แจ่มกว่า Natal มีอีกไหม !? กับ Motion Controller สุดเทพแห่งยุค

     ไม่ได้เว่อร์แต่อย่างใด กับ Project Natal มันก็คือ อุปกรณ์จับการเคลื่อนไหว (Motion Controller) ขั้นเทพดีๆ นี่เอง ข่าวลือเรื่องอุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของบริษัทไมโครซอฟท์ (NASDAQ: MSFT) ได้เริ่มก่อตัวขึ้นประมาณช่วงต้นถึงกลางปี 2552  และมีเรื่อยมาจนถึงปี 2552 เริ่มมีข่าวลือหนาหูขึ้น และในงาน E3 2009 ที่ผ่านมา Project Natal ก็ออกสู่สายตาชาวโลก ด้วยรูปแบบการควบคุมที่แปลกแหวกแนว ทั้งการสั่งงานด้วยเสียง การจดจำใบหน้าของผู้เล่น และที่เป็นจุดเด่นของมันเลยก็คงเป็นการจับการเคลื่อนไหวทั้งตัวของผู้เล่นได้เลย โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อื่นใด

     โดยในงาน E3 ที่ผ่านมา ไมโครซอฟได้ใช้เกม Ricochet เกมที่ให้เราตีหรือแตะลูกบอลอัดบล็อก เป็นการโชว์ประสิทธิภาพของการจับการเคลื่อนไหวผู้เล่นทั้งตัว โดยเราสามารถทำท่าท่างเหมือนเราแตะหรือตบลูกบอล และท่าทางที่เราออกไปนั้นจะไปทำให้ลูกบอลในเกมเคลื่อนที่ไปชนบล็อก เสมือนเราได้เข้าไปเล่นเกมนั้นเองเลยทีเดียว เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ต่อจากนั้นได้มีการแสดงประสิทธิภาพอื่นๆ นอกจากการจับการเคลื่อนไหว นั่นคือการรับรู้และเข้าใจการสั่งงานด้วยเสียงของเรา โดยทีมงานทำการวาดภาพโดยใช้ Natal มีการใช้เสียงในการเลือกสี รวมทั้งส่งให้ถ่ายรูปเราด้วยเสียงได้อีกด้วย

     และจากนั้นก็ปิดท้ายด้วยตัวอย่างการตอบสนองกับ AI ที่เป็นหนุ่มน้อยนามว่า Milo ที่จะสามารถตอบสนองเสียงและบทสนทนาของเราได้ และยังสามารถที่จะเข้าใจสีและภาพที่เราวาดได้อีกด้วย นอกจากนั้นเรายังสามารถมีส่วนร่วมในเกมได้เช่นกัน อย่างในตัวอย่างคือเราสามารถที่จะเอามือไปแหวกน้ำได้ โดยทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างและ Milo ที่เอามาให้ดูนั้นได้ถูกพัฒนาอยู่โดยทีมงาน Lionhead Studios ผู้อยู่เบื้องหลัง Fable นั่นเอง และในงาน E3 ที่ผ่านมายังมีการนำเกม Burnout Paradise ที่ผู้เล่นสามารถทำท่าขับรถโดยใช้ Natal บังคับได้อีกด้วย สร้างความสนุกสนานให้ผู้เล่นเป็นอย่างมาก

 

 

    นอกจากนั้นยังมี Geometry War เกม Xbox Live Arcade สุดฮิต ที่ใช้มือเราในการบังคับทั้งการเคลื่อนไหว และการโจมตี แต่คงต้องอาศัยความเคยชินกันอีกสักระยะกว่าจะควบคุมคล่อง แถมถ้าจะให้ได้อารมณ์คงต้องใช้จอที่ใหญ่พอสมควรถึงจะเพิ่มอรรถรสของเกมได้มากขึ้น

     หลังจาก E3 จบลง ข่าวรั่วไหลเรื่องเกม ภาพเกมที่ใช้กับ Natal ก็ยังเงียบกริบ แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่ามีค่ายเกมอย่าง Activision Blizzard, Bethseda, Capcom, Konami, EA, THQ, Namco Bandai, Sega, Ubisoft, Disney Interactive, MTV Game และ Square Enix ที่ได้เตรียมการเกมที่รองรับ Natal ไว้แล้ว ซึ่งบอกได้เลยว่ามากันครบถ้วนจริงๆ
หลักการของ Natal คือการฉายแสงอินฟราเรดไปยังวัตถุและวัดการสะท้อนกลับของแสงประกอบกับเซนเซอร์แบบโมโนโครม CMOS โดยจะทำให้ Natal มองเห็นวัตถุเป็นแบบ 3 มิติ และซอฟต์แวร์ของ Natal จะสามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนเป็นคน อันไหนเป็นวัตถุอื่น อย่างเช่น เก้าอี้ เป็นต้น Natal จะทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยไมโครซอฟท์ในการคำนวณข้อต่อและโครงสร้างของร่างกายของผู้เล่น สิ่งที่ Natal ทำได้คือการจดจำหน้าของผู้เล่น จดจำเสียง เข้าใจการแสดงท่าทางของเรา และที่สำคัญยังสามารถรองรับผู้เล่นพร้อมกันได้ถึง 4 คนเลยทีเดียว

     Natal สามารถที่จะจับจุดบนโครงสร้างกระดูกของมนุษย์ได้ถึง 48 จุด ทำให้สามารถระบุได้ละเอียดไปจนถึงแต่ละนิ้วของผู้เล่นกันเลยล่ะ ถ้าว่ากันจริงๆ แล้ว Natal ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการเกมเช่นเดียวกับที่ Wii เคยทำมาแล้ว ระบบตรวจกับการเคลื่อนไหวทั้งร่างกาย ที่เมื่อก่อนมีใช้แค่ในวงการภาพยนตร์และวงการเกมสำหรับสร้างและพัฒนา ตอนนี้จะออกมาสู่ผู้เล่นทั่วไปแล้ว แต่ประสิทธิภาพของ Natal นั้นอาจจะยังสู้อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ใช้ในอุตสาหกรรมจริงๆ ไม่ได้ แต่ถ้าทำได้อย่างที่โฆษณาไว้ ไมโครซอฟท์น่าจะนำความแปลกใหม่มาให้วงการเกมอีกครั้ง ถึงแม้ว่า Wii จะนำร่องตลาดและประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ Natal เป็นอะไรที่สดใหม่ และมีประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากไมโครซอฟท์แล้วยังมีคู่แข่งสำคัญอย่างโซนี่ซึ่งพัฒนา PlayStation Arc อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวที่ทำงานคู่กับกล้อง แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องถือตัวคอนโทรลเลอร์ไว้ในมืออยู่ดี

     Natal จะวางขายช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปีนี้ ชาวเกมเมอร์ทั้งหลายคงอดตื่นเต้นไม่ได้ที่จะได้เล่นเกมกับ Natal ก็ได้แอบหวังเล็กๆ ว่าจะมีบริษัทพัฒนาเกมเล็กๆ สามารถเอา Natal ไปประยุกต์เป็นตัวตรวจจับการเคลื่อนไหวเอาไว้พัฒนาเกมได้โดยใช้ต้นทุนไม่สูงมากนักได้เช่นกัน หลังจากที่เห็น Geometry War สามารถนำชุดพัฒนาไปใช้กับตัวเกมได้แล้วนั้น ในอนาคตก็น่าจะมีเกมอาร์เคดที่น่าสนใจและแปลกใหม่ออกมาอีกเยอะแยะแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย และถ้าไมโครซอฟท์นำชุดพัฒนาคู่กับ Natal สำหรับอินดี้เกมด้วยล่ะก็ นักพัฒนาเกมอิสระอีกหลายเจ้าคงยิ้มแก้มปริ เพราะสิ่งเหล่านี้จะมาเติมเต็มความฝัน และจินตนาการให้กับนักพัฒนางบน้อยได้เป็นอย่างดี

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้