บทความนี้มีการแปลและเรียบเรียงใหม่จาก Rappler
เครดิตรูปภาพประกอบบทความจาก CUInsight / University of Denver
ประโยคที่ว่ากันว่าสังคมในที่ทำงาน มันก็คือสนามการเมืองอย่างนึง คำกล่าวนี้ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใดนะครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นองค์กรอะไร มันก็ย่อมที่จะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์แบบแนวราบ ก็คือในหมู่เพื่อนร่วมงาน และความสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง ก็คือต่อผู้บังคับบัญชานั่นเอง ซึ่งก็แน่นอนว่าความสัมพันธ์ต่อหัวหน้างานนั้นเป็นอะไรที่ตึงเครียดกว่า เนื่องจากหัวหน้างานของเราเป็นผู้ประเมินผลการทำงานของเราในทุกๆ ด้าน และมันก็มีผลกับการขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่งเสียด้วย ใครเจอหัวหน้างานที่นิสัยดี มีเมตตา ก็โชคดีหน่อย แต่หากใครเจอหัวหน้าที่เขี้ยวลากดิน ก็ต้องหาวิธีรับมือกันไปต่างๆ นานา
ทีนี้ เหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายที่พอจะมีประสบการณ์ทางโลกมาบ้าง ก็น่าจะพอดูกันออกว่าหัวหน้างานปลื้มเราหรือไม่ แต่อาจจะไม่รู้ลึกว่าหัวหน้าไม่ปลื้มเราเพราะอะไร และนี่คือการรวบรวมเหตุผลที่พอจะเป็นไปได้ พร้อมทั้งวิธีรับมือกับสาเหตุดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับหัวหน้างาน ที่อาจสามารถเปลี่ยนทัศนคติของเขาที่มีต่อเราได้ครับ มาดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1. เรายังมือไม่ถึง หรือมีความสามารถไม่มากพอ
นี่เป็นเหตุผลสุดเบสิกเลยครับ เพราะหัวหน้าทุกคนย่อมมีความหวังในตัวลูกน้องแต่ละคนทั้งนั้น หากเราทำงานได้ไม่ได้ตามเป้า หัวหน้าบางคนก็อาจจะมองว่าเราไม่เก่งพอ ตรงนี้หากเราต้องการจะปรับปรุงตัวเพื่อพิสูจน์ตัวเองก็ต้องมาเช็คดูตัวเราก่อนครับว่ามีด้านอะไรที่เรายังบกพร่องอยู่ คุณภาพงานเหรอ? หรือว่าความเร็วในการทำงาน? หรือเป็นเพราะเราไม่เข้าใจบรีฟงานต่างๆ กันแน่? ถ้าเราเป็นคนขาลุย ตรงไปตรงมา ก็ลองเข้าไปคุยกับหัวหน้าประมาณว่า "(ผม/ดิฉัน) สังเกตเห็นได้ว่าหัวหน้าจะมีน้ำเสียงเปลี่ยนไปเวลาที่ (ผม/ดิฉัน) รายงานผลการทำงาน ไม่ทราบว่าหัวหน้าอยากจะให้ผมทำในส่วนไหนเพิ่มในครั้งหน้ามั้ย (ครับ/ค่ะ)"
หากหัวหน้าฟังปุ๊บแล้วอธิบายให้เราจนกระจ่าง เราก็นำตรงนั้นมาปรับปรุงซะ จากนี้เราอาจจะถามหรือขอคำแนะนำกับเพื่อนร่วมงานที่อาวุโสกว่า เพราะเขาอาจจะมองเห็นอะไรบางอย่างในตัวเราออก และเสนอแนะแบบเพื่อนกันได้ (ถ้าความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนร่วมงานอยู่ในเกณฑ์ดีนะครับ) นอกจากนี้ เราควรลดละอีโก้หรือทิฐิด้วย เพราะการจะปรับปรุงตัวมันก็คือการเปลี่ยนแปลงตัวตนของเราในรูปแบบนึง เช่น จากที่เป็นคนเรื่อยๆ เฉื่อยชาก็ต้องมากระฉับกระเฉง คิดไวทำไวขึ้น เป็นต้น
2. เรามีสไตล์การทำงานคนละแบบ
เคสนี้เป็นปัญหาโลกแตกครับ บางคนอาจมีแนวทางการทำงานแบบกล้าได้กล้าเสีย บางคนอาจมีแนวทางการทำงานแบบเชิงรับ ซึ่งต่อให้วิธีของเรามันทำแล้วประสบความสำเร็จให้แก่บริษัทก็ตาม แต่ถ้าหากวิธีนั้นมันดันขัดใจหัวหน้างานแล้วละก็ ย่อมไม่แปลกที่หัวหน้าจะไม่ปลื้มเราอยู่ดี เพราะหัวหน้าบางคนอาจจะมีความคิดว่ามีรูปแบบการทำงานเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำงานในองค์กรนี้ได้ ก็คือวิธีของเขานั่นเอง
หนทางในการแก้ปัญหานี้จะคล้ายๆ กับข้อแรกครับ คืออาจจะยอมกลืนยาขมบ้าง ถ้าหัวหน้าของเรามีรูปแบบการทำงานอย่างไร ชอบให้เราทำงานแบบไหน และชอบชี้วัดเราจากอะไร อยากให้เรารายงานผลการทำงานยังไง ก็ลองโอนอ่อนตามดู ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็แสดงว่าเราเริ่มอยู่เป็นแล้วล่ะ แต่ถ้ายังทรงกับทรุด ค่อยมองหางานที่อื่นสำรองไว้ก็ดีจ้า
3. เขามองเราเป็นเสี้ยนหนาม
สำหรับหัวหน้างานบางคน (ย้ำว่าบางคน) เวลาเห็นลูกน้องคนไหนเก่งโดดเด่นเป็นสง่า ก็อาจจะมีความคิดด้านลบผุดขึ้นมาว่า ถ้าหมอนี่มันโชว์ผลงานมาอีกเรื่อยๆ ตำแหน่งของเราจะต้องสั่นคลอนแน่ๆ วันดีคืนดีมันจะเลื่อยขาเก้าอี้เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ก็ใช่ว่าหัวหน้าที่มองเราเป็นคู่แข่งจะต้องเป็นคนที่มีนิสัยจงเกลียดจงชังเสมอไปนะครับ ในทางกลับกัน เขาอาจจะมองเราเป็นความท้าทายอย่างนึงที่จะได้กระตุ้นหรือพัฒนาตัวเขาเองให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้เราแซงหน้าได้ (ถ้าหัวหน้ามองแบบแฟร์ๆ นะ)
ถ้าเรามั่นใจแล้วว่าหัวหน้าของเรามาทรงนี้ หากเราอยู่ในองค์กรที่รูปแบบการทำงานเน้นไปทางแนวราบ คือมีหัวหน้าทีมกับลูกทีมหลายๆ คนเราอาจจะพลิกสถานการณ์ได้ด้วยการหมั่นยกย่องหรือให้เครดิตหัวหน้าทีมของเราเวลาทำโปรเจ็กต์อะไรเสร็จก็ตาม ด้วยคำพูดง่ายๆ ว่า "ผมดีใจที่งานของเราเสร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และต้องขอขอบคุณ (ชื่อหัวหน้าทีม) ด้วยที่ให้คำแนะนำด้านต่างๆ ตลอดมาครับ" อะไรทำนองนี้
ขณะเดียวกัน เราควรพยายามแสดงให้หัวหน้าของเรารับรู้ว่าเราเห็นเขาเป็นบุคคลสำคัญต่อทีมหรือหน่วยงาน เช่นอาจจะขอคำแนะนำจากเขาบ้างเป็นบางครั้ง
ทั้งนี้ทั้งนั้น การรับมือกับหัวหน้างานก็อยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละคนครับ หากปัญหาที่เจอมันยากเกินจะรับไหว การย้ายงานไปอยู่สังคมใหม่ๆ ก็อาจจะเป็นทางออก แต่ถ้าคิดว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การลองดูสักตั้งก็ไม่เสียหายอะไรครับ