Universalis นั้นเป็นชื่อที่คุ้ยเคยในระดับเดียวกับที่แฟนเกม Racing จะคุ้นเคยกับ NFS (แม้ว่าจริงๆ แล้วมันจะเป็นเกม RTS ก็ตาม) แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ Europa Universalis จะย้อนยุคกลับไปไกลถึงยุคดาบและธนู (ส่วนใหญ่จะอยู่ในยุคปืนคาบศิลา) และก็คงไม่มียุคไหนที่เหมาะสมไปกว่ายุคกำเนิดจักรวรรดิโรมันอีกแล้ว


เมืองหลวงของคุณอาจจะมีสิ่งก่อสร้างที่ทันสมัยอยู่แล้ว...
แต่คุณจะต้องค้นคว้าอีกนับร้อยปีกว่าคุณจะสามารถสร้างมันได้ในเมืองอื่น

     ใน Europa Universalis: Rome คุณจะได้สมบทบาทเป็น “อำนาจเบื้องหลัง” หนึ่งในผู้ปกครองประเทศน้อยใหญ่ในยุคที่กรีกได้ล่มสลายไปและโรมกำลังจะขึ้นมารุ่งเรืองสูงสุด (ครอบคลุมช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ระหว่างปี 264 ก่อนคริสตกาลไปจนถึง 27 หลังคริสตกาลประมาณ 250 ปี) หากมองโดยเผินๆ แล้วคุณอาจจะคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ Rome Total War เวอร์ชั่น Turn-Based เพียงแต่สิ่งที่ทำให้ Europa Universalis เป็นซีรีส์ Turn-Based ที่โด่งดังมาได้ถึงยุคนี้ก็คือความลุ่มลึกในส่วนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากสงคราม (ศาสนา, เศรษฐกิจ, การเมือง, วัฒนธรรม) พื้นที่แต่ละพื้นที่จะนำมาซึ่งรายได้จากภาษี/การค้า, กำลังคน, การค้นคว้าเทคโนโลยีต่างๆ แม้ตอนแรกผมจะบอกว่าจริงๆ แล้ว Rome จะเป็นเกมแนว RTS แต่ด้วยข้อมูลมากมายทำให้คุณสามารถปรับความเร็วเกมให้ช้าลงเป็นเต่าหรือแม้กระทั่งหยุดเกมก็ได้

      ใน Rome ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องลงไปบริหารรายละเอียดปลีกย่อยมากมายเหมือนเกมแนวเดียวกันหลายๆ เกม กองทัพก็ถูกแบ่งง่ายๆ ในรูปแบบคล้ายๆ กับ ค้อน กรรไกร กระดาษ กล่าวคือแบ่งเป็น ทหารราบเกราะเบา, ทหารราบเกราะหนัก, พลธนู และทหารม้า (มีทหารช้างด้วยแต่มันก็คล้ายๆ กับทหารม้าราคาแพงนั่นเอง) เมื่อรูปแบบการบริหารประเทศและกองทัพถูกปรับให้ง่ายขึ้น Rome จึงเป็นเกมที่เน้นไปที่การวางแผนการเมืองทั้งภายในและนอกประเทศ

     สำหรับการเมืองระหว่างประเทศคุณจะต้องคอยสร้างพันธมิตร ประกาศสงคราม (การประกาศสงครามถ้าหากคุณทำไปโดยไม่มีเหตุผลจะทำให้เสถียรภาพของประเทศลดลง หากทำการประกาศสงครามบ่อยๆ) คุณจะไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไรในส่วนของสงครามจริงๆ เพราะผลของสงครามจะขึ้นอยู่กับสัดส่วน, คุณภาพ และจำนวนทหารของกองทัพ รวมไปถึงความสามารถในการบัญชาการของแม่ทัพด้วย

หลังสงครามใหญ่ๆ ทุกครั้งคุณต้องคอยมาตรวจเช็คความซื่อสัตย์ของแม่ทัพนายกอง

     เมื่อการเมืองระหว่างประเทศไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก การเมืองส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การเมืองภายในประเทศแทน คุณจะต้องแต่งตั้งคนจากตระกูลต่างๆ ไปเป็นแม่ทัพ, ผู้ว่าราชการเขต, ผู้รับผิดชอบการค้นคว้าเทคโนโลยี ซึ่งการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งเหล่านี้คุณจำเป็นต้องดูทั้งความสามารถ ความซื่อสัตย์ ว่าเหมาะสมหรือไม่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งแม่ทัพ เพราะถ้าหากแม่ทัพของคุณไม่มีความซื่อสัตย์แล้วเขาจะไม่ยอมให้คุณโยกย้ายทหารภายใต้การบังคับบัญชาของเขา และท้ายสุดก็จะกบฏในที่สุด การเมืองภายในจะแสดงให้เห็นว่าจุดกำเนิดของการเล่นพรรคเล่นพวก (คนในตระกูลเดียวกับคุณ หรือเพื่อนของคุณจะซื่อสัตย์กับคุณมากกว่า) และที่มาที่ไปของคำว่า “เมื่อสงครามจบให้สังหารแม่ทัพเป็นอันดับแรก” (หากแม่ทัพคนไหนผ่านสงครามมาเยอะๆ ก็จะมีกองทัพที่ซื่อสัตย์กับเขามากขึ้น ยิ่งมีทหารที่เชื่อฟังเขามากเท่าไหร่เขาก็จะยิ่งไม่ซื่อสัตย์มากเท่านั้น)

     จะเห็นได้ว่าความลุ่มลึกของ Rome นั้นผู้เล่นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากมายถึงจะบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อินเตอร์เฟสของเกมกลับไม่ค่อยจะสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้เลย ปุ่มต่างๆ ที่จำเป็นถูกซ่อนไว้ในที่ที่มองเห็นยาก แผนที่ใหญ่ที่ควรจะสามารถแสดงข้อมูลได้มากกว่านี้ ที่แย่ที่สุดเห็นจะเป็นอินเตอร์เฟสของการบริหารกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการเดินทัพ ตัวอย่างเช่น การเดินทัพจากเมือง A ไปยังเมือง C โดยผ่านเมือง B โดยใช้เวลาสองเดือน เวลาผ่านไปหนึ่งเดือนกองทัพยังเดินทางไปไม่ถึงเมือง B แต่คุณอยากจะเปลี่ยนเป้าหมายจาก C เป็น D ซึ่งก็ต้องเดินทางผ่านเมือง B เหมือนกัน... แต่เกมกลับให้คุณต้องเริ่มเดินทางใหม่จาก A ตั้งแต่ต้น สรุปคือเสียเวลาอันมีค่าไปหนึ่งเดือนฟรีๆ

หากต้องการเปลี่ยนตัวเลือกในการปกครอง คุณต้องยอมรับได้กับความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น

     แม้เกมจะเหมาะกับการเป็นเกมแบบมัลติเพลเยอร์ แต่การเข้าเล่นเกมแบบมัลติเพลเยอร์นั้นกลับซับซ้อนยากเกินกว่าที่จะยอมรับได้ จุดเด่นและจุดด้อยสุดท้ายของ Rome ก็คือการที่มันไม่มีเป้าหมายตายตัว ผู้เล่นจะเป็นคนกำหนดเป้าหมายเองว่าควรจะเลิกเล่นเมื่อไหร่ (อาจจะเป็นว่าครองโลกได้ทั้งหมด หรือครองทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือจนกว่าผู้นำคนแรกจะตายแล้วดูว่าขยายไปได้ถึงไหน)
Rome ถือว่าเป็นเกมที่มีความลุ่มลึกสมกับซีรีส์ Europa Universalis เนื้อหาและแนวคิดของ Rome มีดีพอที่จะตอบสนองความต้องการของแฟนเกมแนวนี้ (อย่างผม) ได้เป็นวันๆ เพียงแต่การออกแบบอินเตอร์เฟสแบบไม่ใส่ใจ (มันมีหลายจุดมากที่ทำให้ต้องคิดว่า “มันไม่น่าจะเป็นแบบนี้เลย”) ไม่อยากคิดเลยว่าถ้าทางทีมงานทุ่มเทออกแบบอินเตอร์เฟสให้ดีกว่านี้ ผมจะต้องเสียเวลาไปให้กับ Rome อีกสักเท่าไร

 

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ