นักวิชาการญี่ปุ่นชี้ สมัยนี้ถ้าใช้เครื่องหมายจุดจบประโยค อาจแปลว่าโกรธ!

มีนักวิชาการญี่ปุ่นคนหนึ่งจากสถาบัน National Institute for Japanese Language and Linguistics เขียนบทความสังเกตว่าปัจจุบันมีปรากฎการณ์ที่ผู้คนนั้นเริ่มละการใช้จุดจบประโยค 。 (Kuten – 句点) หรือเครื่องหมายมหัพภาคแบบญี่ปุ่นในการสื่อสารทางแอป LINE มากขึ้น เพราะการใช้จะทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นมิตร เย็นชา หรืออาจสื่อได้ว่ากำลังโกรธ!

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการสนทนานั้นเป็นเหมือนการผลัดกันส่งบอลให้กันกันเรื่อย ๆ นั่นเอง แต่เครื่องหมายจุดนั้นมีผลทำให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการตัดบท อยากจบการสนทนาเพียงเท่านี้ นอกจากนี้ LINE นั้นยังมีการแสดงข้อความในรูปแบบกล่องคำพูดเหมือนในหนังสือการ์ตูน แต่ละกล่องก็ทำหน้าที่จบประโยค ๆ หนึ่งอยู่แล้ว การใส่จุดซ้ำเข้าไปอีกเลยดูเหมือนเป็นการตอกย้ำ “ความสิ้นสุด” ให้ดูรุนแรงยิ่งกว่าเดิมจนเกินความจำเป็น

ภายหลังหัวข้อดังกล่าวเริ่มได้รับความสนใจบนโซเชียลมีเดีย จึงเริ่มมีหลายคนถกกัน บางคนเห็นด้วยและเข้าใจความรู้สึก ไม่ชอบใช้จุดจบประโยคในการพิมพ์สนทนาเหมือนกัน เว้นแต่จะอยากสื่อว่าโกรธ ทำให้ไม่อยากได้รับข้อความในลักษณะเดียวกัน แต่อีกมุมหนึ่งก็มีผู้ที่ไม่รู้มาก่อนว่ามีปรากฎการณ์แบบนี้ด้วยและใช้จุดจบประโยคมาตลอดเพราะเขาสอนกันมาแบบนี้

ขณะเดียวกันคนมีอายุบางคนก็เล่าว่าเคยโดนลูกหลานหรือคนหนุ่มสาวต่อว่าที่ใช้จุดจบประโยคเวลาพิมพ์แชทกัน เช่นคนหนึ่งที่เคยถูกถามทาง LINE ว่ากำลังโกรธอยู่หรือเปล่า เพราะพิมพ์ข้อความมาแต่ละอันจบด้วยจุดทุกประโยคเลย คน ๆ นั้นจึงต้องอธิบายว่า “ไม่ได้โกรธอะไร แค่เป็นตาแก่เท่านั้นเอง!”

ทั้งนี้ในภาษาอังกฤษเองก็มีปรากฎการณ์แบบเดียวกัน เพราะปัจจุบันถ้าใส่เครื่องหมายมหัพภาค หรือจุด Full Stop หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Period ก็มักสื่อได้ว่ากำลังโกรธ หรือไม่ก็เป็นคนเคร่งไวยากรณ์จัด ๆ ที่พยายามเขียนให้ถูกเพื่อข่มอีกฝ่าย แสดงความเหนือกว่า จึงมักจะละไว้เช่นเดียวกันเพื่อให้ดูเป็นกันเองมากขึ้น (เพราะเหตุนี้จึงเกิดเป็นภาษาพูดที่บางคนพูดอะไรที่สำคัญหรือซีเรียส ก่อนจะลงท้ายด้วยคำว่า Period เพื่อสื่อว่าสิ่งที่พูดสำคัญ จริงจังมาก หรือจบแต่เพียงเท่านี้ ไม่ต้องสานต่ออีก)

แปลและเรียบเรียงจาก
Automaton Media


ติดตามข่าวสารวงการบันเทิง ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้