Harry Potter: Magic Awakened เผยวิธีจัดเด็คยังไง ? ให้มีประสิทธิภาพ

ในโลก Harry Potter: Magic Awakened นั้น หัวใจหลักของตัวเกมเลยก็คงไม่พ้นระบบการ์ดซึ่งเป็นระบบหลักที่ใช้ในการต่อสู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการต่อสู้ตามเนื้อเรื่อง สำรวจป่าต้องห้าม หรือต่อสู้กับผู้เล่นอื่นในคลับประลอง แน่นอนว่าการจัดเด็คการ์ดนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายได้เลยเหมือนกัน ส่วนใครที่อยากดูเทียร์ลิสของการ์ดเวทมนต์ สามารคลิกดูได้ที่ Harry Potter Magic Awakened Tier List เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการจัดการ์ดเบื้องต้นกันครับ

ประเภทของการ์ด

สำหรับการ์ดต่างๆ ภายในเกมจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

  1. การ์ดใช้งาน หรือ Charms – การ์ดประเภทนี้จะเป็นการ์ดที่เมื่อเราใช้งานแล้วหมดไป โดยแต่ละใบจะมีค่าร่ายที่แตกต่างกันตั้งแต่ 0-16 หน่วย (ณ แพตช์ปัจจุบัน) แต่ละใบก็มีความสามารถที่แตกต่างกัน ซึ่งใน Charms นี้ก็จะมีแยกประเภทย่อยอีก 2 แบบก็คือ Spells ที่เป็นเวทร่ายแสดงผลแล้วจบไป กับ Summons เป็นเวทอัญเชิญต่างๆ ที่มักจะร่ายแล้วมีสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งของอยู่ต่อเนื่องในสนาม โดยทั้ง 2 แบบนี้สามารถใส่ผสมกันได้ทั้งหมด 8 ใบในเด็คด้วยกัน

  1. การ์ดมิตรสหาย หรือ Companions – การ์ดประเภทนี้จะเป็นการคู่หูของเรา จะเป็นการ์ดที่เมื่อใช้งานแล้วจะเป็นการเรียกตัวละครนั้นๆ ลงมายังสนามเพื่อช่วยเราต่อสู้ จะมีทั้งแบบลงมาคนเดียวและหลายคน มีทั้งโจมตีและซัพพอร์ท ที่สำคัญการ์ดประเภทนี้ไม่มีค่าร่าย จะขึ้นมือทีละใบแต่จะมีคูลดาวน์ในการใช้งานเฉยๆ และสามารถเรียงได้ว่าอยากให้ใครขึ้นมือก่อนตามลำดับที่สวมใส่ไว้จากซ้ายไปขวาครับ

นอกจากนี้เองก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่า echoes เปรียบเสมือนบัฟประจำเด็คนั้นๆ มีทั้งบัฟประจำตัวละคร และบัฟการ์ดแยกเป็นใบแบบสุ่ม โดยจะเป็นตัวละครภายในจักรวาล Harry Potter ที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดี ซึ่ง 1 เด็คจะสามารถใส่ echoes ได้แค่ 1 คนเท่านั้น และ echoes จะมีระดับความหายากด้วย ซึ่งยิ่งระดับสูงจำนวนบัฟการ์ดแบบสุ่มก็จะเพิ่มจำนวนขึ้น และสามารถอัปเลเวลได้สูงกว่าด้วยครับ

พื้นฐานการจัดเด็ค

สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นการจัดเด็คยังไง หรือว่าต้องจัดแบบไหนดี ผมมีวิธีตัดสินใจเบื้องต้นมาแนะนำกันเล็กน้อยครับนั่นก็คือ

  1. จัดตาม echoes ที่เราอยากเล่น – อย่างที่บอกว่า echoes แต่ละคนก็จะมีความสามารถติดตัวที่แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าเรามีตัวละครในดวงใจและมีเป็น echoes พอดี ก็อาจจะจัดให้อ้างอิงตามความสามารถก็ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น Harry Potter ที่จะเพิ่มความสามารถให้การ์ดประเภท Spell ที่มีค่าร่าย 3 หรือต่ำกว่า เราก็อาจจะจัดเป็นเด็คที่เน้นใช้ Spell ที่มีค่าร่าย 3 หรือต่ำกว่าเป็นหลักก่อนซัก 5-6 ใบ แล้วช่องว่างที่เหลือค่อยหาใบอื่นมาปิดจุดอ่อน เป็นต้นครับ
  1. จัดตามการ์ดหรือประเภทที่อยากเล่น – อันนี้ก็จะเน้นเลือกใบที่อยากใช้งานหรือประเภทการ์ดที่อยากใช้งานเป็นหลัก แล้วจัดเด็คที่เกื้อหนุนใบนั้น หรือถ้าเราอยากเล่นสายซัมม่อน เราก็จะจัดเด็คที่เน้นการ์ดประเภทซัมม่อนเป็นหลัก แล้วก็ใส่ใบเสริมอีกนิดหน่อย กับใช้ echoes ที่เน้นซัพพอร์ทสายซัมม่อนอย่างเช่น นิวท์ สคามันเดอร์ เป็นต้น 
  1. จัดตามประเภทการใช้งาน – อย่างที่รู้กันว่าตัวเกมมีให้เล่นค่อนข้างหลายโหมด ทำให้การ์ดบางประเภทจะเหมาะเป็นพิเศษกับบางโหมด หรือเด็คบางเด็คอาจจะไม่เหมาะกับการเล่นคนเดียว แต่เหมาะที่จะเล่นคู่กับเพื่อน ยกตัวอย่างเช่น ผมทำไว้เด็คนึงเป็น Harry Potter สายซัพพอร์ทที่ในตัวเด็คก็แทบจะไม่มีการ์ดดาเมจใส่ศัตรูเลย แต่จะเน้นการฮีลเพื่อนและขัดขวางคู่ต่อสู้เป็นหลัก ซึ่งผมก็จะเอาไว้ใช้เล่นคู่กับเพื่อนอย่างเดียว อะไรแบบนี้ครับ

นอกจากนี้ความสำคัญในการจัดเด็คก็คือเรื่องของ Curve ค่าร่าย ครับ เราไม่ควรที่จะเห็นว่าการ์ดนี้เจ๋งก็ใส่ๆ ยัดๆ ไปโดยที่ไม่ได้ดูเลยว่าค่าร่ายมันสูงมาก บางคนลืมคิดเรื่องนี้ไปแล้วใส่การ์ดค่าร่ายสูงเยอะๆ พอไปเล่นจริงแล้วจังหวะในการใช้มันจะติดขัด ไม่ต่อเนื่อง แล้วก็แพ้ในที่สุด ซึ่งเราสามารถดูค่าร่ายเฉลี่ยของเด็คได้ตรงทางซ้ายของชื่อเด็คที่เป็นไฟสีขาวครับ เท่าที่ผมลองเล่นแล้วไม่ติดขัดมักจะเฉลี่ยๆ อยู่ 3 ไม่เกิน 4 หรือเราอาจจะใส่การ์ดพวก MP Regen มาช่วยอย่าง Niffler ที่น่าจะมีทุกคน หรือคอมพาเนี่ยนอย่าง Lottie Turner ก็ใช้ได้ดีอยู่ครับ หรือถ้าใครที่อยากเล่นเด็คค่าร่ายสูงจริง 2 ใบนี้ถ้าใช้พร้อมกันก็พอช่วยได้อยู่ครับ ถ้าไม่โดนยิงทิ้งอ่ะนะ

การ์ดที่ดีไม่จำเป็นต้อง Legendary +

แน่นอนว่าการ์ดระดับ Legendary หรือ Mystic ต่างๆ เอฟเฟคต์ดูอลังการ ผลก็ดูดี ดูเก่ง แต่ก็ไม่เสมอไปครับ เพราะหลายๆ ใบที่ค่าร่ายไม่ได้เยอะ เป็นแค่ระดับสีขาวธรรมดาบ้านๆ เก่งๆ ก็มีอยู่เยอะแยะ ยกตัวอย่างเช่น Nebulus ร่าย 2 ที่เป็นการกางหมอกล่องหน กับรีเจนเลือดเล็กน้อย หรือ Monster Book ร่าย 3 ที่สามารถปาเล็งเป้าโจมตีของสายซัมม่อนได้ อะไรแบบนี้ หรือสีม่วงระดับ Top Tier อย่าง Sectumsempra ที่ยิงชิ่งได้หลายเป้าหมาย เป็นต้น นอกจากนี้แล้วพวกการ์ดระดับปกติทั่วไปก็จะค่อนข้างใบซ้ำได้ง่าย ทำให้เราสามารถอัปเลเวลการ์ดได้ง่าย การ์ดก็จะมีความสามารถที่สูงขึ้นไปอีกด้วยครับ

ก็ประมาณนี้สำหรับพื้นฐานการจัดเด็ค 101 แบบง่ายๆ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนเปิดการ์ดได้อะไรมาใช้งานบ้าง ซึ่งการ์ดหลักๆ ตอนนี้ก็มีทั้งหมด 75 ใบ ก็ลองสมดุลเด็คดูครับว่าตอนนี้โอเคหรือเปล่า ลองเล่นแล้วติดขัดมั้ย หรือมีอะไรที่เราแพ้แล้วลองเปลี่ยนใบมาปิดจุดอ่อนนั้นได้รึเปล่า ซึ่งมันก็คือความสนุกในการจัดเด็คของเกมนี้ด้วยครับ ว่าแต่ทุกคนจัดเด็คยังไงกันบ้าง ก็มาแชร์กันได้จ้า

ดาวน์โหลด Harry Potter: Magic Awakened ได้ที่ https://harrypottermagicawakened.onelink.me/swOZ/4qa8jl8v

ไกด์เกมเพิ่มเติมของ Harry Potter: Magic Awakened

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้