นับว่าเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจดีไม่น้อย เมื่อผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์โดยวารสาร PLOS ONE ได้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เรานั้นจะมองเห็น "เฟรมเรต" ในโลกแห่งความเป็นจริงได้แตกต่างกันออกไป และสำหรับเกมเมอร์คนใดที่มองเห็นเฟรมเรตได้สูงกว่าคนอื่น เกมเมอร์คนนั้นก็อาจจะได้เปรียบกว่าเวลาเล่นเกม โดยเฉพาะเกมที่ต้องแข่งขันกับผู้อื่นค่ะ

โดยผู้ที่จัดทำงานวิจัยในครั้งนี้ก็คือเหล่าศาสตราจารย์จากสาขาชีววิทยาด้านพัฒนาการจากสถาบัน Trinity College Dublin ซึ่งในระหว่างทำการวิจัย พวกเขาก็ได้ทำการทดสอบกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 88 คนโดยการให้พวกเขาจ้องมองแสงไฟ LED ผ่านแว่นตาพิเศษ จากนั้นก็ทำการบังคับแสงนั้นให้กะพริบเป็นจังหวะโดยเร่งความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวิธีการที่ว่านี้จะทำให้เหล่าผู้วิจัยสามารถเฝ้าติดตามผลได้ว่าภายในหนึ่งนาที อาสาสมัครแต่ละคนจะมองเห็นแสงไฟได้กี่ครั้งก่อนที่จะไม่สามารถจำแนกการกะพริบของแสงได้อีก หรือก็คือการมองเห็นแสงไฟฉายต่อเนื่องกันแบบไม่กะพริบนั่นเอง
ซึ่งผลของการวิจัยในครั้งนี้ก็เผยให้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกันในหมู่อาสาสมัคร เพราะในขณะที่บางคนสามารถมองเห็นแสงกะพริบได้มากถึง 60 ครั้งต่อวินาที อาสาสมัครบางคนกลับไม่สามารถจำแนกแสงกะพริบแม้เพียง 35 ครั้งต่อวินาทีได้ ยิ่งไปกว่านั้น ขอบเขตในการมองเห็นแสงกะพริบของแต่ละคนนั้นยังแตกต่างกันออกไปตามช่วงการทดสอบที่จัดขึ้นในเวลาเดียวกันของแต่ละวันอีกด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ ทางผู้ทดสอบก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่ามันจะส่งผลอย่างไรต่อชีวิตประจำวันของเราค่ะ

อย่างไรก็ตาม ผลของการวิจัยในครั้งนี้กลับชี้ให้เห็นว่าคนบางคนที่สามารถมองเห็น "เฟรมเรต" ได้ถี่กว่าคนอื่น ก็อาจจะได้เปรียบกว่าเวลาเล่นกีฬาหรือเล่นเกมต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นนักกีฬาที่อาจจับความเคลื่อนไหวของลูกเทนนิสได้ดีกว่าคู่แข่ง หรือเกมเมอร์ที่อาจจะมองเห็นความเคลื่อนไหวของศัตรูได้ดีกว่าใครเพื่อน
แน่นอนว่าเมื่องานวิจัยในคราวนี้เผยแพร่ออกไป มันก็สร้างเสียงฮือฮาให้กับชาวเน็ตและเกมเมอร์ได้ไม่น้อย นอกจากนี้ยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นอีกด้วยว่าการที่บางคนจะมองเห็นความแตกต่างระหว่าง 30 FPS และ 60 FPS ได้ชัดเจนนั้น ไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอะไรอีกต่อไปค่ะ
แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.ign.com
ติดตามข่าวสารวงการบันเทิง ได้ที่ Online Station