ร้านขายคีย์จะได้อะไร? ถ้าขายเกมใหม่ในราคาถูกกว่าปกติ

อดีตกาลไม่นานมานี้ การจะเล่นเกมใหม่แต่ละทีก็ต้องออกเดินทางไปซื้อตลับเกมคอนโซลหรือแผ่นเกม PC กันที่ร้านขายเกม แต่พอยุคสมัยผ่านไป เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น สื่อเก็บข้อมูลที่จับต้องได้เริ่มถูกลดความจำเป็นลงไปจนดูเหมือนว่าอนาคตอีกไม่ไกล เกมจะถูกวางจำหน่ายในรูปแบบดิจิทัลดาวน์โหลดกันไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกม PC ทุกวันนี้ที่การดาวน์โหลดเหมือนจะกลายเป็นช่องทางหลักในการหารายได้เข้าบริษัทผู้จัดจำหน่ายเกมบน PC ไปแล้ว

หน้าร้านค้าของ Steam ในปัจจุบัน

การมาถึงของ Steam

การมาถึงของ Steam เมื่อร่วม 20 ปีก่อนอาจทำให้หลายคนเคลือบแคลงสงสัยว่าการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับติดตั้งเกมมันจะดีกว่าการใส่แผ่นเข้าเครื่องแล้วเล่นแบบเดิม ๆ ได้ยังไง แต่ข้อสงสัยนั้นน่าจะค่อย ๆ เลือนหายไปกับพัฒนาการและความสำคัญของ Steam ต่อวงการเกมในทุกวันนี้แล้ว อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่าการดาวน์โหลดกลายเป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายเกม PC ที่ครองส่วนแบ่งจนแผ่นดิสก์แทบจะกลายเป็นเพียงของสะสม เมื่ออนาคตดูเหมือนจะดำเนินไปในทิศทางนี้อย่างเห็นได้ชัด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกวันนี้เราจะเห็นหลาย ๆ คนพยายามจะทำธุรกิจคล้าย Steam ขึ้นมาทั้งในระดับเล็กไปจนถึงระดับยักษ์เลยทีเดียว

เมื่อมีหลายบริษัทเกมอยากจะทำธุรกิจในลักษณะที่คล้ายกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ มีทางเลือกมากขึ้น การแข่งขันทางธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของบริษัทร้านค้าต่าง ๆ ด้าน Steam คงไม่ต้องกล่าวถึงอะไรมากมาย เพราะทุกวันนี้พวกเขาครองความเป็นเจ้าตลาดของร้านค้าเกม PC แบบดาวน์โหลดอยู่ราว 70% เข้าไปแล้ว ดังนั้นผู้ที่ต้องดิ้นรนกันมากหน่อยก็คือร้านค้าเกมดาวน์โหลดรายย่อยต่าง ๆ อย่าง Green Man Gaming และ Humble Store เป็นต้น

Humble Store ที่ไม่ได้ขายแค่บันเดิลเหมาจ่ายเหมือนแต่ก่อนแล้ว

ความแตกต่าง

ความแตกต่างของร้านค้ารายย่อยเหล่านั้นกับ Steam ก็คือพวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเหมือน Valve หรือผู้ให้บริการรายใหญ่รองลงมาอย่าง Epic Games Store, EA Store (อดีต Origin), หรือ Ubisoft Connect (อดีต Uplay) ธุรกิจของพวกเขาจึงมีแค่จำหน่ายคีย์หรือรหัสของเกมต่าง ๆ ให้ผู้ซื้อไปลงทะเบียนกับ Steam หรือ Epic Games Store เอาเองอีกต่อหนึ่งเท่านั้น

เมื่อผู้บริโภคเกม PC ส่วนใหญ่มักจะมอง Steam เป็นที่แรกสำหรับการซื้อเกมแบบดาวน์โหลดกันโดยอัตโนมัติ สิ่งง่าย ๆ ที่บรรดาร้านค้าคีย์รายย่อยจะทำเพื่อดึงคนให้หันมาซื้อเกมกับตนได้ก็คือการเสนอเกมเดียวกับที่มีบน Steam ให้ลูกค้าในราคาที่ถูกกว่า หลายคนน่าจะเคยเห็นมาแล้วกับการลดราคาเกมใหม่ที่กำลังจะออกวางจำหน่ายกันตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 50% จนบางทีบางคนก็อดสงสัยกันไม่ได้ว่า การที่บรรดาร้านค้าออนไลน์เหล่านี้เอาเกมใหม่มาขายแบบหั่นราคากันขนาดนี้แล้วเขาจะไปเอากำไรมาจากไหน นี่ยอมขายแบบขาดทุนเพื่อดึงให้คนมาสนใจเลยหรือเปล่า

Green Man Gaming ลดราคา RE4 ตั้งแต่เริ่มวางจำหน่าย

ก่อนจะเข้าใจผิดกันไปมากกว่านี้ สิ่งที่ทุกคนควรจะรู้กันก่อนก็คือ มันไม่มีหรอกครับร้านค้าที่จะเอาเกมใหม่ถอดด้ามมาขายในราคาที่ต่ำกว่าทุน ถ้าร้านไหนจะทำอย่างนั้นก็คงอยู่ได้ไม่นานก่อนที่จะขาดทุนจนต้องปิดตัวลงไป แต่ความจริงคือร้านค้าเหล่านั้นมีการเจรจาทางธุรกิจกับค่ายเกมเพื่อขอซื้อคีย์ของเกมที่กำลังจะวางจำหน่ายมาตุนไว้เป็นจำนวนมากในราคาพิเศษ การยอมขายเกมให้ร้านค้าในราคาที่ถูกกว่ามองเผิน ๆ อาจดูเหมือนจะทำให้ค่ายเกมสูญเสียรายได้ แต่ไม่ใช่กับกรณีที่มีการขอซื้อเป็นจำนวนมากแบบนี้ ไม่ว่าจะหลักหมื่น หลักแสน หรือหลักล้านชุดแล้วแต่ชื่อเสียงของเกมนั้น ๆ เพราะสิ่งที่จะเป็นผลดีกับบริษัทเกมก็คือ พวกเขาจะมีการันตีรายได้ก้อนใหญ่จากการขายเกมดาวน์โหลดแบบยกชุดล่วงหน้าโดยที่ไม่ต้องกังวลด้านการโฆษณาสักเท่าไหร่ เพราะเมื่อขายไปแล้วมันก็เป็นหน้าที่ของบรรดาร้านค้าที่ต้องไปหาทางดึงลูกค้ามาซื้อเอง

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ร้านค้าคีย์รายย่อยเลือกที่จะขายเกมในราคาที่ต่ำกว่าปกติก็คือ แม้รายได้ที่ได้รับจะน้อยกว่าขายเกมใหม่ในราคาเต็มเหมือนอย่าง Steam หรือ Epic Games Store แต่รายได้ระดับนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาสามารถดำเนินธุรกิจกันต่อไปได้ เพราะสิ่งที่ตนทำก็เพียงแค่ซื้อคีย์มาขายต่อ ไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการดูแลเซิร์ฟเวอร์หรือเตรียมแบนด์วิดธ์ไว้สำหรับดาวน์โหลดเกมแต่อย่างใด

นโยบายแจกเกมฟรีทุกสัปดาห์ของ Epic Games Store

แต่จะเอาแต่ลดราคาเกมใหม่อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะถ้าทุกร้านเอาแต่ลดราคาตัดหน้ากันไปมา สุดท้ายมันก็ต้องลงไปยังจุดที่ลดราคากันจนไม่คุ้มทุนที่จะทำต่อไปอยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการสร้างมูลค่าด้านอื่นขึ้นมาให้กับการซื้อเกมกับร้านของตน ดังที่ Green Man Gaming ทำมานานแล้วก็คือการมอบเงินคืนให้กับลูกค้าในรูปแบบของ In-Store Credit หรือเงินสะสมที่เอาไว้ใช้กับร้านค้าของตนในการซื้อครั้งต่อไปของลูกค้าคนนั้น ๆ อย่างเช่นเราอาจได้เงินสะสมคืนมา 5 ดอลลาร์หากซื้อเกมใน Green Man Gaming ครบ 50 ดอลลาร์ ทีนี้ก็จะเหมือนเราได้ส่วนลด 5 ดอลลาร์หากซื้อเกมต่อไปจากทางร้าน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีร้านขายคีย์เกมแบบออนไลน์อยู่อีกหลายร้านที่อาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าได้ซื้อคีย์เกมทั้งหมดมาจากบริษัทผู้จัดจำหน่ายเกมโดยตรงอย่างถูกต้อง แต่เนื่องด้วยไม่สามารถยืนยันได้ถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจของร้านค้าเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน เราจึงจะไม่ขอพูดถึงพวกเขาในตอนนี้


ติดตามข่าวสารวงการเกมได้ที่เว็บไซต์ online-station.net

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้