รวม 5 เหตุผล ทำไมร้านอาหารในญี่ปุ่นถึงไม่รับเงินค่าทิปจากลูกค้า

แชร์เรื่องนี้:
รวม 5 เหตุผล ทำไมร้านอาหารในญี่ปุ่นถึงไม่รับเงินค่าทิปจากลูกค้า

เวลาที่เราได้ไปกินอาหารตามร้านนอกบ้าน หรือภัตตาคารต่างๆ หากเราได้รับบริการที่ดีจากพนักงานของร้าน ลูกค้าบางคนก็มักจะตอบแทนด้วยการมอบเงินแทนสินน้ำใจที่เรียกกันแพร่หลายว่า "ทิป" เพื่อเป็นคำชมจากลูกค้า และเพื่อให้พนักงานร้านมีกำลังใจในการบริการที่ดีต่อไป แต่สำหรับในประเทศญี่ปุ่นแล้ว การให้ทิปแก่ทางร้านอาหารถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมครับ และบางร้านก็จะมีติดป้ายแจ้งแก่ลูกค้าทุกคนเลยว่าไม่ต้องให้ทิปแก่พวกตนด้วยซ้ำไป ดังเช่นร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ที่มีระบุข้อความไว้ตรงด้านล่างของใบเสร็จรับเงิน ดังนี้ครับ

(ล่าง) "ตามธรรมเนียมปฏิบัติในญี่ปุ่น การบริการของพนักงานในร้านนี้ต่างได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบของเงินเดือนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ดังนั้นทางเราจึงไม่ขอรับเงินตอบแทนพิเศษประเภททิป ขอบคุณครับ"

จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกาก็ตาม ทางร้านก็จะไม่มีนโยบายรับเงินค่าทิปเด็ดขาด เรามาชมเหตุผล 5 ข้อกันดีกว่าครับว่าทำไมถึงไม่มีการให้ทิปกันในญี่ปุ่นกันแน่


1. การให้ทิปนั้นไม่ใช่วัฒนธรรมของทางญี่ปุ่นเขา ตรงจุดนี้ต้องอธิบายก่อนว่าแนวคิดของคนญี่ปุ่นกับชาติอื่นๆ จะไม่เหมือนกันครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ในญี่ปุ่นเนี่ย สมมติเราไปซื้อของในร้าน และค่าสินค้าคือ 18 เหรียญฯ แล้วเราให้เงินพนักงานแคชเชียร์เป็นจำนวน 20 เหรียญฯ พร้อมกับบอกว่า "ไม่ต้องทอน" พนักงานแคชเชียร์จะสับสนว่าทำไมเราต้องให้ทิปเขา นั่นเป็นเพราะว่าแนวคิดของพนักงานในญี่ปุ่นคือการบริการล้วนเป็นหน้าที่ที่เขาต้องทำอยู่แล้ว และมันก็ถูกระบุอยู่ในเนื้องานด้วยว่าตัวเขาต้องทำหน้าที่ขายสินค้าและคอยบริการลูกค้า ซึ่งมีเงินเดือนเป็นค่าตอบแทน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องให้เงินเพื่อความเสน่หาอีก ต่างกับในสังคมอเมริกัน ที่มองว่าทุกงานบริการสมควรได้รับค่าตอบแทน หากพวกเขาบริการแก่ลูกค้าอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และพวกเขาก็สมควรได้เงินเป็นค่าทิปนั่นเอง แต่ประเด็นนี้ไม่มีใครถูกใครผิดครับ เพียงแค่ว่าญี่ปุ่นมองการบริการเป็นหน้าที่ที่แลกมากับเงินเดือนอยู่แล้วนั่นเอง


2. ญี่ปุ่นมีรูปแบบการคิดค่า "บริการ" ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการรับเงินสดโดยตรง กล่าวคือ ตามร้านอาหารในหลายๆ แห่งของญี่ปุ่น จะมีการเสิร์ฟเครื่องเคียง หรือผ้าเย็นมาให้ก่อนเสิร์ฟเมนูหลัก ซึ่งค่าบริการของญี่ปุ่นก็แฝงมากับสิ่งที่เสิร์ฟเหล่านี้นี่แหละครับ โดยเครื่องเคียงและผ้าเย็นจะถูกคิดรวมไปในใบเสร็จรับเงินทั้งหมด ถ้าพูดให้เห็นภาพคือ บางร้านจะมีวิธีการเก็บค่าบริการเรา ด้วยการนำของมาแลกเปลี่ยน แม้ว่าเราจะไม่ได้สั่งก็ตาม เครื่องเคียงก็คืออาหารอย่างนึงที่มีต้นทุน ผ้าเย็นก็มีต้นทุน เพียงแต่เขาไม่แบมือขอเราตรงๆ ทว่าจะใช้การนำของมาเสิร์ฟเนียนๆ แล้วเก็บเงินเราเพิ่มจากตรงนั้นอีกที


3. ปกติร้านอาหารในญี่ปุ่นหลายแห่งจะมีช่วงเบรคตอนบ่ายค่อนข้างนาน โดยเฉพาะร้านกินดื่ม (อิซากายะ) มักจะหยุดร้านชั่วคราวระหว่างเวลา 14:00-18:00 น. เพราะเป็นช่วงที่คนไม่ค่อยเข้าร้าน และทางร้านเองจะอาศัยเวลานี้ในการให้พนักงานร้านตระเตรียมของและความพร้อมก่อนจะถึงช่วงเย็นที่คนจะเริ่มแห่เข้าร้านกัน นอกจากนี้ ทางร้านจะถือว่าเขาได้ให้ค่าแรงกับพนักงานได้คุ้มค่า รวมถึงที่ได้ใช้งานพนักงานในช่วงเบรคตอนบ่ายไว้หมดแล้ว ในเมื่อพนักงานร้านได้เงินค่าแรงเต็มเม็ดเต็มหน่วย ลูกค้าก็ไม่จำเป็นต้องให้ทิปอีกต่อไป


4. แนวคิดของบางร้านอาหารแนวสากลจะมองว่า การที่พนักงานได้ทิป ก็เพื่อที่พวกเขาจะได้นำเงินค่าทิปไปซื้ออาหารกินต่างหากได้ แต่ในร้านอาหารของญี่ปุ่น เขาจะมีสวัสดิการให้พนักงานร้านได้กินอาหารจากทางร้านแบบฟรีๆ อย่างน้อย 1 มื้อ ฉะนั้น พอได้เงินเดือนสมกับหน้าที่ และทางร้านก็เลี้ยงดูปูเสื่อดี พนักงานร้านก็ไม่ควรต้องได้ทิปอีก


5. พนักงานร้านอาหารในญี่ปุ่นจะถูกปลูกฝังมาว่า เมื่อมีหน้าที่บริการลูกค้า ก็ต้องบริการให้สุดความสามารถ และห้ามทำให้ลูกค้าผิดหวังเด็ดขาด เพราะโดยทั่วไป ปกติเวลาลูกค้ามากินอาหารที่ร้าน แล้วไม่ประทับใจ พวกเขามักจะไม่ตำหนิกับทางร้านตรงๆ แต่จะเลือกใช้วิธีไม่กลับมากินที่ร้านอีกแทน ดังนั้น เพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจจนต้องกลับมากินอีก นอกจากอาหารที่อร่อยถูกปากแล้ว ก็มีการบริการที่เอาใจใส่ลูกค้าเต็มร้อย ให้ลูกค้ารู้สึกว่าพวกเขาคือคนสำคัญครับ ซึ่งก็สัมพันธ์กับข้อ 1 ด้วย

เครดิต: Soranews24

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ